ผูกปิ่นโตข้าว : โฆษณางานแต่งงานหวานปนฮาที่เล่าเรื่องการค้าข้าวแนวใหม่ฝีมือ โต้ง-บรรจง

ถ้าเห็นโฆษณางานแต่งงานประหลาดๆ
ผสมมุกตลกชวนอมยิ้มทางโทรทัศน์เวลานี้ รู้ไว้เลยว่านี่เป็นหนึ่งในผลงานของโครงการ สานต่อที่พ่อทำ ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของ มานะ แอนด์ เฟรนด์ เอเจนซี่ช่างคิด
กับผู้กำกับ 9 คน สร้างสรรรค์โฆษณา 9 เรื่อง ถ่ายทอดเรื่องราวผู้สานต่อแนวคิดในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่นำเสนออย่างจัดจ้านตามมาตรฐานงานโฆษณา ทั้งสนุก รุ่มรวยมุก
อัดแน่นไปด้วยพลังความคิดดีๆ

สัปดาห์แห่งวันวาเลนไทน์เป็นช่วงเวลาปล่อยตัวโฆษณาลำดับที่
4 ในหัวข้อการค้าขาย จากทั้งหมด 9
หัวข้อที่ล้อตาม 9 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ งานชิ้นนี้ชื่อ ผูกปิ่นโตข้าว’ กำกับโดยผู้กำกับหนุ่มไอเดียบรรเจิด
โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล จากค่ายหนังอารมณ์ดี GDH ถ่ายทอดเรื่องราวโครงการอาสาไม่หวังผลกำไรของกลุ่ม
ผูกปิ่นโตข้าว’ กลุ่มคนที่ถูกนิยามเป็นแม่สื่อแห่งท้องทุ่ง
ผลักดันให้ชาวนาอินทรีย์มีที่ยืนในสังคม ทำให้คนไทยได้กินข้าวดีมีคุณภาพ
โดยใช้ระบบความสัมพันธ์ฉันญาติมิตรแบบไทยๆ ไม่พึ่งพ่อค้าคนกลาง ชาวนาอินทรีย์เป็น ‘เจ้าบ่าว’ จับคู่กับ ‘เจ้าสาว’
ที่เป็นผู้บริโภค แล้วกำหนดราคาและปริมาณตามความพึงใจของสองฝ่าย

วันนี้
ทั้ง โต้ง-บรรจง และ ป๋อม-กิตติ ไชยพร แห่งเอเจนซี่ มานะ แอนด์
เฟรนด์ จะเล่าเบื้องหลังกระบวนการคิดสุดสนุกให้ฟังถึงแรงบันดาลใจดีๆ
ที่พวกเขาได้รับจากกลุ่มผูกปิ่นโตข้าว จนกระทั่งแปรรูปเป็นโฆษณากระตุกไอเดียแนวโรแมนติกคอเมดี้
ถ้าเห็นโฆษณางานแต่งงานประหลาดๆ ผสมมุกตลกชวนอมยิ้มทางโทรทัศน์เวลานี้ รู้ไว้เลยว่าเบื้องหลังการทำงานน่าสนใจไม่แพ้กัน

 

ถึงเวลาที่ต้องพูดถึงชาวนา

ป๋อม
“ชาวนาเป็นกลุ่มคนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9
ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมานักการเมืองและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ทำให้ชาวนาโดนรังแกมาตลอด
เราตั้งใจแต่แรกเลยว่าจะพูดถึงกลุ่มชาวนาที่ได้รับการแก้ปัญหา
และทำอาชีพที่เขารักได้อย่างยั่งยืน ผูกปิ่นโตข้าว เป็นโปรเจกต์ของพี่ บี๋-ปรารถนา
จริยวิลาศกุล
และเพื่อนๆ โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องของคนฝั่งเดียวเท่านั้น
แต่เป็นเรื่องของคนสองฝั่งที่อยู่ในเมืองและชาวนาที่อยู่ต่างจังหวัด
ทำให้เนื้อเรื่องเด่นและแตกต่างไปจากโฆษณาในโปรเจกต์ตัวอื่นๆ ที่เล่าเรื่องคนหรือชุมชนเดี่ยวๆ
โฆษณาชิ้นนี้จะเชื่อมทุกคนให้กลมเกลียว”

เริ่มต้นจากไอเดียที่ซาบซึ้ง

ป๋อม
:
“พอคุยเรื่องแนวคิดกับพี่บี๋อย่างละเอียดแล้วเราพบว่าไอเดียมันเจ๋งมาก
พี่บี๋พูดว่าป๋อม คุณเคยรักใครสักคนไหม ถ้ารัก
คุณจะทำสิ่งที่ไม่ดีกับเขาหรือเปล่า ถ้าได้เกี่ยวดองกัน
คุณก็อยากจะหยิบยื่นแต่สิ่งดีๆ กับเขาใช่ไหม รู้ไหมโลกทุกวันนี้ คนต่างคนต่างอยู่
เรากินข้าวแล้วไม่มีทางรู้หรอกว่า ข้าวที่กินอยู่ปลอดภัยไหม
แต่โครงการนี้เป็นการเชื่อมคนสองโลกเข้าไว้ด้วยกัน
ไม่ใช่แค่ให้ชาวนาอินทรีย์และผู้บริโภคตกลงซื้อขายกัน แต่ต้องพอใจกันและกัน
แล้วถ้าเป็นไปได้ผู้บริโภคควรไปเยี่ยมชาวนาที่บ้านด้วย ฉะนั้นเขาผูกพันกันจริง
เราฟังแล้วรับรู้ถึงพลังอันซาบซึ้ง ไอเดียแรกที่คิดได้ตอนนั้นจึงเป็นเรื่องการแต่งงานเลย”

 

“เราไม่ได้ซื้อไอเดียนี้มาทำโฆษณาแค่เพราะมันดี แต่แนวคิดเขาก้าวไปไกลกว่านั้น
เราชอบวิธีคิดที่ทำให้คนซื้อข้าวและคนขายข้าวเกิดความสุข เลยกลายเป็นโฆษณา feel good ที่เหมาะจะให้พี่โต้งทำมากๆ นอกจากนี้เราเน้นย้ำแต่แรกเลยว่าภาพชาวนาปลูกข้าวออร์แกนิกในโครงการ
ผูกปิ่นโตข้าว จะต้องไม่เหมือนชาวนาในภาพจำที่เป็นคนสูงอายุซื่อๆ และมีชีวิตลำบาก เพราะจากการเก็บข้อมูลจริง
ชาวนาออร์แกนิกกลุ่มนี้เขามีความรู้ ความคิด และคล่องแคล่ว เราเชิญพี่ๆ
เจ้าบ่าวชาวนาตัวจริงมาดูการถ่ายทำด้วย สุดท้ายเราได้คุยกับเขามากเข้ายังตัดสินใจเป็นเจ้าสาวด้วยเลย”

 

ตั้งต้นจากความแปลกแหวกแนว

โต้ง
:
“ตอนได้อ่านบอร์ดครั้งแรกแล้วเห็นรูปแบบที่แปลกใหม่ของกลุ่มผูกปิ่นโตข้าว
รู้สึกว่ายังไงก็ต้องทำ บอร์ดงานแต่งงานที่ป๋อมส่งให้สามารถตีความได้หลายร้อยไดเรกชัน
ผมเลยตั้งใจทำเป็นหนังแนวไอเดียแปลก เล่าเรื่องให้รู้จักกลุ่มผูกปิ่นโตข้าวผ่านสัญลักษณ์
(Symbolic) การแต่งงาน โดยต้องทำให้ผู้ชมดูเพลินจนจบด้วยกลวิธีฮาๆ
ตอนแรกคิดหลายแบบว่าจะเป็นงานแต่งแบบไหน ตั้งแต่แต่งในโบสถ์แบบคริสต์ แต่งแบบจีน
แต่งหรูๆ ในโรงแรม สุดท้ายลงตัวที่การนำเสนอภาพงานแต่งงานตามต่างจังหวัด
เพราะโครงการผูกปิ่นโตข้าวเริ่มจากความเป็นมิตร เลยเลือกสื่อสารด้วยความตลก
เป็นกันเอง และทะลึ่งตึงตังนิดๆ งานครั้งนี้เป็นการทดลองของผมด้วยเพราะไม่เคยทำหนังโฆษณาแนวไอเดียแบบนี้มาก่อนเลย”

 

ดึงดูดด้วยสคริปต์ที่ทำให้คนดูสงสัยสุดๆ

โต้ง
:
“ผมตั้งใจว่าแต่ละช่วงจะสร้างเรื่องราวในสคริปต์ให้คนดูเกิดความฉงนไต่ระดับมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่น เฮ้ย! เจ้าบ่าวมีแค่คนเดียวเอง แต่เจ้าสาวมีเยอะจังวะ มีทั้งเจ้าสาวสวย
เจ้าสาวแก่ แถมยังมีเจ้าสาวผู้ชายด้วยว่ะ ตรงนี้แหละเราจะสอดแทรกให้เห็นนัยสำคัญ (Hint)
ของโครงการและเกิดการล้อกันในบท อย่างเจ้าสาวเล่าว่าไปเจอเจ้าบ่าวในอินเทอร์เน็ต
หรือตอนเจ้าสาวแต่ละคนบอกเหตุผลว่าทำไมถึงชอบผู้ชายคนนี้
เจ้าสาวคนหนึ่งตอบว่าชอบเพราะว่าพี่เขาอึดดี นั่นเป็นการบอกใบ้ผู้ชมให้รู้ว่าเป็นเรื่องของชาวนาปลูกข้าวออร์แกนิกที่ต้องใช้ความอึดในการปลูกมากมายก่อนจะได้ผลผลิตมาให้เจ้าสาวบริโภค”

เป๊ะตั้งแต่แคสติ้งจนถึงการด้นสดของนักแสดงนำ

โต้ง
“เรื่องจังหวะจะโคนสร้างความตลกต้องใช้ทักษะ
เพราะมันไม่ใช่แค่คนมาพ่นมุกใส่กัน ผมกับผู้ช่วยช่วยกันคิดไดอะล็อกฮาๆ ออกมา
ขับให้มันเด่นด้วยการแสดงรูปแบบคอเมดี้
มีความทะลึ่งตึงตังเป็นเครื่องปรุงรสให้น่ารัก ซึ่งเราชัวร์มาตั้งแต่การแคสติ้งแล้ว
ผมเชื่อในเสน่ห์ของแคสติ้ง ถ้านักแสดงทุกคนใช่ ทุกอย่างจะง่ายดาย
ผมระบุเลยว่าต้องเอาพี่คนนี้มาแคสต์เป็นพิธีกรงานแต่งนะ เพราะผมชอบเขามาก
จังหวะโคตรคาเฟ่ แล้วเล่นเก่ง เขาจะพูดไปเรื่อยๆ พูดจิกกัด ผลลัพธ์คือความฮา สด
มันเวิร์กและลงตัวมาก

“วิธีการทำงานนี้คือผมจะถ่ายแบบสบายๆ
ปล่อยให้นักแสดงเล่นเอง ดูเขาเล่นตามธรรมชาติ ประเมินว่าโอเคแล้วหรือยัง
ถ้าคิดว่าพอแล้วอาจให้พี่ที่แสดงเป็นพิธีกรลองถามคำถามเดิมอีกครั้ง
ระหว่างถ่ายอาจคิดมุกเพิ่มให้เข้ากับสถานการณ์
บางซีนผมว่าดีแล้ว แต่ถ้าเห็นว่าดีได้อีก
เราจะเลือกให้เขาเพิ่มจังหวะสนุกๆ เข้าไปด้วย
ปกติผมจะถ่ายตามสคริปต์ก่อนแล้วเทคสุดท้ายค่อยให้ด้นสดอะไรก็ได้ ถ้าเห็นอะไรน่าสนใจระหว่างซ้อมหรือตอนนักแสดงพูดเล่นกันก็จะเก็บเกี่ยวมาใช้ทันที
ซึ่งอย่างหลังนี่บางทีมันเวิร์กมากๆ เวิร์กกว่าบท”

 

ถ่ายทำให้คนอินด้วยความสมจริง

โต้ง
“ผมสร้างภาพงานแต่งงานบรรยากาศแบบชาวบ้านมากๆ
โดยรีเสิร์ชจากวิดีโอมากมายในยูทูบ คุยกับทีมงานว่าต้องถ่ายให้เหมือนจริงทั้งหมดเลยนะ
ลักษณะการถ่ายภาพต้องใช้ภาพมุมกว้าง ถ่ายทำช่วงกลางคืนตามรูปแบบงานแต่งงานทั่วไป และต้องไม่ใช้กล้องถ่ายทำหนังปกติ
ผมเลือกใช้กล้อง DSLR ง่ายๆ
ให้เหมือนการบันทึกการแต่งงานของคนธรรมดาจริงๆ ตอนการถ่ายทำผมก็ไม่ถ่ายเป็นคัตๆ
เพราะเวลาตัดต่อจะได้ไม่รู้สึกว่านี่คือหนังโฆษณา ใช้แค่การสลับกล้อง
เพราะถ้าถ่ายแบบโฆษณาปกติ ฟีลลิ่งจะหลอกคนดูทันที เราจะไม่ให้เขารู้สึกแบบนั้นเพราะต้องการให้คนดูอินมากๆ
งานแต่งต้องมีความท้องถิ่น ต้องเซ็ตและถ่ายให้เหมือนของแท้ทุกกระบวนท่า ถ่ายทำเสร็จแล้วก็ไม่ย้อมสีภาพสักนิดเดียวเพราะงานแต่งบ้านๆ
เขาไม่ย้อมสีภาพอยู่แล้ว”

 

รายละเอียดฉากต้องเนี้ยบและสื่อสารง่าย

โต้ง
“การดีไซน์ฉากและรายละเอียดต้องโดน
ต้องเนี้ยบเหมือนงานแต่งที่ชาวบ้านเขาจัดกันตามขนบทุกอย่าง อย่างพิธีกรที่ชอบเล่นมุกแซว แขกเหรื่อใส่เสื้อผ้าลายดอกนุ่งผ้าถุงมาร่วมงาน มีดรายไอซ์บนเวที
ไฟประดับสีฟรุ้งฟริ้ง โต๊ะจีนหลายร้อยโต๊ะ
ป้ายโฟมที่ตัดชื่อชาวนาเชื่อมกับชื่อเจ้าสาวหลายๆ คน การตัดเค้กที่มีตุ๊กตาเจ้าบ่าวคนเดียวกับเจ้าสาวทุกคน
หรือจะเป็นช่อดอกไม้รวงข้าวที่เจ้าสาวทุกคนโยนให้แขกแย่งกันรับ
นัยหนึ่งเป็นการโยนรวงข้าวให้ผู้ชมโฆษณารู้ว่า
คุณเองก็สามารถเป็นเจ้าสาวคนต่อไปได้นะ
ลองคลิกเข้าไปในเพจที่เราทิ้งข้อมูลไว้ให้สิ”

ปิดท้ายคนดูต้องรู้จักและเข้าใจโครงการ

โต้ง
:
“เวลาผมทำหน้าที่เป็นผู้กำกับโฆษณาที่พูดเรื่องภาคสังคม
ผมต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ไอเดียมีประสิทธิผลที่สุด ให้ทุกคนประทับใจ
ดูแล้วร้องว่า เห้ย อะไรวะ พอสรุปเรื่องดีๆ ให้คนเข้าใจและจดจำหนังเรื่องนี้ได้
เขาก็จะสนใจคลิกเข้าไปดูโครงการ นี่เป็นหน้าที่สำคัญของคนทำ
ในช่วงท้ายผมตั้งใจโยงมาที่การอธิบายโครงการให้เข้าใจง่าย ให้ผู้ชมรู้สึกว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วอยากเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งดีมีประโยชน์
ตอนโฆษณาจบผมอยากให้เขาอึ้งไปเลยว่าการค้าขายแบบนี้มันดีและมีอยู่จริงนะ ตั้งแต่กุศโลบายที่เชื่อมคนให้ผูกพันกัน
ทำให้ชาวนาอยากขายข้าวคุณภาพดีๆ ให้คนอื่นเหมือนเป็นคนในครอบครัว เราจะได้มารู้จักกันจริง
ไม่ใช่แค่พ่อค้าที่หวังผลกำไร นี่คือสิ่งดีๆ ที่อยากส่งต่อให้คนดูได้รับทุกคน”

สัปดาห์หน้ารออ่านเบื้องหลังโฆษณาสุดฮิปตัวใหม่
ฝีมือผู้กำกับฝีมือโดนใจวัยรุ่น อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร จาก Factory01 และทำความรู้จักโครงการได้ที่ สานต่อที่พ่อทำ

ภาพ สลัก แก้วเชื้อ

 

AUTHOR