“โปรดมองให้เห็นว่าศัตรูแท้จริงคือรัฐเผด็จการ อย่ามองคนไม่เป็นคน” ฟาโรห์ The Common Thread

Highlights

  • ฟาโรห์–เตชภณ คำสีแก้ว หรือ ‘ฟาโรห์ The Common Thread’ เริ่มต้นทำช่องยูทูบเล่าเรื่องลี้ลับในอดีต เพราะอยากสร้างพื้นที่เปิดสำหรับการถกเถียง ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการทางความคิดของคนในสังคม
  • ฟาโรห์แสดงตัวชัดเจนว่าเขาสนับสนุนประชาธิปไตย แต่เขาก็เชื่ออย่างยิ่งว่า ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน เราก็ไม่ควรผลักอีกฝ่ายไปอยู่ตรงกันข้ามหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนคนนั้น
  • สำหรับเขา ในสถานการณ์แบบนี้การสื่อสารคือเรื่องสำคัญ เราต้องพยายามมีสติและใช้เหตุผลในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้ได้มากที่สุด

ฟาโรห์–เตชภณ คำสีแก้ว เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ ฟาโรห์ The Common Thread เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว

จากความชอบในเรื่องราวลี้ลับเก่าก่อนและความหลงใหลในเรื่องเล่า ฟาโรห์เริ่มต้นทำช่องยูทูบเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น โดยหัวข้อที่เขาพูดถึงมีตั้งแต่คดีฆาตกรรม โศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ไทย ไปจนถึงมนุษย์ต่างดาว เช่น คดีลักพาตัวนางงามเด็ก JonBenet Ramsey หรือคดีฆาตกรรม Isidore Fink ในห้องปิดตาย ด้วยสไตล์การเล่าที่สนุกสนานตื่นเต้นพร้อมข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ช่องยูทูบของฟาโรห์จึงมีผู้ติดตามกว่าครึ่งล้าน และตัวเขากลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘ฟาโรห์ The Common Thread‘

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ผมมาสนทนากับเขาในวันนี้

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาฟาโรห์เป็นคนหนึ่งที่ออกมาแสดงทรรศนะถึงสถานการณ์บ้านเมืองอยู่บ่อยครั้ง เขาลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงผ่านพื้นที่เพจของตัวเอง ชัดเจนและมั่นคงในจุดยืนที่ไม่สนับสนุนความรุนแรงโดยรัฐและอยู่เคียงข้างแนวคิดประชาธิปไตย 

นั่นเองคืออีกเหตุผลที่ผมอยากคุยกับเขา

ในฐานะนักเล่าเรื่อง เขามองว่าเรื่องเล่ามีพลังที่ตรงไหน ทำไมการเรียนรู้เรื่องลี้ลับในอดีตถึงสำคัญ และทั้งสองอย่างนี้ส่งผลต่อมุมมองทางการเมืองของเขายังไง

คำตอบฟาโรห์เริ่มต้นในบรรทัดถัดไป

The Common Thread

คุณก่อตั้ง The Common Thread ด้วยความเชื่อแบบไหน

การจะตอบคำถามนี้ต้องขออนุญาตเท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นที่ผมยังเตาะแตะเลย 

ผมโชคดีที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็นได้ ถกเถียงได้ ที่บ้านเลี้ยงดูผมให้สามารถพูดและบอกความต้องการของตัวเองได้ ไม่ได้โตมาในครอบครัวที่สั่งสอนให้เชื่อฟังหรือทำตามความต้องการของใคร ยิ่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็โชคดีที่ได้เจออาจารย์และเพื่อนๆ ที่พูดคุยกันได้บนฐานข้อมูลโดยไม่ใช้ความอาวุโสมาข่มกัน ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเป็นคนชอบเล่าเรื่อง แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเริ่มทำช่องยูทูบคือวันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าบรรยากาศในโซเชียลมีเดียบ้านเราไม่ค่อยดีเท่าไหร่ 

ผมจำได้ว่าตอนนั้นเวลามีใครจั่วหัวประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาในโลกออนไลน์ พอเกิดการพูดคุยกันไปได้ 2-3 ประโยค การสนทนาจะเริ่มหลุดไปอยู่ในจุดที่ใช้แต่อารมณ์แล้ว ไม่ได้หยิบเหตุผลขึ้นมาพูดคุยกันอีก ผมจึงอยากเปิดพื้นที่ของความไม่รู้ขึ้นมาเพื่อทำให้การถกเถียงนำไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์มากกว่านี้

 

ทำไมต้องเป็นพื้นที่ของความไม่รู้ 

เพราะสำหรับผม ความลึกลับและความไม่รู้คือสิ่งที่มีเสน่ห์ ผมชอบเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เด็กแล้ว มันสนุกเวลาที่ได้ศึกษาหาความจริง 

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการตายของ Elisa Lam ที่มีคนพบศพเธอในแทงก์น้ำ ผมทำคลิปเล่าเรื่องเอลิซ่าขึ้นมาเป็นคลิปที่สามในช่อง ผมใส่ข้อมูลและเหตุผลอ้างอิงเท่าที่พอจะหาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือการถกเถียงในมุมมองแต่ละคน บางคนลงความเห็นว่าเธอฆ่าตัวตาย บางคนบอกว่าเธอถูกฆ่า หรือบางคนก็มาให้ข้อมูลเรื่องแทงก์น้ำ ทั้งหมดนี้ยิ่งอ่านก็ยิ่งได้ความรู้ และทำให้ผมคิดว่าถ้าเรามีพื้นที่และการตั้งคำถามแบบนี้มากขึ้นเท่าไหร่ สังคมบ้านเราจะยิ่งเปิดมากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลใหม่ๆ และความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้เราเกิดการพัฒนาโดยไม่ต้องห้ำหั่นกัน นี่แหละคือแก่นของ The Common Thread

ในมุมมองของคุณ คำถามที่ดีเป็นแบบไหน

คำถามที่ดีต้องนำมาซึ่งคำตอบที่ไม่ตายตัว พูดอีกอย่างคือต้องไม่มีคำตอบแค่ถูกหรือผิด เพราะในมุมมองส่วนตัวของผม คำถามที่นำมาซึ่งคำตอบตายตัวมันน่าเบื่อ ทั้งที่เกือบทุกเรื่องในชีวิตจริงและประวัติศาสตร์ไม่มีคำตอบตายตัว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องของความดี ผมตั้งคำถามกับเรื่องนี้อยู่เสมอ

ผมมักถามตัวเองอยู่เสมอว่าความดีคืออะไร คนดีคืออะไร เป็นแบบที่คนอื่นบอกว่า ‘คนดีคือคนที่ต้องเห็นอกเห็นใจและไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน’ หรือเปล่า ถ้าใช่ แล้วถ้าผมทำทุกอย่างที่กล่าวมาแต่ผมดื่มเหล้า อย่างนี้ยังถือว่าผมเป็นคนดีหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่ผมอาจคิดต่างไป ดังนั้นสำหรับผม ความดีจึงเป็นเรื่องปัจเจก คำถามที่ว่าความดีคืออะไรจึงเป็นคำถามปลายเปิด มันเป็นคำถามที่เป็นเหมือนโถปากกว้างๆ ให้ทุกคนได้มีโอกาสใส่คำตอบในมุมตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีคำพูดที่แปลกๆ เพี้ยนๆ ขึ้นมาก็ได้ แต่ผมก็เชื่อว่าถ้าเป็นคำถามที่ดี ระบบสังคมในโถจะค่อยๆ คัดกรองสิ่งเหล่านี้ออกไปเอง

เช่น บางคนอาจนิยามคนดีว่าคือคนที่คร่าชีวิตคนอื่นเพื่อปกป้องอะไรบางอย่าง สมมติวันหนึ่งผมคร่าชีวิตคนเพื่อปกป้องความเชื่อผม ผมก็จะเป็นคนดีในสายตาเขา แต่เชื่อเถอะว่าถ้าสร้างบรรยากาศให้คนถกเถียงกันได้ สิ่งนี้ก็จะถูกตั้งคำถามเองว่าการฆ่าคนมันจะไปเป็นคนดีได้ยังไง สังคมจะประเมินสิ่งนี้พร้อมกับการได้มุมมองและทัศนคติใหม่ๆ มากมาย 

 

บางคนอาจแย้งว่าการถกเถียงอาจนำไปสู่ความวุ่นวายได้หรือเปล่า

ผมก็จะตอบคนเหล่านั้นว่าเรามีเครื่องมือจัดการความวุ่นวายที่ว่าแล้วนะ เช่น กฎหมายหรือข้อตกลงในสังคม ตราบใดที่เครื่องมือสามารถตรวจสอบได้และเป็นที่ยอมรับ ผมก็ยังเชื่อว่าทุกความเห็นควรได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน แม้เป็นความเห็นของคนคนเดียวก็ควรถูกให้คุณค่าในระดับเดียวกัน ทุกคนควรมีโอกาสได้อธิบาย จะมาบอกว่ากระบวนการรับฟังทำให้ช้าหรือวุ่นวายไม่ได้ ผมมองว่านั่นไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่รับฟังความเห็นคนอื่น

 

ถ้าอย่างนั้นคุณรู้สึกยังไงเวลาลงคลิปแล้วมีคนเห็นต่าง

ผมชอบมาก (ตอบทันที) ตราบใดที่อยู่บนเหตุผลและความเคารพกันผมยินดีมาก เพราะมันช่วยเปิดพื้นที่ให้เราได้คุย ถกเถียง และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น

ในมุมมองคุณ นอกจากการเปิดใจพูดคุยถกเถียง ทำไมคนเราควรเรียนรู้เรื่องราวในอดีตอย่างคดีฆาตกรรมหรือเรื่องลี้ลับด้วย

(นิ่งคิดนาน) ถ้ามองกันดีๆ ผมว่าแก่นใหญ่ของเรื่องราวเหล่านี้มันใกล้เคียงกับเราทั้งนั้น ตั้งแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพไปจนถึงความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นผมว่าเราควรสนใจนะ ผมยกตัวอย่างกว้างๆ เช่นเรื่องการเสียชีวิตของทหารชั้นผู้น้อยในค่ายทหารก็ได้

ถ้าสมมติผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่า บางคนอาจคิดว่าฉันไม่ใช่ทหารเกณฑ์ ฉันไม่จำเป็นต้องฟังก็ได้ หรือบางคนที่เป็นผู้หญิงก็อาจคิดว่าฉันไม่มีโอกาสได้อยู่ตรงนั้นหรอก ฉันไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ (เน้นเสียง) เราไม่มีวันรู้หรอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับทหารชั้นผู้น้อยเหล่านั้นจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเราไหม ถึงเราไม่มีทางโดนโดยตรงแต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่เรารักหรือเปล่า ดังนั้นในเมื่อเห็นกันอยู่ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นวงจร ทำไมเราจะไม่สนใจและพยายามหยุดมันล่ะ อย่างผมเองก็ไม่ชัวร์ว่าวันหนึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับผมหรือคนที่ผมรักหรือเปล่า ผมกลัวว่าวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นกับลูกผมก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมทำได้คือพยายามหยุดระบอบนี้ ผมจะออกมาพูดว่ามันคือสิ่งที่ผิดและไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายเรื่อง จริงๆ แล้วเรื่องราวในอดีตที่มาจากความอยุติธรรมของรัฐยังมีอีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นการปราบปรามทางการเมืองของไทยในหลายๆ ครั้งที่มักจบด้วยความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการอุ้มหาย ระบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งยังไม่มีใครควรถูกฆ่าตายเพราะการพูดวิจารณ์ ดังนั้นในมุมมองผม ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เราควรกลับไปศึกษาหรือเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

 

แต่ถ้ายึดตามที่คุณบอก รัฐก็มักทำตรงกันข้ามโดยการปิดบังหรือบิดเบือนประวัติศาสตร์อยู่เสมอ คุณคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้

มันมีประโยคหนึ่งในหนังสือ 1984 ที่บอกว่า ‘ผู้ใดควบคุมปัจจุบัน ผู้นั้นควบคุมประวัติศาสตร์ ผู้ใดควบคุมประวัติศาสตร์ ผู้นั้นบงการอนาคต’ ผมรู้สึกว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยก็เป็นแบบนั้น เราถูกสอนให้ท่องจำ และที่สำคัญคือเราถูกสอนโดยการฟังความข้างเดียว ทำให้ไม่เกิดการถกเถียงหรือตั้งคำถาม แต่อะไรเหล่านั้นก็กำลังเกิดการปะทะอย่างรุนแรงกับการมาถึงของยุคสมัย

ปัจจุบันเทคโนโลยีนำพาชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์เข้ามามากมาย คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ดังนั้นผมว่าสิ่งสำคัญตอนนี้คือรัฐควรเปิดเผยทุกข้อมูลที่เคยปิดบังหรือบิดเบือนออกมาได้แล้ว คุณต้องเปิดให้คนเข้ามาศึกษา เรียนรู้และถกเถียง ผมรู้นะว่ารัฐไม่ชอบให้ประชาชนรู้เยอะหรอก เขาคงอยากปกครองทุกอย่างได้ตามต้องการ แต่ท้ายที่สุดมันก็ย้อนไปที่คำถามว่ารัฐอยากให้ครรลองสังคมเป็นไปในรูปแบบไหน 

The Common Thread

ด้วยมุมมองแบบนี้ คุณคิดเห็นยังไงกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน

(นิ่งคิด) ผมเท้าความอย่างนี้ บ้านเกิดผมอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ดังนั้นช่วงปี 2553 ผมจึงถูกตีตราว่าเป็นลูกหลานคนเสื้อแดง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ ผมแค่เป็นคนหนึ่งที่ศรัทธาในประชาธิปไตย และไม่อยากให้อำนาจถูกนำไปยัดไว้ในมือคนๆ เดียว ดังนั้นตอนที่เกิดรัฐประหาร ผมจึงไม่เห็นด้วยเลย

ผมไม่ได้เกลียดประยุทธ์ แต่ผมเกลียดระบอบนี้ การรัฐประหารคือการล้มระบอบและสิทธิทั้งหมดลงไปเพื่อให้คนกลุ่มเดียวที่มีปืนมากำหนดเรา ผมไม่ศรัทธาในวิธีการนี้เพราะผมได้ศึกษาและรับรู้มาแล้วจากยุคสฤษดิ์ ตอนนั้นมีการคอรัปชั่นกว่า 4,000 ล้านทั้งที่ทองคำบาทละ 400 บาท เขาใช้อิทธิพลมืดมากมาย ผมกลัวสิ่งเหล่านี้เพราะมันไม่มีอะไรการันตีเลยว่าวันหนึ่งจะเกิดขึ้นกับผมหรือเปล่า 

ยกตัวอย่างเช่นถ้าวันหนึ่งผมขับรถไปบนท้องถนนแล้วโดนรถของลูกนายพลคนหนึ่งปาดหน้า ผมคงตอบสนองโดยการบีบแตรไปทีหนึ่ง แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเขาเดินลงมายิงผมตายล่ะ มันจบเลยนะ ซึ่งสิ่งที่ผมพูดนี่ไม่ได้ไกลตัวเลย ระบอบเผด็จการทำให้สังคมบิดเบี้ยวมาก และนี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากให้สังคมได้ตระหนักรู้

 

แล้วอย่างกรณีนี้ ถ้ามีสักคนเข้ามาบอกคุณว่าเขาเห็นต่าง เขาศรัทธาในระบอบเผด็จการ คุณจะโอเคไหม

(พยักหน้า) ไม่ว่าเราจะคิดเหมือนกันหรือไม่ สุดท้ายผมเชื่อว่าเรายังเป็นคนเหมือนกัน เราถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลและความเคารพ แต่อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้เราเข้าใจตรงกันคือ ในสถานการณ์ตอนนี้ที่มันเกิดความขัดแย้ง ศัตรูที่แท้จริงของเราคือรัฐเผด็จการต่างหาก

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราห้ำหั่นกันเอง หลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ที่รัฐเข้ามาจัดการ บางคนอาจมีความสุขกับความสงบนั้น แต่คุณรู้ไหมว่าความสงบนี้แลกมากับอะไรบ้าง รู้ตัวอีกทีอำนาจก็ไม่ได้อยู่ในมือเราแล้ว ดังนั้นโปรดจงเห็นเถอะว่าศัตรูที่แท้จริงของเราคือรัฐเผด็จการ ไม่ใช่คนที่คิดต่าง ผมยืนยันอีกครั้งว่าเราเห็นต่างกันได้ ถกเถียงกันได้ แต่เราอย่าปล่อยให้ตัวเองมองฝ่ายตรงข้ามว่าไม่ใช่คนเลย อย่าไปแปะป้ายใครมากเกินว่าเป็นพวกชังชาติหรือสลิ่มจนลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขา เพราะถ้าเราเผลอเป็นแบบนั้นเมื่อไหร่ นั่นคือความน่ากลัวที่แท้จริง อย่าคิดว่าการฆ่าเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือเรื่องจำเป็น มันไม่ใช่ อย่าทำร้ายกันเลย โปรดจงมีสติรู้เถอะว่าคนที่เล่นเกมนี้คือรัฐ ซึ่งถ้าทุกคนรู้ได้ ผมก็เชื่อว่าเกมนี้จะพัง วงจรนี้จะชะงัก และหลังจากนั้นสังคมจะขยับได้เร็วขึ้นมาก

คุณมีเพื่อนในโซเชียลมีเดียที่คิดต่างทางการเมืองบ้างไหม

มีๆ ผมไม่ลบเพราะผมอยากให้เขายังอยู่ในพื้นที่ของผม ผมจะได้เล่าให้เขาฟังว่าผมมีความคิดแบบนี้ และผมก็อยากฟังว่าเขามีความคิดยังไงด้วย เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้อยู่ร่วมกันได้

 

คุณมีวิธีสื่อสารกับคนเห็นต่างยังไง

ผมคิดว่าเราต้องหาวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมให้เจอ 

ยกตัวอย่างเช่นความขัดแย้งในหลายครอบครัวตอนนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในหลายครอบครัวเขารับสารด้านเดียวมาทั้งชีวิต ไม่แปลกที่เขาจะเชื่อมั่นในค่านิยมเก่าๆ มันจึงยากมากถ้าเราอยากสื่อสารกับเขา ดังนั้นทางแก้ในมุมผมคือเราอาจต้องไปหาที่ต้นเหตุว่าปัจจุบันเขาฟังอะไร จุดไหนที่เขาอาจจะคลิก หาให้เจอแก่นแล้วค่อยหาวิธีว่าจะพูดยังไง ค่อยๆ ปรับจูนกัน 

(เงียบคิดนานมาก) แต่ผมก็เข้าใจนะว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ผมก็มีประสบการณ์ตรงนั้น ความเชื่อและความศรัทธาของผู้ใหญ่หลายคนก็แข็งแรงมากๆ ไม่ว่าเราหยิบอะไรขึ้นมา เขาก็พร้อมที่จะบอกว่าเราโดนล้างสมอง ซึ่งผมเสียใจทุกครั้งเลยเวลาได้ยินอะไรแบบนี้

ผมอยากให้ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจว่าการที่คุณเลี้ยงลูกมาได้ฉลาดขนาดนี้ คุณเลี้ยงลูกเก่งแล้ว ดังนั้นลองฟังดูสักหน่อยเถอะว่าลูกคุณถูกล้างสมองมาจริงหรือเปล่า ลองใช้วิจารณญาณสักหน่อย ลองดูมิติอื่นๆ ของเขาด้วย ลองเปิดใจและมองลูกคุณให้เป็นคน อย่าผลักเขาออกไปเลย ฝ่ายลูกเองก็เช่นกัน อย่าให้ความรุนแรงเหล่านี้มาทำอะไรคุณได้ ศัตรูที่แท้จริงคือรัฐ ไม่ใช่คุณป้าหรือคุณยายที่คุณอาจลุกให้เขานั่งในวันที่ไม่ได้ใส่เสื้อเหลืองบนรถไฟฟ้า

 

สุดท้าย ในตอนนี้มีเรื่องไหนที่คุณอยากใช้พื้นที่ของตัวเองสื่อสารอีกไหม

ผมมีเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จคือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สิ่งที่ผมอยากเล่าไม่ใช่เหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์ สิ่งนั้นสามารถหาอ่านได้อยู่แล้ว แต่ผมอยากเล่าถึงเหตุการณ์นี้ผ่านมุมมองทางจิตวิทยาว่าคนที่ฆ่ากันในตอนนั้นเขามีที่มาของแนวคิดยังไง ทำไมเขาถึงเห็นคนไม่เป็นคนแบบนั้น ประกอบกับความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อสื่อสารและเสริมภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยเห็นว่าโศกนาฏกรรมทั้งหมดทั้งมวลนี้ถูกสร้างโดยรัฐทั้งนั้น หมากทุกหมากถูกวางโดยรัฐ ผมอยากให้คนฟังตระหนักรู้ตรงจุดนี้ไม่ว่าคุณจะมีความคิดหรืออุดมการณ์แบบใด เพื่อที่สุดท้ายคุณจะได้เข้าใจว่าเราต่างเป็นคน ไม่มีใครสมควรตาย ซึ่งถ้าเราไปสู่จุดนั้นได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากจริงๆ

The Common Thread

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย