ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร : อดีตสาวนักช้อปที่กลับใจมาเป็นสาวแฟชั่นที่แฟร์ต่อโลก

Highlights

  • ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร’ คือนักช้อปสายแฟชั่นเจ้าของเพจ Famai Disorder เธอหลงใหลในแฟชั่นมาตั้งแต่วันที่พบว่าเสื้อผ้าแค่ไม่กี่ชิ้นสามารถเปลี่ยนเด็กหญิงหัวฟูที่ใครๆ เคยล้อให้กลายเป็นสาวติสท์ตามคำนิยามของชาวเน็ตได้
  • ความอินในเรื่องแฟชั่นแบบสุดๆ พาเธอไปรู้จักกับโลกอีกด้านของเสื้อผ้าสวยๆ ที่แลกมาด้วยแรงงานมนุษย์ที่ไม่เป็นธรรมและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล
  • และนี่คือบันทึกคำสารภาพของฟ้าใหม่ ตั้งแต่วันที่เธอยังเป็นเด็กหญิงนักช้อป จนถึงวันที่เธอกลายเป็นเจ้าของเพจแฟชั่นสุดยั่งยืนให้เราได้ศึกษา

ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร ไม่ใช่เด็กเรียนแฟชั่น แต่เธอก็หลงใหลมันมาตั้งแต่วันที่พบว่าเสื้อผ้าแค่ไม่กี่ชิ้นสามารถเปลี่ยนเด็กหญิงหัวฟูที่ใครๆ เคยล้อให้กลายเป็นสาวติสท์ตามคำนิยามของชาวเน็ต 

ความอินในเรื่องแฟชั่นแบบสุดๆ พาเธอไปรู้จักกับโลกอีกด้านของเสื้อผ้าสวยๆ ที่แลกมาด้วยแรงงานมนุษย์ที่ไม่เป็นธรรมและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล

ฟ้าใหม่ตัดสินใจเล่าเรื่องน่าสลดใจนี้ลงในเพจ Famai Disorder ที่หยิบจับเอาความไม่เหมือนใครในตัวเองมาพลิกให้เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์และเทคนิคการแต่งตัวสนุกๆ ถึงจะฟังดูเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่สิ่งที่เธอเล่าทั้งหมดกลับมีเป้าหมายคือการรู้จักตัวเอง รู้จักโลก และค่อยๆ สร้างนักช้อปที่มีพลังตระหนักรู้ถึงคุณค่าของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นก่อนตัดสินใจหยิบมันลงตะกร้า และเธอหวังว่าพลังเล็กๆ นี้จะกลายเป็นเสียงที่ดังพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นได้ไม่มากก็น้อยในอนาคต

และนี่คือคำสารภาพของฟ้าใหม่ ตั้งแต่วันที่เธอยังเป็นเด็กหญิงนักช้อป จนถึงวันที่เธอกลายเป็นเจ้าของเพจแฟชั่นสุดยั่งยืน

 

คำสารภาพที่ 1
“แฟชั่นเป็นเรื่องเดียวในชีวิตที่เป็นที่พึ่งให้เราได้”

“ตอน ม.ต้น เราถูกล้อเรื่องภาพลักษณ์ภายนอกเยอะมาก เราเป็นคนมีสะโพก มีสิว แถมยังใส่แว่น ผมหยิกฟู แต่งตัวถูกระเบียบ เพื่อนเลยชอบแซวว่าเราเป็นเด็กเนิร์ด แต่หนักกว่านั้นเขาบอกว่าเราเป็นเอ๋อ การที่อยู่ๆ มีคนมาบอกว่าเราน่าเกลียดนี่มันแย่มากเลยนะ ความมั่นใจเราลดลงแบบถล่มทลายมาก 

“แต่เรามีเพื่อนแถวบ้านคนหนึ่งที่มักจะบอกว่าเราใส่อะไรก็สวย เวลาได้กางเกงมาแล้วใส่ไม่ได้ เขาก็จะมาถามเราว่า ‘แกใส่ไหม แกใส่สวยนะ’ หรือเขาเอาโรลมาม้วนผมลูกเขาเพราะอยากให้ลูกผมหยิกเหมือนเรา จนเราเริ่มคิดว่าเราก็ไม่ได้น่าเกลียดในสายตาทุกคนนี่

“บ้านเรามีพี่น้องและญาติผู้หญิงเยอะ พอเขาโตเป็นสาวกันเราเลยได้เห็นการแต่งตัวที่หลากหลาย บางทีก็ได้เสื้อผ้าส่งต่อมาจากพี่ๆ เราเลยแต่งตัวแปลกกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน นั่นส่งผลให้เราเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น พอถ่ายรูปโพสต์ลงอินสตาแกรมคนก็มาคอมเมนต์ว่าเราแต่งตัวติสท์ เราก็ไม่แน่ใจหรอกว่าเราแต่งตัวเป็นไหม แต่พอมีฟีดแบ็กกลับมาก็น่าจะแปลว่าดีมั้ง เราเลยเริ่มจริงจังกับการแต่งตัว เสื้อผ้ามีความหมายกับเรามาก เพราะมันเป็นเกราะป้องกันเราจากการโดนตีตรา

“มันก็มีบางวันเหมือนกันนะที่เราแต่งตัวอะไรไม่รู้ กลับบ้านมาร้องไห้เลยก็มี แต่เราเชื่อว่าเราเรียนรู้ไปกับมันได้ พลาดแล้วไง ก็แต่งใหม่ดิ เรื่องแฟชั่นเลยเป็นเรื่องเดียวในชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ที่เป็นที่พึ่งให้เราได้”

คอนเซปต์ชุด : เลิกซื้อฟาสต์แฟชั่น แต่ไม่เลิกใส่

เสื้อและคอร์เซตต์ : Forever 21 ตอนลดราคากระหน่ำปิดสาขาสุดท้ายที่เซ็นทรัลเวิลด์ ตอนนั้นยังไม่รู้จักฟาสต์แฟชั่นเลยแต่ซื้อมาเพราะคุ้มดี

กางเกง : Zara ซื้อตอนรับจ๊อบทำสไตลิสต์ พอจบงานเลยเอามาใส่เอง

รองเท้า : มือสองที่ได้มาจากตลาดเวิ้งประตูเขียว วังหลัง

 

คำสารภาพที่ 2
“เราได้แต่โทษตัวเองว่าเราซื้ออะไรอยู่ เราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้”

“ตอน ม.4 เราช้อปปิ้งทุกอาทิตย์ ไม่สนด้วยว่าเป็นที่ไหน ใส่แล้วชอบ สวย มีเงินซื้อเราก็ซื้อ พอโตขึ้นอีกหน่อยก็เริ่มเก็บเงินไปซื้อพวก Zara, H&M ซื้อจนแม่บ่น ยิ่งตอนเข้ามหา’ลัย เรายิ่งอยากรู้ อยากลอง อยากหาแนวทางของตัวเองบ้าง เลยสนุกกับการช้อปมาก ตอนนั้นเหมือนการซื้อเสื้อผ้าเป็นสุนทรีของชีวิตเราไปเลย 

“วันหนึ่งน้องในมหาวิทยาลัยชวนไปร่วมวงคุยในงานทอล์กเกี่ยวกับ sustainable fashion ของกลุ่ม Fashion Revolution เราเองก็ไม่รู้จักว่าคืออะไร แต่แพนิกมาก กลัวไปแล้วไม่เข้าใจที่เขาพูด กลัวเขาถามแล้วตอบไม่ได้ เลยไปกูเกิลว่าแฟชั่นยั่งยืนคืออะไร จนไปเจอสารคดีเรื่อง The True Cost ซึ่งพูดเรื่องผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีต่อคนและสิ่งแวดล้อม

“มันน่าเศร้ามากเลยนะ เพราะแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเยอะมากๆ แต่ไม่มีการบำบัดน้ำเสียเลย การปลูกฝ้ายก็ต้องใส่สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆ มันส่งผลกระทบต่อดิน ต่อน้ำแถวนั้น ระบบนิเวศพังไปหมด คนในชุมชนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

“แล้วพอแบรนด์พยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ขายเสื้อผ้าเราได้ในราคาถูกๆ เขาก็ไปบีบแรงงานในห่วงโซ่ด้วยค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม สภาพแวดล้อมที่ทำงานก็ไม่ดี มีคำพูดของแรงงานหญิงคนหนึ่งว่ามันไม่ได้น่ายินดีเลยนะที่เสื้อผ้าที่เขาทำมันมาจากเลือดเนื้อของเขาที่หมายถึงเลือดจริงๆ เพราะมีทั้งเด็ก มีทั้งผู้ใหญ่ ที่ต้องเจ็บตัวหรือตายจากเหตุการณ์โรงงานถล่ม แล้วเสื้อผ้าเหล่านั้นก็ยังส่งไปขายให้แบรนด์อะไรบ้างก็ไม่รู้

“เราเพิ่งเข้าใจคำว่าหัวใจสลาย เราช็อกมาก เพราะไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อน แล้วก็ได้แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมของที่มีความหมายกับเราถึงไม่สามารถสร้างความหมายให้กับคนที่อยู่เบื้องหลังได้เลยล่ะ ทุกอย่างทิ่มแทงพวกเขาไปหมด ยิ่งตอนนั้นเรากำลังรักษาอาการซึมเศร้าอยู่ด้วย เราได้แต่โทษตัวเองว่าเราซื้อเสื้อผ้าอะไรอยู่ เราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้อยู่เหรอ หลังจากวันนั้นเราตัดสินใจเลิกซื้อฟาสต์แฟชั่นไปเลย” 

คอนเซปต์ชุด : รวม (เสื้อของ) ญาติ

สูท : ของพ่อเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้พ่อคิดว่ามันโอลด์สกูลเกินไป เลยเอามาใส่แทน ได้อารมณ์ยุค 80s

เสื้อเชิ้ต : ได้มาจากน้าที่อยู่อเมริกา เขาชอบเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วกลับมาให้ 

กางเกง : จากลูกน้า ได้มาตั้งแต่ ม.ต้น แต่ไม่ใส่เพราะคิดว่าเชยมาก เพิ่งหยิบมาใส่ตอนนี้เอง

เครื่องประดับ : ลูกไม้แบ่งขายจากสำเพ็ง 

รองเท้า : มือสองจากตลาดเวิ้งประตูเขียว วังหลัง

 

คำสารภาพที่ 3
“เราพบว่าแฟชั่นเป็นพลังที่เราต้องมีอำนาจเหนือมัน”

“พอเราบอกว่าเลิกซื้อฟาสต์แฟชั่น เกือบทุกคนจะถามเราว่าแล้วจะซื้ออะไรแทน เราไม่เคยบอกให้หยุดซื้อทุกอย่างนะ แต่อยากให้ย้อนคิดมากกว่าว่าทำไมเราต้องซื้อล่ะ เพราะเราถูกฝังหัวมาว่าการซื้อคือการแก้ปัญหาไง ทั้งๆ ที่การซื้ออย่างอื่นมาแทนมันไม่ใช่ทางออกหรอก ถ้าซื้อแล้วไม่ใช้ให้คุ้มค่า

“ทางเลือกของผู้บริโภคมีอีกเยอะเลยนะ เช่น ใส่เสื้อมือสอง ใช้เสื้อที่ส่งต่อจากพี่น้องก็ได้ แต่บางคนไม่ค่อยชอบเพราะมองว่ามันมีเจ้าของมาก่อน ซึ่งจริงๆ มันคือ sharing economy ดีๆ นี่เอง หรือถ้ายังอยากซื้อเสื้อแบรนด์ก็ไม่ผิด ซึ่งมันไม่ได้อยู่แค่จะซื้อหรือไม่ซื้อ แต่ต้องรู้จักใช้อำนาจผู้บริโภคให้เป็น เรามีสิทธิรู้ว่าของที่ซื้อมามีที่มายังไง โปร่งใสไหม รู้จักตั้งคำถามเยอะๆ แล้วคิดให้ดีก่อนซื้อ ถ้าซื้อมาแล้วต้องใช้มันให้คุ้ม รักษามันให้นาน อยากให้คิดเสมอว่าเรามีพลังอำนาจมากกว่าที่ตัวเองคิด

“เราพบว่าแฟชั่นเป็นพลังที่ทำให้เรามั่นใจ มันสร้างคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตเราอย่างมหาศาล แต่มันเป็นพลังที่เราต้องมีอำนาจเหนือมัน ไม่ยึดติดกับมัน และเราต้องใช้อำนาจนั้นให้คุ้มค่าที่สุด

“เราอยากส่งต่อพลังนี้ให้คนอื่นได้รับ เราอยากบอกว่าทุกคนเลือกได้เหมือนกันว่าจะใช้พลังที่มีนี้ยังไง เพราะจริงๆ มันไม่สำคัญหรอกว่าเราใส่อะไร แต่สำคัญที่ใช้ยังไงมากกว่า”

คอนเซปต์ชุด : หยิบของแปลกมาใส่ให้เป็นปกติ

หมวก : สำเพ็ง อย่างน้อยถ้าใส่ไปไหนไม่ได้ก็น่าจะใส่ไปกันแดดวันเชงเม้งได้

เดรส : Uniqlo มือสองจากชินจูกุเอาต์เล็ตที่ขายเสื้อมือสองชั่งกิโลฯ สภาพดีมาก ราคาไม่ถึงร้อย

 

คำสารภาพที่ 4
“การรู้ว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไรช่วยลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นได้เยอะมาก”

“หลังจากได้รู้จักคำว่าแฟชั่นยั่งยืน เราเลยเปลี่ยนทิศทางเพจ เพราะคิดว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่รู้ปัญหาของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ถ้ารู้แล้วเขาอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เราเลยอยากทำให้คนเข้าใจก่อน แล้วเขาต้องมีทางเลือก เพราะการหยุดซื้อไปดื้อๆ แบบเราก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีหรอก

“สิ่งที่เราพยายามพูดในเพจเสมอคือการรู้จักตัวเอง เทคนิคของเราคือการสร้างอัลบั้มชื่อ i feel powerful in this ไว้ในมือถือตัวเอง วันไหนแต่งตัวแล้วรู้สึกดีจะกดหัวใจไว้ เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่าเราแต่งตัวไปทางไหน ซึ่งมันอาจจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้หน่อย แต่มันจะไม่ซ้ำรอยเดิมแน่นอน แล้วก็มีอัลบั้ม outfit diary เอาไว้สะท้อนตัวเองและแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วย

“การรู้ว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไรช่วยลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นได้เยอะมาก เพราะเรามักโดนสื่อป้อนตลอดว่าทุกอย่างมันดี พอมันเป็นกระแสเราก็วิ่งไปหามัน ลองคิดช้าลงหน่อย เราอาจจะเจอว่าเราชอบเสื้อตัวนี้มากจนใส่มันบ่อยขึ้น หรือไม่ชอบตัวนี้เลยไม่ซื้อดีกว่า แค่รู้จักตัวเองก็แต่งตัวคุ้มค่าแล้ว

“การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันส่งผลต่อการบริโภคของเรา ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้านะ แต่มันคือทุกๆ เรื่องเลย พอเรียนรู้ตัวเองได้ก็จะใส่ใจโลกได้ แต่ก่อนจะไปให้ถึงขั้นนั้น เราต้องเข้าใจตัวเองให้ได้ก่อน คนเลือกได้เหมือนกันว่าจะใช้พลังที่มีนี้ยังไง เพราะจริงๆ มันไม่สำคัญหรอกว่าเราใส่อะไร แต่สำคัญที่ใช้ยังไงมากกว่า”  

คอนเซปต์ชุด : เย็บของเก่ามาเล่าใหม่ 

คอร์เซ็ต : Forever 21

กระเป๋า : เย็บเอง จากปลอกหมอน

กางเกง : มือสอง ดูเชยๆ เหมือนกางเกงลุง เลยเอามาดัดแปลง เย็บผ้าคลุมโซฟาติดเข้าไป กางเกงทรงนี้กำลังฮิตเลย เพราะได้ฟีลแบบญี่ปุ่นๆ

รองเท้า : Nike Air Rift มือหนึ่งซื้อที่ญี่ปุ่น

 

คำสารภาพที่ 5
“การรักโลกคือการรักตัวเองที่ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น”

“เราเน้นเรื่อง Buy less, choose well, make it last. เสมอ มันเป็นคำของ Vivienne Westwood ซึ่ง buy less คือการซื้อน้อยลง มันอาจจะเกิดจากการซื้อช้าลงก็ได้ เช่น ถ้าอยากได้เสื้อผ้า ลองทิ้งไว้สักวันก่อนไหม ลองไปนอนคิดดูดีๆ ก่อน

“choose well คือการกลับมาถามตัวเองว่าสไตล์มันใช่ไหม ฟังก์ชั่นมันเหมาะกับเราไหม ซื้อแล้วคุ้มหรือเปล่า อยู่กับมันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ารู้เรื่องเหล่านี้ดีพอแล้วก็ลองเช็กคุณภาพ เช็กลิขสิทธิ์ ตามหาต้นตอของแบรนด์ แต่ถ้ายังไม่ถึงตรงนั้นก็ไม่เป็นไร เอาให้ถึงตัวเองก่อนก็พอ

“แล้วก็ make it last เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยซ่อมเสื้อผ้ากัน แค่กระดุมหลุดยังไม่ซ่อมเลย ทั้งๆ ที่กางเกงบางยี่ห้อมีกระดุมแถมมา แต่ถ้าเราชอบมันมากๆ เราจะหาทางซ่อมมันเอง หรือรองเท้าซื้อมาแพงหน่อย เอาไปซ่อมก็คุ้มนะ หรือจะเอามาดัดแปลง เอาไปขายต่อได้ไหม หรือแม่จะทิ้งเสื้อผ้าเก่า ลองไปดูก่อนไหมว่ามีอะไรที่เราเอามาใช้ต่อได้ เพื่อจะได้ยืดอายุมัน

“มีคนเคยบอกว่าการรักโลกคือการรักตัวเอง แต่มันเป็นการรักตัวเองที่ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น ที่คนไม่ค่อยทำเพราะเขาแค่ยังไม่รู้เรื่องเหล่านี้มากพอ หรือไลฟ์สไตล์เขาอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ แต่เราจะบอกเสมอว่าอย่างน้อยช่วย keep in mind หน่อยก็ยังดี เพราะจริงๆ เรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิของเราว่าจะตั้งคำถามไหม จะเลือกใช้อะไร ซึ่งเราสามารถใช้สิทธินี้ในการรักตัวเองและช่วยโลกไปพร้อมกันได้ ถ้าแกรักโลก รักแฟชั่น รักเสื้อผ้า แกก็รักตัวเองด้วยนั่นแหละ”


บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ a day 233 ฉบับ World-Life Balance สั่งซื้อได้ที่ godaypoets.com/product/a-day-233-world-life-balance

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน