สื่อออนไลน์โลกโซเชียล ต้องควบคุมหรือปล่อยเสรี?

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าจะร้อนแรงสำหรับคนออนไลน์อยู่ไม่น้อยคือเรื่องการ ‘ควบคุม’
สื่อออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อใหม่ เช่น บรรดา Facebook Page ต่างๆ ที่มีคนติดตามมากมายตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน การกดดันให้ทั้งทาง
Facebook, Google และ Netflix มาลงทะเบียนผู้ให้บริการ
OTT มิเช่นนั้นจะไม่ให้เอเจนซี่ต่างๆ ซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มดังกล่าว
รวมไปกระแสที่ภาครัฐพยายามเข้ามา ‘จัดระเบียบ’ หรือ ‘ควบคุม’ การใช้งานโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จนมีการพูดไปต่างๆ
นานาว่าต่อไปเราจะถูกห้ามใช้โซเชียลมีเดียกันแล้ว

รายละเอียดของประเด็นต่างๆ
ค่อนข้างเยอะพอสมควร ซึ่งถ้าหยิบมาเล่ากันก็คงทำให้บทความนี้ยาวยืดแถมจะไม่น่าอ่านเสียเปล่าๆ
ถ้าใครสนใจก็แนะนำให้ลองหาบทความและบทวิเคราะห์จากแหล่งข้อมูลที่ตอนนี้ก็มีเผยแพร่กันอยู่หลายที่ดูนะครับ

แต่ที่บทความนี้จะ
‘ชวนคุย’ คงเป็นเรื่องที่ว่าโลกออนไลน์นี้ควรจะถูก ‘ควบคุม’ หรือไม่?

ที่หยิบเรื่องนี้มาชวนคุยกับผู้อ่านเพราะเชื่อว่าเวลาพูดถึงโลกออนไลน์นั้น
คนจำนวนมากมักนึกถึงเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ โพสต์รูปภาพ แสดงความเห็นในเว็บบอร์ดต่างๆ
ไหนจะเรื่องของการเปิด Facebook
Page สร้างเว็บไซต์ หรือกลายเจ้าของช่อง YouTube ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าทำดีๆ มีคนติดตาม ก็สามารถสร้างรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ
บางคนก็เปลี่ยนตัวเองจากการเป็น nobody ให้กลายเป็น somebody
ขึ้นมาได้ในช่วงข้ามคืนกันเลยทีเดียว

ฟังๆ
ดูก็น่าจะเป็นข้อดีและไม่ควรจะมา ‘จำกัด’ หรือ ‘ควบคุม’ เลย เพราะมันเป็นเหมือนพื้นที่เสรีให้คนมาสร้างสรรค์เรื่องราวต่างๆ
ได้เต็มที่โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหรือการผูกขาดอำนาจสื่อแบบสมัยก่อน

อย่างไรก็ตาม
สิ่งที่เราอาจจะต้องมองในอีกมุมควบคู่กันไป จริงอยู่ที่มีคนใช้พื้นที่และเสรีภาพที่เกิดขึ้นมานี้อย่างสร้างสรรค์
แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งใช้มันในทางไม่สร้างสรรค์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ
กับคนที่ติดตาม (ถ้านึกไม่ออกก็นึกถึงพวกกรณี
Forward Mail หรือการส่งข้อความทาง LINE โดยไม่มีมูลความจริงนั่นแหละครับ) บางคนก็ตั้งตัวเองเป็นสื่ออิสระแล้วเผยแพร่ความคิดและความเชื่อที่ไม่ถูกต้องให้กับสังคมโดยอ้างว่ามันคือเสรีภาพในการแสดงออก
(ถ้านึกไม่ออกอีก ก็นึกถึงบรรดาเพจต่างๆ ที่มักโดนขุดออกมาแฉว่าให้ข้อมูลบิดเบือนอย่างไรนั่นแหละครับ)

พอมองอย่างนี้แล้ว
เสรีภาพและศักยภาพของโลกโซเชียลนั้นก็เป็นดาบสองคมในตัวมันเอง ถ้าเราใช้อย่างสร้างสรรค์ก็คงเป็นเรื่องดี
แต่ถ้าใช้โดยไม่สร้างสรรค์ก็อาจจะสร้างโทษมหันต์กันได้ง่ายๆ แถมโลกโซเชียลนั้นก็สามารถทำให้เรื่องไม่ดีแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
เผลอๆ เร็วกว่าเรื่องดีๆ เสียอีก ซึ่งก็เข้ากับจริตที่หลายคนมักบ่นกันว่าเรื่องดีๆ
ไม่สนใจ สนใจแต่เรื่องไม่ดีกัน จนกลายเป็นเทคนิคปั่นคอนเทนต์ของหลายๆ เพจที่เน้นแรง
หยาบคาย แสบสัน เพื่อให้คนติดตามเยอะๆ ไป

กรณีเหล่านี้ใช่ว่าเกิดขึ้นที่ไทยที่เดียว
ในต่างประเทศเองก็มีกรณีแบบนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์
(cyber
bullying) ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกของเยาวชนจำนวนมาก หรือการใช้สื่อออนไลน์โดยไม่มีจรรยาบรรณก็กลายเป็นคดีความกันไปหลายครั้งเพราะความพลั้งที่เกิดจากความเร็ว
และทำให้หลายประเทศต้องกำกับดูแลโลกออนไลน์แบบเดียวกับที่กำกับดูแลในชีวิตออฟไลน์ มีกฎหมายและบทลงโทษชัดเจนกันไป

ผู้เขียนคงไม่มีคำตอบสำเร็จให้กับเรื่องนี้
เพราะท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นว่าสื่อหรือโซเชียลมีเดียก็คือเครื่องมือของคน ซึ่งถ้าคุณภาพของคนเราอยู่ในระดับที่ดีแล้ว
บางทีเราอาจจะไม่ต้องมีกฎอะไรเลยก็ได้ แต่หากคนของเรายังไม่พร้อม การมีกฎระเบียบต่างๆ
ก็อาจจะจำเป็น ไม่ใช่เพื่อบังคับ แต่เพื่อ ‘ปกป้อง’ คนที่อาจจะได้รับผลกระทบซึ่งก็ต้องดูวิจารณญาณและสถานการณ์หลายอย่างประกอบกัน

เพราะโลกของเราไม่ได้สุดโต่งสองขั้วคือขาวกับดำ
เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ไม่ได้มีกันแค่ดี-เลว ถูก-ผิด เราควรจะมองกันอย่างรอบด้านและหาทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพื่อใครคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั่นแหละครับ

AUTHOR