รจเรข วัฒนพาณิชย์ : ร้านหนังสือจะเปิดพื้นที่ให้ความคิดในวันที่เสรีภาพถูกปิดกั้น

Highlights

  • หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53 รจเรข วัฒนพาณิชย์ ตัดสินใจเปิดพื้นที่แห่งเสรีภาพทางความคิดในร้านหนังสือ Book Re:public เธอไม่เพียงขายหนังสือ แต่ยังจัดวงเสวนาในหัวข้อต่างๆ ให้อาจารย์​ นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างอิสระ
  • หลังการรัฐประหาร Book Re:public ถูกจับตามองเป็นพิเศษ แต่รจเรขเชื่อว่า ยิ่งเสรีภาพทางความคิดถูกปิด คนจะยิ่งอยากอ่าน อยากเขียน และไม่จำนนต่อสภาพที่เป็นอยู่

อาจเพราะเป็นวันปกติธรรมดา ไม่มีกิจกรรมเด่นอื่นใดเป็นพิเศษ บ่ายวันนี้ลูกค้าจึงบางตา ชายหนุ่มสองหญิงสาวหนึ่งกับแล็ปท็อป และหัวข้อพูดคุยถึงนักวิชาการในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมือง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเดินเข้าร้านหนังสือแห่งนี้ แต่ระยะหลังๆ ตั้งแต่ย้ายมาเปิดกิจการในทำเลใหม่ก็พอจะนับครั้งได้ บรรยากาศและพนักงานยังรักษาความเป็นส่วนตัว พื้นที่เล็กลง หนังสือคงความเข้มข้น เพิ่มเติมสินค้าเบ็ดเตล็ดหลากหลายขึ้น 

โมเดลใกล้เคียงกับ Kramerbook & Afterword Cafe ที่ รจเรข วัฒนพาณิชย์ ตกหลุมรักและเดินเข้า-ออกเป็นประจำระหว่างที่พักอยู่ในวอชิงตัน ดี.ซี. ร้านหนังสือน่ารัก เรียงรายด้วยหนังสือคัดสรรน่าอ่าน มีบริการร้านอาหาร มุมบาร์ สารพัดสินค้าและของฝาก ทั้งสมุด ดินสอ ปากกา กระเป๋า เสื้อเชิ้ต ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันพบเห็นได้แทบทั่วไปในประเทศไทย การทยอยปรับตัวสู่ lifestyle bookstore คือหนทางหนึ่งที่รจเรขมองว่าจะช่วยประคับประคองร้านหนังสือน้อยใหญ่ให้อยู่รอดท่ามกลางการแย่งชิงตลาดของสื่อสมัยใหม่ ร้านขายหนังสือออนไลน์ และผลพวงจากการเมือง

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

ปลายปี 2554 แม้จะมีหลายคนเตือนว่าเป็นการลงทุนที่สุ่มเสี่ยง เพราะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาลงจากผลกระทบของสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองแต่รจเรขและเพื่อนก็ตัดสินใจเปิดกิจการร้านหนังสือ Book Re:public ด้วยต้องการสร้างให้ที่นี่เป็นพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาทางออกให้กับปัญหาสังคมและการเมือง

“เมื่อก่อนตอนเราเป็น NGO ทำงานกับชาวบ้าน ก็คิดนะว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของนักการเมือง แต่พอทำๆ ไปก็พบว่าปัญหาบางเรื่อง ลำพังแค่หมู่บ้านมันแก้ไขไม่ได้ เพราะอำนาจหลายอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ เชื่อมโยงกับตัวบทกฎหมาย ตั้งแต่นั้นมาเราก็ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชนและเชื่อเรื่องการรณรงค์สังคมด้วยความรู้

“พอเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 เราจึงเชื่อว่าการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งเช่นนี้ มันต้องขับเคลื่อนด้วยความรู้และปัญญา เลยคิดทำร้านหนังสือขึ้นมาโดยความตั้งใจหลักคืออยากมีพื้นที่ให้บรรดาอาจารย์ หรือนักวิชาการด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การเมือง รวมถึงคนรุ่นใหม่ได้มาใช้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกันซึ่งก็น่าตกใจที่บรรยากาศช่วงนั้นมันกลับคึกคักมาก มีนักอ่านและคนร่วมกิจกรรมเสวนาเยอะมาก มีร้านหนังสืออิสระทยอยเกิดขึ้นอีกหลายร้าน เช่นเดียวกับการเพิ่มจำนวนของวรรณกรรมไทยที่พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จนเรารู้สึกได้ว่าเสรีภาพกำลังเบ่งบาน”

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

แต่หลังจากเกิดการรัฐประหาร ร้านหนังสือก็มีทหารเดินเข้าออก

รจเรขเล่าว่าเป็นช่วงเวลาที่เธอถูกหมายตาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอธิบายให้เธอฟังว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จัดบางประเด็นกระทบต่อความมั่นคงและสร้างอิทธิพลกับความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เธอขำขื่นแก่มูลเหตุของการคุกคาม เพราะในมุมกลับกันมันก็ช่วยยืนยันว่าสิ่งที่เธอทุ่มทำนั้นไม่ไร้ค่าเสียทีเดียว

ต้องหยุดกิจการไป 1 ปีเพื่อหาที่ทางใหม่ เป็นบทสรุปที่ Book Re:public ต้องเผชิญภายใต้ความผันผวนทางการเมือง ส่วนในภาพใหญ่ รจเรขมองว่าสิ่งนี้ยังเป็นเสมือนปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านหนังสือไทยอยู่ยาก

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

“ไม่ว่าจะยุคไหนๆ รัฐบาลไม่เคยมีส่วนช่วยพัฒนาวงการร้านหนังสืออย่างจริงจังและตรงจุด โอเค อาจมีโครงการส่งเสริมรักการอ่าน ซึ่งนอกจากขึ้นป้ายโปรโมตใหญ่โตแล้วก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ยิ่งหลังรัฐประหารยิ่งแล้วใหญ่ เพราะนอกจากจะไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุน ละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยังปิดกั้นเสรีภาพในการเรียนรู้ของผู้คน ดังนั้นร้านหนังสือภายใต้รัฐบาลแบบนี้จึงดำเนินธุรกิจค่อนข้างลำบาก

“แต่มันก็เหมือนเป็นดาบสองคมนะ พอยิ่งปิด คนยิ่งอยากอ่าน ยิ่งอยากสร้างสรรค์ อย่างในวงการหนังสือเท่าที่เราติดตามดูความเคลื่อนไหวก็เห็นมีนักเขียนพยายามเปิดพื้นที่กันมากขึ้น มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมพูดคุยตามร้านหนังสือหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ รวมถึงมีวรรณกรรมและบทกวีตีพิมพ์เผยแพร่กันออกมาเยอะแยะ โดยเราคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันทางการเมืองและสังคมที่บีบคั้นให้คนอยากเขียน อยากหาที่ระบาย แต่ถามจริงๆ เถอะว่า มันควรไหมล่ะที่ต้องเกิดสิ่งแบบนี้ขึ้น”

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

รจเรขยืนหนึ่งในคำตอบว่าทางออกที่ร้านหนังสือทุกร้านต้องการไม่ต่าง คือโครงสร้างการปกครองที่สนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ในร้านหนังสือที่มีหนังสือหลายหลาก การเลือกหยิบอ่านหนังสือสักเล่มไม่ควรถูกตีตราหรือล้อมกรอบด้วยบรรทัดฐานใดๆ ที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้คนได้เรียนรู้ และในบรรยากาศเช่นนี้เธอเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมแห่งเสรีจะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่วงการธุรกิจร้านหนังสือไทย

“แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ถ้าจะมานั่งบอกว่าอยากกำหนดอนาคตด้วยมือเราเอง แต่กลับไม่สนใจปัญหาการเมือง ไม่ตั้งคำถาม ไม่ช่วยกันผลักดันบางอย่างที่เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

ความหวังใกล้สุดคือการได้เห็นคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเลือกตั้ง อยากออกมากำหนดชะตากรรมของประเทศที่พวกเขาต้องอยู่กับมันต่อไปในวันข้างหน้า แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหรือไม่อาจไม่สำคัญเท่าที่เธอมองว่าสิ่งนี้เป็นความหวังและทิศทางที่ดี

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

รจเรข วัฒนาพาณิชย์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'