ปั๊ดโถ่…ทางออกของปัญหาพลังงานอยู่ตรงนี้นี่เอง : โฆษณาพลังงานที่ฉีกขนบด้วยการเล่าเรื่องการค้นพบเล็กๆ แต่ทรงพลัง

ปั๊ดโถ่…ทางออกของปัญหาพลังงานอยู่ตรงนี้นี่เอง : โฆษณาพลังงานที่ฉีกขนบด้วยการเล่าเรื่องการค้นพบเล็กๆ แต่ทรงพลัง

ถ้าเคยดูหนังโฆษณาเกี่ยวกับการค้นหาพลังงานธรรมชาติมาใช้หลายๆ
เรื่อง ส่วนมากหนังแบบนี้เล่าเรื่องการค้นพบพลังงานแบบยิ่งใหญ่อลังการ ต้องมีการดั้นด้นออกตามหา แต่ตอนนี้
เราจะเชิญชวนให้ทุกคนมาดูโฆษณาการค้นพบพลังงานจากสิ่งเล็กๆ อย่างขี้วัวและเศษอาหาร ที่ชาวบ้านใน ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
นำมาผลิตไฟฟ้าและแก๊สหุงต้มใช้เอง หนังตัวนี้เพิ่งถูกปล่อยออกมาสดๆ ร้อนๆ ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์
สานต่อที่พ่อทำ ที่เอเจนซี่ มานะ แอนด์ เฟรนด์ จับมือกับผู้กำกับฝีมือฉกาจ 9 คน สร้างสรรค์โฆษณา 9 เรื่อง
เพื่อส่งต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่บอกเล่าด้วยรสชาติเข้มข้น
ทั้งฮา น่ารัก แสบๆ คันๆ ตามขนบโลกโฆษณาขนานแท้ โดยล้อประเด็นตามเครือข่ายกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ

โฆษณาตัวนี้อยู่ในหมวดทุนพลังงาน
ที่จะช่วยลบภาพชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีอีกแล้วคนในชุมชนอันน่าสงสาร
เพราะชาวชุมชนป่าเด็งไม่ใช่อย่างที่คุณคิดไว้ เพราะเมื่อพวกเขามีปัญญา
จึงพึ่งพาตัวเอง ทำให้เขากลายเป็นชุมชนแฮปปี้ ซึ่งผันตัวมาเป็นผู้ให้ความรู้กับคนอื่นได้
เบื้องหลังวิธีคิดและการทำงานของหนังโฆษณาที่น่าสนใจของผลงานนี้เป็นยังไง
หนัง-พงศ์ไพบูลย์ สิทธิคู ผู้กำกับที่ทำงานด้านโฆษณามาเกือบ 30 ปี และ ชลิต มนุญากร จาก มานะ แอนด์
เฟรนด์ จะมาบอกเล่าข้างล่างนี้

เล่าเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่ให้พลังงานกับคนดู

ชลิต
: “เมื่อเป็นโฆษณากลุ่มทุนหัวข้อพลังงาน เราเลือกเรื่องราวของ พี่โกศล แสงทอง มาเล่า
เพราะพลังงานเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนทั่วไปง่าย สำคัญกับทุกคน
มีคนพูดถึงประเด็นนี้ทุกยุค ในโปรเจกต์สานต่อที่พ่อทำ
เราเลือกเรื่องพลังงานทางเลือก จุดสำคัญคือต้องเป็นทางเลือกที่ทำได้จริง
ชุมชนป่าเด็งที่พี่โกศลอยู่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจาก กฝผ. เลย แต่เขาอยู่ได้ มีอยู่ร้อยหลังคาเรือน
เขามีความสุข ไม่รอความช่วยเหลือจากใคร มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนบ้านคนในชุมชนอื่น
เพราะเขามีไฟฟ้า แล้วก็ทำแก๊สหุงต้มใช้เอง มันตรงกับปรัชญาความจริงว่า ถ้าขาดแคลนต้องหาวิธีอยู่รอด ต้องคิดค้นนวัตกรรม เป็นการหาทางออก
เขาเลือกวิธีที่เหมาะสมจนแก้ปัญหาได้ ปัจจุบัน
ชุมชนนี้เป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงพลังงาน เขาสุดยอดมาก
แค่ทำบ่อหมักพลังงานจากขี้วัว จนสร้างนวัตกรรมที่ทำบ่อพัฒนาขึ้นได้ นอกจากหยิบยืม know-how
จากคนอื่น เขายังเอามาต่อยอดให้ดีขึ้น”

เลือกผู้กำกับที่ใช่

ชลิต
: “ผมคิดเลยว่ายังไงก็ต้องเป็นพี่หนังมากำกับเท่านั้น
เพราะมองว่าแกเป็นผู้กำกับที่ทำหนังโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานมามาก เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง
เลยตัดสินใจใช้วิธีหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง แกเคยเล่าเรื่องแบบนี้มาก่อนใช่ไหม
งั้นให้มาพูดถึงการหาพลังงานแล้วกัน”

 

เล่าเรื่องจริงแบบไม่น่าเบื่อ

หนัง
: “เรื่องพลังงานทางเลือกนี้มีอยู่จริง
เพราะเป็นเรื่องของชุมชนที่มีตัวตน แล้วเขาใช้พลังงานจากขี้วัว ขี้ควาย เศษอาหาร
เอามาหมักเป็นแก๊สชีวภาพ เรื่องที่ทำจึงไม่ใช่เรื่องที่เราคิดขึ้นมาเอง ผมทำไปโดยยึดว่าต้องเป็นในลักษณะของสกู๊ปเรื่องจริง เพราะถ้าเราบิดเรื่องราวให้เป็นเรื่องโจ๊กและตลกเดี๋ยวจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
เราเลยแค่เติมสีสันไม่ให้น่าเบื่อ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นหนังสารคดี”

ชลิต
: “ผลลัพธ์ของหนัง ผมว่ามันน่ารักดี ไม่จำเป็นต้องมีความเท่ ไม่ต้องมีการหักมุม ไม่ต้องมีสคริปต์แยบยลคมคาย แต่นี่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่สุด ถ้าดูกันแล้ว
น่าจะได้ยิ้มกริ่มไปกับมัน ที่สำคัญได้เนื้อหาสาระ แล้วได้ค้นพบว่า นี่ไง
บ้านเรามีชุมชนที่หยัดยืนด้วยลำแข้งตัวเอง พึ่งพาตัวเองทุกขั้นตอน เราว่าคนน่าจะชอบ”

 

ล้อเลียนหนังพลังงานที่ยิ่งใหญ่
ด้วยเรื่องเล็กๆ ที่ใหญ่ยิ่ง

หนัง
: “ผมตั้งใจล้อขนบหนังโฆษณาฟอร์มยักษ์ของบริษัทพลังงานที่เวลาทำหนังองค์กร
โฆษณาจะมีความยิ่งใหญ่ มีการออกไปหาพลังงาน แต่เราจะล้อเลียน โดยเล่าให้มีรายละเอียดน่ารักๆ ของชาวบ้านที่ออกไปหาพลังงานแถวบ้าน
สุดท้ายมาหักมุกว่า เฮ้ย มันเป็นขี้วัวและขี้ควายนะ”

ชลิต
: “ประเด็นของชุมชนป่าเด็งเรียบง่ายมาก เพราะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเปรียบว่าเป็นสิ่งที่อยู่ใต้เท้า พอตื่น คุณลุกขึ้นมาทำเองก็ได้ เราสนใจประเด็นนี้มากเลยต้องการล้อเลียนเพื่อทำให้ผู้ชมเห็นว่าแหล่งพลังงานนี้เวิร์กนะ ทำได้ง่าย
เพียงแค่ตั้งใจทำมัน”

พิธีกรที่ทำให้หนังซื่อตรงแต่ดูสนุก

หนัง
: “ผมเลือกคุณคำรณมาเล่นเพราะแกมีทั้งลูกล่อลูกชน การเข้าหาชาวบ้านสนุก แถมร้องลิเกและหมอลำสด
เอนเตอร์เทนคนได้หมด แล้วผมโคตรสะดุดกับเสียงเหน่อๆ ที่แกชอบพูดตอนจบรายการ
มีวันหนึ่งนั่งรถเพลินๆ ผมนึกถึงวลีเด็ดของแกอย่าง ‘นะจะบอกให้’
ผมว่านี่แหละพรีเซนเตอร์ที่ดีและเข้ากับชาวบ้านมากๆ
ถ้าไม่เอาคุณคำรณ ผมว่าหนังจะนิ่งไปเลย เลยลองเสนอคุณคำรณให้ มานะ แอนด์ เฟรนด์”

 

ชลิต
: “เราตั้งใจว่าจะเล่าแบบง่ายๆ
นำเสนอขนบชาวบ้านซื่อๆ ตรงๆ พี่หนังเลยนึกถึงพี่คำรณขึ้นมา
พอเขาเข้ามาร่วมงานนี้ด้วย หนังเลยมีความโจ๊ะ โป๊งชึ่ง แบบลูกทุ่งๆ ซึ่งให้บรรรยากาศของความสนุกสนาน แล้วพี่คำรณแกเป็นอัจฉริยะ มีลูกเล่นที่พิเศษเยอะมาก คือเรามีพลอตคร่าวๆ อยู่แล้วว่าจะให้พี่คำรณพูดถึงประเด็นไหน แต่พอถึงเวลา
แกแทบไม่พูดสิ่งที่เราเขียนเลย (หัวเราะ) แกอิมโพรไวส์ไม่เหมือนกันสักเทก ซัดมุกมาไม่หยุด จนตอนตัด
เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าพี่หนังจะตัดยังไง เพราะสิ่งที่แกเล่ามันสดมาก”

ใช้ชาวบ้านตัวจริง
ไม่มีสลิง และ ไม่มีสตั้น

หนัง
: “พอนำเสนอเป็นสกู๊ป
ชาวบ้านที่ออกหน้ากล้องเลยเป็นคนในพื้นที่ เขาไม่ได้เล่นอะไรมากเลย
ให้เขาเป็นตัวเองนั่นแหละ
เขาไม่ได้มีเปลือก เขารู้สึกยังไงก็ทำตามนั้น ปวดขี้ก็บอกว่าปวดขี้
ร้อนเขาก็บอกว่าร้อน เขาไม่มีความซับซ้อนแบบคนเมือง
ดังนั้นเขาเลยไม่ได้แสดงอะไรเลย โดยปกติทำแบบนั้นก็จะทำแบบนั้น
เพราะงั้นการเข้ามาในกล้องของเขาก็ธรรมชาติมากๆ เลย”

หนังที่ไม่ได้เน้นพูดกับคนเมืองเท่านั้น

ชลิต : “ปกติหนังโฆษณาชุดสานต่อที่พ่อทำจะสื่อสารกับคนเมือง
มีการปรับจูนเรื่องมู้ดแอนด์โทนให้เข้าคนเมือง
แต่หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่เน้นพูดกับคนในชนบท
เพราะเราคิดว่ามันจะ
เป็นประโยชน์กับเขา แต่สุดท้ายคนดูคือคนไทยทั้งประเทศ
ถ้าให้ทุกคนได้รับประโยชน์ก็อิ่มใจแล้ว”

 

 

หนังจบ
อารมณ์ไม่จบ

ชลิต
: “สิ่งพิเศษคือหนังเรื่องนี้บอก know-how กับคนดูด้วยนะ
คือเราบอกวิธีการทำพลังงานให้รับไปใช้ได้เลย บอกแม้กระทั่งผสมขี้วัวกี่ส่วน
น้ำอีกกี่ส่วน ข้อความพวกนี้ไม่ได้เป็นข้อมูลใหม่หรือพิสดาร
แต่เราหวังว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่เป็นความสุขและเป็นสีสันของชีวิต
เพราะลองทำกันที่บ้านไม่ยาก ถ้ามีสักหลังคาเรือนริเริ่มทำก็ดีแล้ว
ไม่ได้หวังให้มาเปลี่ยนแปลงกันทั้งประเทศทีเดียว อาจเอาแนวคิดนี้ไปใช้บ้าง
ผมคิดว่านี่เกินความคาดหวังเลยนะ แค่นี้เกินพอแล้ว ไม่ได้คาดหวังว่าคนต้องมาทำบ่อหมักกันไปทั่วประเทศเลย’

ทำความรู้จักเรื่องราวของ โกศล แสงทอง ผู้นำหมู่บ้าน ป่าเด็ง (หมู่บ้านที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง) แห่งนี้ให้มากขึ้นได้ที่ สานต่อที่พ่อทำ ส่วนสัปดาห์หน้าติดตามวิธีคิดเจ๋งๆ ในโฆษณาฝีมือของผู้กำกับคนต่อไป

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR