‘รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม’ หนังสือที่ชวนคิดว่าเซ็กซ์ฉันเร่าร้อนกว่านี้ได้ไหม

ว่ากันตามตรง ฉันอ่านหนังสือเล่มเล็กสีส้มแดงที่มีตัวอักษรโปรยบนปกว่า รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม จบอย่างรวดเร็วภายในวันเดียวก็เพราะความสงสัยที่มันจุกอก

อะหรือ อะหรือ อะหรือว่า เซ็กซ์ของฉันจะเร่าร้อนได้มากกว่านี้อีกล่ะ

 รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

จะไม่ให้สงสัยได้ยังไง ในเมื่อผู้เขียนอย่าง Kristen Ghodsee เสนอแนวคิดแสนพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (อย่างน้อยก็สำหรับฉัน) ว่าการอาศัยอยู่ในสังคมทุนนิยมเสรีทำให้ฉันและผู้หญิงนับล้านไม่สุขสมในเซ็กซ์เท่าไหร่นัก

คริสเตนยกข้อมูลจากแบบสำรวจและงานวิจัยมากมายมารองรับข้อเสนอของตัวเอง ซึ่งบอกเลยว่าแม้ข้อมูลจะถาโถมจนฉันร้องซี้ดไปหลายรอบ แต่หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย เข้าใจง่ายมากๆ เลยล่ะ

แถมหลังอ่านจบ ความรู้สึกฟินที่ได้หัดมองเซ็กซ์และสังคมนิยมในมุมใหม่นั้นอยู่กับฉันนานกว่าตอนถึงจุดสุดยอดเสียอีก

 รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

เมื่อทุนนิยมเข้าด้ายเข้าเข็มกับปิตาธิปไตยรักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

ประเด็นแรกที่คริสเตนขอให้เราทำความเข้าใจก่อนจะเข้าสู่ช่วงไคลแมกซ์คือ ‘ทุนนิยมเสรี’ นั้นแสนจะเข้าขากับ ‘ปิตาธิปไตย’

เพราะเมื่อสองสิ่งน้ีอยู่ร่วมกัน มันพากันกดทับผู้หญิงจนแทบหายใจไม่ออก บีบให้ผู้หญิงไร้ทางเลือก ลองคิดตามเส้นเรื่องแสนสามัญดูสิ ว่าผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งมักถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้าน ทำงานบ้าน ทำอาหาร เลี้ยงลูก ดูแลสามีและบรรดาญาติผู้ใหญ่ ซึ่งงานเหล่านี้ไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นตัวเงินสักสลึง

ในขณะที่ผู้ชายไม่ถูกคาดหวังให้ทำสิ่งเหล่านี้ ในเมื่อมีผู้หญิงทำให้แล้ว ผู้ชายก็สามารถที่จะออกจากบ้านไปทำงานหาเงินได้ ซึ่งเมื่อเป็นฝ่ายหาเงิน ผู้ชายจึงสวมบทผู้นำ ผู้มีบุญคุณ ผู้ตัดสินใจ ผู้กุมอำนาจตัวจริงในบ้าน แล้วผู้หญิงจะมีสิทธิมีเสียงอะไรได้ล่ะ

แม้เส้นเรื่องนี้อาจสเตริโอไทป์หรือล้าหลังไปหน่อยสำหรับยุคนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีครอบครัวลักษณะนี้อยู่จริงบนโลก

หรือต่อให้บิดเส้นเรื่องอีกนิดว่าผู้หญิงก็ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้านได้นานแล้วนี่นา นั่นก็จริง แต่งานดูแลบ้านดูแลคนอันไร้ค่าตอบแทนก็ยังถูกฝากไว้ที่ผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ และนายทุนจำนวนมากยังเชื่อว่าสุดท้ายผู้หญิงก็ต้องออกจากงานไปเลี้ยงลูก จึงให้ค่าตอบแทนผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายแม้จะทำงานเดียวกัน หน้าที่เดียวกันก็ตาม

วังวนเหล่านี้ตีกรอบผู้หญิงให้ต้องนำตัวเองไปผูกไว้กับผู้ชายเพื่อแลกอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงิน สถานะทางสังคม (ซึ่งก็ดันจำกัดแค่เมียและแม่) หรือกระทั่งประกันสุขภาพ (เช่น ในบริบทของสหรัฐอเมริกาที่ผู้หญิงจะได้รับประกันสุขภาพจากที่ทำงานของสามี) 

และแน่นอนว่าในการจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น ผู้หญิงต้องใช้เซ็กซ์ของตัวเองเข้าแลก

 รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

ปลดแอกความเสียวซ่านจากเศรษฐกิจ รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

เมื่อเข้าใจประเด็นแรกแล้ว คริสเตนจึงจูงมือเราไปทำความเข้าใจแนวคิดแบบสังคมนิยมในหลายๆ ประเทศหลังม่านเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง กับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างสหายทุกเพศ 

เราได้รู้จักนักคิดและนักขับเคลื่อนหลายคนผู้มีวิสัยทัศน์ก่อนกาลกว่าที่คนร่วมยุคร่วมสมัยจะเข้าใจ เช่น ออกุสต์ เบเบล ผู้เขียนหนังสือชื่อ ผู้หญิงและสังคมนิยม ในปี 1879 ซึ่งเสนอว่าผู้หญิงต้องได้รับการปลดปล่อยจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หรือ อเล็กซานดรา คอลลอนไท ผู้ซึ่งหลังปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคมในปี 1917 ได้ผลักดันจนเกิดกฎหมายหย่าร้าง สิทธิการทำแท้ง จัดตั้งสถานซักผ้ารัฐ ศูนย์เลี้ยงเด็กรัฐ และอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยรากความเชื่อเดียวกันกับเบเบลว่าต้องปลดแอกความรักและเซ็กซ์ออกจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

เหล่านักคิดและนักเคลื่อนไหวที่คริสเตนหยิบยกมาล้วนเชื่อว่า เมื่อสังคมมีความเท่าเทียมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการทำงาน ค่าตอบแทนจากการทำงาน สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การเข้าถึงสวัสดิการและโครงข่ายความมั่นคงทางสังคมที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ ฯลฯ ผู้หญิงก็จะมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้น และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทนอยู่ในชีวิตคู่ที่ไม่มีความสุข

และแน่นอนว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทนกับชีวิตเซ็กซ์ที่ไม่สุขสม

สุขสมแค่ไหนเรียกสุขสมรักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

คริสเตนกาดอกจันตัวโตๆ ว่าผลสำรวจเรื่องความพึงพอใจทางเพศนั้นเป็นเรื่องปัจเจกมากๆ แล้วแต่คนจะนิยามว่าฟินมากฟินน้อยเท่าไหร่ยังไง ก่อนจะยกตัวอย่างผลสำรวจและงานวิจัยหลากหลายแห่งที่ชี้ว่าผู้หญิงในดินแดนสังคมนิยมมีเซ็กซ์ที่สุขสมกว่าผู้หญิงในดินแดนทุนนิยมเสรี เป็นต้นว่า

งานวิจัยเมื่อปี 1984 โดยเคิร์ต สตาร์ก และวอลเทอร์ ฟรีดริช สำรวจความรักและชีวิตเซ็กซ์ของชาวเยอรมันตะวันออกที่อายุน้อยกว่าสามสิบ และพบว่าวัยรุ่นทั้งหญิงชายในเยอรมนีตะวันออกต่างพึงพอใจในชีวิตเซ็กซ์ของตัวเอง และหนึ่งในสามของผู้หญิงประเมินตัวเองว่า พวกเธอถึงจุดสุดยอด ‘เกือบทุกครั้ง’ และอีก 18 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพวกเธอถึงจุดนั้น ‘บ่อยมาก’ 

ซึ่งแน่นอนว่านักวิจัยทั้งสองเสนอข้อสรุปที่สอดคล้องกับแนวคิดของนักคิดและนักขับเคลื่อนในยุคก่อนหน้า นั่นคือ ความพึงพอใจในชีวิตเซ็กซ์นี้เป็นผลมาจากชีวิตแบบสังคมนิยม

และอีกงานวิจัยโดยอิงกริด ชาร์ป ศาสตราจารย์ด้านเยอรมนีศึกษา ที่หยิบยกตัวเลขจากสถาบันวิจัยกีวิสที่ระบุว่า “ผู้หญิงเยอรมันตะวันออก 80 เปอร์เซ็นต์มีเซ็กซ์ถึงจุดสุดยอดเสมอ ในขณะที่ผู้หญิงเยอรมันตะวันตกเพียง 68 เปอร์เซ็นต์ที่สำเร็จเช่นนั้น…” 

โดยอิงกริดสรุปว่า ผู้หญิงในเยอรมนีตะวันออกมีสวัสดิการสังคมรองรับ หากเธอไม่มีความสุขกับชีวิตเซ็กซ์หรือความสัมพันธ์กับผู้ชาย ก็สามารถเลือกเดินออกจากความสัมพันธ์นั้นได้ (หรือผู้ชายก็ต้องพยายามทำให้พวกเธอพึงพอใจมากขึ้น!) ในขณะที่ผู้หญิงในเยอรมนีตะวันออกไร้โครงข่ายทางสังคมเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายและอดทนกับเซ็กซ์และความสัมพันธ์แย่ๆ

สังคมนิยมเต็มรูปแบบไม่ใช่คำตอบ

เล่ามาถึงตรงนี้ ฉันต้องออกตัวให้กับตัวเองและคริสเตนว่า เปล่าเลย พวกเราไม่ได้จะปลุกเร้าให้ประชาชนลุกขึ้นมาปฏิวัติ พลิกคว่ำประชาธิปไตย แล้วสอดใส่สังคมนิยมเข้ามาแทนที่ คริสเตนบอกว่าเธอรู้ว่าคอมมิวนิสต์มีข้อเสียมากมาย เช่นว่าการสืบสวนไร้จริยธรรมในห้องมืด แถวยาวเหยียดต่อคิวรับขนมปัง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียนรู้ข้อดีบางอย่างของสังคมนิยมแล้วนำมาปรับใช้กับสังคมของพวกเราไม่ได้

สำหรับคนที่เกิดทันช่วงปี 2516-2519 ที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเป็นระบบของรัฐไทย และได้ยินได้ฟังคำว่า ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ หรือคนที่เกิดไม่ทันแต่ถูกปลูกฝังโดยห้องเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลักว่าสังคมนิยมมีแต่บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ฉันอยากขอให้เปิดใจให้สังคมนิยมสักนิด

เพราะหากสังคมนิยมเลวร้ายสุดโต่งเช่นนั้นจริง ทำไมในอีกฟากหนึ่งของโลก กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียถึงสามารถรับแนวคิดบางส่วนของสังคมนิยมมาปรับให้เข้ากับตัวเองจนเกิดเป็น ‘ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม’ (social democracy) ซึ่งโดดเด่นเรื่องรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมของผู้คนได้ อีกทั้งประเทศกลุ่มนี้ยังติดอันดับท็อป 5 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศน้อยที่สุดเสมอ อย่างปีที่ผ่านมา Global Gender Gap Report 2020 จัดทำโดย The World Economic Forum ก็ระบุว่า นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน คว้าที่ 2, 3, 4 ไปครองตามลำดับ (อันดับหนึ่งตกเป็นของไอซ์แลนด์)

แน่ล่ะว่าความเท่าเทียมทางเพศอาจไม่ได้หมายถึงความพึงพอใจในเซ็กซ์เสมอไป ฉันจึงลองหาข้อมูลดูว่าคนในกลุ่มประเทศนอร์ดิกสุขสมกับเซ็กซ์มากน้อยแค่ไหน และพบว่าข้อมูลในหนังสือพิมพ์ Aftenposten ซึ่งระบุว่า ในภาพรวมของงานวิจัยเรื่อง Sexual Satisfaction in Young Adulthood Cohabitation, Committed Dating or Unattached Life? ผู้หญิงนอร์เวย์ 84 เปอร์เซ็นต์ และผู้ชายนอร์เวย์ 74 เปอร์เซ็นต์ จากกลุ่มสำรวจ 2,700 คน บอกว่ามีความ ‘พึงพอใจ’ และ ‘พึงพอใจมาก’ กับชีวิตเซ็กซ์ของตน

มันก็ดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่ รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม บอกกับคนอ่านอยู่นะ ว่าไหม

ดูสังคมนิยมแล้วย้อนดูสังคมเผด็จการรักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

ย้อนกลับมาดูที่ตัวฉันและผู้หญิงไทยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในดินแดนประชาธิปไตยจอมปลอมและทุนนิยมสามานย์กันบ้าง พวกเรามีสิทธิที่จะมีเซ็กซ์ที่ฟินแบบผู้หญิงในดินแดนสังคมนิยมหรือประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมได้ไหมนะ

สำหรับฉัน คำตอบคงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเล็กๆ อย่างความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักหรือความสัมพันธ์ในครอบครัว มากกว่าโครงสร้างใหญ่ๆ อย่างรัฐสวัสดิการที่ต้องใช้พลังผู้คนมหาศาลในการร่วมฝัน และกว่าฝันจะเป็นจริงก็อาจไม่ใช่ในช่วงชีวิตของพวกเรา

คุณผู้หญิงที่อ่านอยู่ จงกล้าสะกิดคู่ของคุณหากเรื่องบนเตียงจบไม่ฟิน และจงแจกจ่ายงานไร้ค่าตอบแทนให้อีกคนบ้าง ส่วนคุณผู้ชาย อย่าลืมใส่ใจว่านอกจากน้ำหนักตัวคุณบนเตียงแล้ว ในบ้านและนอกบ้านคู่ของคุณถูกสิ่งใดกดทับอีก แน่นอนว่ารวมไปถึงเพศหลากหลายบนเส้นสเปกตรัมที่มักโดนกดทับโดยปิตาธิปไตยอยู่แล้ว ก็แค่อย่าลืมมองว่าทุนนิยมกดทับคุณและคู่ยังไงอีกบ้าง 

เอาจริงๆ แค่คิดง่ายๆ ว่า เอากันทั้งทีก็ควรฟินได้เท่าๆ กัน ไม่ใช่ฟินแค่คนใดคนหนึ่ง

อย่างน้อยที่สุดพวกเราก็ควรมอบจุดสุดยอดให้แก่กัน ในยามที่รัฐบาลเผด็จการและนายทุน fuck เราทุกวัน


อ้างอิง

nettavisen.no

nytimes.com

progressivemovement.in.th

researchgate.net

vox.com

workpointtoday.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน