ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไม่ว่าใคร อยู่มุมไหนของโลก ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกรวนทั้งสิ้น นอกจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่สาหัสรุนแรงขึ้นทุกปี ก็มีปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นทับซ้อนให้สถานการณ์โลกของเราย่ำแย่ลงไปอีก
แต่ก็ใช่ว่าทุกภาคส่วนจะอยู่นิ่งกันเฉยๆ นอกจากภาคประชาชนที่เกิดความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อมและภาพรวมสังคม จนออกมาขับเคลื่อนผ่านแคมเปญกับโปรเจกต์เจ๋งๆ แล้ว ภาคธุรกิจเองก็ปรับตัวในส่วนของการผลิต ไปจนถึงสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
อย่างในงาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability ที่จัดโดย SCG ที่เป็นการรวมพลังบุคคลสำคัญด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) เพื่อมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และส่งต่อแนวคิดเรื่องเหล่านี้แล้ว ยังมีบูทให้ความรู้ด้านพลังงานและความยั่งยืนมากมาย ไปจนถึงนิทรรศการจัดแสดงผลงานไอเดียนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากการประกวดโครงการ ‘ปล่อยแสง ไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)’
ก่อนจะไปสำรวจเหล่าไอเดียเปลี่ยนโลกในงาน ESG Symposium 2022 นี้ เราขออธิบายให้ฟังก่อนว่าโครงการ ‘ปล่อยแสง ไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)’ คือโครงการที่เกิดขึ้นเพราะ SCG ต้องการเฟ้นหากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ และมีไอเดียดีๆ ที่รอพัฒนาต่อยอด เพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น ภายใต้กรอบการพัฒนาระดับโลก ESG นั่นเอง
ว่าแต่ไอเดียผลงานที่ได้รับรางวัล จะสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อโลกขนาดไหน มาติดตามไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า
ไอเดียนวัตกรรม เพื่อโลกที่ดีขึ้น
ในงาน ESG Symposium ได้มีการมอบรางวัลให้กับตัวแทนเจ้าของผลงาน โดยมีประเภทรางวัลได้แก่ WINNER, DISTINGUISH และ Finalist อ้างอิงตามโจทย์การประกวดที่แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ไอเดียแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental) แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวน พลังงานทดแทนและทรัพยากรขาดแคลน
ไอเดียแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง (Social Inequality) แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มโอกาสความเท่าเทียม ยอมรับความแตกต่าง เช่น ชาติพันธุ์ ผิวสี อายุ เพศสภาพ (LGBTQ+) การกระจายรายได้
ไอเดียแก้ไขปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรม (Governance) แก้ไขปัญหาความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ทุจริต คอร์รัปชั่น คุณธรรม จริยธรรม
ขอบอกว่าแต่ละไอเดียแต่ละผลงานนี่แจ่มแจ๋วไม่น้อย แค่ลองจินตนาการเล่นๆ ว่าถ้าไอเดียเหล่านี้ได้รับการนำไปต่อยอดพัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรมจริงๆ จะดีแค่ไหนกันนะ
‘PARASOL’ ม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีดีที่ราคาและฟังก์ชั่น (ประเทศอินโดนีเซีย)
เราขอเริ่มจากผู้ชนะเลิศฝั่งไอเดียแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อน
PARASOL คือม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์จากเพอรอฟสไกต์ที่ใช้พลาสติก PET เป็นวัสดุหลัก PARAROL ผลิตเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มครอบครัวรายได้ต่ำทั้งในเมืองและนอกเมือง โดยผลิตภัณฑ์นี้มีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบากว่า ยืดหยุ่นกว่า และติดตั้งได้ง่ายกว่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์จากซิลิคอน ทำให้ตอบโจทย์เรื่องค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในบ้านผู้มีรายได้ต่ำ เข้าถึงพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมถึงลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
‘Clothster’ แพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองที่เชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขาย
ยังอยู่กันในฝั่งไอเดียแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราคิดว่าไอเดียนี้น่าจะถูกใจคนเมืองจำนวนไม่น้อย
Clothster เป็นแพลตฟอร์มสำหรับตลาดซื้อขายเสื้อผ้ามือสองภายใต้แนวคิด ‘ตลาดเสื้อผ้ามือสองสำหรับการค้นพบเสื้อผ้าที่โดดเด่น และเชื่อมต่อผ่านชุมชนเพื่อสร้างอนาคตแบบใหม่ให้วงการแฟชั่น’ ในแพลตฟอร์มนี้จะใช้ระบบชุมชนที่มีผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศสำหรับการซื้อขายเสื้อผ้ามือสองทางออนไลน์
‘ภาษามือกระชากใจ’ โปรแกรมที่ช่วยให้คนหูดีเข้าใจคนหูหนวก
หลังจากพาไปดูไฮไลต์ไอเดียเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้ว คราวนี้เราขยับมาดูฝั่งทางสังคมบ้าง นั่นคือ ไอเดียแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง (Social Inequality)
โปรแกรมนี้ใช้เพื่อแก้ปัญหาการสื่อสารระหว่างคนหูดีและคนหูหนวก โดยให้คนหูหนวกทำท่าภาษามือถึงเนื้อความที่ต้องการสื่อสาร จากนั้นโปรแกรมจะแปลงท่านั้นๆ ออกมาเป็นข้อความตัวอักษรให้คนหูดีเข้าได้ ทั้งยังสามารถให้คนหูดีพูดเพื่อให้โปรแกรมแสดงเป็นข้อความตัวอักษร หรือแสดงเป็นท่าภาษามือ 3 มิติ เพื่อให้คนหูหนวกรับรู้สิ่งที่ต้องการสื่อ นอกจากนี้ยังมีไอเดียออกแบบโรงเรียนภาษามือออนไลน์ที่มีบทเรียนภาษามือตั้งแต่พื้นฐานถึงขั้นสูงสำหรับคนหูหนวก หรือผู้ที่ต้องการความรู้ภาษามือด้วย
ทั้งนี้ ‘ภาษามือกระชากใจ’ ยังได้รับรางวัล DISTINGUISH ของฝั่งไอเดียแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง (Social Inequality) อีกด้วย
‘Beep Beep Cap’ หมวกนิรภัยเพื่อผู้พิการทางสายตา
ทางทีมได้คิดค้น Beep Beep Cap ให้เป็นหมวกนิรภัยสําหรับผู้พิการทางสายตา โดยมีรูปลักษณ์เหมือนหมวกนิรภัยในปัจจุบัน ทว่าซ่อนตัวเซ็นเซอร์ไว้ใช้ตรวจจับระยะวัตถุ และส่งเสียงผ่านหูฟังแจ้งเตือนระยะของวัตถุ เพื่อลดความเสี่ยงที่ศีรษะของผู้พิการทางสายตาจะชนสิ่งกีดขวาง
‘PREDOC’ แอปพลิเคชั่นวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง
Predoc เป็นแอปพลิเคชั่นวินิจฉัยโรคเบื้องต้นจากอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานคาดการณ์ถึงโรคที่มีโอกาสจะเป็น โดยจะบอกข้อมูลสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง และวิธีการรักษาเบื้องต้นให้ด้วย โดยการทำแบบประเมินโรคเบื้องต้นจากอาการป่วย ความโดดเด่นของแอปฯ นี้คือใช้ Decision Tree ซึ่งเป็น Machine Learning ที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ในการวิเคราะห์โรคที่มีโอกาสเป็น
‘KHUN CAR’ แอปพลิเคชั่นที่จะทำให้คนไทยรักษากฎจราจรมากขึ้น
มาถึงส่วนไอเดียแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรม (Governance) ที่จะช่วยให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
KHUN CAR (คุณคาร์) แอปพลิเคชั่นช่วยคนไทยรักษากฎจราจร ผ่านตัวแทนโมเดลรถ 3 มิติที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามการรักษาหรือละเมิดกฎต่างๆ มีช่องทางให้แจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎจราจร รวมทั้งมีสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ การลดหย่อนภาษี, ลดหย่อนค่าต่อ พ.ร.บ. รายปี, ส่วนลดค่าน้ำมัน และดีลพิเศษจากร้านอาหารอีกมากมาย โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล DISTINGUISH ไอเดียแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรม (Governance) ที่น่านำไปใช้งานจริงสุดๆ
‘QUASH CORRUPTION’ แก้ไขปัญหาทุจริตด้วยการตรวจสอบจากประชาชน
QUASH CORRUPTION เป็นแอปพลิเคชั่นที่คิดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง และแจ้งเหตุทุจริตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้
‘ระบบเลือกตั้งออนไลน์ (P.A.N.)’ ที่จะทำให้การเลือกตั้งสะดวกกว่าเดิม
ระบบเลือกตั้งออนไลน์ (P.A.N.) เป็นระบบที่คิดค้นขึ้นเพื่อลดปัญหาการทุจริต และคอร์รัปชั่นในการเลือกตั้ง รวมถึงอำนวยความสะดวกสบายและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามจุดเลือกตั้งในสถานที่ต่างๆ
‘โตไปไม่โกง Next Level’ (Shakeup) แพลตฟอร์มร้องเรียนในสถานศึกษา
ปิดท้ายที่อีกหนึ่งชิ้นงานที่ได้รับรางวัล DISTINGUISH ส่วนไอเดียแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรม (Governance) นั่นคือ แพลตฟอร์ม โตไปไม่โกง Next Level (Shakeup) ที่มีเป้าหมายในการริเริ่มปลูกฝังจิตสำนึกด้านการวิเคราะห์เรื่องที่ถูกและผิด รวมไปถึงสร้างความตระหนักรู้สิทธิ์อื่นๆ ที่ทุกคนพึงมี ผ่านการลงมือทำได้ง่ายๆ ด้วยการร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์ม โดยให้สภานักเรียนหรือนักศึกษาเข้ามามีบทบาทเป็นตัวแทนดำเนินการร้องเรียน เพื่อยื่นเรื่องต่อผู้บริหารสถานศึกษาในวาระที่เห็นสมควรแก่การแก้ไข อ้างอิงกับหลักการสอบสวนและถกเถียงข้อเท็จจริงกันอย่างโปร่งใส