ครูคุณธรรม : โฆษณาเรื่องครูที่ทำให้เด็กรักการเรียนด้วยการสอนที่แหวกขนบ สนุก และเพี้ยน

ครูคุณธรรม หนังโฆษณาที่กำลังเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ในเวลานี้ (และมียอดวิวรวมกันกว่าล้านเพียงชั่วข้ามคืน!) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ ‘สานต่อที่พ่อทำ’ ที่ได้เอเจนซี่ มานะ แอนด์ เฟรนด์ เป็นผู้ถ่ายทอด โดยผนึกกำลังกับผู้กำกับ 9 คน ทำโฆษณา 9 เรื่องถ่ายทอดเรื่องราวผู้สานต่อแนวคิดในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่เล่าอย่างจัดจ้านตามขนบโฆษณา และแบ่งเรื่องออกเป็น 9 หมวดล้อตามเครือทุนใหญ่ในประเทศ โฆษณาตัวแรก ธนาคารความดี ที่ปล่อยมาให้เราชมกันเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นกระแสตอบรับดีไม่น้อย มาถึงโฆษณาตัวที่ 2 ในหัวข้อการศึกษา ป๋อม-กิตติ ไชยพร แห่ง มานะ แอนด์ เฟรนด์ และ เอ๋-ธีระพล สุเนต์ตา ผู้กำกับจากโปรดักชันเฮาส์ Suneta House จะมาเล่าวิธีสร้างสรรค์หนังความยาว 6 นาทีที่ทำเอาคนดูน้ำตาซึมไปกับเรื่องจริงของ ครูโซ่-ยอดหทัย รีศรีคำ ที่ลดอัตตาและภาพลักษณ์ของครูเพื่อทำ ‘หน้าที่’ ของครูอย่างสุดความสามารถ

มองหาครูต้นแบบ

ครูดีๆ มีอยู่ทั่วประเทศไทย แต่ป๋อมสนใจเรื่องของครูโซ่ ครูคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองซึ่งมีสไตล์การสอนแหวกแนว บางครั้งก็แต่งตัวเป็นซูเปอร์ฮีโร่ บางครั้งก็แต่งตัวเป็นผู้หญิง เพื่อสร้างสีสันในห้องเรียน จนกลายเป็นที่รักของนักเรียน มีสื่อสนใจมาขอสัมภาษณ์ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าครูโซ่เคยเป็นครูที่นักเรียนเกลียดเข้าไส้มาก่อน


ป๋อม
“ครูโซ่เคยเข้มงวดมาก เขาเป็นครูฝ่ายปกครองที่เด็กกลัวไปจนถึงด่า เรารู้สึกว่าครูโซ่ก็เหมือนกับครูส่วนใหญ่ของประเทศนี้ในแง่ที่เป็นครูที่รักนักเรียน แต่ใช้วิธีการผิดๆ เช่น ทำตัวเข้ม ดุ เก๊กจนเด็กไม่อยากเข้าใกล้ แต่จริงๆ แล้วเขาก็เป็นครูที่หวังดีกับทุกคนในรายการสัมภาษณ์ครูโซ่ที่เราดู พิธีกรถามว่า ถ้าเด็กไม่ทำการบ้านมาจะทำยังไง จะโกรธเด็กนักเรียนไหม สิ่งที่ครูโซ่ตอบคือ ไม่โกรธและต้องกลับมามองที่ตัวเองว่าเราผิดพลาดตรงไหน ครูไม่โทษเด็กก่อน เราคิดว่านี่คือคุณธรรมของครู มันไม่ใช่แค่เรื่องที่ครูแต่งตัวประหลาดๆ ไปสอนอย่างเดียวแล้ว แต่มันคือวิธีคิดที่ดี วิธีคิดที่มีคุณธรรม”

ทำไมครูต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง


เอ๋
“ระหว่างเราไปคุยกับครูโซ่ที่ระยองเพื่อหาเมสเสจของเรื่อง มีช่วงหนึ่งครูอ้างถึงคำพูดที่ว่า ‘แมวขาวหรือแมวดำ ถ้าเป็นแมวที่จับหนูได้คือแมวดี’ คือเขาไม่สนใจว่าจะต้องทำอะไร แต่ผลลัพธ์คือต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้ ระหว่างทางครูโซ่ไม่สนใจว่าใครจะมองว่าเขาบ้า เขาแค่คิดว่ามันถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว การได้คุยกับครูโซ่ทำให้เรานึกถึงแก่นแท้ของเรื่องออก เราไม่ได้อยากทำหนังเพื่อเล่าว่า ครูแต่งได้กี่ชุด เราไม่ได้อยากจะสื่อสารว่ามีครูคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาแต่งตัวแปลกๆ เพื่อสอนหนังสือ ไม่งั้นก็เหมือนว่าเราจะชวนให้ครูทุกคนลุกขึ้นมาแต่งตัวแปลกๆ ด้วย แต่เราจะเล่าสิ่งที่ครูโซ่คิด ณ ขณะเวลานั้นว่าทำไมเขาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ทำหนังครูที่เล่าแบบวัยรุ่น


เอ๋
“หนังเกี่ยวกับครูไม่ใช่เรื่องใหม่ หนังเรื่องอื่นๆ มักเล่าเรื่องของครูที่ทำดี รักเด็ก ถ้าเราทำแบบนี้อีกจะซ้ำและทำให้คนดูปฏิเสธ เราเลยคิดกลับกันคือให้คนอื่นมาเล่าความดีของครูคนนี้ คนที่เหมาะจะเล่าความดีของครูมากที่สุดก็ต้องเป็นนักเรียน ดังนั้น mood และ tone ของหนังจึงออกมาแบบวัยรุ่น บวกกับวิธีการดำเนินเรื่องให้เร็วเพื่อดึงความสนใจของคนดูให้ได้”

ความคอนทราสต์จะดึงความสนใจได้


เอ๋
“เราเล่าเรื่องพร้อมเสียงพากษ์ของนักเรียนที่พูดถึงความดีของครู โดยให้ภาพและเสียงพากษ์คอนทราสต์กันเพื่อให้คนดูสงสัย สนใจและดูจนจบ เช่น มีเสียงพูดว่า ‘ครูคนนี้เป็นครูที่มีความอดทน’ แต่ภาพเป็นคนที่ไม่อดทนเลย มีเสียงพูดว่า ‘ครูคนนี้เป็นครูที่ไม่ใช้อำนาจ’ แต่ภาพเป็นครูที่ใช้อำนาจมากถึงขั้นไล่นักเรียนออกนอกห้อง มีเสียงพูดว่า ‘ครูคนนี้เป็นที่รัก’ แต่ภาพคือเดินไปทางไหนก็มีแต่คนเดินหนี ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้คนดูสงสัยว่านักเรียนกำลังชมครูหรือประชดครูกันแน่ เรื่องจะปูไปจนถึงวันที่เห็นว่าครูคนนี้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ภาพและเสียงพากษ์ที่ชื่นชมครูจะตรงกัน”

ใช้นักแสดงตัวจริงเพื่อเล่าเรื่องจริง


เอ๋
“เรารู้สึกว่าชีวิตครูดราม่ามากเหมือนละครเลย เหตุการณ์ต่างๆ ที่ใส่เข้าไปในหนังคือเรื่องจริง ตั้งแต่การปาไข่ใส่ โดนปล่อยลมยางรถมอเตอร์ไซค์ เด็กๆ ด่า ตอนคุยกับครูโซ่ก็จดเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาใส่ในหนัง และพอได้คุยกับครูโซ่ เรารู้สึกว่าครูมีความสามารถที่น่าจะเล่นได้เพราะเล่นเป็นตัวเอง พอเป็นเรื่องของเขา ก็อินกว่า สีหน้าของครูโซ่จริงๆ เวลาโดนนักเรียนด่ามันเป็นหน้าของความเหวอปนเข้าใจ เราไม่มีทางได้สีหน้าแบบนี้ ถ้าให้ตัวแสดงอื่นมาเล่น การใช้เหตุการณ์จริง ตัวแสดงจริง จะทำให้คนดูเชื่อจริงๆ”

ใส่รายละเอียด

เมื่อหนังเล่าถึงวันที่ครูโซ่คิดได้และเริ่มเปลี่ยนการสอนด้วยเทคนิคแปลงร่างแบบซูเปอร์ฮีโร่แล้ว หนังยังใส่รายละเอียดการสอนคุณธรรมของครูโซ่ลงไปด้วย


เอ๋
“เราใส่รายละเอียดวิธีสอนนักเรียนของครูโซ่ลงไปด้วย เช่น กล่องให้ยืมเงินของครูโซ่ซึ่งเป็นของจริง ครูโซ่บอกว่าเวลานักเรียนไม่มีเงินก็ไม่กล้ายืมเงินเพราะว่าอาย ก็มีแค่สองทางเลือก คือ ยืมหรือขโมย เพราะฉะนั้นครูจึงให้นักเรียนยืมแบบเงียบๆ ก็ได้ หยิบเงินจากกล่องนี้ไป มีเงินเมื่อไรก็เอามาคืน มันเป็นกุศลโลบายที่สอนเรื่องความถูกต้อง”

บทสรุปต้องง่าย


เอ๋
“ตอนสุดท้ายเราจบด้วยพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า ‘…ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู… ’ เป็นหัวใจง่ายๆ ที่ถ้ามีความรักให้กัน พูดอะไรสอนอะไรก็จะไม่ตั้งท่าปฏิเสธอย่างเดียว เหมือนเวลาที่เด็กๆ เราชอบคุณครูคนไหน เราจะทำวิชานั้นได้ดีด้วย แล้วไม่ใช่แค่เรื่องของครูด้วย การมีความรักให้กันมันใช้ได้กับทุกเรื่อง ถ้าครูยังรู้สึกว่าเด็กๆ ยังไม่รัก ก็ต้องคิดว่าจะเอาอะไรไปสู้กับเด็กๆ จะเอาความดีไปสู้ เอาความตลกไปสู้ หรือเอาความเข้าใจไปสู้”

สัปดาห์หน้ารออ่านเบื้องหลังโฆษณา Investment Talk ฝีมือผู้กำกับ ต้อม เป็นเอก จาก Film Factory ที่เล่าเรื่องอย่างเฉียบคมและเหนือชั้น ถ้าอยากรู้จักโครงการสานต่อที่พ่อทำให้มากขึ้น คลิกที่นี่เลย

AUTHOR