ความโชคดีของชายผู้โชคร้ายที่ติดอยู่ในสนามบินเยอรมนี 19 ชั่วโมงเพราะโควิด-19

หลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ Auschwitz concentration camp หรือค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อยทั้งจากภาพยนตร์หรือสารคดีต่างๆ เมื่อปีกลายที่ผ่านมาผมได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Playing for Time ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสาวนักดนตรีชาวยิวที่ถูกนาซีจับตัวเข้าไปในค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ และต้องเล่นดนตรีให้เพื่อนที่เป็นเชลยด้วยกันฟัง แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่องนี้นําตัวผมไปสู่รั้วกักกันเอาช์วิตซ์โดยหารู้ไม่ว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทําให้ผมต้องติดอยู่ในสนามบินนานกว่า 19 ชั่วโมง

ผมตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าหลายเดือนเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรป การเดินทางของผมครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จนถึง 22 มีนาคม ระยะเวลาเดินทางรวมทั้งหมด 22 วัน โดยเริ่มต้นที่เยอรมนี ต่อด้วยอิตาลี, โปแลนด์ และเช็ก

การเตรียมเอกสารต่างๆ ที่ใช้ยื่นวีซ่า การจองที่พัก ตั๋วรถไฟต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ผมตั้งหน้าตั้งตารอการเดินทางครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ จนกระทั่งช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ลุกลามไปถึงเอเชียตะวันออก รวมไปถึงแถบภาคเหนือของอิตาลี

ผมติดตามการรายงานข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดจน 3 วันก่อนวันเดินทางผมตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางโดยตัดอิตาลีออกไป ยอมเสียตั๋วรถไฟและที่พักต่างๆ ที่ชําระไปแล้ว โดยเพิ่มออสเตรีย, ฮังการี, เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก เข้ามาแทน

วันที่ 1 มีนาคม

ผมเดินทางมาถึง München Hauptbahnhof เวลา 20:30 น. ก้าวแรกที่เดินออกมาจาก S-Bahn ก็เห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของสถานการณ์ในมิวนิกกับกรุงเทพฯ คนที่นี่ไม่มีความแตกตื่นกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ไม่มีการป้องกันใดๆ ทั้งสิ้น การกอดจูบทักทายยังคงเป็นเรื่องปกติ ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเดินทางด้วยรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถราง รถเมล์ หรือว่าจะเป็นรถโค้ชที่ออกนอกเมืองก็ตาม

สัปดาห์แรกของการเดินทาง

ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับชาวยุโรปหลายๆ คนเรื่องโควิด-19 ชาวยุโรปส่วนใหญ่คิดว่าโควิด-19 คือไข้หวัดใหญ่ธรรมดาๆ และการสวมหน้ากากอนามัยสําหรับชาวยุโรปจะถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีไข้หรือติดเชื้อ ถ้าคนเอเชียหัวดําอย่างผมเดินสวมหน้ากากอนามัยในเมืองแถบยุโรปมันคงเป็นจุดเด่นและเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดสําหรับคนที่นี่แน่นอน

วันหนึ่งในเบอร์ลินผมเห็นหญิงสาววัยรุ่นชาวเอเชียสวมหน้ากากอนามัยขึ้น U-Bahn แล้วถูกคนเยอรมันต่อว่า ทําให้ผมมั่นใจว่าชาวยุโรปส่วนใหญ่ค่อนข้างประมาทกับเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่พอสมควร

ตอนนั้นพวกเขายังไม่รู้ว่าอีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้าพวกเขาจะต้องพบเจอกับอะไร

สัปดาห์ที่สองของการเดินทาง

ผมยังคงเช็กข่าวคราวของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งข่าวจากฝั่งทางบ้านและฝั่งยุโรป

การแพร่เชื้อของโควิด-19 เริ่มระบาดมากขึ้นในยุโรป มันแผ่ขยายอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องการป้องกันมากขึ้น หลายครั้งผมเห็นชาวยุโรปบีบเจลแอลกอฮอล์ใส่ฝ่ามือ สถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างเช่นซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยได้ใช้ แต่มาตรการที่ชาวยุโรปใช้ป้องกันมากที่สุดคือ social distancing หลายๆ ที่ หลายๆ ร้านค้าจะมีเชือกมากั้นเพื่อรักษาระยะห่าง

แต่ถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นผู้คนสวมหน้ากากอนามัย ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็นทำให้การไอหรือการสั่งนํ้ามูกเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดในช่วงสัปดาห์นี้เวลามีเสียงคนไอในสถานที่สาธารณะคนจะเริ่มเดินออกห่าง

ทุกคนเริ่มวิตกและหวาดระแวงผู้คนรอบข้างมากกว่าสัปดาห์แรกที่ผมไปถึง

สัปดาห์ที่สามของการเดินทาง

จํานวนผู้ติดเชื้อเริ่มมากขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ จากหลักสิบไปหลักร้อย หลักร้อยไปหลักพัน หลักพันไปหลักหมื่น

หลายๆ เมืองในยุโรปเริ่มหวาดหวั่นและวิตกกังวลกับการแพร่เชื้อโควิด-19 หลายๆ ประเทศเริ่มมีมาตรการสั่งปิดพรมแดนหรือสั่งปิดประเทศ สําหรับนักท่องเที่ยวอย่างผมการเดินท่องเที่ยวเริ่มยากลําบากมากขึ้น ร้านค้าร้านอาหารถูกปิดหมด เหลือแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังคงเปิดให้บริการ

หลายเมืองเริ่มร้าง ไม่มีผู้คนออกมาเดินในเมือง รถไฟเริ่มมาไม่ตรงเวลา รถโค้ชเริ่มหยุดวิ่ง พรมแดนระหว่างประเทศเริ่มมีการตรวจตรานักท่องเที่ยวมากขึ้น ที่พักหลายๆ แห่งเริ่มปฏิเสธนักท่องเที่ยว

วันที่ 20 มีนาคม

เวลา 11:00 น.

มีแถลงการณ์จากรัฐบาลเยอรมนีว่าเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด หลายๆ รัฐจะถูก lockdown รวมไปถึงรัฐ Bavaria ที่ผมอยู่ด้วย มาตรการนี้จะเริ่มใช้วันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งนั่นหมายถึงวันพรุ่งนี้

ความวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาด เรื่องสายการบินจะหยุดให้บริการ และเกรงว่าจะกลับประเทศตัวเองไม่ได้เริ่มแล่นเข้ามาในหัว ผมตัดสินใจเช็กเอาต์จากที่พักใน Grainau เมืองเล็กๆ ติดชายแดนเยอรมนี-ออสเตรีย แล้วเสี่ยงนั่งรถไฟมุ่งหน้าไปสนามบินมิวนิกเพื่อเลื่อนตั๋วเครื่องบินขากลับให้เร็วขึ้น

ในสถานการณ์แบบนี้การเลื่อนตั๋วเพื่อที่จะได้กลับไวขึ้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ผมมีเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการจัดการตั๋วเครื่องบิน

ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าเราต้องกลับวันนี้ ถ้าเปลี่ยนตั๋วกลับไม่ได้ก็ซื้อใหม่เลย!

เวลา 17:00 น.

ในที่สุดผมก็สามารถเลื่อนตั๋วได้ก่อนเครื่องออกเพียงแค่ชั่วโมงครึ่ง

ผมเดินไปเช็กอิน โหลดกระเป๋า อดทนอีกแค่อึดใจเดียวก็จะถึงกรุงเทพฯ บ้านเกิดเมืองนอนเราแล้ว ผมรีบเดินเข้าไปในเกตเพื่อซื้อของฝากให้คนทางบ้าน ปรากฏว่าร้านค้าทุกร้านปิดหมด ยํ้าว่าทุกร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ช็อป Duty Free แต่ผมก็ไม่ได้กังวลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผมกําลังจะได้กลับบ้านไปเจอพ่อแม่ก่อนที่ประเทศจะ lockdown ป่านนี้พ่อแม่คงเป็นห่วงกันมาก

ผมยังมองโลกในแง่ดี เข้าห้องนํ้าไปล้างหน้าล้างตาและไปรอตรงทางขึ้นเครื่อง

เวลา 18:10 น.

แล้วเรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

ก่อน boarding time เพียง 5 นาทีมีเจ้าหน้าที่จากสายการบินเดินมาหากลุ่มคนไทยที่กําลังรอขึ้นเครื่อง และขอตรวจเอกสารรับรองจากสถานทูตไทยกับใบรับรองทางการแพทย์ Fit to Fly กลุ่มคนไทยที่ไม่มีเอกสารราวๆ 5 คนรวมผมด้วยถึงกับผงะ

ผมยืนยันไปกับทางเจ้าหน้าที่สายการบินว่าหลักฐานสองอย่างนี้เริ่มใช้วันที่ 21 มีนาคม เวลา 18:00 น ตามเวลาท้องถิ่นที่ยุโรป โดยมีหลักฐานอ้างอิงจากสถานทูตไทย

เจ้าหน้าที่ไม่สนใจหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ผมจะเช็กอินและผ่านด่าน ตม.มาแล้วก็ตาม ก่อนจะพูดบางประโยคที่ทำเอาใจผมหล่นไปอยู่ที่พื้น

“ไม่ มาตรการนี้เริ่มใช้แล้ว”

ใช่ครับ สายการบินปฏิเสธการขึ้นเครื่องของคนไทย 5 คนที่ไม่มีเอกสารที่จะเริ่มใช้ในวันถัดไป แล้วอีกแค่ไม่กี่นาทีประตูเครื่องบินก็จะปิดและมุ่งหน้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ

ตอนนั้นผมช็อกมาก ความคิดทุกอย่างแล่นเข้ามาในหัวอย่างรวดเร็ว แล้วจะกลับบ้านยังไง จะออกจากสนามบินได้ไงในเมื่อเราผ่าน ตม.มาแล้ว กระเป๋าเดินทางที่เราโหลดไปล่ะ แล้วใครจะมาช่วยเรา

หลังจากนั้นเพียงแค่ไม่กี่นาทีผมก็ตั้งสติได้ ผมคิดได้ว่าต้องติดต่อสถานทูตไทย เวลาเดียวกับที่มีน้องคนไทยคนหนึ่งยื่นสายที่กําลังติดต่อกับสถานทูตไทยมาให้ผม ผมเริ่มเล่าเรื่องให้สถานทูตไทยฟังพร้อมระบุจํานวนคนไทยที่ถูกสายการบินปฏิเสธ ตอนนั้นผมรู้สึกอุ่นใจที่ได้แจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้กับทางสถานทูตฟัง ทางสถานทูตยืนยันว่าเป็นความผิดพลาดของสายการบิน แล้วผมก็ได้ยินประโยคสุดท้ายจากสายโทรศัพท์ที่ผมกําลังถือสายอยู่

“พี่กําลังขับรถออกไปเดี๋ยวนี้ พวกน้องรอพี่แป๊บหนึ่ง”

เวลา 18:40 น.

ระหว่างผมกําลังรอคอยความช่วยเหลือ ผมชําเลืองไปเห็นเครื่องบินลําที่ผมควรจะอยู่ในนั้น ค่อยๆ ขับเคลื่อนออกไปอย่างช้าๆ

ผมได้แต่ถามตัวเอง ผมทําอะไรพลาดไป ผมควรจะถึงบ้านภายใน 15 ชั่วโมง กักกันตัวเอง อาบนํ้า กินข้าวขาหมูคากิล้วน อยู่บนโซฟา เปิดแอร์เย็นๆ หาหนังดีๆ สักเรื่องดู

ทําไมตอนนี้ผมถึงไม่ได้อยู่ในเครื่องบินลํานั้นล่ะ

เวลา 19:45 น.

ระหว่างที่ผมและคนไทยอีก 4 คนกำลังเฝ้ารอเจ้าหน้าที่จากสถานทูต ผมก็เห็นชายคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมแนะนําตัวเองด้วยเสียงหอบเหนื่อย เหงื่อไหลผ่านเลนส์แว่นลงมาบนใบหน้าเขา บ่งบอกให้รู้ว่ารีบเดินทางมาที่แห่งนี้–เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในสนามบิน

“ผมชื่อ คำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เป็นรองกงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก” เขาแนะนำตัว

หลังจากนั้นพี่คํารบไม่รอช้า พาคนไทยทั้ง 5 คนไปติดต่อสายการบินทันที โดยที่พี่คํารบเป็นคนจัดการทุกอย่าง ยื่นเอกสารยืนยันจากสถานทูตไทย พร้อมทั้งถามถึงเหตุผลว่าทําไมคนไทยกลุ่มนี้ถึงไม่ได้ขึ้นเครื่องกลับไปยังกรุงเทพฯ ทางสายการบินจะรับผิดชอบยังไง

ระหว่างที่พี่คํารบติดต่อเจ้าหน้าที่สายการบิน ผมนั่งเฝ้ามองอยู่ห่างๆ ผมก็นึกสงสัยในใจว่าทําไมพี่เขาจึงต้องช่วยเหลือพวกเราขนาดนี้ ทําไมต้องออกตัวแทนพวกเราทุกคน

สิ่งที่ผมรู้สึกได้คือพี่คํารบไม่ได้ทําไปเพียงเพราะเป็นหน้าที่ แต่เขาช่วยเหลือพวกเราคนไทยที่ตกค้างอยู่ในสนามบินด้วยหัวใจ

จากความวิตกกังวลจึงเปลี่ยนมาเป็นความอุ่นใจ อยู่ดีๆ ก็มีคนไทยคนหนึ่งเข้ามาช่วยพวกผมอย่างสุดความสามารถ โดยที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อนด้วยซํ้า

 

เวลา 21:15 น.

เราได้คําตอบอย่างเป็นทางการ

คนไทยที่ตกค้างในสนามบินจะได้กลับประเทศในสายการบินถัดไปคือสายการบินไทยในวันรุ่งขึ้นเวลา 13:30 น. แต่ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย พวกผมจะไม่สามารถออกไปนอนนอกสนามบินได้ นั่นหมายความว่าพวกผมต้องนอนในสนามบินมิวนิกในช่วงที่โควิด-19 กําลังแพร่ระบาดอย่างหนักในเยอรมนี

ผมไม่มีทางเลือกมากนัก ถามว่ากังวลเรื่องโรคระบาดในสนามบินไหม ตอบเลยว่ากลัวมาก ผมสวมหน้ากากตลอดเวลา และบีบเจลล้างมือทุกครั้งที่จับต้องสิ่งใด

มันเป็นความรู้สึกที่ชวนหดหู่ เราเลื่อนตั๋วกลับไวขึ้นเพื่อหนีโรคระบาดแต่เรากลับมานอนอยู่ในที่ที่น่ากลัวที่สุดอย่างสนามบิน ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้สนุกเหมือนในหนังเรื่อง The Terminal ทุกคนที่อยู่ในสนามบินตอนนี้ต่างสวมหน้ากากอนามัยกันหมด

อาหารมื้อสุดท้ายตกถึงท้องตอนเที่ยงก่อนออกจาก Grainau แม้พวกผมจะได้คูปองอาหารชดเชยจากสายการบินมา 30 ยูโร แต่มันจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อทุกร้านค้าและร้านอาหารปิดหมด ขณะที่กำลังหิว อยู่ๆ ก็มีคนพูดขึ้นมา

“พวกน้องหิวรึปล่าว เดี๋ยวพี่ไปหาข้าวมาให้ พวกน้องรอตรงนี้นะ เดี๋ยวพี่ออกไปหาอาหารมาให้ ไม่นาน เดี๋ยวพี่มา”

หลังประโยคสิ้นสุดพี่คํารบไม่รอช้า เดินไปหาอาหารนอกสนามบินให้พวกผม

เวลา 22:50 น.

ตอนนั้นสภาพจิตใจพวกเราค่อนข้างแย่ ในขณะที่ผมกับน้องอีกคนกำลังเดินหาที่นอนว่าเก้าอี้ตัวไหนนอนได้สบายที่สุด เอนได้เยอะสุด ผมก็หันไปเจอพี่คํารบกับผู้ช่วยคนไทยเดินแบกข้าวพะรุงพะรัง ในมือของเขาถือข้าวไก่ผัดขิง หมูกรอบ เป็ดย่าง แอปเปิล มาให้

“เอ้า กินกันเยอะๆ น่าจะหิวกัน แล้วนี่พี่เอาแปรงสีฟันมาให้ด้วยนะ” พี่คํารบพูดทั้งรอยยิ้ม แล้วบอกว่ามีอะไรโทรหาได้เลย พรุ่งนี้พี่เขาจะเข้ามาเช็กความเรียบร้อยอีกที แล้วส่งพวกผมขึ้นเครื่อง

ความรู้สึกของผมตอนนั้นมันบรรยายออกมาเป็นคําพูดได้ยาก

 

วันที่ 21 มีนาคม

เวลา 8:00 น.

หลังจากที่แปรงฟัน ล้างหน้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมนำคูปองอาหารที่ได้จากสายการบินไปแลกกาแฟกับช็อกโกแลตมัฟฟินในร้านค้าร้านเดียวที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนั้น ผมนั่งจิบกาแฟร้อนในสนามบิน เหม่อมองออกไปที่ลานบินด้านนอก อีกไม่กี่ชั่วโมงก็ได้กลับบ้านแล้ว

เวลา 11:00 น.

“เดี๋ยวพวกเราเจอพี่ที่ประตู H24 นะ พี่กำลังเดินไป” ผมรับสายโทรศัพท์ที่ดังเข้ามา เสียงจากปลายสายบอกจุดนัดหมาย

ผมยกมือสวัสดีทักทายพี่คำรบอีกครั้ง พวกเรามีเวลามากมายพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน จนเมื่อผมเหลือบไปมองนาฬิกาจึงเห็นว่าใกล้เวลา boarding time เต็มที ผู้โดยสารคนอื่นลุกขึ้นเตรียมตัวที่จะมุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ถึงเวลาต้องร่ำลาผู้มีพระคุณที่สละเวลามาช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างอยู่ในสนามบิน พวกเรายกมือไหว้ขอบคุณพี่คำรบ

“ไม่ต้องขอบคุณๆ เก็บคำขอบคุณนั้นไว้แล้วไปช่วยเหลือคนอื่นที่เขาเดือดร้อนนะ”

นั่นเป็นประโยคสุดท้ายที่พี่คำรบทิ้งไว้ให้ผมไปคิด ก่อนเดินมาส่งตรงทางขึ้นเครื่องบิน

เวลา 13:30 น.

ขณะที่ผมกำลังส่งข้อความไปถึงครอบครัวว่ากำลังกลับไทยและให้ทางบ้านเตรียมข้าวขาหมูเนื้อหนังคากิกับข้าวหมูกรอบพริกเผาไข่ดาวไม่สุกไว้ให้ผมก็ได้ยินเสียงเตือน

“รบกวนท่านผู้โดยสารช่วยปิดเครื่องมือสื่อสารด้วยนะคะ”

คำพูดประโยคนั้นจากพนักงานต้อนรับคล้ายเป็นการเน้นยํ้ากับผมว่า ครั้งนี้คงจะไม่มีอะไรผิดพลาดแล้วสินะ อีก 10 ชั่วโมงเจอกันประเทศไทย

 

ไม่กี่วันหลังจากผมเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ระหว่างกักตัวอยู่บ้าน พี่คํารบก็โทรมาสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ผมได้แต่สงสัยว่าอะไรกันทําให้พี่เขาช่วยเหลือคนแปลกหน้าราวกับว่าพวกเราเป็นญาติพี่น้อง

พี่คํารบเล่าให้ผมฟังผ่านสายว่าสมัยเรียนปริญญาโทอยู่ที่ญี่ปุ่นพี่คํารบเคยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากคนญี่ปุ่น ความช่วยเหลือเหล่านั้นทําให้พี่คํารบอยากช่วยเหลือคนอื่นต่อๆ ไป และก่อนวางสายพี่คํารบยังคงยํ้าประโยคเดิมกับผม

“ถ้าเบิ้ดสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ก็ช่วยเขาไปนะ”

คําทิ้งท้ายของพี่คํารบในครั้งนี้ทําให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Pay it Forward ที่พูดถึงเรื่องการส่งต่อสิ่งที่ดีโดยให้การช่วยเหลือกับคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการเดินทางของผมครั้งนี้ มันทําให้ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าผมโชคร้ายที่ติดอยู่ในสนามบินนานกว่า 19 ชั่วโมงหรือว่าโชคดีที่ได้เจอพี่คํารบ แต่ที่แน่ๆ บทเรียนเรื่องการส่งต่อจากพี่เขาคงจะเปลี่ยนชีวิตผมไป ไม่มากก็น้อย

AUTHOR