The Sufficiency : คอนโดสุดหรูที่ชวนเราสร้างฝันให้เป็นจริงด้วยการ…ปลูกผักกินเอง!

ที่อยู่ในฝันของเราเป็นแบบไหน? บ้านหรู พื้นที่กว้างขวาง มีสระว่ายน้ำน่าแหวกว่ายรึเปล่า หรือแท้จริงแล้วสิ่งสำคัญอาจไม่ใช่เรื่องกายภาพ แต่อยู่ที่ ‘วิธีคิด’ ในการทำให้ชีวิตมีความสุข ถ้าเช่นนั้นที่อยู่ในฝันที่ตอบโจทย์คุณอาจเป็นคอนโด The Sufficiency โปรเจกต์คอนโดรูปหรูแบบใหม่ที่ชวนคนมาปลูกผักกินเอง!

นี่คือผลงานของโครงการ
‘สานต่อที่พ่อทำ’ แคมเปญโฆษณา 9 เรื่องที่สร้างสรรค์แบบผสมผสานทั้งอารมณ์จิกกัด ขำขัน และน่ารัก ตามขนบโฆษณาของแท้ เพื่อบอกเล่าศาสตร์แนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในสไตล์คนยุคใหม่ชนิดที่แวบแรกดูแทบไม่ออก

จาก 9 ประเด็นที่ตั้งล้อกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ โฆษณาคอนโดสุดหรูเรื่องนี้อยู่ในหัวข้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีคนต้นแบบในเรื่องเป็น เจ้าชายผัก หรือ นคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรกลางเมือง ไอเดียที่ว่ากลายร่างมาเป็นโฆษณาคอนโดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ได้ยังไง นี่คือคำบอกเล่าจาก
ป๋อม-กิตติ ไชยพร จากเอเจนซี่ มานะ แอนด์ เฟรนด์ ทีมงานผู้สร้างสรรค์ และ ปาลิดา รัตตวิศิษฐ์ Design Director จาก CGA studio co.,ltd หัวเรือที่ทำให้โฆษณาชิ้นนี้สำเร็จอย่างสวยงาม


เล่าเรื่องที่เชื่อมโยงกับคนเมืองที่สุด


ป๋อม
“ในหลวงท่านสอนว่าบ้านต้องเป็นที่ที่คุณต้องพึ่งพาตนเองได้ เคยสอนถึงศาสตร์การสร้างบ้านที่ลึกซึ้งไปถึงหลักของดิน น้ำ ลม ไฟ เลย แต่เราไม่คิดจะไปถึงขั้นนั้น เราอยากทำเรื่องที่พักอาศัยในเมือง อยากเล่าเรื่องง่ายใกล้ตัวแบบที่คุณไม่ต้องลาออกจากงานหรือต้องเปลี่ยนตัวเองมาก เอาแค่ว่าตอนอยู่บ้านจะพึ่งพาตนเองยังไงก็พอ

“พวกเราคิดถึงเวลาดูวิดีโอโครงการอสังหาริมทรัพย์สวยๆ เป็น 3D walk through ที่เห็นบ้านอันงดงาม แสงสีทอง ต้นไม้สะบัด บ้านแบบนั้นคงอยู่ได้จริงอยู่แล้ว แต่มันไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นนอกจากดีไซน์ เราเลยหยิบเอาขนบนี้มาใช้ แต่จะโฟกัสที่ต้นไม้ว่าคุณปลูกอะไรรอบบ้านได้บ้างนอกจากต้นปาล์ม คุณอาจจะปลูกหน่อไม้หรือต้นขนุนก็ได้ กลางบ้านแทนที่จะเป็นรูปปั้นเด็กฉี่ ทำเป็นที่ปลูกกล้วยไหม หรือแทนที่จะทำสระว่ายน้ำ ทำเป็นบ่อเลี้ยงปลานิลไหม ใส่เรื่องการพึ่งพาตนเองลงไป”

ต้องโชว์สิ่งที่ปฏิบัติได้จริง


ป๋อม
“เรากับปาคุยกันว่าจะทำโมเดลบ้านและคอนโดโดยเลือกตำแหน่งปลูกพืชให้เหมาะสมกับ landscape นั้นจริงๆ ทรงบ้านแบบนี้ปลูกพืชยังไงให้เหมาะสม ตรงนี้ควรจะปลูกพืชที่ต้องการแสงเยอะหรือแสงน้อย”


ปา
“พี่ป๋อมจะมีข้อมูลส่วนของอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ที่ดูเรื่องพืชมาก่อน ส่วนเราก็ไปหาข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์อย่างลุงนิล (สมบูรณ์ ศรีสุบัติ) เกี่ยวกับเรื่องพืช 9 ชั้น แล้วดูความเป็นไปได้ว่าพืชชนิดไหนที่ปลูกได้จริงในโครงการและได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอนมีอะไรบ้าง พืชต้องเพียงพอต่อการพึ่งพาตัวเองและเพื่อนบ้านพึ่งพากันได้ อยู่กับงานดีไซน์แล้วดูไม่ขัดเขิน”

คิดเส้นเรื่องโดยไม่ลืมหยอดกิมมิก


ปา
“เราเริ่มจากการวางแปลนโครงการก่อน ตอนวางแปลนก็คุยกับพี่ป๋อมว่ามันต้องมีอะไรที่เป็นกิมมิก เช่นการเลี้ยงปลานิลที่ต้องมีอยู่แล้ว เราก็ทำที่เลี้ยงปลาให้เป็นเหมือนทะเลสาบส่วนกลาง แต่ทะเลสาบในที่นี้จะเป็นเหมือนที่ทดน้ำ เพราะเรามองว่ากรุงเทพฯ อาจจะมีปัญหาน้ำท่วม พอมีกิมมิกแล้วจึงค่อยวางแผนเติมพืชทั้งหลายแหล่ที่ต้องอยู่ในโครงการลงไป อย่างสะตอตรงรั้วคอนโดซึ่งหาข้อมูลมาว่าต้นต้องสูงประมาณ 5 เมตรกว่าจะได้ฝักที่กินได้”

ใช้ความรู้สึกช่วยจัดวาง


ปา
“การเลือกพืชผักส่วนใหญ่จะเลือกจากความรู้สึกใกล้ตัวและเน้นชีวิตความเป็นอยู่ของคนตรงนั้น เช่น ทุกคนกินกล้วย พริก มะนาว อยู่แล้ว แต่อย่างดงกล้วยกลางบ้านนี่เลือกเพราะอยากให้กระทบใจ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดปลูกกล้วยเพื่อประดับตกแต่ง บางอย่างก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่พี่ป๋อมอยากให้ใส่ เช่น หน่อไม้ หรือขนุนที่รูปทรงมันประหลาด ดูแล้วจะอิมแพ็คว่าใครคิดเอามาปลูกในโครงการ

“นอกจากนี้ยังมีผักสลัดที่อยู่ในชีวิตคนรุ่นใหม่ เป็นรูปแบบแผงสลัดหมุนได้ที่เพื่อนดีไซเนอร์ช่วยหาข้อมูลให้ว่าที่ต่างประเทศเขาทำกัน มีระบบน้ำหมุนเวียนอยู่ในนั้น นอกตัวคอนโดก็มีพื้นที่ทำนาขั้นบันได เป็นการบริหารพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อคนในคอนโด พวกพืชที่อยู่ใกล้น้ำอย่างผักตบ ต้นกก ผักกระเฉด คนในโครงการก็สามารถเด็ดไปผัดกินกันได้เลย

“ส่วนพื้นที่อื่นอย่างเช่นพวกไม้เลื้อย เกิดจากเราอยากได้พืชที่ให้ร่มเงา ไม้เลื้อยต้องมีซุ้มให้เกาะ เราเลยลองคิดว่าถ้าเป็นส่วนกลางของโครงการนึง มันก็คงเป็นพื้นที่หย่อนใจให้คนออกกำลังกายวิ่งผ่านซุ้ม ถ้าเป็นโครงการทั่วไปอาจจะเป็นไม้เลื้อยธรรมดา แต่นี่คือไม้เลื้อยที่เก็บกินได้ เราอยากได้ความรู้สึกนี้เลยออกแบบตัวซุ้มขึ้นมาเพื่อให้มะระทั้งหลายเกาะได้ พืชผักทั้งหมดนี้จะเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตของคนในคอนโด”

แสดงให้เห็นว่าบ้านที่พึ่งพาตนเองก็ ‘สวย’ ได้


ปา
“พอพูดถึงบ้านของพระราชา มันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปอยู่ป่าอยู่สวน เราเป็นคนเมือง เราก็อยากมีบ้านสวย แต่ขอให้เอาแนวคิดนี้เข้ามาแทรก โครงการนี้เราจึงไม่ปลูกต้นไม้แบบธรรมดา แต่ทุกอย่างถูกวางแปลนอย่างดี มีระเบียบ ทุกจุดมีงานดีไซน์แทรกตัวอยู่ เพื่อบอกคนรุ่นใหม่ว่าเราน้อมนำแนวคิดนี้มาใช้ในชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องลดทอนตัวตนของเราลงไปด้วย เพราะที่จริงแล้วพอเพียงคือรู้จักพอให้เหมาะกับศักยภาพของตัวเรา ไม่ใช่ว่าพอเพียงแล้วต้องอยู่แบบจนๆ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝันและทำสิ่งที่ต้องการ”

ออกแบบอย่างลงรายละเอียด (แม้คนดูจะไม่รู้)


ปา
“หลังจากเริ่มหาข้อมูลก็เจอว่าจริงๆ แล้วมันมีบ้านดินแบบ rammed earth ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เรื่องความสวยงามได้มากกว่าและยังคงความเป็นบ้านดิน เราก็เอาแนวคิดนี้มาใช้ในโครงการด้วย เห็นได้จากซุ้มประตูทางเข้าและตัวบ้าน นอกจากนี้ยังใส่แนวคิดบ้านไทยสมัยโบราณที่มีใต้ถุน เพราะอยากให้เป็นบ้านที่เปิดรับอากาศได้เต็มที่ อยู่แล้วร่มเย็น

“สิ่งที่ใช้ในโครงการเราก็ใส่ดีเทลลงไป ลายหมอนที่ใส่ก็ใช้งานของกลุ่มม้งและชาวเขา เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้เป็นแบบจักสาน เป็นเฟอร์นิเจอร์รักโลก รักธรรมชาติ แม้กระทั่งโคมไฟกลางบ้านก็เลือกใช้แบรนด์ไทย เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องนำเข้าจากเมืองนอก ไม้หรือเครื่องจักสานก็ให้ความรู้สึกของความหรูหราภาคภูมิได้เหมือนกัน บางจุดในบ้านเราก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับพืชในโครงการ เช่น ผลิตภัณฑ์จักสานจากกกที่ปลูกตรงเนินดินรอบทะเลสาบ panel ตกแต่งในคอนโดก็มาจากไม้ไผ่ล้อมรอบโครงการ แต่เป็นไม้ไผ่ทำสี”

ใช้จุดขายตามขนบเดิมให้เป็นประโยชน์


ปา
“ปกติเราต้องดูว่าคอนโดแต่ละที่เขามี facilities อะไรบ้าง ทำเลอยู่ที่ไหน เอาข้อเด่นของเขามาขายให้ได้มากที่สุด งานนี้ก็ยังต้องคงความเป็นแอนิเมชันขายโครงการที่มีความแปลกที่พืช แต่เราอยากได้อารมณ์ที่เหมือนอยู่ในที่สบายๆ ชิลล์ๆ มีอารมณ์อบอุ่นแบบที่คนดูแล้วรู้สึกอยากไปอยู่ตรงนั้น ช่วงเวลาที่ทำงานจะได้ยินเพลงพระราชนิพนธ์ Somewhere somehow ขึ้นมาในหัวตลอดเวลา เพราะเราอยากให้คนดูแล้วสงสัยว่าที่นี่มันที่ไหน โครงการไหนกันนะ”


ป๋อม
“เราตั้งชื่อโครงการนี้ว่า The Sufficiency ใช้เพลงแจ๊สๆ เสียงโฆษกแบบซอฟต์ๆ ล้อให้เหมือนดูหนังแบบนั้นอยู่จริงๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่อยากสื่อคือทุกที่ที่มีพื้นที่มันทำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดหรือแฟล็ตก็ตาม”

งานที่กระตุ้นกิเลสในทางที่ดี


ปา
“ปกติเราทำงานกระตุ้นกิเลสมนุษย์ ทำให้คนเห็นแล้วอยากซื้อ แต่งานนี้เหมือนเป็นการสร้างการกระตุ้นกิเลสอีกแบบหนึ่ง เป็นกิเลสในทางที่ดี ถ้าเราได้น้อมนำแนวทางนี้ไปทำจริงๆ หรือถ้ามี developer เจ้าไหนสนใจเริ่มทำโครงการแบบนี้ให้ประเทศเรา มันก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วการปลูกผักสวนครัวมันไม่ได้ยากขนาดนั้น มันเริ่มได้ด้วยตัวเรา และการทำแบบนั้นก็ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนในครอบครัว หรือแม้แต่คนในชุมชนมันดีขึ้นด้วย”


สัปดาห์หน้าโฆษณาหัวข้อท่องเที่ยวเรื่องสุดท้ายจะปล่อยให้เราได้ชมกันแล้ว ติดตามวิธีคิดเบื้องหลังเด็ดๆ ของผู้กำกับ เปา-ธยา สุนทรวิภาต จาก Film Factory ได้ที่คอลัมน์นี้เลย


ภาพ:
ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR