TANA (ธนา) ร้านอาหารรสมือแม่ที่ใช้ของดีย่านท่าเตียนมาปรุงเป็นรสชาติที่ครอบครัวรัก

Highlights

  • TANA (ธนา) ร้านอาหาร home cooked สไตล์จีน-ไทย ตั้งอยู่ที่ท่าเตียน เดิมเป็น shop house ขายส่งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน กระทั่งปรับเป็นร้านอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่เปลี่ยนไป
  • เมนูของร้านเป็นอาหารที่หม่าม๊าทำให้ครอบครัวกินมาตั้งแต่ลูกๆ ยังเด็ก ในรสมือที่ยังคงเดิม
  • วัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหาร เลือกใช้ของดีในตลาดท่าเตียน เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม กุนเชียง

ความทรงจำของมนุษย์กักเก็บรสชาติอาหารไว้มากมาย และมหัศจรรย์ตรงที่บางรสชาติไม่เคยหายไปจากชีวิต แม้เคยสัมผัสลิ้นในวัยเยาว์ เติบใหญ่แล้วก็ยังจำรสนั้นได้ โดยเฉพาะรสมือของแม่นี่ล่ะที่มักฝังลึก กับข้าวหน้าตาธรรมดาแต่อร่อยเหาะ เมนูเดิมๆ แต่กินเกลี้ยงทุกที อาหารที่เห็นชินตาแต่พอไม่ได้กินนานเข้าก็คิดถึง

รสมือแม่แต่ละคนอร่อยต่างกัน อาหารของแต่ละครอบครัวก็ต่างกัน แต่ละบ้านจึงมีความทรงจำเป็นของตัวเอง

ความทรงจำของลูกๆ บ้านธนาโรจน์ปิยทัช คือภาพครอบครัวนั่งกินข้าวกันพร้อมหน้า บนโต๊ะคืออาหารจานอร่อยของหม่าม้าที่ทุกคนรัก ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ฉันกำลังนั่งอยู่ในร้านอาหารย่านท่าเตียน ที่ชื่อว่า ‘TANA (ธนา)’ และอาหารในความทรงจำของบ้านนี้ก็วางอยู่ตรงหน้า

จากอาหารบ้านๆ ที่เคยทำกินกันแค่ในบ้าน กลายเป็นอาหาร home-cooked สไตล์จีน-ไทยที่เชิญชวนให้คนนอกบ้านมาร่วมชิมและอิ่มไปด้วยกัน

เปลี่ยนร้านขายส่งเป็นร้านที่มีอาหารเสิร์ฟ

ย้อนไปเกือบ 40 ปีก่อน ชั้นบนของ shop house แห่งนี้ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัย ขณะที่ชั้นล่าง ปาป๊า–ภูมิพัฒน์ และ หม่าม๊า–ภัทร์ศรัณย์ ธนาโรจน์ปิยทัช เปิดเป็นร้านขายส่งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ลูกๆ ทั้งสามของบ้าน หนึ่ง–เอกอนงค์, วิน–อภิสฤษฎิ์ และ ที–วิริทธิพล ธนาโรจน์ปิยทัช เกิดและเติบโตในย่านท่าเตียนที่ค่อยๆ เปลี่ยนบริบทไปทีละน้อย 

ปาป๊าเล่าถึงท่าเตียนในอดีตให้ฟัง ยามนั้น ละแวกนี้คืออาณาจักรทำมาค้าขายของยี่ปั๊ว “สมัยนั้น ต่างจังหวัดต้องเอาเรือล่องมาบรรทุกสินค้าจากท่าเตียนไปขาย สมัยก่อนตามต่างจังหวัดยังไม่มีถนนเข้าถึง ไม่ว่าจะอยุธยา เมืองนนท์ การเดินทางเป็นเรือทั้งหมด แต่ละซอยแถวนี้เป็นท่าเรือทั้งหมดเลย พอเริ่มมีการตัดถนนก็เริ่มมีรถบรรทุกเข้ามาแทนที่ ทำเลค้าขายเปลี่ยน แต่ก่อนธุรกิจการค้าอยู่ทางท่าน้ำ พอถนนหนทางดี ร้านทางปากซอยถนนก็ได้เปรียบทางการค้าขึ้น ตอนนั้นการท่องเที่ยวแถวท่าเตียนนี่ไม่มีเลย”  

ตรงข้ามกับปัจจุบัน ท่าเตียนพ่วงสถานะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองหลวงเข้ามาด้วย 

“ประมาณ 4-5 ปี เรารู้สึกว่าป๊าและม้าเริ่มแก่ลงแล้ว และพื้นที่ตรงนี้เริ่มเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวมากขึ้น เราก็เลยคิดว่าอะไรที่จะตอบรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป” ทีลูกชายคนเล็ก เล่าถึงไอเดียการปรับเปลี่ยนร้านให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงที่มาถึง “ทำเป็นร้านอาหารน่าจะเหมาะที่สุด เพราะม้าก็ถนัดทำอาหารอยู่แล้ว” 

“ตั้งแต่จำความได้ ที่บ้านไม่ค่อยรู้จักคำว่าหิวเลยนะคะ” หนึ่ง ลูกสาวคนโต หยิบความทรงจำที่มีต่ออาหารการกินของบ้านมาเอ่ยถึง “ทุกเช้า ม้าจะเตรียมอาหารไว้ให้เรียบร้อยแล้ว หากนึกว่าความรู้สึกอะไรที่เด่นขึ้นมา ก็คือเราตื่นเต้นกับอาหารของม้าตลอด กลับบ้านมาก็จะตื่นเต้นว่าวันนี้ม้าจะทำอะไร เป็นความรู้สึกตั้งแต่เด็กจนโตเลย”

เมื่อลูกทั้งสามมั่นใจในฝีมือการทำครัวของหม่าม้า จึงลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนร้านขายส่งให้เป็นร้านอาหาร

“ตอนบอกว่าจะเอาสูตรของม้ามาไว้ที่ร้าน ม้าก็ถามว่าจะมีคนกินไหม” ทีหัวเราะหลังประโยค “เราเลยต้องคุยกันถึง 5 ปี ป๊าขโมยสูตรอาหารที่ม้าทำประจำมาเรียบร้อย จดไว้เป็นคัมภีร์ประมาณ 30 เมนูได้ ปกติม้าทำอาหารแบบไม่ได้มีการชั่งตวงเป๊ะๆ เน้นรสมืออย่างเดียว ไม่มีสูตรใดๆ ทั้งสิ้น ใครทำก็ไม่มีทางเหมือน ป๊าก็จับม้ามานั่ง เกลี้ยกล่อมนานมาก จนม้าบอก ได้ๆ เดี๋ยวฉันชั่งตวงให้ แต่ก็ปีหนึ่งกว่าจะเริ่มชั่งเมนูแรก” 

ถึงตรงนี้ หม่าม้าที่นั่งฟังอยู่ใกล้ๆ ถึงกับหลุดยิ้ม

“ป๊าบอกว่าถ้าเราจะเปิดร้าน รสชาติควรเสถียร มีลูกค้าคนหนึ่งมาบ่อยมาก เขาบอกว่ารสชาติอาหารที่ร้านเรานิ่งมาก เหมือนเดิมในทุกครั้งที่มากิน ทำให้เรารู้ว่าตรงนี้ล่ะสำคัญ” 

ปาป๊าเสริมลูกชาย “ร้านนี้ก็เหมือนการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจน่ะ จากร้านขายของที่เราเคยทำมาเป็นร้านอาหาร แต่ก็ยังเป็นความถนัดของภรรยา อาหารที่เรากินอยู่ทุกวัน เราก็รู้สึกว่ามันอร่อยนะ แต่เรายังไม่แน่ใจว่าคนข้างนอกที่มากินเขาจะมองว่าอร่อยไหม เพราะแต่ละคนชอบรสชาติไม่เหมือนกัน แต่จากที่เปิดมาไม่นาน ลูกค้าก็บอกว่าอร่อย บางคนมาแล้วก็พาเพื่อนกลับมาอีก เป็นอาหารบ้านๆ และรสชาติดั้งเดิมแบบที่บ้านเรากินนี่ล่ะ”

ไม่เพียงรสมือของหม่าม้าที่ยังคงเดิม แหล่งจับจ่ายวัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นอาหาร หม่าม้าก็ไม่เคยเปลี่ยนใจไปจากเดิม

วัตถุดิบล้ำค่าของท่าเตียน

“อาหารอร่อยต้องเริ่มจากวัตถุดิบที่ดีนะ” และวัตถุดิบที่ดีที่หม่าม้าเอ่ยถึงก็ไม่จำเป็นต้องไปหาที่ไหนไกลตัว ในเมื่อท่าเตียนมีตลาดที่รวมของดีเอาไว้ให้แล้ว ทั้งของสด ของแห้ง 

“เฮียวิน พี่ชายผม เคยบอกว่าไม่ใช่ว่าเราจะต้องใช้แต่ของในพื้นที่ แต่นี่คือสิ่งที่เราไม่ต้องพยายามเลย มันเป็นธรรมชาติของบ้านเรา ที่ตั้งร้านเอื้ออำนวยให้เราใช้ของใกล้บ้านได้อยู่แล้ว” ทีกล่าวแทนพี่ชายที่ไม่ได้มาร่วมวงสนทนาด้วย “ท่าเตียนเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีของดีเยอะมาก มิวเซียมสยามเคยทำนิทรรศการท่าเตียน ผมก็ไปดู เฮ้ย! มีอย่างนี้ด้วยเหรอ เป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน แต่ไม่เคยลงลึกกับมัน ความคิดนี้ก็ย้อนกลับมาเวลาที่เราทำร้าน”

“อย่างปลาเค็ม เราก็มีเจ้าประจำในตลาด” หม่าม้ายกตัวอย่างร้านที่ผูกปิ่นโตมานมนาน “ชื่อเจ๊จุก ปลาเค็มเขาทำจากปลาอินทรี จับดูเนื้อจะไม่แข็งมาก เนื้อข้างในแดงชมพูและหอม ดมดูแล้วรู้เลย ไม่ขึ้นขี้เกลือ ถ้าปลาเค็มขึ้นขี้เกลือและเนื้อแข็งคือปลาเค็มเก่า แต่ปลาเค็มเจ๊จุกเขาทำเค็มกลมกล่อม”

ปลาเค็มของเจ๊จุก หม่าม้าเอามาทำ ‘หมูสับปลาเค็ม’ หนึ่งเมนูโปรดของลูกชายคนเล็ก เวลาทำเสิร์ฟลูกค้า หม่าม้าจะโปะไข่ดาวที่ไข่แดงกึ่งสุกกึ่งดิบกำลังดีมาให้ด้วย

“ผมชอบกินปลาเค็ม ม้าจะเอาปลาเค็มไปจี่กับกระทะ จะได้ความเกรียม ฟีลคล้ายเบอร์เกอร์ มีความฉ่ำในนั้น เนื้อไม่แน่นมากเพราะมีความฟูของหมูด้วย ม้าใช้หมูสับที่ไม่บดละเอียดเกินไป ไม่เอามันเยอะ เพราะกินแล้วเลี่ยน เป็นเมนูที่ดูไม่สลับซับซ้อน แต่มีรายละเอียดอยู่มาก ปลาเค็มก็มีผลต่อรสชาติด้วย แต่ตอนเราเป็นเด็ก ไม่รู้หรอกว่าม้าไปซื้อปลาเค็มที่ไหน เราไม่ได้สนใจที่มาของวัตถุดิบ แต่พอม้าไปซื้อปลาเค็มจากที่อื่นมาทำ เอ๊ะ! ทำไมรสชาติไม่เหมือนเดิมเลย อ๋อ ม้าไปซื้อจากที่อื่น กินแล้วรู้เลย”

“หนึ่งเองเป็นคนที่ไม่ชอบกินของที่มีกลิ่นแรงนะคะ แต่ถ้าเป็นหมูสับปลาเค็มของม้าก็จะกินได้” แล้วพี่สาวคนโตก็ขอแนะนำวัตถุดิบในใจของตนบ้าง “แต่ถ้าไข่เค็มนี่ชอบมาก” 

“ไข่เค็มก็จากร้านในตลาดท่าเตียนเหมือนกัน ชื่อร้านอี่ฮงไถ่” หม่าม้ากล่าวต่อ “เขาทำมาตั้งแต่รุ่นอากงอาม่า พอกด้วยดินทะเลออร์แกนิก ไม่ใช่ดินประสิวเพราะรสชาติจะเค็มไป เขาทำมาแบบไม่เค็มมาก เต๊าะเอาแต่ไข่แดงให้เรา ไข่ขาวก็แยกขาย เจ้านี้ม้าซื้อตั้งแต่ลูกๆ ยังไม่เกิดน่ะ”

ไข่แดงเค็มของอี่ฮงไถ่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในเมนู ‘เกี๊ยวไข่แดงเค็ม’ หนึ่งอธิบายว่าเป็นสูตรที่ต่อยอดออกจากเกี๊ยวหมูที่หม่าม้าทำให้กินมาแต่ไหนแต่ไร

“เรามีเกี๊ยวหมูอยู่ในเมนูด้วยและผลตอบรับค่อนข้างดี เราเลยลองเอาไข่เค็มเพิ่มเข้าไป เป็นไอเดียของป๊า พัฒนาให้เป็นเกี๊ยวหมูไส้ไข่แดงเค็ม กัดเข้าไปเจอไข่แดงทุกคำ ราดซอสเผ็ดเพื่อตัดเลี่ยน ไม่ค่อยมีเกี๊ยวที่ไหนที่ใช้ซอสเผ็ดขนาดนี้แต่อร่อย” 

 

อาหารสบายตา รสชาติสบายใจ อิ่มสบายกาย

หม่าม้าหายเข้าไปในครัวอีกครั้ง แล้วกลับมาพร้อมอาหารอีกสองอย่าง ในชามนั้นดูน่ากิน ในหม้อร้อน เปิดฝาแล้วโชยกลิ่นหอม   

“ชิมแตงโมดองก่อนนะ ให้รู้รส แล้วค่อยคลุกรวมกัน ม้าเขาดองเอง” ปาป๊าแนะวิธีกิน ‘ข้าวหน้าหมูธนา’ ในชามขนาดหนึ่งอิ่ม นอกจากแตงโมดองที่ใช้แตงโมเนื้ออ่อนส่วนขาวติดแดงหน่อยๆ ยังมีหมูผัด กุนเชียง ไข่ขยี้ และหอมเจียวโปะมาบนข้าวสวยร้อนๆ    

“ในชามนี้เป็นทุกอย่างที่เราชอบ” ทีเล่าถึงเมนูนี้ “ม้าทำให้กินตั้งแต่เด็ก แล้วเราก็ติดใจไข่ขยี้ เหมือน scrambled egg แต่บ้านเราเรียกว่าไข่ขยี้ สมัยก่อนไม่ได้กินหน้าตาแบบนี้ กินแยกๆ กัน แล้วก็ตักใส่ชามของตัวเอง แล้วพอทุกอย่างมันอร่อยก็เลยเอามารวมไว้ในชามเดียว กุนเชียงก็จากท่าเตียน ร้านเจ๊จุกนี่ล่ะครับ”

ฉันชิมแตงโมดองเรียกน้ำย่อย แล้วจับช้อนคลุกๆๆ ตักทุกองค์ประกอบเข้าปากในคำเดียว หมูผัดหวานเค็ม กุนเชียงหวานมัน แตงโมดองเปรี้ยวหวาน ไข่ขยี้เบานวล หอมเจียวเคี้ยวกรอบ มาครบทุกรส ทุกเทกซ์เจอร์ เคล้ากันอยู่ในปาก ใกล้มือคือซุปสาหร่ายถ้วยย่อมเสิร์ฟเคียงมาให้ด้วย ต้มจากกระดูกหมูและผักอีกหลายชนิดจนได้ซุปรสหวาน

ส่วนในหม้อหูหิ้วมีควันโชยคือ ‘หมูตุ๋นสมุนไพรจีน 18 ชนิด’ เป็นการผสานกันระหว่างหมูตุ๋นสูตรของหม่าม้าและสมุนไพรจีนของปาป๊า กระด้งตากสมุนไพรบนผนังร้านคือของที่ผ่านการใช้งานจริง

“เมื่อก่อนมีช่วงที่ป๊านอนไม่หลับ ป๊าเลยศึกษาเรื่องสมุนไพร จนไปเจอตัวหนึ่งคือเง็กเต็ก” ลูกชายเท้าความ “เง็กเต็กเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น มีหลายสรรพคุณ หนึ่งในนั้นคือช่วยให้นอนหลับ ป๊าเลยลองเอามาต้มดื่ม แล้วรู้สึกว่านอนหลับได้ดีขึ้น จึงศึกษาสมุนไพรตัวอื่นๆ แล้วเอามาใช้กับหมูตุ๋นของม้า พอทำกินกันเองแล้วเวิร์ก รู้สึกสดชื่นดี สำคัญคืออร่อย เราก็เลยไปปรึกษาสถาบันแพทย์แผนจีนว่าถ้าเราทำลักษณะนี้จะมีผลอะไรไหม เขาบอกว่าสมุนไพรที่คุณใส่ลงไป 18 อย่าง มีแต่ของดีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะไม่ดีเลย”

เง็กเต็กเป็นสมุนไพรพลังหยิน มีฤทธิ์เย็น ใช้เป็นเครื่องตุ๋นก็ได้ ทำเป็นเครื่องดื่มก็ดี บ้านนี้ทำน้ำเง็กเต็กดื่มเอง และมากพอที่จะเสิร์ฟให้ลูกค้าด้วย น้ำรากบัวก็อุดมประโยชน์เช่นกัน หม่าม้าต้มเองให้หวานน้อยหน่อย รากบัวสดนำมาฝานเป็นชิ้นโต ไม่เพียงแต่ต้มให้กินเนื้อได้ แต่ยังเชื่อมด้วยน้ำตาลทรายแดงให้รสหวานอ่อนๆ ซาบเข้าเนื้อ

เมนูของร้านธนาไม่ได้หวือหวาอะไรนัก ถอดวัตถุดิบออกเป็นอย่างๆ เราก็คุ้นตากันทั้งนั้น แต่อาหาร home-cooked กลับชวนให้คนกินรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างประหลาด หน้าตาธรรมดาแต่สบายตา สบายใจที่จะชิมรสชาติ แถมอาหารบ้านนี้ยังทำขึ้นอย่างใส่ใจสุขภาพ

“เราทำกินกันในบ้านแบบไหน ก็ทำให้ลูกค้าแบบนั้นนั่นล่ะ” ปรัชญาการทำอาหารของหม่าม้าเรียบง่ายเช่นนั้น    

 

ของอร่อยของเพื่อนบ้าน ของดีในท้องถิ่น

ครอบครัวนี้ชอบกินบัวลอยน้ำขิงเป็นของหวาน พอจะเสิร์ฟให้ลูกค้า ไอเดียหยิบจับของหวานจากเพื่อนบ้านมารวมร่างก็ผุดขึ้น ทั้งไอศครีมโฮมเมดจากร้านที่ปากคลองตลาด และถั่วตัดจากร้านแถววงเวียน 22 กรกฎา  

  

ทีอธิบายถึงที่มาของ ‘ขนมบัวลอยแห้ง’ ที่จัดมาเป็นชุดน่ากิน “ทีแรกเราจะเสิร์ฟบัวลอยน้ำขิงอย่างเดียว น้ำขิงของม้ามีรสเผ็ดเข้มข้นแบบที่พวกเราชอบ บัวลอยก็เป็นเจ้าที่ม้าซื้อประจำอยู่แล้ว แต่ด้วยกรุงเทพฯ อากาศร้อน บัวลอยน้ำขิงก็ร้อน ป๊าเลยมองว่าน่าจะมีอย่างอื่นที่เย็นๆ ด้วย เราจึงเอาไอศครีมของ Farm to Table เข้ามา มีรสงาดำและรสไข่เค็ม ทีแรกผมจะเอาขนมเปี๊ยะมากินกับไอศครีม แต่มันไม่ลื่นคอ ป๊าม้าก็บอกงั้นเอาบัวลอยมาสิ แล้วจะทำยังไงให้บัวลอยไม่ติด ก็เอางามาคลุกสิ แต่ก็ยังรู้สึกว่าขาดเทกซ์เจอร์อะไรสักอย่าง ผมเลยเอาถั่วตัดจากร้านที่วงเวียน 22 ที่ป๊าซื้อประจำมาทุบหยาบๆ ไว้โรยบนไอศครีม จะได้ทั้งนุ่มและกรอบ มีร้อนและเย็น ได้ความหอมของงา บัวลอยก็เป็นบัวลอยงาดำ พอกินทุกอย่างเข้าไปก็ครบรส”

ในเมื่อใกล้ตัวเต็มไปด้วยของดี หากต้องเลือกวัตถุดิบสักอย่างมาใช้หรือใส่ในเมนู บ้านนี้จึงยืนยันที่จะมองหาของในท้องถิ่นเป็นลำดับแรก

“เวลาเราไปต่างประเทศ เราก็ไม่ค่อยอยากกินอาหารที่ทำไว้เพื่อรองรับทัวริสต์ใช่ไหมครับ เราอยากกินอาหารที่คนโลคอลกิน มีลูกค้าคนหนึ่งที่ผมประทับใจมาก เขามาจากออสเตรเลีย เขาบอกว่าอาหารของคุณน่ะ beautiful food รสชาติดี ซุปดี เขาซดจนหมด เขามาพักแถวท่าเตียน มากิน 3 รอบ ไปภูเก็ตกลับมาแล้ว ก็ยังมาทิ้งทวนที่ร้านเราก่อนกลับประเทศเขา เราจึงมองว่าเราไม่จำเป็นต้องทำอาหารในรสชาติที่ต่างชาติกิน เราทำอาหารที่เป็นตัวเรานี่ล่ะ เพราะเราไปประเทศไหนก็อยากรับรู้ประสบการณ์อาหารโลคอลของประเทศนั้นๆ”

ส่งต่อความสุขผ่านรสชาติอาหาร

ในเวลาเปิดร้าน ขณะที่หม่าม้ายืนประจำครัว ปาป๊าจะอยู่ที่หน้าร้าน คอยต้อนรับลูกค้าและเปิดเพลงโอลดี้เมโลดี้ไพเราะ ในวันหยุดที่ลูกๆ ว่างเว้นจากงานประจำ สามพี่น้องก็จะมาช่วยกันดูแล ‘ร้านธนา’ ที่ช่วยกันสร้างขึ้นมากับมือ

ฉันพอจะเดาได้ว่าชื่อร้านมาจากคำขึ้นต้นนามสกุลของครอบครัว ในอดีต ยามที่ห้องแถวนี้ยังเป็นร้ายขายส่งก็มีชื่อว่า ธนาภัณฑ์ ทีรับหน้าที่ออกแบบร้าน เขาเลือกที่จะเก็บป้ายเก่าแก่ไว้และติดในร้านที่ผ่านการรีโนเวต โลโก้ร้านใหม่มีอักษรจีนสีแดงเล็กๆ ห้อยไว้ นั่นคือคำว่า 家庭 (Jiātíng) ซึ่งแปลว่าครอบครัว 

หนึ่งขยายความว่า “คำว่า ธนา แปลว่าทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินของบ้านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินทองหรือวัตถุ แต่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมกันมาเป็นครอบครัว ที่เรารับรู้ได้ถึงความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น จุดศูนย์รวมของบ้านเราก็คืออาหาร เป็นความใส่ใจที่ม้าและป๊ามีให้คนในครอบครัว และเราก็ใช้สิ่งที่เรามีถ่ายทอดไปยังคนภายนอกครอบครัวด้วย”

“ส่งต่อความสุขผ่านรสชาติของอาหาร คือสโลแกนของร้านเรา” ทีเสริมพี่สาว “ความสุขของเราเกิดจากการได้กินอาหารรสชาติอร่อย เราก็เลยอยากส่งต่อความสุขนี้ผ่านอาหารที่หม่าม้าทำ” 

ฉันแอบถามลูกๆ ว่าตั้งแต่เปิดร้านมา ปาป๊าและหม่าม้าเป็นยังไงบ้าง 

“ผมเห็นป๊ากับม้าเขายิ้มทั้งวัน”

อาหารของบ้านนี้ก็ทำให้แขกของบ้านอย่างฉันยิ้มได้   

 


TANA (ธนา)

address : ซอยท่าเรือแดง (ท่าเตียน) ถ.มหาราช กรุงเทพฯ
tel. : 02 222 3480
hours : อังคาร-อาทิตย์ เวลา 11:00-20:00 น.
facebook : TANA Bangkok

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย