“อยากขอบคุณเบื้องบนที่ให้โอกาสเราได้ลบล้างบาดแผลในใจ” ต่อพงศ์ จันทบุบผา

เป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ที่เรามีโอกาสคุยกับ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา หรือ บอล สครับบ สิ่งที่สัมผัสได้ทุกครั้งที่พบเจอคือมือกีตาร์รุ่นใหญ่คนนี้มักมีเรื่องราวเก่าคละใหม่มาเล่าให้คนรุ่นน้องอย่างเราฟังเสมอ จนหลังๆ ชักไม่แน่ใจแล้วว่าบอลเริ่มเบื่อหน้าคนฟังอย่างเราแล้วหรือเปล่า

หลังจากที่ ‘Demo’ เมนคอร์สใน a day 213 ฉบับสครับบ (แอบขายของหน่อยนะ) ได้บอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ทำให้บอลและเมื่อยรู้จักกับเสียงดนตรี การเติบโต และบทเรียนที่ได้จากระยะเวลา 20 ปีในวงการดนตรีอย่างครบรสมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ การเจอกับบอลครั้งนี้ เราลองไถ่ถามเรื่องราวในช่วงวัยรุ่นที่ไม่ได้คาบเกี่ยวกับดนตรีดูบ้าง เพราะเชื่อว่าเขาน่าจะมีบทเรียนในวันวานที่เจ็บลึกไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไปแน่ๆ

“พอบอกว่าตอนเด็กจำเรื่องอะไรที่ทำให้แม่เสียใจได้ แม่งจำแต่เรื่องนี้จริงๆ นะ” ใช่ นี่คือเรื่องน่าตื่นเต้นเรื่องใหม่ที่เรายังไม่เคยได้ยินจากปากของบอล

เก้าอี้รอบโต๊ะเรายังพอมีที่ว่าง เราขอใช้มือตบบนเก้าอี้เบาๆ แล้วชวนคุณมานั่งฟังด้วยกัน

เด็กชายที่เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี

“เราโตมากับบ้านพักในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเลยเกี่ยวข้องกับข้าราชการ อาจารย์ พ่อแม่เราเป็นครอบครัวใหม่ที่อยู่แยกกับครอบครัวใหญ่ ตอนเด็กๆ เรากับน้องสาวโชคดีมาก เราได้รับความเอ็นดูจากพี่ๆ น้าๆ เพื่อนบ้าน บ้านไหนมีเด็กๆ ทุกคนก็จะช่วยกันดูแล มาช่วยเลี้ยง ช่วยแนะนำเรื่องอาหารที่จะส่งเสริมพัฒนาการและการเติบโต ตอนกลางวันไปเล่นบ้านอาจารย์คนนี้เขาก็ทำอาหารดีๆ ให้กิน สอนให้เราหัดอ่านเขียน หัดสังเกต”

“สังคมในมหาวิทยาลัยทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งเรื่องวิชาการและการใช้ชีวิต ได้เติบโต ได้หัดล้ม คลุกดินคลุกฝุ่นด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้เรื่องมารยาททางสังคม เรื่องการเคารพผู้ใหญ่ในนั้นด้วย โตมาเลยถึงเพิ่งรู้ว่า เฮ้ย สังคมดีๆ ตรงนั้นมีส่วนช่วยหล่อหลอมเรา ทำให้เรามีพื้นฐานเป็นเด็กหัวไว เรียนดี ความจำดี”

“เราเข้าเรียน ป.1 ที่โรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ ก็เป็นเด็กที่เป็นตัวแทนห้อง แข่งอ่านแข่งเขียน ตอบคำถามวิทยาศาสตร์ เรียนดีได้ที่ 1 ที่ 2 มาตลอด พอจบ ป.4 แม่อยากให้เราเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีการเรียนการสอนเข้มข้นขึ้น ก็คือบ้านที่เราอยู่เนี่ยแหละ เราสอบย้ายได้ห้องหนึ่ง ซึ่งการได้อยู่ห้องหนึ่งมันยากมาก แต่เราสอบได้ อาจารย์ยังงงเลย (หัวเราะ) แต่พอไปเข้า ป.5 จากที่เคยสอบได้ที่ 1 ที่ 2 เราได้ที่ 22 เลยนะ อีกเทอมขยับขึ้นเป็นที่ 11 แล้วพอ ป.6 เทอมสุดท้ายคือที่ 7 ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราเก่งหรือไม่เก่ง แต่รู้ว่าเราชอบเรียนมาก”

“ที่จำได้แม่นคือแม่ภูมิใจมาก แม่พูดเสมอว่า แม่โตมาไม่มีอะไร แต่การศึกษาคือทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดที่พ่อแม่จะให้ลูกได้ ให้เราได้เติบโตในสังคมที่ดี แล้วการศึกษาจะนำพาเราไปเอง แม่เชื่อแบบนั้น”

แม่เสียลูกชายไป ตั้งแต่ซื้อกีตาร์ให้

“เราเรียนมัธยมที่โรงเรียนสาธิตฯ ตามแผนทุกอย่าง เราก็ยังเป็นเด็กตั้งใจเรียนอยู่ แต่ไม่รู้อะไรแวบเข้าเราถึงลงเรียนวิชาเลือกเสรีเป็นดนตรีสากล ได้เจอกีตาร์และอยากเล่นมันมากๆ ตั้งแต่ได้กีตาร์ตัวแรกตัวนั้นมา ชีวิตการเรียนเราเปลี่ยนไปเลย (หัวเราะ) เรายังเรียนอยู่นะ แต่ไม่ใช่เด็กเรียนเก่งแล้ว วิธีคิดของเราตอนนั้นคือจะเรียนยังไงให้รอด เรียนยังไงไม่ให้พ่อแม่ด่า แต่รู้ตัวเลยว่าไม่สามารถพลีกายพลีใจไปเรียนหนังสืออย่างเดียวได้แล้ว เราทำไม่ได้”

“หลังจากที่แม่บอกว่า ‘แม่เสียลูกชายไป ตั้งแต่ซื้อกีตาร์ให้’ เราก็พยายามประคองการเรียนและกิจกรรมช่วงนั้นมาตลอด สัญญาณแรกคือเราสอบไม่ติดสายวิทย์ตอน ม.ปลาย ก็เลยเรียนศิลป์คำนวณ แล้ววิธีเรียนแบบเรียนให้รอดตอน ม.ต้น ถือว่ายังไม่เท่าไหร่นะ พอมา ม.ปลายนี่หนักเลย เพราะเราเริ่มเล่นดนตรีจริงจัง เริ่มมีวง เริ่มฟังเพลง เริ่มไปประกวด ไปเล่นกับคนนู้นคนนี้ ขลุกตัวกับพี่ๆ ชมรมดนตรีมหาวิทยาลัย”

“ม.5 เป็นครั้งแรกที่ต้องสอบซ่อมเพราะว่าสอบตก ก็เลยได้รู้ว่าบางวิชาที่เราเรียนไปไม่เข้าหัวเราเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง เราก็พยายามประคองมันต่อ
ระหว่างนี้แม่เริ่มเตือนแล้วว่า ‘อย่าลืมอ่านหนังสือนะ เดี๋ยวมีสอบ’ แต่แม่ไม่เคยห้ามหรือว่าเรื่องที่เราเล่นดนตรีนะ ม.6 ก็ยังเล่นดนตรีอย่างหนักหน่วงอยู่ทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเองจะต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว”

“แต่ก่อนจะเอนทรานซ์ เด็กท้องถิ่นจะได้สิทธิ์สอบโควต้าก่อน เราก็เลือกสอบเข้าอักษรศาสตร์ที่ศิลปากรนี่แหละ แต่ผลที่ออกมาก็ตามนั้นเลย ซึ่งเพื่อนๆ 80 เปอร์เซ็นของห้องสอบติด แต่เราเป็นหนึ่งใน 20 เปอร์เซ็นที่สอบไม่ติด แต่ตอนนั้นยังพราวอยู่นะ ไม่ติดไม่เป็นไร เดี๋ยวกูเอนท์ฯ เอาก็ได้ ยังมั่นใจอยู่ (หัวเราะ) เราคิดว่าผลที่ออกมามันไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้น”

“เย็นวันที่ผลออกเราก็ขี่จักรยานกลับบ้านปกติ เป็นช่วงเวลาที่กลับถึงบ้านพร้อมแม่พอดี จำได้ว่าเราจะเปลี่ยนชุดไปเตะบอลแล้วก็ไปซ้อมดนตรีต่อ เราจอดจักรยานแล้วก็เดินไปหาแม่ที่กำลังยืนไขกุญแจบ้าน ‘แม่ หวัดดี’ พอไปยืนตรงหน้าประตูรอเข้าบ้านด้วย แม่ก็หันมาพูดว่า ‘บอล รู้หรือยังว่าสอบไม่ติด’ เราบอก ‘รู้แล้วครับ ที่โรงเรียนบอกแล้ว ไม่เป็นไรเดี๋ยวเอาใหม่ ตอนเอนทรานซ์จะตั้งใจ’ แม่ก็บอกว่า ‘แต่แม่ไปดูคะแนนมา บอลไม่ติดไม่เท่าไหร่นะ แต่คะแนนที่ทำให้บอลไม่ติดมันต่ำจนเหมือนบอลไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ตั้งใจเพื่อเรื่องนี้เลย แม่ไม่เคยห้ามหรือบังคับขู่เข็ญให้บอลขยันหรือตั้งใจเรียน อยากทำอะไรแม่ก็ให้ทำ แต่เรื่องเรียน เราแลกกันเรื่องนี้นิดนึง ให้เท่ากับที่แม่ไว้ใจบอลไม่ได้เหรอ’”

“เป็นครั้งแรกที่เราเห็นแม่น้ำตาไหลอ่ะ แล้วแม่ก็บอกว่าเหลือเอนท์ฯ อย่างเดียวแล้ว ถ้าไม่ติดก็ไปหาที่เรียนเอาเองแต่แม่ไม่มีตังค์ส่งเราไปเรียนเอกชน คือแม่รู้อีกนะว่าถ้าเราไม่ติด เรากะขอตังค์แม่ไปเรียนเอกชน เนี่ย เหมือนแม่รู้ทุกอย่างเลย แล้วแม่ก็ไขประตูเข้าบ้านไป”

“หลังแม่พูดจบเราไม่เข้าบ้านนะ เราหยิบจักรยานปั่นไปนั่งร้องไห้อยู่ตรงสระแก้ว ความรู้สึกตอนนั้นคือดาร์กมาก ไม่ได้รู้สึกเสียใจที่สอบไม่ติด หรือสอบได้คะแนนน้อย แต่เสียใจกับประโยคที่แม่พูดมาซึ่งแม่งจริงมาก แม่เราไม่เคยเตือนหรือดุด่าว่ากล่าวการใช้ชีวิตของเราเลย อยากเล่นกีตาร์แม่ก็ไปขอพ่อให้ แต่ทุกอย่างที่แม่ให้มาเราไม่ได้ให้สิ่งที่เขาอยากได้กลับไปเลยซึ่งมันเป็นเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ แค่ตั้งใจเรียน”

หนึ่งเดือนปาฏิหารย์และความพยายามที่ไม่สายเกินไป

“หลังจากนั้นเรามีเวลาหนึ่งเดือนเพื่อเปลี่ยนตัวเอง ก็บอกเพื่อนว่า ‘กูไม่ได้แล้วว่ะ กูจะปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนี้ไม่ได้’ ดนตรีนี่เราทิ้งไปเลยนะเดือนนึง ไม่จับ ไม่แตะอะไรเลย เปลี่ยนตัวเองทุกอย่าง ไปอยู่บ้านเพื่อนที่นัดรวมตัวกันติวหนังสือเพื่อที่จะสอบเอนท์ฯ กัน อ่านหนังสือตั้งแต่หัวค่ำจนถึงตี 5 แล้วทุกคนจะนอนตายกันเลย ตื่นอีกที 10 โมง แยกย้ายกลับไปบ้านตัวเอง อาบน้ำ กินข้าว เจอพ่อแม่ จนบ่ายๆ เย็นๆ ก็จะกลับมาเจอกันอีก เราอยู่กันแบบนี้ทั้งเดือน”

“บรรยากาศของคนที่มาเรียนหนังสือเป็นบรรยากาศที่เราทิ้งไปนานแล้ว คือในหนึ่งเดือนนั้นเรารู้เลยว่าเราขาดอะไรไปเยอะมาก แต่ก็โชคดีที่ได้เพื่อนๆ มาช่วยสอนช่วยติว แล้วตอนเลือกคณะที่จะเอนท์ฯ จากพ่อที่ไม่เคยห้ามไม่เคยว่าอะไร พ่อบอก เอาคณะที่เลือกอ่ะมาดูหน่อย (หัวเราะ) เราเลือกคณะอักษรฯ เป็นอันดับหนึ่ง เท่าที่จำได้นะเราเลือก 1 3 5 เนี่ยเป็นศิลปากรหมดเลย พยายามเลือกให้ตัวเองมีที่เรียนไว้ก่อน”

“ตอนสอบก็รู้สึกว่าเราได้เขียน ได้ทำอะไรลงไปมากกว่าตอนสอบโควต้า ลึกๆ ในใจก็เชื่อนะว่าจะติด ลองคำนวณคะแนนที่คิดว่าทำได้คร่าวๆ เราไม่น่าจะพลาดที่ 5 จริงๆ เป้าหมายตอนนั้นเราไม่ได้อยากติดหรือไม่ติดนะ เราอยากทำให้แม่ดีใจ อยากลบล้างความผิดหวังตรงนั้น ถ้าเราทำไม่ได้ ก็แปลว่าเราทำให้แม่เสียใจซ้ำสอง”

“วันประกาศผลก็เป็นหน่วยงานของแม่ที่รับข้อมูลจากส่วนกลางมาติดประกาศ ตอนเดินไปที่บอร์ดก็เห็นแม่กับเพื่อนๆ ติดกระดาษกันอยู่ แม่หันมาแต่ก็ไม่พูดอะไร แต่หน้าแม่ไม่ดู ติด! คือมั่นใจว่าติดชัวร์ (หัวเราะ) แล้วเพื่อนแม่เดินมา ‘ดีใจด้วยนะ ติดที่ 3 นี่’ ที่ 3 ! คือนึกออกมั้ยว่าติดอันดับ 3 เลยนะไม่ใช่ที่ 5 แบบที่เคยคิดไว้ มันไม่ใช่ความรู้สึกแค่ว่า โอเค เรารอดแล้ว”

“ทุกวันนี้เรายังจำความรู้สึกนั้นได้ มันเหมือนยกอะไรบางอย่างในใจออกไป สิ่งที่เราตั้งใจมากในเดือนนั้นมันสัมฤทธิ์ผลจริงๆ เหมือนเบื้องบนยังให้โอกาสเราแก้ตัว ตอนนั้นเราเดินไปยังไม่ทันจะถึงแม่เลย น้ำตาไหล ร้องไห้เหมือนเด็กเลย จนคนอื่นนึกว่าเราร้องเพราะเราสอบไม่ติด (หัวเราะ) แล้วแม่ก็ไม่พูดอะไร น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่แม่เตือนเราเรื่องการใช้ชีวิต”

“ตลอดหลังจากนั้นเรารู้แล้วว่าเราควรใช้ชีวิตยังไง เราเรียน เราทำกิจกรรมเต็มที่ ก่อนสอบเราจะเคลียร์ตัวเองเพื่ออ่านหนังสือ เป็นการเรียน 4 ปีที่เราไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนอีกเลย จริงๆ มันไม่ใช่ turning point ที่เราอยากกลับไปแก้ แต่เราอยากกลับไปขอบคุณตัวเองในตอนนั้นที่เราคิดทัน ทั้งที่เวลามันสั้นมากๆ แล้วก็ขอบคุณเบื้องบนที่ให้โอกาสเราลบล้างบาดแผลในใจ”

“ถ้าผลออกมาว่าเราไม่ติดเลยจริงๆ เราเชื่อว่ามันคงเป็นปมในใจเราไปตลอดชีวิต เพราะมันไม่ใช่แค่การสอบ มันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตตอนเด็กๆ วัยประถม วัยมัธยมที่พ่อแม่พยายามจะมอบสิ่งมีค่าสิ่งเดียวที่เขามอบให้เราได้ แล้วเขาก็เป็นคนหยิบกีตาร์ให้เรา เราก็เป็นคนเลือกเดินบนเส้นทางนั้นด้วยตัวเองโดยที่พ่อแม่ไม่เคยห้าม
ถ้าไม่ได้คุยกับแม่วันนั้น เราคงทะนงตัว ย่ามใจ อาจจะพเนจรไปเรียนที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะได้เล่นดนตรีแบบนี้ ได้ทำอะไรอย่างที่ได้ทำในทุกวันนี้หรือเปล่า”

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR