เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ท่ามกลางมหานครลอนดอนที่แสนวุ่นวาย หญิงสาวคนหนึ่งกำลังโลดแล่นไปตามร้านหนังสือด้วยใจฟูฟ่อง เธอเข้าออกแต่ละร้านเป็นว่าเล่นราวกับกำลังแข่งกับเพื่อนว่าในเวลา 1 ปีที่เธออยู่ที่นี่ ใครจะเข้าร้านหนังสือได้มากกว่ากัน
ที่นั่น เธอได้พานพบกับร้านหนังสือหลากหลายประเภทที่ไม่เหมือนกับประเทศบ้านเกิด ตั้งแต่ร้านหนังสือบนเรือ (ใช่ และมันลอยอยู่กลางน้ำ) ร้านหนังสือที่ขายหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์เท่านั้นแต่โคตรสนุก ไปจนถึงร้านหนังสือที่มีเจ้าของเป็นแม่มด
“สนุกจังงงงงงงง” เสียงคำพูดภาษาไทยของเธอดังขึ้น และนั่นเป็นคำพูดติดปากที่คุณจะได้ยินจากเธอถ้าชวนคุยเรื่องหนังสือ
ในปัจจุบันถ้าว่าด้วยหน้าที่การงาน ฟาน.ปีติ หรือ ฟาน–ปีติชา คงฤทธิ์ คือนักวาดภาพประกอบที่ดูแลงานภาพประกอบให้กับ a day magazine แต่ถ้าว่าด้วยหน้าที่การงานในอดีต ฟานเคยทำงานอยู่ในจุดที่เรากำลังทำมาก่อน
เธอเคยเป็นกองบรรณาธิการที่งานหลักคือการเขียน แต่เนื่องจากความฝันอีกด้านที่ยังไม่เติมเต็ม วันหนึ่งเธอตัดสินใจลาออกจากงานนักเขียนเพื่อไปเรียนต่อด้านภาพประกอบที่ลอนดอน และที่มหานครแห่งการอ่านแห่งนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือ London Book Sanctuary หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเธอที่กำลังจะปรากฏตัวบนแผงหนังสือช่วงต้นเดือนหน้า
London Book Sanctuary คือหนังสือรวมบทความออนไลน์ของคอลัมน์ Book Sanctuary คอลัมน์ของฟานที่ ทรงกลด บางยี่ขัน (อดีตบรรณาธิการบริหาร a day magazine ในเวลานั้น) ชวนเธอมาเล่าถึงร้านหนังสือเจ๋งๆ ทั่วลอนดอน โอกาสครั้งนั้นพาฟานให้ได้ไปพูดคุยกับเจ้าของร้านหนังสือถึง 15 ร้านตลอดระยะเวลา 1 ปี เธอนำมาเรียบเรียงเป็นบทสัมภาษณ์พร้อมวาดภาพประกอบสไตล์ยุควิกตอเรียนที่เธอชอบ คอลัมน์นี้จึงเป็นเหมือนตัวแทนของเธอเองที่ทั้งหลงรักในหนังสือ ตัวอักษร และภาพประกอบ
คำถามที่ว่า 15 ร้านหนังสือเจ๋งๆ ที่ฟานเคยไปพบมีอะไรบ้าง เราอยากให้ทุกคนได้ลองไปสัมผัสสิ่งนั้นเองผ่านหนังสือของเธอ แต่คำถามที่พาเรามาสนทนากับฟานในวันนี้ท่ามกลางชั้นหนังสือมากมายคือ คำถามที่ว่าด้วยเรื่องประสบการณ์ในวันนั้น วันที่เธอวิ่งเล่นไปตามร้านหนังสือ มันพิเศษสำหรับเธอขนาดไหนจนกระทั่งออกมาเป็นผลงานเล่มนี้
คำตอบที่เรากำลังจะได้ยินมีหอนาฬิกาบิ๊กเบนเป็นพยาน สายน้ำของแม่น้ำเทมส์เป็นตัวสอดประสาน และตัวอักษรจากหนังสือทุกเล่มเป็นเครื่องช่วยขับขานให้ในวันนั้นเธอตะโกนดังๆ ออกไปว่า
“สนุกจังงงงงงงง”
สิ่งที่คุณทำมาจะมีหนังสือเป็นองค์ประกอบหมดเลย คุณผูกพันกับหนังสือตั้งแต่เด็กเลยไหม
เรารู้สึกว่ามันเป็นความฝันเหมือนกันนะ ในยุคที่เราเป็นวัยรุ่น คำว่าความฝันเหมือนยอดเขาที่คนเราต้องหาและขึ้นไปให้ถึง เราก็เป็นเด็กที่เอาสิ่งนี้มาพรมตัวเองแล้วมีความสุข และธงของเราคือการเป็นนักเขียนที่มีหนังสือของตัวเองสักเล่ม
ช่วงวัยรุ่นเราชอบการอ่านหนังสือมาก หนังสือเป็นสิ่งที่เจ๋งในสายตาเรา และเราก็รู้สึกว่าการเป็นนักเขียนนั้นเจ๋งมาก เราได้เผยแพร่สิ่งที่อินให้คนอื่นรู้ ถามว่าตอนเขียน Book Sanctuary ตอนนั้นเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะแต่เราไม่รู้สึกขี้เกียจเลย ไอ้ที่ฝังใจตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักเขียน อยากมีหนังสือ มันแรงพอจนเราทำได้ เราไม่ได้คิดว่านี่เป็นทางเลือก แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องทำ และมันเป็นไปได้
ตอนนี้เหมือนความฝันกำลังจะเป็นจริงแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง
เฉยๆ เหมือนกัน (หัวเราะ) แปลกดี แต่ตอนที่เริ่มทำน่ะใจเราเต้นแรงมาก เราเห็นภาพว่ามันจะเป็นหนังสือที่ได้ตีพิมพ์วันนั้นเลย นึกภาพตามมาตลอดว่าวันหนึ่งคอลัมน์นี้จะเป็นหนังสือได้ คงเป็นเหมือนการดูแลต้นไม้ต้นหนึ่งมาเรื่อยๆ เราเห็นมันค่อยๆ โต จนวันนี้มันกำลังออกมาสู่สาธารณชน เราเฉยๆ เพราะคงเห็นมันมานานแล้ว ตอนนี้เลยเป็นความลุ้นมากกว่าว่าประสบการณ์และตัวตนเราที่อยู่ในหนังสือ คนจะโอเคไหม
ทำทั้งงานเขียนและงานวาด ไม่รู้สึกว่าหนักเกินไปในคนคนเดียวเหรอ
(คิด) เราว่าจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นคือตอนยายเราเสีย ยายเรานั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็ไปเลย เรารู้สึกว่าความตายอยู่ใกล้แค่นี้เอง คนเราจะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เราเลยถามตัวเองว่าถ้าตายวันนี้มีอะไรที่เสียดาย ตอนนั้นเราทำงานเป็นกองบรรณาธิการแล้วแต่กลับค้นพบว่า เราเสียดายที่ไม่ได้ดูแลอีกความฝันหนึ่ง เสียดายที่ยังไม่ได้วาดรูปอย่างเต็มที่ สุดท้ายเราเลือกไปเรียนต่อด้านวาดภาพประกอบที่ลอนดอน และตอนที่พี่ก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน) ให้เราทำคอลัมน์ Book Sanctuary จริงๆ เขาให้เราทำแค่เขียนกับถ่ายภาพ แต่เราก็เสนอวาดภาพไปด้วยเพราะทั้งหมดนั้นคือตัวตนของเรา
แล้วทำไมถึงทำคอลัมน์ที่พูดถึงร้านหนังสือ
จริงๆ ก่อนไป เราไม่ได้นึกถึงร้านหนังสือเลย คิดแค่ว่าแต่ละวันจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง แต่เราเป็นคนประหยัด ถ้าเดินได้ก็จะเดิน ทีนี้พอเดินเลยเจอร้านหนังสือเยอะมาก แต่ละร้านก็สวยมาก เราเลยเริ่มแวะเข้าไป ประจวบเหมาะกับช่วงแรกที่ไปพี่ก้องมาที่ลอนดอนพอดี ช่วงนั้นเว็บไซต์ adaymagazine.com เพิ่งจะเริ่ม และอยู่ในช่วงมองหาคอลัมนิสต์ พี่ก้องก็เห็นว่าลอนดอนร้านหนังสือเยอะ น่าสนใจ และถามเราว่าทำคอลัมน์ไหม ตอนนั้นรู้สึกว่าใช่เลย ถูกต้องทุกอย่าง เหมือนพอเป็นคนที่ชอบเข้าร้านหนังสืออยู่แล้ว วันหนึ่งมีคนบอกให้ทำคอลัมน์เรื่องนี้อีก สิ่งนี้จะกลายเป็นหนังสือซึ่งคือยอดภูเขาของเรา ถูกต้องค่ะ (หัวเราะ)
พอได้ลงลึกไปกับคอลัมน์นี้ คุณพบอะไรในร้านหนังสือของลอนดอนบ้าง
เอาจริงๆ เราไม่รู้เหมือนกันว่าลอนดอนมีวัฒนธรรมการอ่านที่ดีก่อนหรือคนชอบอ่านหนังสือก่อน แต่จากการไปร้านหนังสือและใช้ชีวิตในลอนดอน เราค้นพบว่าคนที่นี่รักการอ่านและวัฒนธรรมของเขาก็เสริมกัน ร้านหนังสือผุดขึ้นมาได้ในทุกๆ ที่ และแต่ละร้านก็เฉพาะทางสุดๆ มันเป็นแบบนี้ได้เพราะความต้องการเขาเยอะและหลากหลาย แต่ละร้านก็มีลูกเล่น เขาคิดมาหมดว่าหนังสือในร้านเขาจะขายใคร เล่าอย่างไร อย่างร้าน Foyles เป็นร้านหนังสือขนาด 6 ชั้น ก่อนหน้าเราเข้าไปก็คิดนะว่าใครจะไปเดินหมด แต่พอเราเข้าไป เราเจอการแนะนำหนังสือของเขาที่พนักงานแต่ละคนจะเขียนแนะนำด้วยลายมือของตัวเอง หรือบางร้านก็แบ่งหมวดหนังสือตามประเภทนิสัย เช่น ถ้าคุณเป็นคนที่อยากหาความสุขในชีวิต ลองอ่านเล่มนี้สิ เราเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงอยู่รอด
ในแง่คนล่ะ ที่บอกว่าคนลอนดอนรักการอ่านคืออย่างไร
เราจะเห็นเลยว่าคนลอนดอนถือหนังสือเยอะกว่าเมืองไทย อย่างอยู่บนรถไฟหรือร้านอาหาร แทนที่เขาจะไถมือถือ เขาจะมีหนังสือติดตัวอยู่ตลอดเวลา อีกอย่างที่อยู่ในยีนของพวกเขาคือการเป็นนักเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์หรือร้านหนังสือ เขาไม่ได้เล่าออกมาทื่อๆ แต่เขาคิดมาแล้วว่าจะทำอย่างไรให้คนซาบซึ้งกับเรื่องราวนี้มากที่สุด ด้วยความที่เขามียีนแบบนั้น เวลาเขาทำอะไรก็จะเล่ามันออกมาได้ว้าวมาก
อะไรคือสิ่งดีงามที่สัมผัสได้จากการทำคอลัมน์นี้
เรารู้สึกโชคดีมากเลยที่คอลัมน์นี้ไม่ได้ทำแค่รีวิวร้าน แต่เราได้คุยกับคนในร้าน แต่ละคนมีแพสชั่นกับหนังสือที่แรงกล้า พวกเขารู้นะว่าการมาทำธุรกิจหนังสือ เขาไม่ได้กำไรเป็นเศรษฐีอะไรหรอก แต่เขาเชื่อในสิ่งนั้น เขาเชื่อในหนังสือ เขาเลยตั้งใจ สิ่งนี้มีค่าสำหรับเขาและเขาอยากให้คนอื่นรับมันไป เขาเลยหาวิธีการที่จะทำให้สิ่งที่รักไปสู่คนมากที่สุด อย่างร้านหนังสือที่ส่งหนังสือที่คาดว่าคุณจะชอบให้ทุกเดือน หรือร้านหนังสือทำอาหารที่จะทำอาหารนั้นให้คุณทานจริงๆ ความรักในสิ่งเหล่านี้มันมากพอจนทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ต้องร่ำรวยก็ได้ สิ่งนี้มีค่า และเขาอยากทำเพื่อมัน ที่สำคัญคือมีคนแบบนี้กระจายเต็มไปหมดตามร้านหนังสือต่างๆ
เหมือนคุณก็ได้รับพลังจากคนเหล่านี้
เราคิดว่าทุกครั้งที่ไปคุยกับพวกเขา เหมือนเราได้ไปเรียนและได้เจออาจารย์มากกว่า เราสนใจเรื่องการเล่าเรื่องอยู่แล้ว งานนี้เลยเหมือนพาตัวเองไปเรียนรู้จากเจ้าของร้านหนังสือที่กำลังเล่าเรื่องผ่านร้านหนังสือ คิดดูสิ นอกจากไปเรียนวาดภาพประกอบ ยังได้ไปเรียนเพิ่มจากพวกเขาเหล่านี้อีก สนุกจะตาย
พองานเริ่มปล่อยออกไปในโลกออนไลน์ รู้สึกอย่างไรบ้าง
จริงๆ เรารู้แหละว่าคอนเทนต์แบบนี้ ยอดในโลกออนไลน์จะไม่ได้มากอะไรขนาดนั้น แต่ที่สำคัญคือเราเชื่อนะว่ากำลังบอกเล่าสิ่งที่ดี ทุกครั้งที่ได้ไปสัมภาษณ์แล้วนั่งเขียน ใจเรารู้สึกตลอดว่าอยากให้คนอื่นรู้จัง ร้านนี้เขาคิดแบบนี้เลยนะ ร้านนู้นเขาทำแบบนี้แน่ะ แต่ใจหนึ่งเราก็รู้ว่าสารเหล่านี้ห่างไกลจากเมืองไทยทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เล่าออกไป มันจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่อยากให้ทุกคนได้รู้
ทำไมคนไทยจำเป็นต้องรู้เรื่องร้านหนังสือในลอนดอนด้วย
เราไม่ได้บอกว่าควรเป็นแบบเขานะ แต่เราคิดว่าเราเรียนรู้จากเขาเพื่อนำมาปรับใช้ได้ ถึงแม้คุณจะไม่ได้ทำร้านหนังสือก็ตาม แต่เราใช้ความคิดสร้างสรรค์และวิธีเล่าเรื่องเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่ทำอยู่ได้ แม้แต่หนังสือที่ทุกคนบอกว่ากำลังจะตาย แต่พวกเขาก็มีวิธีการมากมายในการอยู่รอด
พวกเขารู้ใช่ไหมว่าสถานการณ์หนังสือเป็นอย่างไร
รู้สิ เป็นเหมือนคำถามบังคับที่เราถามทุกร้านเลยว่า ยุคนี้ทำไมคนยังต้องการร้านหนังสือของคุณอยู่
คำตอบส่วนใหญ่ของพวกเขาคืออะไร
(คิด) เอาจริงๆ มันย้อนกลับไปที่คำว่า ‘sanctuary’ ก็ได้นะ ร้านหนังสือสำหรับพวกเขาไม่ใช่แค่ร้านหนังสือ มันคือสเปซที่เราจะรู้สึกอบอุ่นคุ้นเคย เต็มไปด้วยเรื่องที่เราไม่รู้และอยากรู้ คนรอบข้างที่อยู่ในร้านเดียวกันกับเราก็เป็นคนเหมือนเรา จะมีที่ไหนที่ดีขนาดนี้ แต่ละร้านยังเต็มไปด้วยพนักงานที่รู้จักหนังสือที่คุณชอบและพร้อมคุยกับคุณ บางร้านก็ยังจัดกิจกรรมเชิญนักเขียนที่คุณรักมาพูดคุย หรือเชิญคุณไปวาดรูปกับศิลปินที่คุณชอบ มันเป็นหลุมหลบภัยแถมยังได้เรียนรู้อะไรกลับมาด้วย เรารู้สึกว่าสิ่งนี้คอมพิวเตอร์ให้ไม่ได้ เหมือนกลับไปหาที่ที่ใครสักคนเข้าใจเราน่ะ มันจะมีที่สำหรับคุณในร้านหนังสือเต็มไปหมดเลย
ถ้าประเทศไทยมีแบบนี้ก็ดีเนอะ
นั่นเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเราตลอดเลยนะ เราอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าคนคงไม่ตอบรับ แต่เราก็จะแย้งว่ารู้ได้ยังไงว่าคนไม่ตอบรับ เรายังไม่เคยมีร้านแบบนี้เลย และถ้ามันเกิดขึ้นจริง เราก็อยากไป
วัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง
เราคิดว่าการอ่านหนังสือมันสอนเรา มันไม่ได้สอนแค่ตัวหนังสือข้างในเล่ม แต่ตอนที่เราไล่สายตาผ่านกระดาษ สมองเราจะวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และครุ่นคิดอย่างช้าๆ มันเป็นกระบวนการออกกำลังกายสมอง ดังนั้นถ้าถามว่าสิ่งนี้จำเป็นไหม เราว่าในยุคนี้จำเป็นนะ ส่วนในแง่ภาพใหญ่ เราก็ว่ามันจำเป็น หนังสืออาจเป็นกิจกรรมที่ดูทำได้คนเดียว แต่ถ้าเราทำให้มันแข็งแรง มันจะเกิดการคุยกัน ต่อยอด แลกเปลี่ยน เธอแนะนำหนังสือให้ฉัน ฉันแนะนำหนังสือให้เธอ แล้วเรามาคุยกันว่าหนังสือเล่มนี้ตีความว่าอย่างไรได้บ้าง ความรู้ของเราจะเติบโตได้จากการแลกเปลี่ยน และไอ้คำว่าแลกเปลี่ยน มันก็จะช่วยให้เรายอมรับความแตกต่างได้ด้วยการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นซึ่งจำเป็นมากในยุคนี้
สุดท้ายแล้วคุณอยากเปิดร้านหนังสือไหม
ไม่ได้อยากเปิดร้านหนังสือ แต่อยากเปิด reading space คล้ายๆ แบบลอนดอน ที่นี่คนจะเข้ามาอ่านหนังสือได้ และยังมีงานศิลปะ เวิร์กช็อป และคลาสสอนวาดรูป เราอยากให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน
เพราะนั่นก็คือตัวตนของเราเหมือนกัน
5 หนังสือจากลอนดอนที่ทำให้ ฟาน.ปีติ เพลิดเพลินไปกับเรื่องเล่ามหัศจรรย์
1. BOOK LOVERS’ LONDON
นี่เป็นหนังสือที่รวมร้านหนังสือทั้งมือหนึ่งมือสองในลอนดอน ห้องสมุด และอาร์ตบุ๊ก รวมแล้วเยอะมาก วันที่เราอ่านเล่มนี้เรารู้สึกว่า ร้านที่เดินเข้าไปดูก่อนหน้าที่จะมาถึงลอนดอนเป็นแค่เศษเสี้ยวของความยิ่งใหญ่ของร้านหนังสือ ที่เราว้าวไปก่อนหน้านี้มันมีมากกว่านั้นอีก แต่ละร้านในแต่ละวงการโคตรเจ๋งเลย แค่นึกภาพว่าเราจะได้ไปเหยียบที่เหล่านี้ก็มีความสุขจะแย่แล้ว
2. Alice’s Adventures in Wonderland and through the Looking Glass
นี่เป็นเล่มที่ซื้อมาตั้งแต่ช่วงแรกที่ไปถึงลอนดอน เป็นช่วงแรกที่เราเริ่มสนใจภาพจากยุควิกตอเรียนที่วาดด้วยเทคนิค etching มันพิเศษเพราะมีแค่เส้นและสีขาวกับสีดำ คุณสามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้มากมาย เราเลยซื้อเล่มนี้มาเพื่อศึกษาซึ่งก็ออกมาเป็นแนวภาพที่อยู่ในหนังสือของเราในท้ายที่สุด กระต่ายบนหน้าปกก็มาจากเล่มนี้เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘อลิซ’ ในลอนดอนที่เป็น ‘วันเดอร์แลนด์’
3. IN FAIRYLAND: Pictures from the ELF-WORLD
เราไปเจอเล่มนี้ที่ร้านหนังสือมือสองแล้วก็รู้สึกว่าใช่มาก สไตล์ของภาพหรือฟีลลิ่งในเล่มนี้เป็นการบอกเราว่า ภาพขาวดำในเล่มก่อนหน้าถ้ามีสีก็ดีได้ด้วย เป็นอีกเล่มที่เป็นเหมือนครู เราชอบไอเดียของคนสมัยก่อนที่เขามักจะจินตนาการว่ามี fairy หรือสัตว์ตัวเล็กๆ ที่มีชีวิต เราก็เลยชอบวาดอะไรที่มันผิดสเกลแบบนี้อยู่บ่อยๆ
4. Story of Art Sticker Book
เล่มนี้เป็นเล่มที่เราประทับใจในแง่วิธีเล่าเรื่อง เป็นหนังสือที่ร่วมผลิตกับ The National Gallery ในลอนดอน หนังสือเล่มนี้สอนเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ทำออกมาเป็นหนังสือสำหรับเด็ก มันสื่อว่าแม้แต่เรื่องที่ดูยากๆ เขาก็เอามาเล่าให้เด็กสนุกด้วยได้ นี่คืออีกหนึ่งความฉลาดในการเล่าเรื่องของเขา ซึ่งถ้าเดินในร้านหนังสือคุณจะเจอเทคนิคแบบนี้แพรวพราวในหนังสือแต่ละเล่มเต็มไปหมด
5. Time Out LONDON
ถ้าคุณมาลอนดอน คุณจะไม่รู้จัก Time Out ไม่ได้ นี่เป็นฟรีก๊อปปี้ที่รวมสิ่งที่ควรทำ ควรกิน และควรไปในแต่ละสัปดาห์ มันเป็นเหมือนคัมภีร์ในการใช้ชีวิต ทุกๆ อาทิตย์เราต้องเปิด Time Out เพื่อดูว่าอาทิตย์นี้ควรไปไหน อีกอย่างที่เลือกเล่มนี้มาเพราะ Time Out LONDON เล่าเรื่องสนุก เช่น คอลัมน์แอบฟังคนในรถใต้ดิน มันดีทั้งในแง่ท่องเที่ยวและเทคนิคการเล่าเรื่อง
ขอบคุณสถานที่ The Reading Room, Bangkok