ท่องเที่ยวยั่งยืน : MV เที่ยวบินสุดเปรี้ยวที่เปลี่ยนภาพจำการเที่ยวไทยไปโดยสิ้นเชิง

“ทอม ทอม
แวร์ยูโกลาสไนท์

(ไอเลิฟเมืองไทย ไอไลค์พัฒน์พงศ์)”

ขึ้นต้นมาแบบนี้
ทำนองเพลง
เวลคัม ทู ไทยแลนด์ ของวงคาราบาวคงดังขึ้นมาในหู
แต่บทเพลงต้อนรับสู่เมืองไทยครั้งนี้ต่างไปจากเดิม
เพราะเนื้อร้องโดนแปลงเสียใหม่ให้เข้ากับบรรยากาศจี๊ดเข็ดฟันของโฆษณาท่องเที่ยวยั่งยืนในรูปแบบมิวสิกวิดีโอ
หนึ่งในผลงานโปรเจกต์
‘สานต่อที่พ่อทำ’ ของเอเจนซี่ มานะ แอนด์ เฟรนด์ ที่ร่วมสร้างหนังบอกเล่าการสานต่อแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยวิธีคิดล้อกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ 9 สาขา ผลผลิตของผู้กำกับ 9 คนจึงฉีกแนวออกไปจากโฆษณาทั่วไปที่เราคุ้นชิน

ในผลงานปิดท้ายโปรเจกต์ซึ่งพูดเรื่องท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ กัปตันกำกับเที่ยวบินพิเศษสู่เมืองไทยนี้คือ
เปา – ธยา สุนทรวิภาต ผู้กำกับจาก Film Factory ที่กล้าทะลวงขนบการเล่าเรื่องความดีแบบเรียบร้อย สู่การนำเสนอสนุก กวน
ดีไซน์เก๋ และยังกล้าแตะด้านมืดของการท่องเที่ยวด้วยน้ำเสียงหยิกแกมหยอก

จากโจทย์เรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนกับบุคคลต้นแบบ
แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้ก่อตั้ง Elephant Nature Park ศูนย์พักพิงและอนุรักษ์สิทธิ์ของช้างที่เชียงใหม่ กลายมาเป็นมิวสิกวิดีโอสุดฮิปได้อย่างไร
ชลิต มนุญากร จากมานะ แอนด์ เฟรนด์ และ เปา ธยา พร้อมเปิดเผยเบื้องหลังไฟลต์บินนี้แล้ว


เลือกทัวร์ต้นแบบแสนเปรี้ยว


ชลิต
“เรารู้จักพี่แสงเดือนตอนเขาไปพูดเรื่อง
Social
Enterprise ที่ DIB Talk ของป่าสาละว่าคุณสามารถทำงานของคุณแล้วมีประโยชน์ต่อสังคมด้วยได้มั้ย
สรุปใจความสั้นๆ ได้ว่าเขาทำรีสอร์ตโดยชวนนักท่องเที่ยวมาลำบาก ต้องจองล่วงหน้า 3
เดือนเพื่อมาทำงานที่นี่
เราก็มานั่งวิเคราะห์ว่ามันคือวิถีท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของจริง
คนที่มาเที่ยวเขาได้ประสบการณ์ มันเป็นเทรนด์ใหม่
คนที่มาไม่ได้อยากมาเที่ยวแบบสบาย อยากถ่ายรูป แต่อยากเจอโลก
สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นโมเดลที่นักท่องเที่ยวก็ได้ คนทำธุรกิจก็ได้
คนในชุมชนก็ได้ ธรรมชาติก็ได้

“การท่องเที่ยวแนวเก่ามันคือมารับอย่างเดียว
อย่างไปพัฒน์พงศ์ พัทยา หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ มาแล้วคนที่ได้มีไม่กี่คน
แล้วสภาพแวดล้อมก็เจ๊ง การท่องเที่ยวยุคนี้มันควรเป็นการให้และรับ
โมเดลพี่แสงเดือนมันเปรี้ยวซะจนโดดเด่นเป็นหัวหอก
แล้วมันก็สวนกับขนบปางช้างที่เรารู้จัก พอจะทำเรื่องท่องเที่ยวเลยนึกถึงเขาเลย”


เล่าเรื่องให้ใหญ่กว่าช้าง


เปา
“พี่แสงเดือนตัวจริงสุดยอดมาก
เราเห็นผู้กำกับคนอื่นใน Film Factory ทำงานนี้ไปหมดแล้ว
เราก็อยากทำให้เต็มที่ในแบบของเรา พอได้บรีฟแรกๆ เราก็หาคลิปพี่แสงเดือนมานั่งดู
ฟังโมเดลการท่องเที่ยวของเขา ดูไปดูมารู้สึกว่าพี่เขาเท่ดี
สุดท้ายพอไปเจอตัวจริงที่เชียงใหม่ เขาเท่กว่าที่คิดเยอะเลย

“เรามานั่งคิดว่าจะนำเสนอเขายังไงดี
ในแง่การสานต่อสิ่งที่พ่อทำ เราอยากให้มันเกิดผลบางอย่างกับการท่องเที่ยว
จึงไม่ได้พูดแค่เรื่องช้างอย่างเดียว อิมแพ็คมันจะน้อยไป
เพราะคนที่ชื่นชมพี่แสงเดือนก็เห็นว่าเขาดีงามอยู่แล้ว
แต่คนที่อยู่นอกวงการก็ไม่รู้จัก คนที่ไปหาเขามีแต่ฝรั่ง คนไทยไม่ไป
เลยต้องพูดให้มันกว้างขึ้นว่าประเทศเรามีการท่องเที่ยวหลายมิติ
อย่างเรื่องการเที่ยวกลางคืนก็มี
เราคุยกับชลิตว่าถ้าไม่ใช่โปรเจกต์นี้เราคงพูดไม่ได้”


เลือกใช้ฉากพื้นที่ระหว่างเดินทาง


เปา
“เราตั้งคำถามเลยว่าคนไทยจะได้อะไร
จะคิดต่อสานต่อได้มั้ย หรือเราต้องสานให้ดูก่อนประมาณนึง ถ้าพูดอะไรนามธรรมมันอาจจะไม่เกิดผล
เราน่าจะต้องชี้นำประมาณนึง เราไม่ได้บอกว่าเราปฏิเสธการท่องเที่ยวแบบพัฒน์พงศ์นะ
แต่มันมีปัญหาใหญ่มากอยู่เบื้องหลัง เลยเอาโมเดลพี่แสงเดือนที่ดูตรงข้ามกันมาเปรียบเทียบในฉาก

“ทีนี้เราอยากเล่าผ่านความคิดของนักท่องเที่ยวที่กำลังจะมาเที่ยวเมืองไทย
และผู้โดยสารที่กำลังจะกลับบ้าน
สถานที่มันเลยต้องเป็นที่เกี่ยวกับการเดินทาง เรานึกถึงรถบัส อู่รถ หรือเครื่องบิน
เราเลือกเครื่องบิน เราไม่รู้ว่าฝรั่งที่นั่งมาเมืองไทยเขาคิดอะไร
แต่เขามีโอกาสคิดว่าจะไปเที่ยวพัฒน์พงศ์หรือที่ทำนองนี้ ด้วยภาพจำจากหนัง
จากสื่อต่างๆ คนไทยทำเป็นมองไม่เห็นเรื่องนี้ซะเยอะ เราขอมองเห็นแล้วกัน”


พึ่งศาสตร์ของนักแต่งเพลง


เปา

“เราคิดว่าถ้าทำเป็นเพลงจะทำให้เมสเสจมันเบาบางลง
มันเป็นกลยุทธ์ของการทำโฆษณาอยู่แล้ว ไหนๆ จะใช้เพลง ก็น่าจะเป็นเพลงที่คนเคยได้ยิน
เวลคัม ทู ไทยแลนด์ เป็นเพลงที่เราว่าน่าจะเอามาขยี้
เพราะเขาเคยทำเพลงนี้ออกมาแซวประเทศเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
เวลาผ่านไป ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม

“เราเอาตีมไปคุยกับลูกค้าว่างานนี้มีเครื่องบิน
มีเพลง
เวลคัม ทู ไทยแลนด์ เวอร์ชันใหม่ที่ถามว่าคนไทยเที่ยวแบบไหน
หรือมีความคิดต่อการท่องเที่ยวแบบไหน จะเลือกแบบเดิมหรือแบบใหม่
ลูกค้าเขาก็เอาด้วย ทีนี้ก็ต้องหาศิลปินมาทำ เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก
เพราะมันเป็นศาสตร์ชั้นสูงในการแต่ง ต้องพูดถึงคนและเนื้อหาที่เขาไม่อยากพูดถึงกัน

“ปัญหาแรกคือพี่แอ๊ด (ยืนยง โอภากุล) จะให้เพลงรึเปล่า
เราบอกชลิตแล้วว่าถ้าสุดท้ายต้องล้มแพลน เราก็ไม่ว่า เพราะเงื่อนไขมันเยอะ
ปรากฏว่าเขาให้เอามาทำได้ เราก็เริ่มดีลกับพี่ตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า (ตุลย์ ไวฑูรเกียรติ) ให้เขาเป็นโปรดิวเซอร์ด้านดนตรี
แล้วหาศิลปินที่ทำเพลงสไตล์รัวๆ วิพากย์สังคม เราคิดถึงพี่อุ๋ย บุดดาเบลส (นที เอกวิจิตร) ตั้งแต่แวบแรก
เราเห็นงานพี่อุ๋ยมานาน ตอนแรกไม่ได้คิดเยอะ
แค่รู้ว่าเขามีความสามารถในการแต่งเพลงที่ดีมาก เลยอยากทำงานกับคนนี้
พอติดต่อก็รู้ว่าถูกต้องแล้ว
คือพี่เขาเป็นคนที่มีความเป็นพระสูงในบางมุมและยังมีความสนุกสนานอยู่ด้วย
เราอยากเลือกคนที่พูดเรื่องนี้ได้โดยไม่กระดากใจ”


ย้ำความหมายระหว่างบรรทัด


เปา

“ตอนแรกที่คุย พี่อุ๋ยไม่ทำ ฝันเราก็สลายเลย เขาบอกว่าด้วยไอเดียนี้
เขาไม่เห็นวิธีที่จะพามันไปต่อได้ ซึ่งก็จริงเพราะตอนแรกเรายังไม่ลงดีเทล
คือถ้าเราไปด่าพัฒน์พงศ์ไม่ดี เขาก็ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะมันไม่ดี
แต่เพราะมีค่านิยมบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามันดูไม่ดี ไม่ควรพูดถึงมัน
ถ้าด่าอย่างเดียวจะด่าทำไมให้สนุกปากแต่ไม่เกิดประโยชน์ แวบแรกที่ฟังก็เห็นด้วยแต่ก็หนักใจ
รู้อยู่แล้วว่าเราไม่ต้องการแบบนี้ สุดท้ายเราก็คุยกับชลิตและพี่อุ๋ย
คือการท่องเที่ยวแบบพี่แสงเดือนเป็นโมเดลที่ดี แต่ถามว่าทำตามได้ทุกคนมั้ย ไม่
ดังนั้นแค่ทำให้มุมมองบางอย่างมันเปลี่ยนก็พอ

“เพลงไม่ได้ให้น้ำหนักที่การด่า
ความสนุกไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ชี้ช่องเลยว่าโมเดลพี่แสงเดือนนี่เอาไปก็อปปี้ตามได้
ไปทำทัวร์ขี่ควายก็ได้ถ้าอยู่ภาคอื่น พี่เขาเริ่มจากจากที่ไม่กี่ไร่ ช้างเชือกนึง
แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา มันเลยยั่งยืนจริงๆ และฝรั่งกลุ่มนึงก็ชอบแบบนี้
ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย เหมือนเราไปญี่ปุ่นแล้วเขาให้เราไปขุดมันกับเขา
เราก็เอ็นจอยแล้ว เขาไม่ต้องไปทำมันทอดโรยชีสมาเสิร์ฟ เราไม่ต้องคิดสร้างหนี้
ต้องบริการ ต้องเอาใจ ทรัพยากรประเทศมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำทัวร์จุ่ม
นักท่องเที่ยวมาจุ่มๆ ดำน้ำแป๊บๆ แล้วก็ไป แล้วไปลากกลุ่มใหม่มา หาดก็พัง
สู้ให้เขามาอยู่ยาวๆ ค่อยๆ ทำอะไรทีละอย่าง
เหมือนขุดเอาทรัพยากรมาใช้ในทางสร้างสรรค์ดีกว่า

“พอเห็นตรงกัน พี่อุ๋ยก็ตกลง
เขาเป็นแร็ปเปอร์ก็ต้องแต่งเนื้อเองให้เข้าปาก แต่งมาได้มันมาก
ท่อนที่พูดถึงการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ เป็นแง่ที่เราไม่ได้คิดมาก่อน
เป็นศิลปินที่สุดยอด ส่วนพี่ตุลย์เขาประคองส่วนดนตรีให้มันตื๊ดๆ แต่ก็เป็นเพลง house
ชั้นดีประมาณนึง ไม่กเฬวรากมาก
ทีนี้ดีไซน์เครื่องบินของเราคงจะต้องแนวตื๊ด ก็คิดไปด้วยกันทั้งหมด”


ผสมเคมีตัวละคร


เปา

“ทอมคือมุมมองเดิมที่จะไปพัฒน์พงศ์ เราก็บอกไปว่าเมืองไทยยังมีที่เที่ยวอีกมากมาย
มีไปเก็บขี้ช้างด้วย ทีนี้ก็ต้องมีตัวละครที่ 2 คือ
‘ไทยค้าน’ ที่ถามว่ามึงจะไปเหรอวะ จะเป็นไปได้เหรอ ส่วนตัวละครที่ 3 คือตัวแทนโคโยตี้ที่วางไม้ปิงปองแล้วบอกว่าทัวร์เก็บขี้ช้างได้หัวละสองพันห้า
ทำมั่งดีกว่า โชคดีที่ได้พี่อ้อยใจ แดนอีสาน (สงเมือง
คิดเห็น) ศิลปินเก่าคนนึงมาเล่น

“เราบรีฟพี่อ้อยว่าทำอาชีพเดิมมา 30 ปีแล้ว
จะตีปิงปองต่อไม่ไหวแล้ว อยากทำอย่างอื่นบ้างมั้ย ที่สำคัญเงินมันได้แน่ๆ
มันอาจไม่ได้มาก ไม่ได้ง่ายเหมือนกดเอทีเอ็ม แต่มันไม่ได้ยากจนเกินไป”


สื่อสารกับผู้ประกอบการ


เปา
“บทสรุปของเพลงเป็น ‘สรุปทอมจะไปกับไอมั้ย’ ‘น่าสนใจ เดี๋ยวลองคิดดู’ คนดูอาจจะด่าก็ได้
แต่ถ้าคิดสักหน่อยว่าอยากไปเที่ยวอย่างอื่นบ้าง เราแฮปปี้แล้ว

“สำหรับผู้ประกอบการ คุณมีนาอยู่แล้ว
มีสวนยางอยู่แล้ว ลูกหลานอยู่ใน gen ที่เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นแล้ว
คุณเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ทำโฮมสเตย์ก็ได้ ทัวร์เก็บสมุนไพร เข้าป่าเห็นน้ำหน่อย
ฝรั่งก็กรี๊ดแล้ว ไปทะเลก็ไปเก็บมะพร้าว อยู่หมู่บ้านชาวประมงบ้างก็ได้
ไม่ต้องสร้างคอนโดให้อยู่ อยู่กระท่อมดิบๆ ก็ยังได้
คุณแค่ต้องบริสุทธิ์ใจกับสิ่งที่ทำ ถ้าคิดแบบธุรกิจเลย ไม่แคร์มันมาก
เขาก็อาจจะสัมผัสถึงความไม่มืออาชีพของคุณ
ฝรั่งคงสัมผัสได้ว่าพี่แสงเดือนเขาบริสุทธิ์ใจจริง ความคิดดีก็น่าเอามาปรับใช้
เขาถึงอยู่มาได้ตั้ง 27 ปี”

ชลิต
“จริงๆ หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดแค่กับนักท่องเที่ยวนะ มันบอกผู้ประกอบการด้วยว่าคุณทำได้
ไม่ได้พูดแค่ว่าเรามาเป็นคนดีกันเถอะ แต่เรามาทำตัวมีประโยชน์กันเถอะ
แล้วคุณจะได้ประโยชน์ด้วย คุณก็จะมีเงินด้วย พี่แสงเดือนมีเงินจ่ายค่าอาหารช้าง
แม้กระทั่งควาญช้างของเขาก็ได้รายได้มากกว่าปกติ ชุมชนแถวนั้นมีงานทำ
นักท่องเที่ยวเป็นตัวบอกเรื่องราว แต่เราอยากสื่อสารกับคนในว่าเรามองระยะสั้นกันอยู่
เราไม่มองระยะยาว ถ้ามันเปลี่ยนได้ก็น่าจะดี”

ติดตามโฆษณาในโปรเจกต์สุดเปรี้ยวนี้ทั้ง 9
เรื่อง
และเรื่องราวเปี่ยมแรงบันดาลใจของบุคคลผู้สานต่อแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกคนได้ที่
www.สานต่อที่พ่อทำ.com

ภาพ สานต่อที่พ่อทำ และ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR