‘ร่ม’ นั้น ‘ฝรั่งเศสเกินไป’ : โจนัส ฮันเวย์ ชายคนแรกที่ยืดอกพกร่มบนถนนลอนดอน

Highlights

  • โจนัส ฮันเวย์ ชายเพียงคนเดียวที่พกร่มในกรุงลอนดอนช่วงศตวรรษที่ 18 สิ่งที่ฮันเวย์ต้องเผชิญหน้าคือสายตาเหยียดหยามจากชาวอังกฤษที่เชื่อว่าการถือร่มเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากร่มอยู่ในมือของสุภาพบุรุษ
  • ฮันเวย์ถูกกดดันอย่างหนักจากบรรดาคนขับรถม้าตามท้องถนน เพราะในสมัยนั้น ถ้าฝนเจ้ากรรมหล่นจากฟ้ามาเมื่อไหร่ บรรดาเจ้าขุนมูลนายก็จะเรียกใช้บริการรถม้ากันจ้าละหวั่น และแน่นอนว่าการปรากฏตัวของร่มในตอนนั้นไม่เป็นผลดีทางธุรกิจ
  • เมื่อฮันเวย์เสียชีวิตในปี 1786 ร่มได้กลายเป็นอุปกรณ์ทั่วไปที่ใช้กันทั่วอังกฤษ การยืนหยัดพกร่มของฮันเวย์จึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางสังคมของยุคสมัย

ก่อนที่ ‘ร่ม’ จะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอังกฤษ ทราบหรือไม่ว่าเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้เคยถูกห้ามใช้ในประเทศมาก่อน

โจนัส ฮันเวย์ คือชายคนแรกที่กล้าแหกกฎ นำร่มออกมาใช้แบบไม่แคร์สายตา จนทำให้ร่มกลายมาเป็นอาวุธประจำกายที่ขาดไม่ได้ของชาวอังกฤษ

ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 โจนัส ฮันเวย์ กลับมาจากทริปทัวร์ปารีสพร้อมร่มคันใหญ่และเริ่มพกเจ้าสิ่งนี้ไปทุกที่ประดุจเพื่อนแท้ที่คอยปกป้องเขาจากอากาศที่ก็ ‘รู้ๆ กันอยู่’ ของกรุงลอนดอน เหนือไปกว่าสภาพอากาศ สิ่งที่ฮันเวย์ต้องเผชิญหน้าคือสายตาเหยียดหยามจากชาวอังกฤษที่เชื่อว่าการถือร่มเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากร่มอยู่ในมือของสุภาพบุรุษ

ก่อนร่มจะกลายเป็นอุปกรณ์ป้องกันฝน ชาวอังกฤษมองว่าร่มมีหน้าที่หลักเพื่อป้องกันแดด คำว่า umbrella ในภาษาอังกฤษ ถอดมาจากคำว่า umbra ในภาษาละติน แปลว่า เงา (shadow) umbrella จึงแปลตรงๆ ว่า little shadow สื่อถึงการทำงานของร่มที่อาศัยร่มเงาเป็นจุดขาย แล้วคุณผู้ชายจะต้องการป้องกันร่างกายจากแดดไปทำไม ถ้าไม่ใช่เพราะห่วงหล่อ ร่มในสมัยนั้นจึงถูกมองเป็นของไม่จำเป็น จัดไว้ในหมวดเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรีที่มีเงิน

เรื่องน่าขันอีกอย่างคือ คนอังกฤษเหยียดว่าการถือร่มนั้น ‘ฝรั่งเศส’ เกินไป เป็นเรื่องของพวกปวกเปียกฉีดน้ำหอม เราอังกฤษคนจริงจะพึ่งพิงของไร้สาระไปทำไม

 

อันที่จริงร่มเพิ่งกลายมาเป็นสินค้าแฟชั่นของปารีสในช่วงใกล้ๆ กัน ฌอง มาริอุส พ่อค้าหัวใส นำร่มที่พบเห็นกันทั่วไปในทวีปเอเชียมาดัดแปลงเป็นร่มพับที่สามารถกันน้ำได้และมีน้ำหนักเบา

มาริอุสรู้สึกเห็นใจบรรดาคุณผู้หญิงที่ต้องวุ่นวายกับวิกผมเวลาฝนตก เขาคิดว่าร่มคือทางออกของปัญหา ติดอยู่ที่ว่าร่มในยุคนั้นมีขนาดใหญ่แถมไม่สวยงาม ร่มแบบใหม่ของเขาจึงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการใช้งานกับแฟชั่น เพราะนอกจากจะลดน้ำหนักร่มเหลือแค่ไม่ถึง 1 กิโลกรัม ยังออกแบบให้มีรูปทรงและสีสันสวยงาม ประดับลูกไม้ ลายปัก และอัญมณีมีค่า สามารถนำไปแมตช์กับเสื้อผ้าและเครื่องประดับอื่นๆ ได้แบบไม่เคอะเขิน

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ฝรั่งเศสผู้ชื่นชอบวิกผมกล่าวชมสิ่งประดิษฐ์แสนประณีตของมาริอุสว่า “สามารถตอบโจทย์วงสังคมชั้นสูงได้เป็นอย่างดี” พระองค์มอบสิทธิพิเศษให้มาริอุสสามารถถือสิทธิ์ขาดการผลิตร่มเป็นเวลา 5 ปี ร่มใดๆ ที่จะผลิตขึ้นใหม่ในประเทศนี้จะต้องติดเครื่องหมายการค้าของมาริอุสเท่านั้น

นอกจากจะได้เสียงชมจากกษัตริย์ มาริอุสยังได้ influencer ชั้นเลิศเป็นถึงเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฝรั่งเศส ในจดหมายของเจ้าหญิงเอลิซาเบท ชาร์ลอตต์ มาดามพาเลติเน (Princess Elizabeth Charlotte, Madame Palatine) น้องสะใภ้ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 1712 พระองค์เขียนแนะนำร่มของมาริอุสต่อพระสหายว่า ‘พกพาสะดวก สามารถป้องกันทั้งแดดและฝน เป็นของสำคัญในวันท้องฟ้าไม่เป็นใจ’

มาดามพาเลติเนเป็นบุคคลแรกๆ ที่พกร่มประหนึ่งเครื่องประดับ ใช้สำหรับป้องกันแดด ฝน และหิมะ คณะผู้ติดตามเห็นเจ้าหญิงทรงพระอัจฉริยะจึงเริ่มทำตามกัน ท้ายที่สุด ‘ร่ม’ ก็กลายเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะของสตรีชั้นสูงที่ชาวฝรั่งเศสขาดไม่ได้

 

ข้ามทะเลมาที่ฝั่งอังกฤษ ท่าทีกระมิดกระเมี้ยนของชาวฝรั่งเศสแลดูน่าหมั่นไส้เกินทน ชาวอังกฤษรุมประณามใครก็ตามที่พกร่มในที่สาธารณะว่า ดัดจริตเหมือนคนฝรั่งเศส

โจนัส ฮันเวย์ ไม่ฟังเสียงนกเสียงกา แม้ได้ชื่อว่าเป็นชายเพียงคนเดียวที่พกร่มในกรุงลอนดอน แต่ฮันเวย์ก็ไม่เปลี่ยนใจ เขาพกร่มไปไหนมาไหนตลอดเวลา 30 ปี พบเจอคำสบประมาทและกิริยามาดร้ายนับครั้งไม่ถ้วน หนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่พอใจการพกร่มของฮันเวย์มากที่สุดก็เห็นจะเป็นสมาคมคนขับรถม้าของอังกฤษ เพราะในสมัยนั้น ถ้าฝนเจ้ากรรมหล่นจากฟ้ามาเมื่อไหร่ บรรดาเจ้าขุนมูลนายก็จะเรียกใช้บริการรถม้ากันจ้าละหวั่น แน่นอนว่าการปรากฏตัวของร่มในตอนนั้นไม่เป็นผลดีทางธุรกิจ

ฮันเวย์ถูกกดดันอย่างหนักจากบรรดาคนขับรถม้าตามท้องถนน เขามักถูกปาเศษขยะใส่ เหตุประทุษร้ายที่รุนแรงที่สุดคือการขับรถไล่ชนตัวเขาบนทางเท้า ซึ่งฮันเวย์ก็ป้องกันตัวอย่างแข็งขันด้วยการใช้ร่มเป็นอาวุธไล่ทุบบรรดาคนขับใจกล้าที่ขับรถม้าเข้ามาใกล้  

หลังถูกโจมตีต่างๆ นานา ความกล้าของฮันเวย์กลับให้ผลที่เกินคาด ชาวอังกฤษที่มีร่มในครอบครองค่อยๆ ทยอยนำร่มออกมาใช้ในที่สาธารณะ กล่าวกันว่าตามเมืองใหญ่เมื่อมีใครสักคนเริ่มถือร่มแบบฮันเวย์ จากนั้นคนที่เหลือก็จะค่อยๆ ทำต่อกันไป เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นว่าร่มมีข้อดี ร่มจึงกลายเป็นสินค้าที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาด

 

ก่อนหน้านี้มีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเรียกรถม้าเดินทางฝ่าสายฝน คนจนต้องป้องกันการเปียกด้วยการสวมถุงเท้าและเสื้อผ้าหนาหลายชั้น การยืนหยัดพกร่มของฮันเวย์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางสังคมของยุคสมัย

เมื่อฮันเวย์เสียชีวิตในปี 1786 ร่มกลายเป็นอุปกรณ์ทั่วไปที่ใช้กันทั่วอังกฤษ สามเดือนหลังการจากไปของชายผู้กล้าหาญ สมาคมรถม้าอังกฤษก็ต้องถอนหายใจครั้งใหญ่เมื่อมีการประกาศเปิดโรงงานผลิตร่มแห่งแรกของอังกฤษ ‘โรงงานผลิตร่มแกตวาร์ด นำเสนอนวัตกรรมร่มแบบใหม่ เปิด-ปิดง่ายด้วยตัวล็อกแบบสปริง’

การปฏิวัตินวัตกรรมกันฝนกำลังเริ่มต้น ต้องขอบคุณโจนัส ฮันเวย์ ที่สอนให้เรารู้ว่า บางครั้งฮีโร่ก็ไม่ต้องสวมผ้าคลุมเสมอไป การพกร่มก็ช่วยเปลี่ยนชีวิตใครหลายคนได้ไม่แพ้กัน

 

อ้างอิง

atlasobscura.com

faena.com

darbymade.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา