ชีวิต ความคิด และบทสนทนากับ Ai Weiwei ศิลปินจีนผู้ท้าทายอำนาจรัฐจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

Highlights

  • Ai Weiwei คือศิลปินจีนผู้ทำงานศิลปะวิจารณ์อำนาจรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ตั้งแต่การโยนแจกันโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นลงพื้น ด่าแผ่นดินเกิดว่า "Fuck You Motherland." ไปจนถึงวีรกรรมเปิดโปงการทุจริตครั้งใหญ่ของข้าราชการที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมของเด็กๆ กว่า 5,000 คน
  • การท้าทายอย่างไม่หยุดหย่อนทำเอารัฐบาลจีนหมายหัวจะเล่นงานอ้าย เว่ยเว่ย ทั้งการส่งคนมาติดตามสอดแนม จับคุมขัง และที่ร้ายที่สุดคือครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายจนเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องผ่าตัดสมอง
  • ในช่วงสิ้นปี 2563 นี้ ผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย ได้รับการจัดแสดงในกรุงเทพฯ ถึง 2 นิทรรศการพร้อมกัน และแม้ศิลปินเจ้าของงานจะบินมาไม่ได้แต่เขาก็ให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอลกับสื่อไทย ซึ่งบางส่วนของบทสนทนาถูกบันทึกไว้ในบทความนี้

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะได้เห็นงานศิลปะของศิลปินระดับโลกจัดแสดงในไทยพร้อมกันถึงสองนิทรรศการ

แต่ในเดือนนี้ ศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งอย่าง Ai Weiwei มีผลงานมาจัดแสดงในประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ถึงสองนิทรรศการ หนึ่งคือเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2020 อีกหนึ่งคือนิทรรศการแสดงเดี่ยว Year of the Rat ที่ Tang Contemporary Art

อ้าย เว่ยเว่ย เป็นประติมากร, ศิลปินสื่อผสม, ศิลปะจัดวาง, ศิลปินภาพถ่าย และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลก ในอีกด้านเขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ได้ชื่อว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนด้านสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยได้อย่างแสบสันที่สุดคนหนึ่ง

ai weiwei

ภาพจาก bkkartbiennale.com

แม้อ้าย เว่ยเว่ย ตัวจริงจะไม่อาจเดินทางมาร่วมงานได้เพราะโควิด-19 แต่เขายังให้สัมภาษณ์แบบเอกซ์คลูซีฟกับสื่อไทยผ่าน virtual talk ส่งตรงจากเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในงานเปิดตัวนิทรรศการ Year of the Rat เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

เพียงเปิดกล้องมา ก่อนเอ่ยคำทักทายเขาก็ชู 3 นิ้วผ่านกล้องให้เราทันที ยืนยันถึงจิตวิญญาณเสรีและการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่ได้ทำเพื่อแค่พี่น้องร่วมประเทศจีน แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงผู้คนอื่นๆ ในโลกที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

และต่อจากนี้คือถ้อยคำและเรื่องราวของศิลปินผู้ยืนหยัดท้าทายอำนาจรัฐมาตลอดชีวิต

 

Fuck You Motherland

อ้าย เว่ยเว่ย เกิดในครอบครัวที่พ่อและแม่ต่างเป็นกวี พ่อของเขา–Ai Qing คือหนึ่งในกวีเอกของจีนผู้โด่งดัง เป็นที่รู้จักจากบทกวีวิพากษ์วิจารณ์สังคม ในยุคสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐบาลเหมา เจ๋อตง ออกนโยบายต่อต้านทุนนิยมขวาจัดจนเหล่าศิลปิน นักคิด และปัญญาชนต่างโดนจับกุมกันถ้วนหน้า รวมไปถึงครอบครัวของนักคิดนักเขียนด้วย

นโยบายนี้ทำให้อ้าย ชิง ถูกลงโทษและเนรเทศไปเป็นกรรมกรในค่ายกักกันในซินเจียง อ้าย เว่ยเว่ย เองต้องอยู่ที่ค่ายกักกันกับพ่อถึง 16 ปี เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความคิดและตัวตนของเขาเป็นอย่างมาก

อ้าย เว่ยเว่ย จบการศึกษาจากสถาบันภาพยนตร์ปักกิ่ง และเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเขาก็ย้ายไปศึกษาต่อที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบเขาใช้แรงบันดาลใจจากศิลปินคนโปรด Marcel Duchamp ทำผลงานศิลปะด้วยการปะติดปะต่อวัสดุและข้าวของที่พบเห็นในชีวิตประจำวันอย่างไม้แขวนเสื้อ เมล็ดทานตะวัน รองเท้า เสื้อกันฝน ถุงยางอนามัย ฯลฯ ผลงานชุดนี้ไปเตะตาภัณฑารักษ์และนักสะสมงานศิลปะในนิวยอร์ก จนทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา

แต่หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ประกอบกับอาการป่วยของพ่อ เขาจึงตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองจีนถาวร ก่อนจะพบว่ายิ่งอยู่ในสภาวะที่กดทับเสรีภาพมากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งอยากแสดงออกมากเท่านั้น เขาจึงเริ่มทำงานศิลปะที่มีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองจีนมากขึ้น

ai weiwei

Dropping a Han Dynasty Urn (1995) งานที่อ้าย เว่ยเว่ย โยนแจกันโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นลงพื้นจนแตกละเอียดเป็นผุยผง เขาได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทางการจีนทุบทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ และไล่ล่าเหล่าปัญญาชน ศิลปิน และนักคิดมาลงโทษและทรมานอย่างโหดร้าย | ภาพจาก publicdelivery.org

อย่างที่รู้กันดี การท้าทายอำนาจรัฐไม่เคยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้าย เว่ยเว่ย วิพากษ์วิจารณ์รัฐในทุกช่องทางไม่ว่าจะผ่านงานศิลปะหรือการฉะตรงๆ อย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจใครหน้าไหนทั้งนั้น

เหตุการณ์หนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกคือในปี 2008 ทางการจีนไล่รื้อชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในปักกิ่งเพื่อสร้างภูมิทัศน์สะอาดตาสำหรับการจัดกีฬาโอลิมปิก ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นอ้าย เว่ยเว่ย มีตำแหน่งเป็นถึงที่ปรึกษาด้านการออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง (หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่าสนามกีฬารังนก) ร่วมกับสถาปนิกชื่อก้องโลกอย่าง Herzog & de Meuron แต่เขากลับให้สัมภาษณ์​กับสื่อต่างชาติเพื่อวิพากษ์รัฐบาลจีนอย่างรุนแรงจนถูกทางการหมายหัว

หรือเมื่ออาคารของโรงเรียนอนุบาลในมณฑลเสฉวนพังทลายลงมาอย่างง่ายดายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2008 จนทำให้เด็กอนุบาลกว่า 5,000 คนเสียชีวิต เขาก็ลงมือสืบค้นความจริงอย่างกัดไม่ปล่อยและเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านบล็อกและทวิตเตอร์อย่างไม่ขาดสายจนมีคนเข้าชมถล่มทลาย นอกจากนั้นเขายังทำงาน Remembering (2009) ซึ่งนำกระเป๋าเป้ที่จำลองจากกระเป๋าของนักเรียนอนุบาลที่เสียชีวิตมาติดบนอาคาร เรียงร้อยเป็นตัวอักษรจีนได้ความว่า ‘เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขเป็นเวลาเจ็ดปีบนโลกใบนี้’ ซึ่งเป็นคำพูดของหนึ่งในพ่อแม่เด็กที่เสียชีวิต

ai weiwei

Remembering (2009) ภาพจาก khanacademy.org

การเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้เขาถูกทางการจีนตามเล่นงานด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทั้งติดกล้องวงจรปิดไว้หน้าบ้านของเขา ส่งคนมาตามสอดแนม ปิดเว็บไซต์ที่เขาใช้สื่อสาร ไปจนถึงส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำร้ายจนเขาต้องผ่าตัดสมอง

“มีคนบอกว่าผมเป็นศิลปินนักทําลายความศักดิ์สิทธิ์ที่โจมตีความเชื่อและสถาบัน ผมเห็นด้วยกับนิยามนี้นะ พิสูจน์ได้จากรูสองรูบนกะโหลกผม ผมเคยผ่าตัดเลือดคั่งในสมองจากการทําร้ายของเจ้าหน้าที่ทางการ นั่นน่าจะเป็นหลักฐานที่ดี” เขาบอกในการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล

ถึงจะโดนไล่ล่าจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดเขาก็ไม่ยอมหยุดและโต้ตอบกลับด้วยท่าทีที่ร้อนแรงกว่า วิธีการหนึ่งคือการทำงานศิลปะด้วยการถ่ายรูปตัวเองชูนิ้วกลางให้จัตุรัสเทียนอันเหมินในผลงาน Study of Perspective – Tiananmen Square (1995-2003) พร้อมกับอัดวิดีโอตัวเองและอาสาสมัครมาร่วมกันกล่าวคำว่า “Fuck You Motherland.” โพสต์ลงยูทูบ

“ผมถูกปฏิเสธจากแผ่นดินแม่ตั้งแต่เกิด พ่อของผมเป็นกวีแต่กลับถูกเนรเทศ ถ้าแผ่นดินแม่ของคุณเป็นอันตรายต่อชีวิตแทนที่จะปกป้องหรือให้ความปลอดภัย เราจะเรียกสถานที่นั้นว่าบ้านได้ยังไง”

Study of Perspective – Tiananmen Square (1995-2003) ภาพจาก moma.org

Ai Weiwei

S.A.C.R.E.D. (2013) ผลงานหุ่นจำลองจากช่วงเวลาที่เขาถูกรัฐบาลจีนคุมขัง | ภาพจาก lissongallery.com

 

Law of the Journey

การเคลื่อนไหวของอ้าย เว่ยเว่ย ไม่ได้ทำเพื่อเพื่อนร่วมชาติแต่ยังเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนร่วมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เขาไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลกและใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือรณรงค์และนําเสนอสถานการณ์อันยากลําบากของเหล่าผู้ลี้ภัยให้ชาวโลกได้รับรู้

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้ทํางานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัย ผู้คนจํานวนมหาศาลถูกผลักไสออกจากบ้านของตัวเองด้วยอันตรายจากไฟสงคราม ระเบิด และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ น่าเศร้าที่ปัจจุบันในโลกนี้มีคนจํานวน 80 ล้านคนต้องลี้ภัยอย่างไร้ความหวัง หลายคนเกิดในพื้นที่ไร้รัฐและไม่มีที่ไป”

อ้าย เว่ยเว่ย ใช้เวลานับปีในกว่า 23 ประเทศบันทึกภาพและเรื่องราวชีวิตของเหล่าผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งทั่วโลก ทั้งอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ฝรั่งเศส กรีซ เยอรมัน อิรัก อิสราเอล อิตาลี เคนยา เม็กซิโก ตุรกี ฯลฯ และถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสารคดีชื่อ Human Flow (2017)

นอกจากนี้เขายังสร้างผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยออกมาอีกหลายชิ้น ในจํานวนนั้นคือ Law of the Journey (2016) ผลงานที่เขานําเสนอใน Bangkok Art Biennale 2020 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

Ai Weiwei

Law of the Journey (2016) ภาพจาก BAB, Courtesy Ai Weiwei Studio ภาพโดยปรีชา ภัทรอมรชัย

ผลงานชิ้นนี้เป็นประติมากรรมจัดวางรูปแพยางชูชีพสีดําขนาดยักษ์ความยาว 16 เมตร บนแพยางมีหุ่นเป่าลมรูปคนไร้ใบหน้านับสิบคนในเสื้อชูชีพ เสมือนเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่สำคัญงานทั้งชิ้นทํามาจากพลาสติกพีวีซีที่ผลิตโดยโรงงานในประเทศจีน เป็นที่เดียวกับที่ผลิตแพชูชีพที่ผู้ลี้ภัยนับพันชีวิตใช้ในการพยายามล่องข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเสาะหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

นอกจากแพยาง ในงานนี้ยังมีวิดีโอจัดวาง At Sea (2016), Floating (2016), On the Boat (2016), Idomeni (2016) และ Calais (2018) ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในสถานการณ์ต่างๆ และ Idomeni (2017) ชุดภาพถ่ายผู้ลี้ภัยจํานวน 1,026 รูป ที่อ้าย เว่ยเว่ย ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือในช่วงที่ถ่ายทําสารคดี Human Flow ภาพถ่ายทั้งหมดถูกนำมาติดเป็นวอลเปเปอร์ขนาดมหึมาเต็มผนังฝั่งหนึ่งของห้องแสดงงานจนดูคล้ายกับภาพโมเสกแสดงเส้นทางการเดินทางของเขาไปยังค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลก

อีกฝั่งหนึ่งของห้อง เขานำเสนอ Odyssey (2016) ผลงานกราฟิกที่ได้แรงบันดาลใจจากงานแกะสลักเครื่องปั้นดินเผาและภาพวาดฝาผนังของกรีกและอียิปต์โบราณ หากแต่ใส่ประเด็นความขัดแย้งร่วมสมัยและเรื่องราววิกฤตของผู้ลี้ภัย เช่น สงคราม ความล่มสลาย การร่อนเร่ข้ามน้ำข้ามทะเล ค่ายผู้ลี้ภัย และอื่นๆ ลงไป

Idomeni (2017) ภาพจาก BAB, Courtesy Ai Weiwei Studio ภาพโดยปรีชา ภัทรอมรชัย

Odyssey (2016) ภาพจาก BAB, Courtesy Ai Weiwei Studio ภาพโดยปรีชา ภัทรอมรชัย

 

Year of the Rat

ผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย มักเป็นส่วนผสมของประเด็นทางสังคมการเมืองจีนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังเช่นผลงานที่เขาแสดงในนิทรรศการแสดงเดี่ยว Year of the Rat ณ Tang Contemporary Art

ผลงานเด่นของนิทรรศการนี้คือ Zodiac (2019) ภาพหัวสัตว์ 12 หัว ตัวแทน 12 ปีนักษัตรจีนที่ประกอบขึ้นจากตัวต่อเลโก้สีสันสดใส เขาได้แรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมสําริดรูปหัว 12 นักษัตร ผลงานของสถาปนิกนิกายเยซูอิตชาวอิตาเลียน Giuseppe Castiglione ที่เคยประดับอยู่บนนาฬิกาน้ำในพระราชวังหยวนหมิงหยวน (พระราชวังฤดูร้อนเดิม) ในสมัยราชวงศ์ชิง

Zodiac (2019) ภาพจาก Tang Contemporary Art

นาฬิกาน้ำเรือนนี้เป็นสมบัติล้ำค่าของจีนที่หายสาบสูญไปหลังจากกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสเผาทําลายและปล้นสะดมพระราชวังฤดูร้อนในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อปี 1860 ประติมากรรม 12 นักษัตรจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปยศของชนชาติจีนตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันทางการจีนพยายามนำหัว 12 นักษัตรบางส่วนกลับมายังปักกิ่งเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีและความภูมิใจของชนชาติ

ในขณะที่คนจีนจำนวนมากมองว่าประติมากรรม 12 นักษัตรคือความภาคภูมิใจของชนชาติ อ้าย เว่ยเว่ย กลับมองว่าเหตุใดประติมากรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยชาวอิตาเลียน เพื่อประดับพระราชวังของจักรพรรดิแมนจู (ที่ชาวจีนมองว่าเป็นคนเถื่อนต่างชาติ) และเป็นมรดกของระบอบศักดินาที่คอมมิวนิสต์จีนเคยเกลียดชัง กลับกลายเป็นสัญลักษณ์และความภูมิใจของชนชาติจีนไปได้

นอกจากภาพที่ทำจากเลโก้ เขายังจําลองประติมากรรมสําริดรูปหัว 12 นักษัตรเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ เป็นผลงานประติมากรรมสาธารณะชุด Circle of Animals / Zodiac Heads (2011) และจัดแสดงกว่า 40 เมืองในประเทศโลกตะวันตกเพื่อล้อเลียน เสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์และศักดิ์ศรีของชาติที่เพิ่งสร้างใหม่ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน

Circle of Animals / Zodiac Heads (2011) ภาพจาก itsrudetostare.com

ในนิทรรศการ Year of the Rat ยังมีผลงานที่ทําจากเลโก้อีกสองชิ้น หนึ่งคือ The Defacing Marks of Colored Pigment Thrown onto Mao Zedong’s Portrait in May 1989, Tiananmen Square (2019) ภาพตัวต่อเลโก้สีขาวมีคราบสีเลอะเป็นด่างดวงซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ที่ผู้ประท้วงปาไข่ไก่ผสมสีใส่ภาพของเหมา เจ๋อตง

ผลงานอีกชิ้นคือ The Navigation Route of the Sea Watch 3 Migrant Rescue Vessel, June 2019 (2019) ภาพตัวต่อเลโก้ประกอบกันเป็นพื้นสีฟ้า มีเส้นสีดํายุ่งเหยิงแทนเส้นทางของเรือกู้ภัย Sea-Watch 3 ที่บรรทุกผู้อพยพชาวลิเบีย 40 คนล่องในทะเลนานกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากรัฐบาลอิตาลีสั่งปิดน่านน้ำไม่ให้ช่วยเหลือเรือผู้อพยพในเดือนมิถุนายน ปี 2019

The Defacing Marks of Colored Pigment Thrown onto Mao Zedong’s Portrait in May 1989, Tiananmen Square (2019) ภาพจาก Tang Contemporary Art

อ้าย เว่ยเว่ย ใช้ตัวต่อเลโก้ในการทํางานศิลปะเป็นครั้งแรกในปี 2014 กับผลงาน Trace ที่จัดแสดงในนิทรรศการ @Large: Ai Weiwei on Alcatraz ที่อัลคาทราซ อดีตคุกที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ครั้งนั้นเขาใช้ตัวต่อเลโก้ต่อเป็นภาพผู้ต้องหาทางการเมืองจำนวน 176 คนจากทั่วโลกที่โดนคุมขังหรือจำต้องพลัดถิ่นฐานเพียงเพราะมีความคิดและความเชื่อทางการเมืองขัดกับรัฐ อ้าย เว่ยเว่ย เรียกขานพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็น ‘วีรบุรุษแห่งยุคสมัยของเรา’

และที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือหนึ่งในวีรบุรุษเหล่านั้นปรากฏภาพของ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ อดีตนักโทษการเมืองชาวไทยผู้ถูกคุมขังเป็นเวลา 7 ปีเต็มจากข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย

Ai Weiwei

Trace: somyot (2014) ภาพจาก for-site.org

อ้าย เว่ยเว่ย ยังใช้ตัวต่อเลโก้ทํางานศิลปะในประเด็นทางการเมืองอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งต่อเป็นภาพนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของออสเตรเลียในผลงาน Letgo Room (2015) และภาพนักเรียนชาวเม็กซิกันจํานวน 43 คนที่ถูกลักพาตัวและ (คาดว่า) ถูกสังหารหมู่ในปี 2014 ในผลงาน Resetting Memories (2019)

สำหรับอ้าย เว่ยเว่ย เลโก้เป็นมากกว่าของเล่นเด็กมากนัก

“ผมมักจะใช้สื่อใหม่ๆ เพื่อแสดงออกถึงรูปแบบหรือภาษาใหม่ๆ สําหรับผมเลโก้ถือเป็นสื่อชนิดหนึ่ง มันมีความสวยงาม สีสันสดใสชัดเจน และเมื่อต่อเลโก้เป็นสิ่งต่างๆ คนอื่นก็สามารถทําตามออกมาได้เหมือนกันเป๊ะๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจมาก”

ก่อนหน้านี้ในปี 2015 เคยมีเหตุการณ์ดราม่าเกี่ยวกับเลโก้เมื่ออ้าย เว่ยเว่ย ติดต่อซื้อเลโก้จากบริษัทแม่ที่เดนมาร์กแต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าผลงานของเขาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หลังจากข่าวนี้แพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย (ด้วยฝีมือของพี่อ้ายเอง) ก็ทําให้เกิดกระแส #legosforweiwei ขึ้น ผู้คนจากทั่วโลกบริจาคตัวต่อเลโก้ให้เขาเป็นจํานวนมาก ภายหลังผู้บริหารเลโก้จึงต้องออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์นี้และเปลี่ยนนโยบายบริษัทว่าจะไม่มีการสอบถามเหตุผลในการสั่งซื้อเลโก้ในจํานวนมากอีกต่อไป

Letgo Room (2015) © Ai Weiwei Studio

ในนิทรรศการ Year of the Rat ยังมีผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย อีกหลายชิ้นอย่างประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนเป็นรูปสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์แทนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในบทสัมภาษณ์เขากล่าวถึงเหตุผลในการนําวัสดุสูงค่าอย่างหินอ่อนมาทําสิ่งของธรรมดาสามัญในชีวิตประจําวันเหล่านี้ว่า

“ในยุคโบราณอย่างยุคกรีกหรือโรมัน หินอ่อนถูกใช้ทําอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และถูกคาดหวังว่าจะอยู่คงทนถาวรตลอดกาล แต่ที่น่าสนใจกว่าสําหรับผมคือการจดจําสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา

“ผมพยายามที่จะหาภาษาที่จะอธิบายถึงภาพรวมของวิถีชีวิตในยุคสมัยใหม่และสถานการณ์ของมนุษย์ในปัจจุบัน ผมจึงใช้วัสดุที่เคยสร้างสิ่งที่คงทนถาวรอย่างหินอ่อนมาสร้างวัตถุที่เป็นตัวแทนของสถานการณ์อันไม่แน่นอนในปัจจุบันซึ่งเป็นอะไรที่ยอกย้อนเอามากๆ”

Marble Helmet (2015) ภาพจาก Tang Contemporary Art

แนวคิดเช่นนี้ปรากฏในผลงาน Revolt (2019) และ Shelter (2014) ประติมากรรมหินอ่อนรูปกรวยจราจรและร่ม อันเป็นวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในฮ่องกงปี 2014 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ขบวนการร่ม’ (The Umbrella Movement) ซึ่งผู้ประท้วงใช้ร่มและกรวยจราจรในการป้องกันแก๊สน้ำตาและสร้างสิ่งกีดขวาง

หรือ Marble Helmet (2015) ประติมากรรมหินอ่อนรูปหมวกนิรภัย สัญลักษณ์ของหน่วยกู้ภัยผู้ช่วยชีวิตผู้คนในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจีนปี 2008 อย่างขันแข็ง หมวกนี้ยังถูกใช้ในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงและเป็นอุปกรณ์ของหน่วยป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในสงครามซีเรียอีกด้วย

นอกจากร่ม กรวยจราจร และหมวกนิรภัย ศิลปินใหญ่ยังทำ Marble Takeout Container (2015) และ Marble Toilet Paper (2020) ประติมากรรมหินอ่อนรูปกล่องโฟมใส่อาหารกลับบ้านหรืออาหารเดลิเวอรี สัญลักษณ์ของชีวิตสมัยใหม่ และม้วนกระดาษชําระที่เป็นสัญลักษณ์และของมีค่าในช่วงโควิด-19

“โควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในโลกปัจจุบัน ผมทํางานหลายชิ้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ หนึ่งในนั้นคือหน้ากากอนามัยพิมพ์รูปผลงานของผมซึ่งขายทางอีเบย์และเรี่ยไรเงินได้ถึง 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ​ เพื่อมอบให้องค์กรที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 และองค์กรการกุศลเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่าง Doctors Without Borders, Human Rights Watch และ Refugees International โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ผมยังทํางานประติมากรรมชิ้นเล็กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแสดงอยู่ในนิทรรศการที่หอศิลป์ Tang Contemporary Art ครั้งนี้อีกด้วย

“ผมคิดว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมหาศาล มหาอํานาจของโลกต่างไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์ที่กําลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศผู้นําของโลกอย่างจีน สหรัฐฯ หรือประเทศในยุโรปต่างประสบกับความไม่มั่นคงอันใหญ่หลวงกันถ้วนหน้า ในฐานะปัจเจกชนและศิลปิน เรากําลังอาศัยอยู่ในห้วงเวลาที่เรามีโอกาสสะท้อนความคิด พยายามพิสูจน์ว่าเรามีชีวิตผ่านช่วงเวลาเช่นนี้ และถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ”

Marble Takeout Container (2015) ภาพจาก Tang Contemporary Art

งานสุดท้ายในนิทรรศการ Year of the Rat คือ Ring W and Ring M (2019) แหวนทองคําสองวงสลักสัญลักษณ์เกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะกรีกและอียิปต์โบราณ เปรียบเสมือนวัตถุพยานการทํางานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมาอย่างยาวนานของเขา 

อ้าย เว่ยเว่ย เล่าว่าผลงานชิ้นนี้มีความเชื่อมโยงกับงานชุดที่แสดงในเทศกาล Bangkok Art Biennale ซึ่งมีมิติทับซ้อนหลายชั้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนในหลายช่วงเวลา และยังเป็นการรวบรวมภาพของชะตากรรมมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาในประวัติศาสตร์เอาไว้ด้วยกัน

“ผมคิดว่าศิลปะมีบทบาทหน้าที่ตั้งแต่มนุษยชาติถือกำเนิดขึ้น ครั้นมนุษย์เริ่มต้นล่าสัตว์เป็นอาหารหรือเมื่อพบว่ามีสิ่งที่อยู่เหนือกว่าจินตนาการ มนุษย์ก็จะวาดรูปบางอย่างลงบนก้อนหิน แกะสลัก หรือทําเครื่องประดับมาสวมใส่ ศิลปะมักเชื่อมโยงความรู้สึกเกี่ยวกับความงามของเราหรือเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เราคิดได้ก้าวไกลกว่าความเป็นจริง หรือก็คือจินตนาการนั่นเอง

“ทุกวันนี้ศิลปะทําให้ชีวิตเราสมบูรณ์ มีความหมายมากขึ้น หรือบางครั้งศิลปะก็ทําเงินหรือทําให้เรามีอํานาจได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ศิลปะเป็นสิ่งสําคัญสําหรับหัวใจและจิตวิญญาณของเรา เป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์กับมนุษยชาติอย่างแท้จริง”

Ring W and Ring M (2019) ภาพจาก Tang Contemporary Art

นอกจากการชูสามนิ้วจะทำให้ได้รู้ว่าอ้าย เว่ยเว่ย ติดตามสถานการณ์ในเมืองไทยอยู่ เร็วๆ นี้เขายังเป็นหนึ่งในศิลปิน Bangkok Art Biennale ที่ลงชื่อในแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย รวมถึงเรียกร้องให้เทศกาลและหอศิลปกรุงเทพฯ แสดงจุดยืนต่อต้านความรุนแรงและยืนยันสิทธิของการชุมชุมอย่างสันติ

“ผมนับถือเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่ยืนหยัดต่อสู้ในช่วงเวลาที่ยากลําบากครั้งนี้จากใจจริง ช่วงเวลาอันยากลําบากเช่นนี้เป็นพลังที่ผลักดันให้โลกเราก้าวไปสู่สภาวะที่ดีกว่า ผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่ได้ทำเพียงเพราะแค่อยากประท้วง แต่พวกเขากําลังสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ประเทศของเขา

“โลกกําลังมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เราต้องเผชิญหน้ากับสายลมและพายุฝนร่วมกันอย่างไม่อาจหลีกหนีได้ เราทุกคนรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ประเทศไทย หรือที่ไหนๆ ในโลกผ่านโซเชียลมีเดียและการสื่อสารใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผลงานของผมโดยตรงและผมก็ยังคงค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้

“เราทุกคนกําลังอยู่บนเรือลําเดียวกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม”


ผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2020 จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ – 29 พฤศจิกายน 2020 เวลา 10:00-19:00 น. (เข้าชมฟรี)

นิทรรศการแสดงเดี่ยว Year of the Rat จัดแสดง ณ Tang Contemporary Art ชั้น 2 River City Bangkok ตั้งแต่วันนี้ – 10 ธันวาคม 2020 ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เข้าชมฟรี) 

ในช่วงนิทรรศการ Tang Contemporary Art ยังจัดฉายภาพยนตร์สารคดี Ai Weiwei: Never Sorry (2012) โดย Alison Klayman ที่นำเสนอตัวตน ชีวิต ความคิด และการทำงานของอ้าย เว่ยเว่ย อย่างใกล้ชิด ในวันที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 14:00 น. ณ River City Forum บัตรราคา 150 บาท จองบัตรได้ที่นี่


อ้างอิง

Ai Weiwei: So Sorry โดย Ai Weiwei และ Mark Siemons

At Large: Ai Weiwei on Alcatraz โดย David Spalding

Hanging Man: The Arrest of Ai Weiwei โดย Barnaby Martin

artasiapacific.com

artsy.net

forts 

instagram.com/aiww

majorcineplex.com

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Bangkok Art Biennale 2020 และ Tang Contemporary Art

AUTHOR