Hyde Park Barracks Museum : รังฝันของผู้ไร้เสรีภาพ

ในมหานครที่จอแจ เราใช้เวลายามบ่ายเพื่อย้อนเวลาหาเศษเสี้ยวของอดีตภายในตึกกำแพงอิฐทึบอายุ
197 ปี ที่ตั้งตระหง่านอยู่ทางตอนต้นของถนน Macquarie หรือทางตอนเหนือของสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก เราก้าวย่างอย่างเชื่องช้าไปตามทางเดินที่เงียบสงัด
แวะเวียนห้องแล้วห้องเล่า

ชื่อของ Hyde Park Barracks อาจไม่เป็นที่คุ้นหูนัก สถาปัตยกรรมภายนอกไม่โดดเด่นหวือหวาพอจะดึงดูดให้อาคารโบราณแห่งนี้กลายเป็นสถานที่แลนด์มาร์กของซิดนีย์ได้เท่ากับ St. Mary’s Cathedral โบสถ์สไตล์โกธิกที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร แต่สำหรับเราแล้ว เรื่องราวเศษเสี้ยวชิ้นส่วนของอดีตที่ตกหล่นอยู่ในสถานที่แห่งนี้ คือสิ่งที่เรากำลังตามหาต่างหาก

เรื่องราวเริ่มต้นมาจากประเทศอังกฤษได้เริ่มเนรเทศนักโทษที่กระทำความผิด
(Convicts Transportation) ตั้งแต่คดีเล็กๆ เช่น ขโมยขนมปัง คดีฉ้อโกง จนถึงคดีทางการเมือง
ไปยังประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเครือจักรภพที่ต้องการแรงงานคนในการสร้างเมือง เช่น อินเดีย แคนาดา รวมถึงประเทศน้องใหม่อย่างออสเตรเลีย นักโทษถูกเนรเทศไปยังทุกหัวระแหงของออสเตรเลีย
บทลงโทษของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป โดยเริ่มที่ 7 ปี 10
ปี 14 ปี ตลอดชีวิต จนถึงกระทั่งประหารชีวิต นักโทษกว่า
166,000 คน ถูกเนรเทศมาในช่วงปี 1788 ถึงปี
1868 โดยใช้เรือโดยสารทั้งหมด 960 ลำ
พวกเขารอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมระยะทาง 245,00 ไมล์
ใช้เวลาร่วม 4 – 8 เดือน กว่าจะมาถึงดินแดน Down Under แห่งนี้ โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าชีวิตใหม่กำลังรอพวกเขาอยู่เบื้องหน้า

สิ่งหนึ่งที่สนใจก็คือเรือนจำแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกต้องโทษข้อหาปลอมแปลงเอกสารนามว่า Francis Greenway ช่วง 30 ปีแรกที่เริ่มมีการเนรเทศ ทางรัฐบาลยังไม่มีที่อยู่เพียงพอให้นักโทษ บรรดานักโทษต่างต้องหาที่หลับที่นอนกันตามอัธยาศัยตามซอกมุมต่างๆ
ของเมือง โดยไม่มีคุก ไม่มีการจำกัดเสรีภาพ จนกระทั่งรัฐบาลของ Lachlan
Macquarie มีนโยบายให้สร้างอาคารพักอาศัยเพื่อง่ายต่อการควบคุมนักโทษ โดยให้ฟรานซิส กรีนเวย์ เป็นผู้ออกแบบโดยใช้แรงงานนักโทษในการก่อสร้าง เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1817 – 1819

NW Vol879.jpgสำหรับนายฟรานซิส กรีนเวย์ ท่านนี้ต้องโทษประหารชีวิต แต่ด้วยความสามารถทางสถาปนิก ทำให้ได้ลดโทษเหลือ 14 ปี สถาปนิกมากความสามารถคนนี้กลับกลายมาเป็นบุคคลสำคัญในช่วงก่อร่างสร้างเมือง เป็นผู้ออกแบบอาคารสำคัญต่างๆ เช่น
St.James’ Church, Government House, Ultimo House
รวมถึง Hyde Park Barracks เรื่องราวของกรีนเวย์ทำให้เรามองเห็นความโชคดีในความโชคร้ายของเขา
ถ้าเขาไม่ถูกเนรเทศมายังอาณาจักรน้องใหม่แห่งนี้ เขาคงไม่ได้รับการยอมรับถึงขนาดเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับเกียรติตีพิมพ์ลงบนธนบัตร 10 เหรียญ
ของออสเตรเลียในช่วงเวลาหนึ่ง

ความหมายของคำว่า Barracks คือ
กลุ่มอาคารที่ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราว Hyde Park Barracks ก็ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดานักโทษชายหลังกลับจากการทำงานในยุค
1819 – 1848 ในช่วง 1848 – 1886 เมื่อไม่มีการเนรเทศนักโทษแล้ว
สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาหญิงสาวที่อพยพมาทำงานโรงงาน
ทำงานบ้าน เพราะในยุคนั้นต้องการแรงงานหญิงช่วยขับเคลื่อนเมืองใหม่ ต่อมาภายหลัง
บริเวณชั้นบนถูกจัดสรรให้เป็นที่พักอาศัยของผู้หญิงไร้บ้าน

ในปี 1887 – 1990
Hyde Park Barracks ได้กลายมาเป็นสถานที่ราชการ และตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้คนได้เข้าไปศึกษาเรื่องราวของนักโทษ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของพวกเขา
ผู้ร่วมก่อร่างสร้างเมืองแห่งนี้

มาที่นี่ นอกจากแผ่นพับและแผนผังนิทรรศการแล้ว เราสามารถขอ Audio Guide จากเจ้าหน้าที่ได้
หลักการทำงานของมันก็คือให้คล้องแขนติดตัวไป เมื่อถึงสถานที่ๆ มีเลขติดเอาไว้
เราก็กดเลขนั้นและกดปุ่ม play จากนั้นก็เอามานาบหูไว้ จะมีเสียงอธิบายด้วยสำเนียงฟังเข้าใจง่ายเพิ่มความสนุกในการทัวร์ครั้งนี้ สนุกจริงๆ นะ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘หนู’ ที่เราขอเอามาเล่าให้ฟังในบรรทัดต่อไปนี้

หนู สัญลักษณ์แห่งความสกปรก น่าขยะแขยงที่อยู่คู่ครัวเรือนมาทุกยุคสมัยรวมถึงที่ Hyde Park Barracks แห่งนี้ด้วย นักโทษรุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องอยู่ร่วมชายคากับสัตว์หน้าขนนี้อย่างเอือมระอา
แต่ใครจะรู้ว่าในอีกกว่าร้อยปีต่อมา หนูในวันนั้นจะกลายมาเป็นพระเอกในวันนี้ เพราะหนูชอบขโมยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ช้อน ส้อม เศษผ้า ด้าย รวมถึงหน้ากระดาษของคัมภีร์ไบเบิ้ล
และวัตถุอื่นๆ รวมนับแสนชิ้นเอาไปซ้อนไว้ที่รังใต้พื้น เมื่อยุคสมัยผ่านไปมีการรื้อพื้น
บูรณะซ่อมแซมอาคาร ข้าวของเหล่านั้นก็กลายเป็นของมีค่าที่ถูกถนอมไว้เป็นอย่างดีในรังหนู และกลายมาเป็นวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการแห่งนี้ แถมซากหนูยังถูกนำมาจัดแสดงร่วมในงานนี้ด้วยในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สมบัติ

นักโทษที่อาศัยอยู่ใน Barracks แห่งนี้
ต่างมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไปตามความชำนาญของแต่ละคน โดยจะมีกำหนดปริมาณงานที่ต้องทำให้ได้ต่อวันเอาไว้ เช่น ช่างทำรองเท้าต้องเย็บรองเท้าที่ทนทานได้หนึ่งคู่ต่อวัน ช่างตัดเสื้อต้องตัดเสื้อผ้านักโทษได้สองชุดต่อวัน ช่างไม้ที่ทำงานเป็นคู่ต้องเลื่อยไม้รวมกันให้ได้ความยาว 450 เมตร ต่อวัน
หรือแก๊งทำอิฐ ต้องทำอิฐให้ได้ 30,000 ก้อนต่อเดือน
ถ้าผลงานของนักโทษออกมาไม่ได้มาตรฐาน พวกเขาก็ต้องเอาเวลาส่วนตัวมาทำงานซ่อม
พวกเขาจะได้รับรางวัลถ้าทำงานได้ตามเป้า และจะถูกลงโทษเมื่อทำเครื่องมือหาย

ผลงานของแก๊งทำอิฐที่ต้องนำเปลือกหอยมาทุบเป็นวัสดุทำอิฐ แต่ละแก๊งจะมีสัญลักษณ์เป็นของตัวเองเพื่อสะดวกในการนับปริมาณงานที่ผลิตได้ เช่น
สัญลักษณ์รูปหัวใจในอิฐก้อนกลาง สำหรับเราแล้วอิฐรูปหัวใจคือความโรแมนติกเล็กๆ น้อยๆ
ที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ที่ได้เห็น

กลุ่มนักโทษที่พยายามขัดขืน หลบหนี หลบเลี่ยงการทำงาน หรือนำอุปกรณ์ในการทำงานไปขาย จะถูกส่งไปทำงานหนัก เช่นงานสร้างถนน สร้างสะพาน ตามพื้นที่ต่างๆ ของออสเตรเลีย
ส่วนนักโทษที่ยังคงขัดขืนต่อไปก็จะถูกใส่โซ่ตรวนที่เท้าเอาไว้ขณะทำงาน

ถ้านักโทษที่ประพฤติดีก็จะได้รางวัลตอบแทน เช่นได้สัดส่วนของอาหารเพิ่มขึ้น ได้รับเสื้อผ้า
ยาสูบ หรือ Ticket
of leave หรือตั๋วปล่อยตัวให้เป็นอิสระจำนวนถึง 2,319 ใบ ตั๋วประเภทต่างๆ มีทั้ง Ticket of leave (อนุญาตให้ออกจากคุกได้
แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ และต้องกลับมารายงานตัวทุกๆ 3 เดือน) Conditional Pardons (ใบอนุญาตปล่อยตัวให้นักโทษเป็นอิสระ
จะไปอาศัยอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ไม่สามารถกลับประเทศอังกฤษได้จนกว่าจะครบกำหนดต้องโทษ) และ Absolute Pardons (ใบอนุญาตปล่อยตัวให้เป็นอิสระ นักโทษจะถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ จะไปไหนมาไหนก็ได้ กลับประเทศอังกฤษก็ได้)

ความสุขเล็กๆ น้อยๆ
ของนักโทษก็หนีไม่พ้นการสูบยา ในเมื่อไม่มีค่าแรงเป็นเงิน
จึงต้องขโมยข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ ไปขาย นำเงินไปแลกซื้อยาสูบ แต่สำหรับคนที่ประพฤติตัวดีก็จะได้ออกไปทำงานข้างนอกในวันเสาร์ เพื่อนำเงินไปซื้อรัมและน้ำตาล กิจกรรมสันทนาการยอดฮิตภายในคุกก็หนีไม่พ้นการพนัน พวกเขาจะเอาก้างปลาจากซุปมาใช้แทนเงินเดิมพัน และใช้เลขหน้าในคัมภีร์ไบเบิ้ลมาใช้แทนไพ่

ที่ชั้นบนสุดของอาคารเป็นที่หลับที่นอนของบรรดานักโทษ
เปลนับร้อยที่ว่างเปล่าเรียงรายกันอยู่
ทำให้นึกถึงภาพนักโทษนอนกันอยู่อย่างแออัดในสมัยนั้น บนนี้ยังมีอุปกรณ์เชื่อมโยงอดีตชิ้นพิเศษช่วยทำให้บรรดาลูกหลานชาวออสเตรเลียได้สืบค้นหาประวัติของบรรพบุรุษของตัวเองได้ง่ายๆ
เพียงแค่พิมพ์นามสกุลลงไป ก็จะมีประวัติโดยละเอียดปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อหา
หรือจำนวนปีที่ได้รับโทษ

Hyde Park Barracks Museum

Address: Queens
Square, Macquarie Street, Sydney NSW

Hours:
เปิดทุกวัน
เวลา 10.00 – 17.00 น.

ค่าเข้า: 10 AUD

Map

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR