ก่อนไปรู้จักธุรกิจที่มีไอเดียน่าสนใจมากอย่าง Moreloop เราขอเริ่มด้วยการชวนคุณมารู้จักแนวคิดหลักที่เป็นหัวใจของธุรกิจเจ้านี้ นั่นคือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
เศรษฐกิจหมุนเวียนคือแนวคิดที่เข้ามาตอบโจทย์โลกซึ่งกำลังเกิดวิกฤติทั้งด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากระบบเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ที่เป็นเส้นตรง เริ่มจากการนำทรัพยากรมาผลิต บริโภค แล้วทิ้งของเหลือไป ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเสนอวิธีคิดเวียนใช้ทรัพยากรเพื่อให้ใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุดและใช้ทรัพยากรเก่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอันที่จริง นี่คือวงจรปกติในธรรมชาติ เช่น เมื่อมนุษย์บริโภคทรัพยากรโลกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ตัวเราเองก็จะย่อยสลายกลับเป็นแร่ธาตุให้โลกได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
ตอนนี้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดที่ถูกใช้แพร่หลายในโลกปัจจุบัน อีกทั้งกำลังเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา หนึ่งในผู้หยิบแนวคิดนี้มาใช้จริงจังคือ Moreloop ธุรกิจที่มีสโลแกนว่า ‘Make Circular Economy a Reality’ ก่อตั้งโดย อมรพล หุวะนันทน์ อดีตนักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และกมลนาถ องค์วรรณดี นักออกแบบแฟชั่นสิ่งทอและนักวิจัยเทรนด์ที่เน้นด้านความยั่งยืน
Moreloop เลือกเข้าไปแก้ปัญหาผ้าเหลือจากการผลิตของโรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษให้โลกเป็นอันดับที่ 2 รองแค่จากการผลิตน้ำมัน (ถ้าคุณอยากรู้ว่าตอนนี้รันเวย์ฮิตสีอะไร ให้ไปดูสีแม่น้ำที่จีน-กมลนาถยกประโยคจากสารคดีเรื่อง RiverBlue (2017) มาอธิบายเห็นภาพ) โดยใช้วิธีสร้างตลาดออนไลน์เพื่อหมุนเวียนผ้าคุณภาพที่คงเหลือเหล่านี้สู่ลูกค้าที่ต้องการ นอกจากโมเดลที่น่าสนใจและค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย เบื้องหลังวิธีการที่ฟังดูเรียบง่ายนี้ยังเต็มไปด้วยความคิดที่ผ่านการตกผลึกมาอย่างดี ตอบโจทย์ครบทุกมิติ และเป้าหมายสูงสุดที่เปี่ยมความตั้งใจดีแบบตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง
นี่คือเรื่องราวของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ตั้งใจหาวิธีแก้ปัญหาใหม่มาตอบโจทย์ใหม่ที่โลกกำลังเผชิญในวันนี้
ธุรกิจดีที่เริ่มจากประเด็นซึ่งเด็ก 5 ขวบสนใจ
อมรพล : ตอนเด็กๆ เราเจอประโยคที่ว่า พลาสติกใช้เวลา 500 ปีในการย่อยสลาย ตอนนั้นเราอายุ 5 ขวบ ไม่แน่ใจว่ามันแปลว่าอะไร แต่ที่แน่ๆ อายุพลาสติกยืนกว่าเราเยอะ มันคงต้องไปกองกันอยู่อีกนานเลย เราก็รู้สึกว่ามันคงมีผลกระทบบางอย่างแต่เราไม่รู้ ซึ่งนอกจากเรื่องนี้จะติดอยู่ในใจ เราก็พยายามไม่ใช้ถุงพลาสติกมานานแล้ว
หลังจากนั้น เราเรียนจบด้านไฟแนนซ์แล้วไปเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทต่างๆ ซึ่งในการวิเคราะห์ เราต้องดูภาพรวมภาคอุตสาหกรรมด้วยว่าในห่วงโซ่ของ 1 อุตสาหกรรมใน 1 ประเทศมันเริ่มจากอะไร ระหว่างทางมีอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น อุตสาหกรรมผ้าก็ดูตั้งแต่ปลูกฝ้ายจนประกอบเป็นเสื้อมาขาย แล้วพอเราทำงานระดับภูมิภาค ก็เลยเห็นภาพของหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรมพร้อมกัน จากนั้นช่วงหนึ่งก็มีเพื่อนชวนเราไปลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพ เราเลยไปลงเรียนคอร์สสตาร์ทอัพ สุดท้ายเราไม่ได้ลงทุน แต่ก็ได้วิธีทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพมา แล้วเราก็ไปร่วมสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพอีกตัวที่เป็นตลาดออนไลน์สำหรับซื้อ-ขายวัตถุดิบสด ทำให้เรามีประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจแบบนี้
แล้วเราก็เริ่มมาดูว่าตัวเองมีโจทย์อะไรที่สนใจบ้าง เลยมาคิดเรื่องของเหลือใช้ เรื่องขยะซึ่งเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจ เรื่องนี้มองได้ 2 ทางคือขยะแบบ post-consumer หรือขยะในชุมชนทั่วไป กับขยะแบบ pre-consumer หรือขยะที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม เพราะวิธีการผลิตของเรา ณ ปัจจุบันเป็นการตัดของทิ้ง ใช้ของเกิน แล้วก็ทำเผื่อไว้ ซึ่งสำหรับเราคำว่าขยะเป็นความคิดเห็น อย่างขวดน้ำพลาสติกมีค่ามากเพราะมีน้ำอยู่ข้างใน แต่พอน้ำหมด คุณค่ากลับหายไป ซึ่งมันไม่จริง เป็นความคิดเห็นและความเคยชินบางอย่าง เราเลยคิดว่าถ้าไม่มองของพวกนี้เป็นของเหลือ แต่เป็นทรัพยากรได้ไหม แต่ขยะในชุมชนที่ต้องคัดแยก ทำให้กลายเป็นของใหม่เป็นทางแก้ที่ยาก เราเลยมามองที่ขยะอุตสาหกรรม แล้วก็ไปเจอคำศัพท์อย่าง circular economy เราอยากทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงเลยเลือกมาลงมือทำกับปัญหานี้ ทีนี้เรารู้จักกับแอ๋ม เป็นเพื่อนกันมานานเป็น 10 ปี เขาก็โทรมาบอกว่ามีผ้าที่เกินอยู่ในโรงงาน เราเลยเห็นว่าสิ่งที่คิดก็เป็นตามนั้น
แล้วเราก็เจอจุดพลิกในชีวิต เมื่อไปดูวิดีโอตัวหนึ่งที่พูดเกี่ยวกับคอนเซปต์ชื่อ Stoic ซึ่งให้คุณค่ากับเวลามากกว่าเงิน พอเห็นอย่างนั้นปุ๊บ เราก็รู้สึกว่าถ้าอายุ 40 แล้วยังนั่งที่เดิม เงินเดือนเท่าเดิม เราก็เห็นภาพทุกอย่างหมดแล้ว เราต้องการสิ่งใหม่ เลยคิดว่าลองลาออกจากงานประจำมาทำสิ่งนี้ดู เรามองว่าการใช้เวลาทำสิ่งที่เชื่อหรือมีประโยชน์เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง
ตลาดที่ปักหมุดอยู่บนโลกออนไลน์
อมรพล : เราสนใจการสร้างตลาดเพราะมองว่านอกจากสร้างกำไรแล้ว พอคนใช้ของที่เหลืออยู่ มันก็เป็นการ upcycle หรือเพิ่มมูลค่าของสิ่งนั้นไปเลย โมเดลธุรกิจกับโมเดลการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันได้พอดี ซึ่งข้อดีของการเป็นตลาดออนไลน์อย่างแรกคือ มันมีพื้นที่ไม่จำกัด เพราะของมีเยอะมาก เราเอามาขายในโกดังหนึ่งแห่งไม่ได้
กมลนาถ : การเป็นตลาดออนไลน์ยังลดภาระที่เราจะต้องสต็อกของ เพราะผ้าไม่ได้มาจากโรงงานเดียว แต่เราดึงมาจากโรงงานอื่นๆ ด้วย
ตลาดที่ตอบโจทย์โรงงานผ้า
ธมลวรรณ : ในมุมของโรงงาน เวลาเราผลิตทุกออร์เดอร์ มันมีความเป็นไปได้ที่จะเหลือผ้า แต่ถามว่าเยอะไหม ไม่ เพราะมันคือต้นทุนของโรงงาน ก็จะเหลือจำนวนน้อย เช่น 1-2 พับที่เป็นจำนวนซึ่งอาจผลิตเสื้อยืดง่ายๆ ได้สักประมาณ 50-60 ตัว เราก็จะเก็บไว้เมื่อมีมากพอ เพราะจะมีคนมาเหมาซื้อโดยไม่ได้สนใจว่าข้างในเป็นผ้าอะไรเพื่อไปขายต่อ ในตลาดผ้าสำเร็จรูปเขาจะให้ราคาถูกมากเพราะถือว่าซื้อผ้าที่เหลือในสต็อก ซึ่งในมุมเจ้าของโรงงาน การไปขายอย่างนั้นขาดทุนมหาศาล เพราะผ้าบางตัวทอยากมาก แพงมาก เราทำใจไม่ได้เลยเลือกเก็บไว้ แล้วพยายามใช้ด้วยการทำแบรนด์ขึ้นมา แต่มันก็ไม่มีทางทันกับผ้าที่เราผลิตได้
เพราะฉะนั้น พอ Moreloop ขายผ้าโดยให้มูลค่า ผ่านวิธีให้โรงงานอยากขายผ้าตัวไหนก็ส่งตัวอย่างพร้อมรายละเอียดมา เราจะถ่ายภาพ อัพโหลดขึ้นเว็บ แล้วกรองลูกค้าให้ รวมถึงในอนาคต เราจะเข้าไปถ่ายภาพแบบ in house ให้ในกรณีโรงงานใหญ่ที่เอาผ้าทั้งหมดส่งมาให้ไม่ได้ มันก็เป็นการเอาวัตถุดิบคุณภาพดีที่มีจำนวนน้อยมาขายในราคาที่ไม่ใช่ราคาผ้าของเหลือ ซึ่งประโยชน์ก็จะกลับสู่คนผลิต
ตลาดที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนซื้อ
กมลนาถ : สำหรับฝั่งคนซื้อ ปัญหาของเราคือธุรกิจรายย่อยไม่มีกำลังสั่งผลิตผ้าเองหรือสั่งออร์เดอร์ขั้นต่ำที่ต้องการปริมาณเยอะกับโรงงาน ขณะที่การไปซื้อผ้าแบบขายปลีกจากตลาดผ้าสำเร็จรูปก็มีปัญหาเพราะผ้าพวกนี้ไม่มีบอกส่วนประกอบของเส้นใย ไม่มีบอกว่ามาจากไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตได้ ทำให้นักออกแบบทำงานยากและส่งผลต่อกระบวนการนำไปรีไซเคิลในตอนท้ายด้วย ซึ่งการที่ Moreloop ขายผ้าที่มีคุณภาพ บอกองค์ประกอบผ้าครบ มีมาตรฐาน ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ หรือคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการกระจายพลังเหมือนกันนะ แล้วเราก็มองว่า Moreloop เพิ่มคุณค่าเข้าไปในธุรกิจด้วย เพราะเราไม่ใช่แค่ขาย แต่ช่วยเลือก มีการบริการ และให้คำปรึกษา
ธมลวรรณ : นอกจากเรื่องการบอกองค์ประกอบผ้า เรายังให้คำปรึกษา เช่น บางคนไม่รู้ว่าผ้าตัวไหนใช้ทำอะไรได้ มีการเปลี่ยนหน่วยผ้าจากกิโลกรัมเป็นหลาให้ ส่งตัวอย่างผ้าให้ได้ ถ้าลูกค้าต้องการ เรากำลังเริ่มคำนวณให้ได้ด้วยว่าคุณลดการปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ แล้วเราก็อยากเป็นธุรกิจที่เป็นการออกแบบอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นแบรนด์ต่างๆ ที่ใช้ผ้าของเราแล้วอยากชูเรื่องนี้ เวลาเขาผลิตหรือออกคอลเลกชั่นใหม่ เราก็ยินดีที่จะเป็นสื่อกลางโฆษณาสินค้าเขาด้วย
ตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธมลวรรณ : เราเรียกผ้าที่ขายว่า surplus fabric หมายความว่าเป็นผ้าที่เกินจากการผลิตจริงๆ เพราะเราอยากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผลิตผ้าใช้พลังงานเยอะ มีการปล่อยคาร์บอน มีการใช้สารเคมีเยอะ เพราะฉะนั้นแทนที่จะมาผลิตใหม่ เรามาเล่นกับความคิดสร้างสรรค์ของน้องๆ ดีไซเนอร์แล้วใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดดีกว่า
กมลนาถ : สิ่งที่ Moreloop ทำคือพยายามจะสร้างตัวเลือกที่ยั่งยืนและราคาจับต้องได้ที่สุด ซึ่งในเศรษฐกิจหมุนเวียน หลักการคือจะมีวงจรหมุนเวียนของวัสดุชีวภาพ (biological cycle) และวงจรหมุนเวียนของวัสดุทางเทคนิค (technical cycle) ที่ต้องอาศัยการจัดการอย่างการจัดสรรใหม่ (redistribute) Moreloop อยู่ที่วงจรตรงนี้ซึ่งหมุนเวียนเร็ว อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องบริโภคเพิ่ม แต่สนับสนุนการผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ
ธุรกิจที่ตั้งใจอยู่รอดอย่างยั่งยืน
อมรพล : เรามีเป้าหมายสูงสุดคือการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งสิ่งที่ยากคือโมเดลนี้ค่อนข้างใหม่ เราต้องตัดสินใจว่าจะไปทางไหนให้รักษาสมดุลทั้งเรื่องธุรกิจและการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน
กมลนาถ : เราเป็นธุรกิจที่ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบสตาร์ทอัพและมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน ไม่ได้มองตัวเองเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่เน้นเอากำไร เพราะมองว่าการจะยกระดับของอุตสาหกรรมคือการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทุกคนเติบโตได้ กำไรคือพลังที่ช่วยให้คนทั้งห่วงโซ่พาตัวเองไปอีกขั้น และถ้าเราเอาของเหลือใช้มาขายในราคาที่ถูกลง มันจะเรียกว่า downcycle คือการทำให้ของที่คนไม่เห็นมูลค่ายิ่งมูลค่าน้อยลงไปอีก เราอยากนำเสนอความคิดใหม่ว่าของเหล่านี้มัน upcycle หรือเพิ่มมูลค่าได้
อมรพล : ตอนนี้เรามีต้นแบบที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มีของอยู่ในนั้นประมาณ 500 ชนิด ซื้อได้จริงแล้ว และมีคนซื้อแล้วเรื่อยๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้ เรารวบรวมผู้ขายมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็กำลังลองไปดูว่าผู้ซื้อตัวจริงต้องการอะไรบ้าง ที่จริงแล้ว ถ้าเทียบกับภาพที่เห็นตอนเป็นพนักงานมีเงินเดือนประจำ ทุกวันนี้เราคิดแค่ว่าต้องทำอะไรบ้าง เลยไม่เห็นภาพอนาคตของตัวเองเลย แต่เราเคยมีประสบการณ์ว่าบางทีถึงไม่เห็นอะไรก็ทำให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่น เราเคยไปเก็บข้อมูลเรื่องขยะ สุดท้ายก็มีคนเอาข้อมูลไปใช้จริง หรือในการทำธุรกิจนี้ เราก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคนเชิญไปพูดที่ฟิลิปปินส์หรือมีคนอยากเล่าเรื่องสิ่งที่เราทำแบบนี้ และเราเห็นภาพว่า Moreloop จะต้องสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง เราก็โฟกัสแค่ตรงนั้น
moreloop.ws
Facebook l Moreloop