ถือเป็นข่าวใหญ่พอสมควรสำหรับวงการเทคโนโลยีและโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ทำสถิติไม่สู้ดีนักในแวดวงธุรกิจ คือการสูญเสียมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดในเวลาหนึ่งวันโดยหุ้นของเฟซบุ๊กนั้นร่วงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าที่หายไปมากถึง 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว (และนั่นยังไม่ต้องคิดเรื่องคำนวณเป็นเงินบาท)
ส่วนตัวมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยนั้นก็ทำเงินหายไปในวันเดียว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 5 แสนล้านบาท
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าการทำเงินหายไปห้าแสนล้านบาทในหนึ่งวันจะเป็นอย่างไร จะรู้สึกอะไรกัน
ทำไมเฟซบุ๊กถึงมาถึงจุดนี้? เกิดอะไรขึ้นกับเฟซบุ๊ก? นี่คือขาลงของเฟซบุ๊กหรือเปล่า? นั่นคือสิ่งที่หลายๆ คนตั้งคำถามหลังจากข่าวนี้ถูกประโคมเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา
เราต้องเข้าใจที่มาที่ไปกันก่อนว่าการที่มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กลดลงฉับพลันนั้น เกิดจากการออกมาให้ข้อมูลว่ารายได้ของเฟซบุ๊กมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวและลดลง เช่นเดียวกับการเติบโตของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้นักลงทุนต่างๆ พากันวิเคราะห์ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และตัดสินใจถอนการลงทุน
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามูลค่าหุ้นจะหายไปกว่า 1 ใน 5 แต่ทุกวันนี้เฟซบุ๊กก็ยังครองการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีคนใช้มากที่สุดอยู่ดี และยังสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากโฆษณาอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปีนี้ออกจะเป็นปีที่เฟซบุ๊กเจอกับเรื่องแย่ๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ข่าวว่ามีข้อมูลของผู้ใช้ถูกดึงออกไปโดยบุคคลอื่นจนตัวมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องไปชี้แจงกับสภาฯ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่นเดียวกับที่มีการพูดถึงบทบาทของเฟซบุ๊กที่เริ่มจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ‘มากเกินไป’ กับเรื่องการเมือง รวมทั้งการที่ตัวมันเองกลายเป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งในหลายๆ ครั้ง
จนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเองต้องออกมาพูดหลายครั้งว่าต่อจากนี้ สิ่งที่ทีมงานเฟซบุ๊กจะทำคือ ‘การซ่อมแซมเฟซบุ๊ก’ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับข่าวลวงต่างๆ การจ้างพนักงานมาช่วยตรวจสอบคอนเทนต์เพิ่ม เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบมาตรวจสอบและป้องกันการนำแพลตฟอร์มไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนการปรับวิธีการเห็นคอนเทนต์ต่างๆ ซึ่งนำมาถึงเสียงบ่นปนโอดครวญของเจ้าของธุรกิจที่ลงเงินไปกับแพลตฟอร์มที่กำลังพบว่าคอนเทนต์ของตัวเองถูกเห็นน้อยลง
ภารกิจนี้ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และทีมงานเฟซบุ๊กคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไหนจะต้องรักษาธุรกิจไว้ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนรู้สึกไม่ดี ต้องรับมือกับความคาดหวังมากมาย แถมก็ต้องไม่ให้เกิดปัญหาที่จะตามมาภายหลังเมื่อตัวแพลตฟอร์มนี้มี ‘อำนาจ’ มากเกินไปด้วย
นอกจากนี้แล้ว เฟซบุ๊กเองก็ยังต้องรับศึกกับการที่แพลตฟอร์มอื่นๆ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น อย่างในไทยเอง จะเห็นว่ายูทูบกลายเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่โตมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคอนเทนต์วิดีโอเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน มีโมเดลรายได้ชัดเจน จนทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์หลายคนเริ่มหนีจากเฟซบุ๊กที่ดูจะทำเงินให้พวกเขาน้อยลง หรือการเข้ามาของไลน์เองที่ก็พยายามแย่งส่วนแบ่งการใช้งานต่างๆ และก็มีการพัฒนาความสามารถอื่นๆ ผนวกเข้ามา เช่น การสั่งอาหาร การส่งของ จนทำให้ไลน์เองก็กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่คนไทยใช้อันดับต้นๆ ไม่แพ้เฟซบุ๊กเช่นกัน
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะโดนมรสุมไปมากขนาดนี้ แต่จะบอกว่าเป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของซีอีโออย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็คงจะไม่อาจพูดแบบนั้นได้เสียทีเดียว เพราะมันคงไม่ง่ายกับการรับมือแพลตฟอร์มที่มีคนใช้เยอะขนาดนี้ หากลองคิดในทางกลับกันว่าถ้าเป็นคนอื่นที่โอนเอนต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและมุ่งหวังจะสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนแล้ว รูปแบบของเฟซบุ๊กก็คงจะไม่ใช่แบบที่เราเห็นในทุกวันนี้เป็นแน่ เช่นเดียวกับถ้าผู้พัฒนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทที่สุดแสนจะละเอียดอ่อนในสังคมอย่างการเลือกตั้ง การเรียกร้องสิทธิ์ การแสดงออกต่างๆ บางทีเฟซบุ๊กก็อาจจะยุ่งเหยิงสุดๆ และไม่น่าใช้เลยก็เป็นได้
ถึงวันนี้แล้ว ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าเฟซบุ๊กอยู่ในช่วง ‘ขาลง’ แบบเดียวกับที่ไฮไฟว์เคยเจอก่อนจะหายไปจากชีวิตของพวกเราเมื่อหลายปีก่อน แต่คงเป็นช่วงที่เฟซบุ๊กกำลัง ‘ปรับตัว’ เพื่อให้มันรับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงได้นั่นเองต่างหาก