ย้อนมองปรากฏการณ์ #ถ้ำหลวง : วิกฤติ โอกาส และการแข่งขันแบบใหม่ของสนามข่าวออนไลน์

ตอนที่ผู้เขียนพิมพ์บทความนี้อยู่ เราเพิ่งได้ทราบข่าวดีว่า สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่ออกมาจากถ้ำได้แล้ว 8 คนด้วยกัน และหวังว่าตอนที่บทความนี้เผยแพร่ ทุกๆ คนจะสามารถออกจากถ้ำหลวงได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจครั้งใหญ่ของคนไทยที่เราอาจจะไม่ได้เห็นกันง่ายๆ ในชั่วชีวิตของเรา

แน่นอนว่า นี่คือเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่มันก็สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างให้เราได้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องมาคิดว่านี่คือวิกฤติการณ์หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่วิธีการสื่อสารและการเสพข้อมูลต่างๆ ไม่เหมือนกับสมัยก่อนอีกต่อไป และคงบอกได้ว่าโลกออนไลน์ (หรือบางทีก็อาจจะเรียกว่าโลกโซเชียล) นั้นมีบทบาทกับเหตุการณ์นี้ไม่น้อยทีเดียว

ถ้าเรามองย้อนกลับไปในช่วงระหว่างเหตุการณ์ที่กำลังตึงเครียดนั้น เราจะเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้คนในสังคมรับทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่น้อยไปกว่าโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ อีกทั้งกลายเป็นช่องทางในการแจ้งขอความช่วยเหลือหรือขอการสนับสนุนสิ่งของต่างๆ ในการกู้ภัย ซึ่งก็สามารถระดมสิ่งของต่างๆ มาช่วยได้ในเวลาไม่นาน

ที่อาจจะเซอร์ไพรส์หลายคนอยู่สักหน่อยคือ เมื่อข่าวดังมากขึ้น ก็เป็นโลกออนไลน์อีกเช่นกันที่ทำให้ Elon Musk ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น Tony Stark ในชีวิตจริงโดยผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ทวิตถามว่าบริษัทของเขาจะช่วยอะไรได้บ้างในสถานการณ์นี้ ก่อนจะกลายเป็นข่าวดังเมื่อเขากับทีมงานได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ออกมาแบบมาเพื่อกู้ภัยมาช่วยเหลือจริงๆ เห็นได้ว่าความสามารถของโลกข่าวสารในวันนี้ผ่านสื่อออนไลน์ไปได้อย่างรวดเร็วและไกลกว่าที่หลายๆ คนคิด

ด้วยความที่มันเป็นช่องทางที่ ‘ไว’ และ ‘รวดเร็ว’ นี่เอง จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่สำนักข่าวมากมายจะต้องให้ทีมข่าวของตัวเองรายงานข่าวผ่านทางโลกออนไลน์แทนที่จะต้องรอช่วงข่าวประจำชั่วโมงแบบที่เราเห็นกันในสมัยก่อน บางช่องถึงขั้นมีรายงานพิเศษตลอดทั้งวันผ่านทางออนไลน์คู่ขนานไปกับการออกอากาศทางโทรทัศน์ปกติ เรียกได้ว่าถ้าใครอยากติดตามก็สามารถดูเฟซบุ๊กไลฟ์หรือยูทูบไลฟ์กันได้ตลอดเวลา

พอโลกออนไลน์ทำให้เราเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้หลากรูปแบบมากกว่าแต่ก่อน เราจึงเห็นรูปแบบการรายงานสถานการณ์นี้ไม่ว่าจะอยู่ในโหมดรูปภาพต่างๆ การบันทึกวิดีโอ ตลอดจนการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ จนกลายเป็นเรื่องที่แทบจะปกติเมื่อเราเห็นนักข่าวชูสมาร์ตโฟนที่กำลังทำงานอยู่แทนที่จะใช้เพียงกล้องถ่ายรูปหรือกล้องวิดีโอแบบเดิมๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควบคู่มากับการรายงานข่าวที่ต้องไวของสื่อยุคใหม่ ก็คงไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนใช้สื่อหรือคนที่ทำหน้าที่สื่อ เพราะเหมือนกับว่าความไวนี้กลายเป็นเหตุให้คนทำงานสื่อบางคนพยายามช่วงชิงจังหวะในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารก่อนคนอื่น (คงเพราะกลัวว่าถ้าช้าแล้วจะแพ้เกมการนำเสนอข่าว) เราจึงได้เห็นการนำเสนอข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน การพยายามเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ที่ขอความร่วมมือไม่ให้ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนหลายๆ เหตุการณ์ที่ทำให้คนที่ดูอยู่ทางบ้านอดวิพากษ์วิจารณ์กันไม่ได้ว่า ‘ต้องการข่าวกันขนาดนั้นเลยเหรอ’

ในทางกลับกัน เราก็ได้เห็นการนำเสนอข่าวของบางเฟซบุ๊กเพจหรือทวิตเตอร์อย่าง @mthai ที่เลือกจะทำตรงกันข้าม คือไม่ใช่การนำเสนอข่าวให้ ‘เร็วที่สุด’ หรือต้องมีวัตถุดิบอย่างภาพหรือวิดีโอให้มากๆ หากแต่เน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สรุปมาเท่าที่จำเป็นและผ่านการยืนยันแล้ว ส่งผลให้เกิดความนิยมและได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์ ซึ่งสวนทางกับหลายสื่อที่พยายามจะหาภาพหรือการสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ จนบางทีกลายเป็นดราม่าและถูกวิจารณ์เชิงลบไปแทนเสียอย่างนั้น

เรื่องนี้อาจจะทำให้เรากลับมาคิดว่า การแข่งขันของวงการข่าวต่อจากนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในเกมแบบที่เราเชื่อกันเสมอไป แม้ว่าการนำเสนอข่าวยังต้องการความรวดเร็วอยู่ก็จริง แต่ในบางสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนนั้น การกระทำที่ ‘เกินไป’ ของสื่อมวลชนเพื่อให้ได้ข่าวนั้นมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ ‘คนดูต้องการ’ แบบที่สื่อหลายสำนักมักหยิบมาอ้างอีกต่อไป ยิ่งในวันที่ข่าวสารต่างๆ แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วนั้น คนจำนวนมากคงระอากับข่าวลือต่างๆ การกุข่าว หรือแม้แต่การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคนในสังคม (รวมทั้งผู้เขียน) ก็หวังว่าสื่อต่างๆ จะกลายเป็นเสาหลักในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นที่เชื่อถือแก่ประชาชน

เราก็คงไม่อยากให้สื่อกลายเป็นคนที่เริ่มพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้นเสียเอง

จบจากเหตุการณ์ #ถ้ำหลวง นี้ น่าจะมีหลายสิ่งที่ทำให้พวกเราได้บทเรียนกันทั้งบทเรียนที่ดีและไม่ดี และผู้เขียนหวังว่าทุกฝ่ายจะได้เรียนรู้ร่วมกัน

เพราะเราคงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเฉยๆ จริงไหมครับ

ภาพ Royal Thai Navy SEAL

ภาพประกอบ มงคล ธนาศรีวิโรจน์

AUTHOR