ถอดรหัสภาพดวงดาวกับ ‘ศุภฤกษ์ คฤหานนท์’ ช่างภาพหนึ่งในทีมถ่ายภาพดาราศาสตร์ระดับโลก

Highlights

  • เคล็ดลับการเป็นช่างภาพดาราศาสตร์ที่ดีต้องรู้จัก 'กาลเทศะ' กาลคือเวลา เทศะคือสถานที่ มีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อจะทราบวัน เวลา และสถานที่ สำหรับการเก็บภาพปรากฏการณ์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  • ภาพถ่ายดาราศาสตร์หนึ่งภาพสามารถนำมาประยุกต์เป็นองค์ความรู้ได้จำนวนมาก แม้แต่เงากระต่ายบนดวงจันทร์ หากเงาที่ปรากฏเป็นกระต่ายหูตั้งขึ้นก็สามารถถอดรหัสได้ว่า ขณะนั้นอยู่ในช่วงเวลาหัวค่ำ
  • อาจารย์แจ็ค–ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ และทีมเคยมีโอกาสได้เดินทางไปที่ขั้วโลกเหนือเพื่อถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา และได้รับรางวัลระดับโลก เป็น 1 ใน 3 ภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่ถูกนำไปพิมพ์ใช้ในตำราทั่วโลก

มนุษย์กับดวงดาวผูกพันกันมาเนิ่นนาน ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราเริ่มต้นแหงนหน้ามองท้องฟ้ายามค่ำคืน กระทั่งมีผู้สังเกตและถอดรหัสของดวงดาวเหล่านั้น เราได้รับองค์ความรู้จำนวนมากจากดวงดาว ไม่ว่าจะเป็นเข็มทิศ โลกกลม น้ำขึ้น-น้ำลง การรับรู้วันจากดวงอาทิตย์ รู้เดือนจากการเปลี่ยนเสี้ยวของดวงจันทร์ และรู้ปีจากการโคจรของกลุ่มดาว 12 ราศี ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากการถือกำเนิดของวิชาดาราศาสตร์ ศาสตร์เกี่ยวกับดวงดาวที่ทำให้เรารู้จักตัวเอง สิ่งรอบข้าง และยังคงมีเรื่องราวใหม่ๆ ให้เราค้นพบมาจนถึงปัจจุบัน

แต่การที่นักดาราศาสตร์จะถอดรหัสดวงดาวในแต่ละค่ำคืนที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาได้ จำเป็นยิ่งที่จะต้องมีผู้ทำหน้าที่บันทึกดวงดาว อาชีพ ‘ช่างภาพดาราศาสตร์’ จึงถือกำเนิดขึ้นมา

หากติดตามข่าวสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดวงดาวต่างๆ อยู่บ้าง หลายคนอาจคุ้นชื่อ อาจารย์แจ็ค–ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดวงดาวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และหากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพดวงดาว ผลงานของเขาย่อมเคยผ่านตาคุณมามากกว่าหนึ่งครั้งแน่ๆ

ปัจจุบัน ผลงานภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ของอาจารย์แจ็คได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือแบบเรียน และด้วยตำแหน่งหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) เขาในฐานะหัวเรือใหญ่ของทีมก็สามารถพาเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page’ คว้ารางวัลทางโซเชียลมีเดียได้ทุกปี ด้วยเรื่องราวความรู้ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ที่ย่อยให้เข้าใจง่าย และทำให้คนไทยจำนวนมากหันมาสนใจดาราศาสตร์

ในฐานะช่างภาพดาราศาสตร์ เขาคือหนึ่งในทีมคนไทยที่ได้เดินทางไปถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาถึงขั้วโลกเหนือ และได้รับรางวัลภาพถ่ายดาราศาสตร์ในระดับโลก

ก่อนจะหยิบกล้องส่องไปยังดวงดาวในคืนนี้ ลองมาถอดรหัสเบื้องหลังภาพถ่ายของช่างภาพดาราศาสตร์ฝีมือดีคนนี้กัน

1. หนึ่งภาพแทนล้านคำพูด หนึ่งภาพดาราศาสตร์แทนความรู้อนันต์

หลายคนน่าจะได้อ่านข่าวการบันทึกภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรกของโลก สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อย่างมากสำหรับนักดาราศาสตร์ เพราะมันคือประตูเริ่มต้นสู่องค์ความรู้ต่อไปอีกจำนวนมาก ทุกครั้งที่มีแผนการตั้งศูนย์กล้องดูดาวต่างๆ สิ่งที่พวกเขาใช้บอกตำแหน่งว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมก็มาจากภาพถ่ายดาราศาสตร์นี้เอง

ในอดีต อาจารย์แจ็คเคยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ทดสอบสถานที่ตั้งหอดูดาวที่ดอยอินทนนท์ ทุกคืนเขาจะต้องออกไปบันทึกภาพดวงดาวบริเวณที่คาดว่าจะตั้งหอดูดาว โดยใช้วิธีการถ่ายภาพท้องฟ้าและเส้นแสงดาว (star trail) ด้วยอุปกรณ์กล้องโทรทรรศน์และนำค่ามาวิเคราะห์หาทัศนวิสัยของท้องฟ้า

“ภาพถ่ายเส้นแสงดาวสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลตั้งหอดูดาวให้เราดูที่เส้นของดวงดาวที่เราถ่ายไว้ ถ้าหากพบว่าตลอดทั้งคืนที่ถ่ายเส้นดวงดาวลากเป็นเส้นยาว ไม่ขาดจากกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีอะไรมาบดบังหรือรบกวนแสงของดวงดาว จึงเหมาะสมสำหรับการบันทึกข้อมูลทางดาราศาสตร์ และหากสังเกตให้ดีระยะความโค้งของเส้นดวงดาวเองก็มีค่าเท่ากับช่วงของเข็มนาฬิกา เราจึงยังสามารถบอกระยะเวลาที่เราใช้ถ่ายภาพนี้ได้ 

“กระต่ายบนดวงจันทร์ก็สามารถบอกช่วงเวลาเราได้ เวลาที่มันเต็มดวงหากเราเห็นหูกระต่ายชี้ขึ้นข้างบน นั่นคือช่วงหัวค่ำ แล้วค่อยๆ โคจรจนหูนั้นทิ่มลงจนลับขอบฟ้าสู่วันใหม่ ผู้ที่รู้จึงสามารถบอกเวลาจากดวงจันทร์ได้ กระทั่งถึงขั้นใช้เป็นเข็มทิศบอกตำแหน่ง

“หนึ่งภาพสามารถแทนคำพูดได้ไม่รู้กี่พันคำ แต่หนึ่งภาพดาราศาสตร์สามารถสร้างองค์ความรู้ได้อีกมหาศาล…” 

2. ภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่ดี

“ภาพที่ดีในคำจำกัดความเชิงดาราศาสตร์ก็คือภาพที่มีรายละเอียดมากพอที่จะแสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่เราต้องการศึกษา และเป็นภาพที่ผ่านกระบวนการประมวลผลภาพถ่ายออกมาแล้ว เพื่อให้ได้ภาพที่นักดาราศาสตร์พึงพอใจ เราจะต้องตัดสัญญาณรบกวนต่างๆ ในภาพออกไปให้หมด เช่น noise ที่เกิดขึ้นจากตัวกล้อง ฝุ่นรบกวน เมฆที่มาบดบังดาวในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น ในกระบวนการถ่ายภาพดาราศาสตร์เราจึงต้องใช้เทคนิคการบันทึกภาพจำนวนมากๆ และใช้เวลานาน เพื่อประมวลผลภาพโดยการลบสัญญาณรบกวนออกแล้วนำภาพมา stacking เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด” 

นั่นแปลว่ากว่าที่นักดาราศาสตร์จะนำภาพถ่ายมาถอดรหัสได้ ช่างภาพดาราศาสตร์เองก็ต้องวางแผนการบันทึกภาพดวงดาวต่างๆ อย่างรัดกุม เพื่อให้ได้ภาพดวงดาวที่สมบูรณ์ที่สุด

3. การถ่ายภาพดาราศาสตร์ต้องรู้จัก กาลเทศะ

“ผมมักพูดเล่นๆ ว่า ดาราศาสตร์สอนให้เรารู้จักกาลเทศะ… ‘กาล’ ในที่นี้คือเวลา และ ‘เทศะ’ หมายถึงสถานที่ การได้ภาพดาราศาสตร์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการวางแผน ปัจจุบันเรามีองค์ความรู้และแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้รู้ล่วงหน้าได้ว่า ควรจะถ่ายดวงดาวหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ณ ที่ไหนและเวลาใด จึงจะได้ภาพถ่ายและข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่ดีที่สุด”

บางปรากฏการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นเพียงปีละ 2-3 ครั้ง การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญของช่างภาพดาราศาสตร์ ทั้งเพื่อคำนวณและทำแบบจำลองทางดาราศาสตร์ เพื่อค้นหาเวลาและสถานที่ที่จะสามารถบันทึกปรากฏการณ์ได้ดีที่สุด

“แม้เราวางแผนล่วงหน้ามาดีแค่ไหน แต่ธรรมชาติก็ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราควบคุมไม่ได้ วันนั้นฟ้าจะเปิดไหม ฝนจะตกหรือเปล่า สำหรับผมผมให้ 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับการวางแผน อุปกรณ์ เทคนิค วิธีการ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์คือธรรมชาติล้วนๆ เลย ถ้าวันนั้นฟ้าปิดหมดก็เท่ากับจบ เจอกันวันใหม่” เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“ฟังดูไม่ค่อยสนุกเลยใช่ไหมครับ แต่ว่ามันท้าทาย และเมื่อวันไหนเราได้ภาพถ่ายที่ดี ผลที่ได้ออกมามันก็คุ้มค่าอย่างมาก” ฟังดูไม่ต่างอะไรกับนักวิทยาศาสตร์ เพราะการวางแผนถ่ายภาพล่วงหน้าก็เหมือนกับการตั้งสมมติฐาน และภาพถ่ายนั้นเองคือข้อพิสูจน์ที่ช่างภาพดาราศาสตร์ล้วนท้าทายตัวเองให้ได้มา

4. ผลงานที่เกิดจากศาสตร์วิทย์และศิลป์ร่วมกัน

การถ่ายภาพดาราศาสตร์เป็นส่วนผสมของศาสตร์วิทย์และศิลป์ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการวางแผนการถ่าย และใช้ศิลปะในการจัดองค์ประกอบภาพ เพื่อเล่าเรื่อง เล่าข้อมูล รวมถึงความสวยงามที่ช่วยดึงให้คนหันมาสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับดวงดาว 

“เมื่อเรารู้เรื่องของดวงดาว เราก็สามารถนำมาปรับใช้กับงานอย่างการถ่ายพรีเวดดิงได้ สมมติว่ามีคนมาจ้างผมถ่าย ผมก็รู้ได้ว่าวันนี้จะมีทางช้างเผือกปรากฏที่บริเวณไหนของท้องฟ้า และผมสามารถถ่ายภาพคู่บ่าวสาวโดยมีทางช้างเผือกเป็นฉากหลังได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของภาพในหัว แต่เป็นการรู้ข้อมูล ผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะ วางแผนและจัดการถ่ายออกมาเป็นภาพถ่ายที่ดีภาพหนึ่ง” 

5. ไอดอลของเขาคือความสมัครเล่น

“ไอดอลของผมคือนักดาราศาสตร์สมัครเล่น (amateur astronomer) ทั้งหลายครับ อาจจะฟังดูไม่ใช่มืออาชีพ แต่ในวงการวิทยาศาสตร์คำว่า ‘สมัครเล่น’ ถือเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพทางดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่มีความสนใจและทำคล้ายเป็นงานอดิเรก เช่น Christopher Go นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ชื่อดังชาวฟิลิปปินส์ อาชีพปกติของเขาคือผลิตเฟอร์นิเจอร์ ภาพดาราศาสตร์แต่ละประเภทก็จะมีช่างภาพหัวแถวอยู่ และพวกเขาเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการค้นพบองค์ความรู้และปรากฏการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ จากภาพที่เขาถ่ายกันทั่วทุกมุมโลก”

6. เป้าหมายของช่างภาพดาราศาสตร์

“คนทั่วไปที่ชอบท่องเที่ยวอาจจะตั้งเป้าว่าอยากไปยุโรป ไปถ่ายภาพกับหอไอเฟล หอเอนเมืองปิซาสักครั้ง แต่สำหรับนักดาราศาสตร์และช่างภาพดาราศาสตร์ เราอยากไปในที่ที่ไม่เหมือนชาวบ้าน เราอยากไปในพื้นที่ที่มี dark sky ท้องฟ้าอันมืดสนิทไม่โดนแสงรบกวน ซึ่งเป็นจุดตั้งของหอดูดาวระดับโลก เราอยากเห็นท้องฟ้าบริเวณที่หอดูดาวระดับโลกตั้งอยู่ ลองนึกดูว่ารอบข้างของเรามืดสนิท เผยให้เห็นแต่แสงของดวงดาวเต็มไปหมด มันจะสวยแค่ไหน…

“ท้องฟ้ามีขั้วเหนือและขั้วใต้ ลองสังเกตได้จากเวลาถ่ายภาพเส้นแสงดวงดาวมันจะมีจุดหมุนอยู่ ซึ่งประเทศไทยเห็นกลุ่มดาวของทางซีกฟ้าเหนือ สำหรับผมผมอยากพาตัวเองไปเห็นดวงดาวทางซีกฟ้าใต้ดูบ้าง ซึ่งท้องฟ้าที่มองเห็นดาวซีกฟ้าใต้ได้ดีอยู่ที่ประเทศชิลี นี่คือเป้าหมายที่ผมกำลังจะเดินทางไป”

อาจารย์แจ็คเล่าเสริมว่าจุดที่อยู่ใกล้กับขั้วท้องฟ้าเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของนักถ่ายภาพดวงดาวหลายๆ คน เขาเองก็เคยมีโอกาสไปถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาไกลถึงขั้วโลกเหนือเลยทีเดียว

“เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการถ่ายภาพที่ผมประทับใจที่สุดในชีวิต เพราะตรงนั้นคือผืนดินบริเวณเหนือสุดของโลกที่มนุษย์สามารถเดินทางไปได้ มันสุดขั้วสมชื่อจริงๆ (หัวเราะ) ปกติเราจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก แต่ที่นั่นไม่ใช่ ดวงอาทิตย์จะโคจรรอบตัวเรา และการได้ถ่ายสุริยุปราคาในที่ที่สุดขั้ว ภาพที่ได้มาก็สวยงามสมกับที่ลงทุนเดินทางไกลขนาดนั้น”

นี่เป็นภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาจากทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ที่คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท Photo Sequence จากรายการประกวดภาพถ่ายระดับโลกอย่าง The 7th Earth & Sky Photo Contest และเป็นภาพที่ถูกตีพิมพ์ลงในตำราหลายเล่มทั่วโลกเพื่ออธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ว่า

ภาพ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

AUTHOR