จากเซเลบเมืองนอกถึงฟิลเตอร์ IG ทำไมกล้องฟิล์มและรูปเกรนๆ ถึงบูมสุดๆ ในปีนี้

Highlights

  • ในช่วง 2-3 ปีมานี้ กล้องฟิล์มกลายเป็นแก็ดเจตที่เหล่าวัยรุ่นและวัยทำงานพกพาไปไหนต่อไหนเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่ไปคาเฟ่ฮอปปิ้งชิลล์ๆ ในเมือง ไปจนถึงการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ด้วยราคาของอุปกรณ์ขั้นเบสิกอย่างกล้องคอมแพกต์และฟิล์มไม่ได้สูงมากนัก และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ช่วยให้การล้างรูปและสแกนใช้เวลาไม่นาน การใช้กล้องฟิล์มจึงอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน
  • เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้น อุปทานอย่างแล็บร้านฟิล์มก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยอดขายฟิล์มที่เพิ่มขึ้นยังมีส่วนช่วยให้บริษัทที่ผลิตฟิล์มคงอยู่ได้ เรียกว่าครึกครื้นกันทั้งระบบนิเวศ
  • คนที่คลุกคลีกับแวดวงกล้องฟิล์มตั้งแต่มันยังไม่เป็นกระแสขนาดนี้ให้ความเห็นว่า เทรนด์กล้องฟิล์มเกิดจากการที่เซเลบเมืองนอก ดาราไทย หรือกระทั่งตัวละครสมมติอย่างหมอก ฮอร์โมนส์ฯ ใช้กล้องฟิล์ม จนคนอยากใช้ตาม รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมที่มีฟิลเตอร์ฟิล์มให้ใช้ จนคนสงสัยว่าหากได้ลองถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มจริงๆ จะเป็นเช่นไร

ในยุคที่ทุกคนสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วแตะ ไม่ว่าใครก็โพสต์รูปภาพ วิดีโอ และข้อความ บอกเล่าเหตุการณ์ได้ภายในเสี้ยววินาที แก็ดเจตต่างๆ พยายามอัพเกรดฟังก์ชั่นเพื่อตามให้ทันกับความต้องการของคนยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างฟังก์ชั่น Wi-Fi ในกล้องดิจิทัลที่ผู้ใช้ถ่ายปุ๊บก็ส่งเข้าสมาร์ตโฟน แต่งภาพในแอพพลิเคชั่น และโพสต์ลงโซเชียลมีเดียได้ทันที 

แต่ในช่วงปีที่แล้วจนถึงปีนี้ การถ่ายภาพฟิล์มกลายเป็นเทรนด์ฮิตระดับที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นมาก่อน วัดได้จากร้านล้างฟิล์มที่เปิดใหม่มากมายนับสิบร้าน คนสะพายกล้องฟิล์มกันราวกับเป็นของประดับติดตัว เทียบจากสมัยก่อนที่กว่าจะหาแล็บล้างฟิล์มได้ยากพอๆ กับการยังเห็นคนใช้กล้องฟิล์มอยู่

ความน่าสนใจของการกลับมาฮิตของกล้องฟิล์มอีกครั้งคือ กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษา และคนวัยทำงาน เวลาหลายคนไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จากที่พกแต่กล้องดิจิทัล พวกเขาและเธอต่างนำกล้องฟิล์มติดตัวไปด้วย

เพราะเหตุใดกล้องฟิล์มถึงได้รับความนิยมขนาดนี้ ฉันตั้งข้อสงสัยและได้รวบรวมหลายคำตอบจากการวิเคราะห์ของคนที่คลุกคลีในแวดวงกล้องฟิล์มมาให้อ่านกัน เผื่อว่าจะตอบความสงสัยของใครหลายคนได้บ้าง

ไหนๆ แล้วลองหยิบกล้องฟิล์มของคุณขึ้นมาวัดแสง ปรับชัตเตอร์สปีดกับ f-number และโฟกัสที่เทรนด์นี้ให้ชัดขึ้นไปพร้อมๆ กันดีกว่า

 

1

ก่อนอื่นเราอยากบอกเล่าลักษณะของกระบวนการถ่ายฟิล์มเพื่อสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันก่อน

การถ่ายภาพให้ครบ 36 ภาพโดยเช็กภาพไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของกล้องฟิล์มที่คนรักกล้องฟิล์มยกให้เป็นเสน่ห์ ทั้งยังต้องใช้ความใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการเลือกฟิล์มให้เหมาะสม ความรอบคอบก่อนกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ และการเลือกร้านล้างฟิล์มที่ถูกใจ

แม้ว่าเวลาในการได้ภาพจะเร็วกว่าสมัยก่อนมากด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น แต่กระบวนการถ่ายภาพด้วยฟิล์มก็ยังคงใช้เวลามากกว่าการถ่ายดิจิทัล ไม่แปลกที่คนใช้กล้องฟิล์มหลายคนจะหลงรักช่วงเวลาที่ต้องรอจนกว่าจะได้เห็นภาพทั้งหมดออกมาด้วย

มองเผินๆ กล้องฟิล์มดูใช้ยาก เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องแสง ฟิล์ม และกลไกการปรับต่างๆ แต่ความจริงแล้วกล้องฟิล์มแบ่งได้หลายประเภท หากยึดตามฟังก์ชั่นการใช้งานจะพบว่ามีตั้งแต่กล้องคอมแพกต์ตัวเบา พกพาง่าย แค่ถ่ายสแนปๆ ไปจนถึงกล้องที่หนักขึ้นมาหน่อย เปลี่ยนเลนส์ ตั้งค่านั่นนี่ เล็งแล้วเล็งอีกกว่าจะถ่ายได้ แต่ภาพออกมาสวยมีมิติกว่า

ฟิล์มแต่ละม้วนก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป เช่น สี เกรน หรือ ISO ซึ่งถ้าใครไม่อยากได้ภาพแนวเดียวกับคนอื่น ฟิล์มหนังหรือฟิล์มบูดก็ถือเป็นของเล่นใหม่ที่กำลังฮิตมาแรง แถมร้านล้างฟิล์มบางร้านบริการล้างแบบ cross-processing ทำให้ได้สีสันไม่ซ้ำใคร กลายเป็นความโดดเด่นของโทนสีภาพที่จะไม่มีใครเหมือน

ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบหลักๆ ของกล้องฟิล์มที่แตกต่างจากกล้องดิจิทัล ซึ่งถ้าใครอยากศึกษาลงลึกขึ้น ตอนนี้แค่เสิร์ชอินเทอร์เน็ตก็มีทั้งข้อมูลและฮาวทูสอนใช้กล้องฟิล์มหลากหลายรุ่นเต็มไปหมด

2

ถ้าซูมภาพออกมาในสเกลระดับโลก หลายประเทศทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกก็มีวัฒนธรรมการใช้กล้องฟิล์มในกลุ่มวัยรุ่นกันอยู่แล้ว อย่างใกล้ๆ บ้านเราก็มีประเทศญี่ปุ่นที่ใช้กล้องฟิล์มกันเป็นเรื่องธรรมดามาเป็นสิบปี ตามร้านสะดวกซื้อมีวางขายกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งเหมือนสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่ง อย่างในเมืองโตเกียว วัยรุ่นหลายคนก็สะพายกล้องฟิล์มกันเป็นเรื่องธรรมดา

ซัน–อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล หัวหอกสำคัญในวงการกล้องฟิล์มไทย ผู้ริเริ่มก่อตั้งร้านฟิล์ม Husband and Wife Shop ขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน หลังจากอ่านบทความวิเคราะห์การใช้กล้องฟิล์มของวัยรุ่นต่างประเทศ จุดนั้นเองที่ผู้รักกล้องฟิล์มอย่างเขาเริ่มรับรู้ได้ว่ากระแสนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน และในช่วงเวลาระหว่างนั้นก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มคนมีอายุกระโดดลงมาเล่นกล้องฟิล์มอยู่ตลอด กลายเป็นกระแสที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปีจนมาพีคที่สุดในปีนี้

กระแสวินเทจนิยมของเก่าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กล้องฟิล์มกลับมามีที่ทางในฝั่งตะวันตก แต่ในเมืองไทยการปรากฏตัวของกล้องฟิล์มในสื่อกระแสหลักอย่างซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เมื่อ 6 ปีก่อนก็นับเป็นหลักไมล์สำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจกล้องประเภทนี้ อย่างช่วงนั้นมีคนตามหากล้องฟิล์มรุ่นที่ตัวละครหมอกใช้กันเยอะมาก เกิดเป็นกระแสในแวดวงคนรักฟิล์มกันพักหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานเทรนด์ฮิปสเตอร์ก็เข้ามาสวมต่อ ทว่ากลุ่มคนใช้กล้องฟิล์มก็ยังถือว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับจำนวนปัจจุบัน

“แล้วอะไรที่ทำให้กระแสกล้องฟิล์มบูมได้ขนาดนี้” เราตั้งคำถาม

“จุดพีคคือกลุ่มดาราและเซเลบเมืองนอกหันมาใช้กล้องฟิล์มกัน ดาราระดับฮอลลีวูด นางแบบแฟชั่นที่เป็นไอดอลของเด็กวัยรุ่น แล้วก็เริ่มเป็นกระแสในกลุ่มดาราเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ซึ่งพอมันดังระดับเซเลบเมืองนอกก็มาสู่กลุ่มดาราไทย นี่แหละที่ทำให้เกิดเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว”

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสนี้ไปต่อได้คือ การที่ฟังก์ชั่นของมันไม่ได้ใช้ถ่ายภาพจริงจังอีกต่อไปแล้ว

“เรามองว่าวัยรุ่นเขาใช้กล้องฟิล์มเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว ตอนแรกจะมีข้อโต้เถียงว่ากล้องแบบไหนดีกว่ากัน แต่ตอนนี้พิสูจน์เลยว่าไม่มีปัญหาแบบนี้แล้วเพราะเด็กรุ่นใหม่มีความเข้าใจเยอะขึ้น เขาใช้ทั้งสองอย่าง แล้วมันคนละหน้าที่กัน การถ่ายฟิล์มของเขามันเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์

“แล้วปัจจุบันร้านเยอะมากจนมันเสริมไลฟ์สไตล์นั้นได้ ช่วงแรกๆ ที่เราเล่น ร้านล้างฟิล์มน้อยจนนับหัวได้ เข้าถึงยาก กว่าจะล้างฟิล์ม กว่าจะได้ ใช้เวลานาน แต่ ณ วันนี้รอรับได้แล้ว ล้างเสร็จปุ๊บอัพโหลด พออุปทานรองรับได้ขนาดนี้ คนก็ยิ่งเล่นง่ายขึ้นไปอีก เผลอๆ จะเร็วกว่าถ่ายดิจิทัลแล้ว ไม่ต้องมาเสียเวลาแต่งรูปเพิ่มด้วย”

 

3

ปุ๊–จักรพงษ์ ตะเคียนงาม เจ้าของร้าน XANAP ที่คลุกคลีกับแวดวงกล้องฟิล์มมานับสิบปี มองตรงกันกับซันว่า คนมีชื่อเสียงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหันกลับมาสนใจกล้องฟิล์มกันมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ บวกกับต้นทุนการเล่นกล้องประเภทนี้ที่ไม่สูงมากนัก ใช้งบประมาณแค่หลักร้อยบาทก็สามารถถ่ายภาพฟิล์มสวยๆ ได้แล้ว

และเมื่อคนใช้กล้องฟิล์มในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีเชื่อมถึงกันหมด องค์ความรู้เรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบและมีแต่ภาษาต่างประเทศอีกต่อไป

“ผมมองว่าข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมีมากขึ้น ถ้าย้อนไปยุคที่ผมเล่นฟิล์ม ข้อมูลมันมีน้อยมาก เราต้องเสิร์ชหาจากเว็บต่างประเทศ ต้องค่อยๆ แปล คนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีมากก็ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง ผมมองว่าคนหรือกลุ่มคนที่มีคุณูปการต่อวงการกล้องฟิล์มไทยก็คือพี่ซัน อาทิตย์นี่แหละ เพราะพี่ซันเขียนบล็อกเกี่ยวกับกล้องฟิล์มที่เป็นภาษาไทยไว้เยอะมาก ถ้าเป็นคนที่เล่นกล้องฟิล์มในช่วง 5-6 ปีนี้แทบจะต้องเคยอ่านของพี่ซันกันทั้งนั้น บวกกับมีคนทำเพจ ทำกรุ๊ป คนรักกล้องฟิล์มด้วย”

สำหรับคนทำธุรกิจล้างฟิล์ม การที่มีกระแสคนเล่นกล้องฟิล์มกันทั่วบ้านทั่วเมืองแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว อย่างร้านของปุ๊เองก็โตขึ้นจนย้ายโลเคชั่นมาอยู่ใจกลางเมืองได้ แถมยอดล้างฟิล์มเฉลี่ยต่อเดือนแล้วตกหลายร้อยม้วนทีเดียว

ส่วนในแง่ของคนที่อยู่กับกล้องฟิล์มมาตั้งแต่ยุคที่เรียกได้ตกต่ำที่สุด ปุ๊บอกว่าเขาดีใจที่เกิดกระแสนี้ขึ้น

“เพราะการที่มีคนกลับมาใช้เยอะขึ้น อย่างน้อยๆ แปลว่าฟิล์มมันขายได้ แล็บล้างฟิล์มก็มียอดให้อยู่ได้ แล้วพอฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม เครื่องล้างฟิล์ม มันขายได้ พวกบริษัทที่ผลิตเขาก็ยังผลิตได้อยู่ เพราะยังมีคนซื้อ ฟิล์มก็เลยยังไม่หายไป

“ซึ่งสุดท้ายแล้วผมมองว่าฟิล์มไม่หายไปหรอก ยิ่งมีคนใช้เยอะขึ้นก็ยิ่งสร้างความมั่นคงให้มัน นอกจากไม่หายไปแล้วยังมีโปรดักต์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ วงการถ่ายภาพฟิล์มเลยครึกครื้นขึ้น มีฟิล์มและกล้องแปลกๆ ให้ลองเล่นลองใช้ ผมมองว่าการถ่ายภาพฟิล์มไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องของความสนุก เป็นของเล่น เป็นแก็ดเจต อย่างหนึ่ง”

 

4

“โซเชียลมีเดียทำให้กระแสการถ่ายภาพฟิล์มกลับมา” เจต–สุรเจต โภคมั่งมี หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งร้าน FOTOCLUB ซึ่งเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องการถ่ายภาพตอนเรียนปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย แสดงความเห็นถึงปัจจัยที่ทำให้กล้องฟิล์มกลับมาบูม

เขามองว่าสีฟิลเตอร์ที่ทำเลียนแบบสีฟิล์มในอินสตาแกรมและแอพพลิเคชั่นแต่งรูปต่างๆ เป็นจุดที่ทำให้คนอยากลองใช้กล้องฟิล์มของจริง

“คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยถ่ายรูปแล้วลงเลย จะไม่ค่อยมีคนชมหรอกว่ารูปสวย แต่ถ้าคุณถ่ายรูปแล้วไปผ่านแอพฯ มีการแต่งสี แต่งนู่นแต่งนี่ มันเริ่มมีคนมาชมว่ารูปสวย รูปแปลก รูปเท่ดีว่ะ สำคัญที่การแต่งสี พอทุกคนเริ่มรู้ว่าไอ้สีที่เขาแต่งจริงๆ แล้วมันคือสีที่เลียนแบบฟิล์มนี่หว่า เลยเป็นกระแสกลับไปว่าแล้วถ้าถ่ายฟิล์มจริงๆ จะเป็นยังไง”

วัยรุ่นหลายคนจึงมักเริ่มเล่นกล้องฟิล์มด้วยกล้องคอมแพกต์หรือกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งก่อน กอปรกับราคาที่ไม่แพง เข้าถึงง่าย กลายเป็นกระแสที่ส่งแรงกระเพื่อมกว้างออกไป และพอลองถ่ายฟิล์มแล้วครั้งหนึ่งพบว่าสีไม่เหมือนของคนอื่น ครั้งที่สองก็ไปลองซื้อฟิล์มตัวอื่นมาใช้เพื่อให้ได้สีที่แตกต่าง ซึ่งนั่นถือเป็นเสน่ห์และความสนุกของการเล่นฟิล์มเช่นเดียวกัน

แต่ขณะเดียวกันการที่ทุกคนเข้าถึงฟิล์มได้ง่ายและมีแล็บฟิล์มให้บริการเต็มไปหมดก็ทำให้เกิดการทิ้งฟิล์มเนกาทีฟที่เป็นส่วนที่เรียกได้ว่าแทบจะสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพฟิล์มไป เพราะในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่โชว์ผลงานและสะสมความทรงจำ แค่ได้โพสต์ภาพที่สแกนไฟล์มาก็เพียงพอสำหรับบางคนแล้ว ซึ่งสำหรับคนเล่นฟิล์มสมัยก่อนอาจจะไม่เข้าใจตรงจุดนี้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กล้องฟิล์มเปลี่ยนสถานะจากอุปกรณ์ถ่ายภาพจริงจังมาเป็นของเล่นและส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ เรื่องนี้ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นในแวดวงเจ้าของแล็ปฟิล์ม

แม้ตอนนี้กล้องฟิล์มจะดูเป็นกระแสที่มาแรงมาก ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่าเดี๋ยวก็หายไปแบบกระแสอื่นๆ หรือเปล่า แต่สำหรับเจต เขามองว่ากระแสกล้องฟิล์มไม่น่าหายไปง่ายๆ

“ผมมองว่ามันเป็นงานอดิเรก ไม่ได้เป็นเมนสตรีม ไม่ใช่ว่าช่างภาพต้องกลับมาใช้ฟิล์ม เขาใช้กล้องดิจิทัลก็สบายใจอยู่แล้ว แต่ฟิล์มเป็นงานอดิเรกที่เหมือนเวลาคนไปปั่นจักรยาน ไปดูคอนเสิร์ต ถ้าเขาทำแล้วชอบจริงๆ เขาก็สามารถทำต่อไปได้เรื่อยๆ มันขนานไปกับชีวิตเขา อย่างที่ผมชอบพูดว่าการถ่ายกล้องฟิล์มมันคือสุนทรีย์ มันคือความสุข เพราะฉะนั้นมันไปต่อได้ บางคนชอบที่ตัวเองช้าลง ได้ไปอยู่ในห้องมืด ยิ่งถ้าคนที่ถึงขั้นเข้าห้องมืดนี่ไม่ใช่ผิวเผินแล้ว ถ้าเขาชอบจริงๆ ก็ถ่ายได้เรื่อยๆ กล้องฟิล์มมันไม่มีตกรุ่น เสียก็ยาก เขาแค่ซื้อฟิล์มแล้วถ่ายต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ราคาฟิล์มไม่ได้สูงมากจนซื้อไม่ไหว” 

5 

ในฐานะที่เราเองก็สนใจการถ่ายภาพมาหลายปีและได้ใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพในช่วง 1-2 ปีมานี้เช่นกัน เรามองว่ากระแสกล้องฟิล์มเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คนที่ชอบถ่ายภาพ ซึ่งอาจจะเคยใช้แต่กล้องดิจิทัลมาตลอด ให้เขาได้ลองใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ได้พัฒนาฝีมือภายใต้ข้อจำกัดที่ขณะเดียวกันก็เป็นเสน่ห์ของกล้องฟิล์มเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นกระแสกล้องฟิล์มได้เปิดโอกาสให้วัยรุ่นที่ไม่เคยสนใจการถ่ายภาพมาก่อนได้ลองมาเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยระบบแอนะล็อก และนั่นอาจต่อยอดให้เขาสนใจศึกษาการถ่ายภาพฟิล์มในระดับสูงขึ้นจนอาจพัฒนาไปเป็นช่างภาพได้ในอนาคต 

เอาเข้าจริงๆ เราไม่เห็นถึงข้อเสียที่กระแสกล้องฟิล์มกลับมาอีกครั้งเลย เพราะมันมีแต่ข้อดีและทำให้คนมีตัวเลือกในการสร้างความสุขให้ตัวเองมากขึ้น

และถึงแม้ในอนาคตกระแสกล้องฟิล์มอาจจะลดน้อยลงไปจนเหลือแต่คนที่สนใจจริงๆ ซึ่งคงไม่มีทางเยอะเท่าปัจจุบัน แต่อย่างน้อยกระแสนี้ก็ถือเป็นการเปิดประตูให้หลายๆ คนได้เข้ามาสัมผัสศาสตร์แห่งภาพถ่าย และทำให้เราพิจารณาโลกอย่างละเมียดละไมขึ้น เพื่อบันทึกภาพตรงหน้าภาพนั้นให้ออกมาสวยที่สุดในแบบที่ดวงตาของเรากับกล้องฟิล์มในมือจะสรรค์สร้างออกมาได้


ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก

FOTOCLUB
Husband and Wife Shop
XANAP

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่