Feminism for the 99% : ถ้อยแถลงเพื่อเรา คนอีก 99% ที่ถูกระบบทุนนิยมกลืนกิน

ถ้าฉันเกิดมาเป็นชายผิวขาว อะไรๆ มันก็คงจะง่ายกว่านี้ Feminism for the 99%

กลางดึกคืนหนึ่งที่ต้องอดนอนเพื่อเฝ้าคุณยายวัย 92 ปี ฉันในสภาพกึ่งหลับกึ่งตื่นคิดวกวน ปกคลุมไปด้วยมวลอารมณ์หงุดหงิด โมโห เกรี้ยวกราด (ส่วนหนึ่งก็เพราะความคับแค้นที่มีต่อรัฐบาลในปัจจุบัน) ผมที่เพิ่งไปดัดมาหวังจะทำให้อารมณ์ดีขึ้นและมีแรงบันดาลใจในการแต่งตัวหรือสนุกกับความสวยงามเล็กน้อยแต่ละวันก็ไม่ได้ช่วยอะไรในตอนกลางคืนเลย ระหว่างยืนรอยายฉี่ใส่กระโถนรอบที่หกไม่ก็เจ็ดของคืนนั้น ฉันส่องกระจกเห็นหญิงสาวหน้าบูดบวมเพราะง่วงนอนกับผมชี้ฟูไม่มีสไตล์

ฉันแทบไม่แน่ใจว่าคนในกระจกนั่นเป็นใครด้วยซ้ำ

หลายๆ ครั้งฉันนึกจินตนาการว่าหากเราเป็นพลเมืองในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ ชีวิตฉันจะแตกต่างจากตอนนี้มากแค่ไหน หรืออย่างน้อยที่สุดหากฉันเกิดมาเป็นลูกชายของครอบครัว คืนนี้ใครจะต้องเป็นคนมานอนเฝ้ายายแทนฉันกันนะ คงจะเป็นแม่หรือลูกพี่ลูกน้องเพศหญิงสักคนที่เสียสละมาอดนอนแทน (ก็ดูเหมือนว่าหน้าที่งานบ้าน งานดูแลพยาบาล จะถูกสงวนไว้ให้แต่บุคคลที่มีมดลูกหรือมีลักษณะเป็นผู้หญิงเท่านั้นนี่) จะว่าไปปัญหาอดนอนเฝ้าคนแก่ของฉันมันก็น้อยนิดหากเทียบกับคนหาเช้ากินค่ำคนอื่นๆ เพราะฉันเองก็ยังมีรายได้ มีงานมีการอยู่บ้าง คุณคิดว่าฉันความอดทนต่ำไปไหม? หรือความบิดเบี้ยวในสังคมนี้มันบีบบังคับให้ผู้หญิงชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องมีความอดทนสูงเสียเหลือเกิน

จนกระทั่งได้หยิบหนังสือปกสีบานเย็นเรื่อง Feminism for the 99% หรือ ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% มาอ่าน แม้ถ้อยแถลงจะสั้นๆ ไม่ได้มีคำพรรณนาหรือปลอบประโลมเหมือนวรรณกรรมเปี่ยมวาทศิลป์ใดๆ แต่ฉันกลับรู้สึกเหมือนมีกลุ่มเพื่อนสาวเดินมาตบบ่าให้รู้ว่าบนเส้นทางเดินนี้ไม่ได้มีแต่ฉันเพียงคนเดียว

Feminism for the 99%

หนังสือเล่าถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่บางครั้งความขมุกขมัวต่อประเด็นยิบย่อยมันบังตาฉันไปหมดจน มองไม่เห็นภาพใหญ่ของการต่อสู้สักที ตัวอักษรในหนังสือช่วยคลี่คลายหรือตอบคำถามหลายข้อในใจฉันที่มีต่อบริบทต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะการอธิบายว่าในฐานะของผู้หญิงที่ต้องดิ้นรนในสังคมชายเป็นใหญ่แล้ว พวกเราล้วนยังเป็น 1 ใน 99 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่สละแรงกายทำกำไรให้กับคนเพียงหยิบมือ จนบางครั้งไม่ทันได้เงยหน้าขึ้นมาหายใจหนึ่งเฮือก เชยชมความงามของดอกไม้รอบตัว ก็ต้องก้มหัวกลับสู่วงจรการทำงานอย่างไม่มีวันจบสิ้น เพื่อที่อย่างน้อยจะได้มีขนมปังสักก้อนกลับไปกินที่บ้าน

Feminism for the 99% ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงจุดยืนของขบวนการเฟมินิสต์ในมิติที่หลากหลาย โดยเริ่มจากการยกตัวอย่างการต่อสู้ของกลุ่มเฟมินิสต์สายเสรีนิยมที่เน้นการปลุกใจให้ผู้หญิงแกร่ง อึด สู้ไม่ถอย เพื่อจะได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหาร ใส่ชุดสูทยืนตระหง่านเทียบเท่าผู้บริหารชายในห้องประชุม แต่ทว่าในความเป็นจริง มีหญิงอภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถตะกายขึ้นเป็นดาวในองค์กรได้จริงๆ ผู้หญิงเหล่านี้มักจะเป็นคนมีฐานะ ได้เปรียบทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจพอสมควรอยู่แล้ว

ถึงอย่างนั้น เธอเหล่านี้ยังเชื่อว่าความสำเร็จของปัจเจกนั้นเกิดจากความสามารถของบุคคลไม่ใช่เพราะต้นทุนชีวิตส่วนตัว ดังนั้นแม้พวกเธอจะสนับสนุนเสรีภาพในชีวิต แต่กลับปฏิเสธที่จะพูดถึงข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขัดขวางคุณภาพชีวิตและเสรีภาพของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เหลือ ท้ายที่สุดแล้วกลุ่มหญิงฐานะยากจน แรงงานหญิงอพยพ และผู้หญิงผิวสีก็ยังคงเป็นได้เพียงแม่บ้าน ช่วยเลี้ยงลูกให้กับหญิงที่มีฐานะเหนือกว่าอยู่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความเท่าเทียม เป็นเพียงการเพิ่มพื้นที่ยืนในชนชั้นนำสำหรับเพศหญิงมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการทลายแนวคิดลำดับชนชั้นทางสังคมแต่อย่างใด

Feminism for the 99%

Feminism for the 99% ชี้ให้เห็นว่าเทรนด์ของการเป็นเฟมินิสต์ในระบบทุนนิยมนั้นเป็นแค่คำโฆษณาเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ บุคคล หรือองค์กร หรืออาจเรียกว่าเป็นกระบวนการย้อมสีชมพู (pinkwashing) ที่เหล่าผู้มีอำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนผิวขาว) นำมาใช้เป็นนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ฉาบเคลือบ ปกปิดการใช้ความรุนแรงกับเควียร์ยากจนผิวดำ ซุกปัญหาเชิงโครงสร้าง อคติต่อเชื้อชาติ ศาสนา ไว้ใต้พรม และนั่นไม่ใช่การปลดแอกชีวิตและเสรีภาพให้แก่ผู้หญิงหมู่มากอยู่ดี ดังหัวข้อสรุปที่สองในถ้อยแถลงที่เขียนไว้ว่า

“เราไม่สนใจทลายเพดานแก้วอะไรนั่นหรอก ตราบใดที่ยังมีผู้หญิงคนอื่นๆ จำนวนมากต้องมาทำความสะอาดเก็บกวาดซากแก้วไปทิ้ง เราไม่ร่วมแสดงความปีติยินดีที่ประธานกรรมการบริหารหญิงได้ครองห้องทำงานโอ่โถงตรงหัวมุม แต่เราจะขจัดทั้งประธานกรรมการและห้องทำงานผู้บริหารทิ้งเสียให้สิ้นซาก”

เพราะเหตุนี้ Feminism for the 99% จึงเสนอว่าเราต้องการเฟมินิสต์เพื่อคน 99 เปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานสำคัญของพีระมิด เพราะเมื่อเรากล่าวถึงคำว่า ‘แรงงาน’ คนมักจะนึกถึงแต่ ‘แรงงานที่สร้างกำไร’ อันได้แก่ พนักงานออฟฟิศ คนในโรงงาน วินมอเตอร์ไซค์ หมอ ครู หรืออาชีพอื่นๆ บนโลกใบนี้ แต่แท้จริงแล้วยังมีแรงงานอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและอาจสำคัญกว่า ถึงขั้นที่หากขาดไปสังคมก็ไม่อาจไปต่อได้ ในถ้อยแถลงนี้นิยามพวกเขาไว้ว่า ‘แรงงานสร้างคน’

คนกลุ่มนี้คือคนที่คอยทำงานบ้าน เลี้ยงดูเด็กและคนชรา ซักผ้า ตากผ้า ทำกับข้าว รวมไปถึงมีเซ็กซ์ เป็นงานสร้างคนเพื่อป้อนไปสู่ระบบทุนอีกครั้ง ภาระหน้าที่เหล่านี้ถูกกำหนดไว้ด้วยกรอบเพศและไม่เคยได้รับค่าตอบแทน เป็นงานที่นายทุนไม่ยอมจ่ายค่าแรง เป็นการผลิตซ้ำทางสังคมที่ถึงฉันไม่บอกคุณก็รู้ว่าทั้งเหนื่อยล้าและใช้เวลามาก เพราะการดูแลมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซ้ำยังไม่ถูกให้ค่าในระบบทุนนิยมเพราะเป็นงานฟรี ถูกผลักให้เป็นงานในพื้นที่ของครอบครัวที่ทำเพราะรัก เพราะเอาใจใส่ และใช่ค่ะ แรงงานประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหน้าที่ของผู้หญิง

Feminism for the 99%

อ่านมาถึงตรงนี้ฉันถึงได้นึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน และมีแม่ที่อยู่บ้าน ทำงานบ้านและเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็กๆ ฉันคิดเสมอว่าไม่อยากโตมาเป็นแม่บ้านเพราะอยากออกไปเผชิญโลก อยากได้เห็น ได้ใช้ชีวิต และหาเงินได้เอง จนเติบโตมาถึงวันที่สถานการณ์บังคับให้ฉันต้องช่วยที่บ้านเลี้ยงคนแก่ จึงได้เข้าใจและได้สัมผัสถึงความลำบากในการเป็นแรงงานสร้างคนเสียเอง

บ้านของเราโชคดีที่มีพ่อเป็นเฟมินิสต์ผู้เข้าใจและไม่ผลักภาระเพียงเพราะกรอบบังคับทางเพศ ช่วยแบ่งเบางานบ้านไปได้มาก แต่หากต้องจินตนาการถึงหญิงสาวอีกจำนวนมากที่ยากจนกว่าบ้านเรา นี่คงเป็นวิกฤตการณ์ผลิตซ้ำทางสังคมชั้นเลวที่หญิงฐานะยากจนต้องไปทำงานบ้าน เลี้ยงดูครอบครัวให้คนฐานะดีกว่า และต้องส่งต่องานดูแลของตัวเองให้แรงงานคนอื่นที่ยากจนกว่าเป็นทอดๆ ในความยากลำบากนี้ นายทุนกลับมองเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะจ้างคนงานหญิงค่าแรงต่ำ ขูดรีด และในบางกรณีมีการคุกคามทางเพศ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาความสมดุลของชีวิตครอบครัวและการงาน แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการที่คนจำนวนมากไม่อาจเข้าถึงความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ระบบประกันสังคม ที่อยู่อาศัย การพยาบาล ความมั่นคงทางอาหาร ความเท่าเทียมในระบบการศึกษา และอีกมากมาย

นอกจากนี้ หนังสือยังเสนอว่าระบบทุนนิยมไม่เพียงกดทับความเป็นอยู่ของคนส่วนล่างของพีระมิด แต่ยังทำลายล้างระบบนิเวศและทรัพยากรบนโลก และผู้หญิงคือกลุ่มประชากรที่ประสบภัยจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมก่อนใคร คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศ เพราะผู้หญิงเหล่านี้คือกำลังหลักของแรงงานในชนบท

Feminism for the 99% จึงเป็นการเคลื่อนไหวของคนหัวขบถระลอกใหม่ที่ตั้งคำถาม (รวมถึงต่อต้าน) การมีอยู่ของระบบทุนนิยม จับมือร่วมกับนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ นักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน ผู้อพยพ และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

เพราะการแก้ปัญหาการเหยียดเพศนั้นไม่ใช่แค่การเพิ่มพื้นที่ของผู้หญิงบนแท่น CEO แต่ไม่ไยดีหญิงอีกมากมายในชนชั้นแรงงาน การนัดหยุดงานเพื่อประท้วงของชนชั้นแรงงานนั้นก็ไม่ใช่แค่เรื่องของชายผิวขาวที่เป็นแกนนำ แต่ยังมีผู้หญิง LGBTQ+ ผู้อพยพ และคนผิวสี และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในที่ทำงานนั้นต้องรวมถึงกลุ่มแรงงานสร้างคนที่ไม่ได้ค่าจ้างด้วย พวกเราต้องการเรียกร้องทั้งขนมปังและดอกกุหลาบ ขนมปังที่ถูกฉกฉวยไปจากโต๊ะอาหาร และดอกกุหลาบที่เป็นความรื่นรมย์ที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ

สุดท้ายแล้วฉันไม่ได้อยากเกิดมาเป็นชายผิวขาวหรอก และไม่ได้ต่อต้านชายผิวขาวใดๆ ด้วย (จะยินดีมากๆ หากคุณมาร่วมขบวนกับเรา) ฉันแค่อยากเป็นผู้หญิงที่หลุดพ้นจากระบบทุนนิยม มีเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตในบ้านเมืองที่มีสวัสดิการดีๆ ที่ไม่ใช่เพียงฉันเข้าถึงได้ แต่รวมทั้งเพื่อนสาวของฉันทุกคน ทุกอาชีพ ทลายกำแพงชนชั้น เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างถ้วนหน้า คุณว่าฉันเพ้อฝันไปไหม แต่อย่างน้อยฉันก็ไม่ได้ฝันแต่เพียงผู้เดียว

ป.ล. หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วมีความฝันคล้ายๆ กัน ฉันถือโอกาสขอชวนร่วมสมัครสหภาพคนทำงานเพื่อส่งเสียง 99 เปอร์เซ็นต์ของเราให้ดังกว่าเดิมได้ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone