‘LUSS แท้มีอยู่จริง’ ดนตรี อีโก้ และความเป็นตัวเองของปั้นและเบน

Highlights

  • LUSS คือวงดนตรีดูโอของ เบน–ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์ และ ปั้น–นลพรรณ อัมพุช อดีตนักร้องนำวง JELLY ROCKET
  • LUSS เพิ่งปล่อยผลงานเพลงใหม่ที่ชื่อว่า 247 แม้เมื่อฟังแล้วความเป็น LUSS จะแสดงออกมาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ถ้าพิจารณาดีๆ ในแง่รายละเอียด เพลงของพวกเขามีความต่างออกไปอยู่บ้างเมื่อเทียบกับอัลบั้มแรกที่ปล่อยออกมาเมื่อต้นปีก่อน
  • เบนและปั้นเล่าให้ฟังว่าทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์ พวกเขาเลือกที่จะมีเป้าหมายมากขึ้น เป็นตัวเองมากขึ้น และมีเรื่องที่จะพูดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่อเงี่ยหูฟัง 247 เพลงล่าสุดของวงดนตรีดูโอ LUSS ภายใต้เสียงร้องแนวอาร์แอนด์บีและดนตรีป๊อป มีบางอย่างสะดุดหูเราด้วยเหตุผลบางประการ

 

ถ้าเธอเหงาเมื่อไหร่ ก็แค่แวะมา 24 7 เปิดทุกวัน I got ya

ไม่ว่าเหงาเท่าไหร่ ตื่นตอนเช้าแค่โทรมา

ชั้นจะรอ ตรงนี้ ไม่ว่าจะวันไหน

 

คุณภาพเหรอ อาจใช่ เพราะด้วยตำแหน่งการเป็นมันสมองของวง ฝีมือการสร้างสรรค์เพลงของ เบน–ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์ นั้นเข้าขั้นยอดเยี่ยมจนหลายคนในวงการต่างยกนิ้วให้

เสียงร้องเหรอ นั่นก็อาจใช่ ทุกถ้อยคำในเพลงที่ถ่ายทอดผ่าน ปั้น–นลพรรณ อัมพุช ล้วนไพเราะ มีสไตล์การร้องแบบอาร์แอนด์บีและเนื้อเพลงที่มาจากตัวเธอเอง ยิ่งถ้าฟังไปหลับตาไป เราเชื่อว่าใครหลายคนก็ต้องพากันหลงใหล

แต่เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขาเคยสร้างไว้เมื่อคราวออกมินิอัลบั้ม ONE FOR THE ROAD เมื่อต้นปีที่แล้ว 

ดังนั้นคืออะไรกันล่ะที่ทำให้เรารู้สึกว่าเพลง 247 ต่างออกไปจากผลงานก่อนๆ

ยิ่งเมื่อเปิดหาข้อมูลเราก็ได้เจอสิ่งที่พวกเขาเคยสัมภาษณ์ไว้ ว่ากับปีนี้ LUSS อยาก ‘เป็นตัวเอง’ มากขึ้น 

นั่นทำให้เรายิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่

อะไรที่ทำให้วงดนตรีวงหนึ่งเลือกจะเปลี่ยนแปลง เติบโต และก้าวไปจากจุดเดิมภายในเวลาแค่หนึ่งปี

เราเก็บคำถามนี้ไว้จนวันที่ได้พบพวกเขาทั้งสอง

เบนและปั้นรอบอกคำตอบกับเราอยู่แล้ว

LUSS

คุณเคยบอกไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ‘อยากใส่ความเป็นตัวเองลงไปในงานมากขึ้นกับงานต่อจากนี้’ ช่วยอธิบายตรงนี้ให้ฟังหน่อย

เบน : ถ้าให้สรุปคือเราอยากเล่าเรื่องผ่านเพลงในรูปแบบของ ‘ตัวเอง’ และสิ่งนี้หมายถึงทุกองค์ประกอบในงานเพลงเลย 

ก่อนหน้านี้เราสองคนจะเป็นแบบอยากทำอะไรก็ทำ แต่พอมาตอนนี้เราเจอแนวทางของตัวเองมากขึ้น เช่น แนวดนตรี เราได้รู้แล้วว่า 3 แนวหลักๆ ที่ผมและปั้นฟังคือฮิปฮอป อาร์แอนด์บี และป๊อป เราก็เอาอะไรเหล่านี้มาใส่ในเพลง อย่างเพลง 247 ถ้าฟังเผินๆ อาจดูเป็นแนวป๊อป แต่ในเพลงมีซาวนด์กลองจากฮิปฮอปด้วย หรือแม้แต่วิธีการร้องของปั้นที่เป็นอาร์แอนด์บี ทั้งหมดนี้ผสมผสานกันอยู่ 

หรืออย่างเรื่องของคาแร็กเตอร์ ในความเป็นจริงเราสองคนเป็นคนตลก กวนๆ ปั่นๆ แปลกๆ นี่คือสิ่งที่เราเป็นและอยากนำเสนอในตอนนี้ ซึ่งมันอาจต่างจากเพลงก่อนหน้านี้ที่เลือกโทนดาร์ก เข้าถึงยาก 

 

ปั้น : ด้วยความที่ปีที่แล้วเราได้หยุดพักเลยมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น รวมถึงเรามีโอกาสได้ไปทำงานเบื้องหลังให้คนอื่น มันทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่าเป้าหมายการเป็นนักดนตรีและสิ่งที่เราอยากสื่อออกไปในฐานะวงคืออะไร เราได้ตกตะกอนออกมาเป็นกรอบความคิดที่เป็นตัวเองมากที่สุด และเราเอาตรงนี้ไปใส่ในเนื้อเพลง ดูได้จากเพลง 247 ที่ภาษาเป็นกันเองมากขึ้น เราเลือกเจาะจงเล่าในมุมผู้หญิงเลย ซึ่งก่อนหน้านี้อาจไม่กล้าเท่านี้เพราะด้วยความกลัวหรืออะไรก็แล้วแต่ 

LUSS

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คิดแบบนี้

เบน : การได้ไปช่วยงานเบื้องหลังนั่นแหละ อย่างปั้นก็เป็นเรื่องร้องและทำนอง ส่วนผมคือการได้ไปเป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงให้คนอื่น ประสบการณ์นี้ทำให้เราได้รู้ว่าอะไรคือข้อดี-ข้อด้อย ได้เห็นวิธีการทำงานที่เป็นระบบ และได้เจอสิ่งที่น่าเอามาปรับใช้ 

มันทำให้เราตั้งคำถามว่าแล้วจุดเด่นของเราคืออะไร เราชอบอะไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราได้กลับมาคุยกันว่าจริงๆ แล้วเป้าหมายและตัวตนของเราคืออะไรกันแน่ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเรามองงานที่ผ่านมาไม่ดีนะ เรามองว่าทั้งหมดคือการเรียนรู้

 

ปั้น : เหมือนพอเราทั้งคู่รู้เรื่องดนตรีเยอะ ช่วงแรกที่ทำวงเลยอยากทำหลายๆ อย่าง แม้ทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่เราชอบ แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็สงสัยว่า LUSS เป็นคนยังไงกันแน่ มันจับต้องยาก เราเลยไม่อยากทำเพลงให้เพราะไปวันๆ แล้ว แต่อยากมีเป้าหมายมากกว่านี้ เราอยากเห็นความเป็นตัวเองที่ชัดเจนมากขึ้น

LUSS

ในมุมของศิลปิน พวกคุณมองการเปลี่ยนแปลงยังไง วงดนตรีสามารถเปลี่ยนไปได้ขนาดไหน

เบน : ผมว่าได้ เพราะคนเรามีการเปลี่ยนแปลงในความชอบตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สำหรับวงเราเอง ผมว่าสิ่งสำคัญคือถึงแนวเพลงจะเปลี่ยนแปลงยังไงแต่เพลงเราต้องมีความเป็น LUSS อยู่ ไม่ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด เพราะผมเชื่อว่าคนที่ชอบเราต้องมีคนที่ไม่ได้ชอบแค่มู้ดดนตรี แต่ชอบในเอกลักษณ์ความเป็นเราด้วย

 

ปั้น : ก่อนหน้านี้เราลองทำดนตรีและแต่งเพลงมาหลายแบบ แต่เพราะพวกเราเป็นคนดื้อ สุดท้ายผลงานที่ออกมาระหว่างทางจะมีความเป็นพวกเราที่ไม่โอนเอนอยู่เสมอ เราเลยรู้สึกว่าถึงต่อให้ปรับเปลี่ยนแนวเพลงไปเป็นแบบไหน ตัวเราก็ยังอยู่ในนั้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราเพิ่งเจอเมื่อไม่นานนี้เองนะ มันทำให้ตอนแรกที่ทำวงเราไม่กล้าทำอะไรหลายๆ อย่างเพราะกลัวไม่ใช่ตัวเอง แต่พอลองทำหลายอย่างจนสุดท้ายรู้ว่าทำแบบไหนมันก็จะมีความเป็นเราอยู่ ตอนนี้เลยไม่กังวลแล้ว

 

พอได้ลองเป็นตัวเองแล้วผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

เบน : ฟีดแบ็กดีขึ้นเยอะเลย อย่าง 247 ถ้าพูดตามตรงนี่คือเพลงที่ป๊อปสุดแล้วตั้งแต่ทำมา ก่อนปล่อยเลยกังวลนิดหน่อยว่าคนที่เขาเคยชอบเราเขาจะชอบไหม ซึ่งผลปรากฏว่าเขาก็ยังชอบอยู่ แถมเราได้คนฟังใหม่ๆ เพิ่มอีกมากมาย เราเลยเจอว่านี่แหละคือทางที่อยากไป 

LUSS

ในความเห็นคุณ ศิลปินจำเป็นต้อง ‘ดื้อเพื่อเป็นตัวเอง’ ไหม

เบน : ผมว่าแค่ส่วนหนึ่ง เพราะอย่างตอนที่ได้ทำงานเบื้องหลังผมได้เห็นข้อดีของทั้งคนที่มีความเป็นตัวเองมากๆ และคนที่ไม่มีความดื้อในการเป็นตัวเองเลย ผมเลยตกตะกอนได้ว่าความดื้อมันสำคัญตรงที่ทำให้เราชัดเจนได้จริง มันทำให้เราเชื่อในสิ่งที่จะพูดและไม่ปลอม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรดื้อไปเสียทุกอย่าง การปรับตัวเองไปกับยุคสมัยก็สำคัญ

 

ปั้น : มันคืออีโก้นั่นแหละ และสำหรับเราอีโก้สำคัญสำหรับศิลปินที่มีหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่าง เพราะไม่งั้นเราจะกลายเป็นคนอื่นตลอด ไม่มีสิ่งที่ตัวเองอยากสื่อสาร แต่อีโก้นี้ก็ต้องมี growth mindset ด้วย ไม่ใช่ติดอยู่ที่เดิม เราควรยินดีที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกวัน 

แนวคิดนี้ส่งผลต่อขั้นตอนในการทำเพลงตอนนี้ไหม 

เบน : ส่งผลครับ เทียบกับอัลบั้มแรกการทำงานจะเริ่มจากในสตูดิโอ ผมจะขึ้นบีตที่รู้สึกว่าเจ๋ง หลังจากนั้นปั้นจะพยายามใส่เมโลดี้ที่เพราะลงไป พอได้แล้วก็พยายามแต่งเนื้อเพลง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือทั้งหมดนี้มันไม่ค่อยมีแบบแผน เราไม่เคยคุยกันว่าต้องการหรืออยากได้อะไร พูดง่ายๆ ว่าเป็นการทำงานตามอารมณ์ล้วนๆ improvise ไปเรื่อยๆ นั่นทำให้เพลงก่อนๆ ของเราพูดเรื่องกว้างๆ ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนเหมือน 247 ที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ และวางแผนมาก่อนแล้วว่าเราต้องการอะไร คอนเซปต์คืออะไร และเราอยากเล่าเรื่องแบบไหน 

 

ปั้น : เนื้อเพลงก่อนหน้านี้เราเน้นแค่ความไพเราะ ไม่ได้ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปเท่าไหร่ แต่พอเจอว่าตัวเองเป็นผู้หญิงแบบไหนเราก็คิดว่ามันน่าจะมีคนที่คิดและรู้สึกคล้ายๆ เราอยู่เหมือนกัน เราเลยกล้าที่จะใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในเพลงมากขึ้นทั้งในแง่ของเนื้อร้อง น้ำเสียง และการแสดง 247 เลยออกมาแตกต่างอย่างที่ได้ฟังเพราะเลือกแสดงแก่นของเราจริงๆ แล้ว

 

แล้วถ้าให้จำกัดความ สิ่งที่ LUSS อยากพูดตอนนี้คือเรื่องไหน

ปั้น : ถ้าตอบคำถามนี้ให้ชัดก็ต้องอธิบายสิ่งที่เราค้นพบตัวเองเมื่อปีที่แล้วก่อน 

คือเราโตมาท่ามกลางสังคมที่มีแต่ผู้หญิง เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาตลอด หรือพอไปอยู่มหา’ลัยรอบตัวเราก็มีแต่ผู้หญิง เราเลยได้เห็นปัญหาของผู้หญิงเยอะมาก อย่างเราเองถูกสอนมาให้ถ่อมตน ความมั่นใจในตัวเองที่มากเกินไปคือความก้าวร้าวและไม่น่ารัก อะไรเหล่านี้แหละที่เราอยากให้ LUSS พูด เพราะมันทำให้คนที่เจอเติบโตมาโดยไม่มีความมั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่หลากหลาย ซึ่งเราว่ามันน่าเสียดายและเสียเวลาถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

อย่างครั้งหนึ่งเราเคยไปเป็น guest speaker ให้น้องๆ ที่อยากเป็นศิลปินแต่อาจจะยังหาตัวเองไม่เจอ วันนั้นเราถามทุกคนเลยนะว่าน้องคิดว่าตัวเองเก่งอะไร เชื่อไหมว่าทุกคนตอบเหมือนกันหมดเลยว่า “หนูคิดว่าหนูเก่งเรื่องร้องเพลง แต่ (เน้นเสียง) หนูก็คิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีขนาดนั้น” เราฟังแล้วรู้สึกตกใจมาก น้องต้องมั่นใจสิ นี่กลายเป็นสิ่งที่เราอยาก empower ซึ่งเราอยากพูดไปถึงทุกคนเลยนะ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง เพราะอย่างผู้ชายเองก็มีกรอบเหล่านี้อยู่เหมือนกัน 

 

สิ่งนี้สำคัญยังไง

ปั้น : (นิ่งคิด) เราไม่อยากเห็นใครโตมาโดยเป็นคนอื่นน่ะ 

สุดท้าย พวกคุณเคยให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงทำวงใหม่ๆ ว่า ‘เป้าหมายคืออยากให้คนยอมรับ’ ตอนนี้เมื่อบางอย่างในตัวคุณเปลี่ยนไป เป้าหมายของ LUSS ยังเหมือนเดิมอยู่ไหม

เบน : นั่นยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราอยากไป เราอยากให้ LUSS เป็นสีสันใหม่ในกระแสดนตรี อยากให้คนฟังแล้วจำได้ว่านี่คือแนวดนตรีในแบบของเรา

 

ปั้น : (พยักหน้า) เหมือนก่อนหน้านี้เราอยากให้คนจำ ตอนนี้เราก็อยากให้คนจำนะ แต่มันแค่ชัดเจนขึ้นว่าอยากให้คนจำแบบไหน อย่างที่เห็นตอนนี้คือเราอยากโฟกัสแบบนี้

ซึ่งเรามองว่าทั้งหมดคือการเดินทางและการเติบโตนั่นแหละ (ยิ้ม)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone