โอกาส การแข่งขัน และดราม่า เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นสนามใหญ่ของการหาเสียง

Highlights

  • หากเป็นฤดูกาลเลือกตั้งเมื่อก่อน เราก็คงเห็นเพียงการปักป้ายหาเสียงตามท้องถนนให้คนเห็นหน้าค่าตาผู้สมัคร แต่ปัจจุบันเมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นสนามใหญ่ของการหาเสียง เราจึงได้เห็นพรรคการเมืองชิงไหวชิงพริบกันว่าใครจะสามารถสร้างกระแสและทำให้ตัวเองเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์

โลกโซเชียลมีเดียนั้นมีบทบาทน่าสนใจ ชวนติดตาม และน่ากังวลสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้อยู่ไม่น้อย และ ณ ขณะที่เข้าช่วงเวลาของการหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบ เราจึงเห็นหน้านิวส์ฟีด ไทม์ไลน์ เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการเมืองหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่ามันผิดแปลกอะไรไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะเราก็ร้างราการเลือกตั้งมาหลายปี เลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญไม่ว่าจะกับนักการเมืองหรือประชาชนที่จะไปลงคะแนนกันในเดือนมีนาคมนี้ แต่ก็อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าและหลายๆ คนก็คงได้เห็นกันบ้างแล้ว คือโลกออนไลน์กลายเป็นสนามใหญ่ของการหาเสียง หลายๆ พรรคที่ชิงไหวชิงพริบได้ก่อน ก็จะสามารถสร้างกระแสและทำให้ตัวเองเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์ได้ดังที่เราพอจะเห็นบรรดาแฮชแท็กดังๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถ้ามองเชื่อมต่อเป็นการตลาดแล้ว ก็ไม่แปลกเช่นกัน เพราะบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็พยายามจะ ‘โฆษณา’ ตัวเองให้กลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งก็คือประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง) เลือกตัวเอง และสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกๆ ก็คือการให้พรรคตัวเอง ผู้สมัครของตัวเองมีพื้นที่สื่อ มีคนรู้จัก เพราะถ้าคนในพื้นที่ยังไม่รู้จักผู้สมัครแล้ว การจะได้คะแนนเสียงก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ หากเป็นเมื่อก่อนเราก็คงเห็นเพียงการปักป้ายหาเสียงตามท้องถนนให้คนเห็นหน้าค่าตาผู้สมัคร แต่พอมาเป็นโลกออนไลน์ซึ่งมีการควบคุมเรื่องสื่อโฆษณาต่างๆ จากเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กนั้น ก็ทำให้หลายพรรคการเมืองต้องสรรหาวิธีทางอื่นมาปั่นกระแสกัน ไม่ว่าจะหยิบนโยบายมาชู หรือพลิกมุมสร้างฐานเสียงแบบต่างๆ การแชร์คอนเทนต์ทั้งทางตรงทางอ้อม กองเชียร์ช่วยแชร์ ฯลฯ

ผลที่เกิดขึ้นตอนนี้และคิดว่าหลายคนก็คงจะรู้สึกคือเรามีข่าวสารข้อมูลการเมืองมากขึ้นๆ จนเอียนเอาได้ง่ายๆ เพราะไม่ใช่แค่จากพรรคการเมืองอย่างเดียว แต่ยังมีบทสนทนาจากเพื่อนๆ และคนรอบข้างเพิ่มเข้ามาอีก

 

เมื่อเกิดบทสนทนาเรื่องการเมืองที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ จึงมีการปะทะกันทางความคิด ความเชื่อของคนและฝั่ง ที่นับวันทำให้เกิดการผิดใจกันได้ง่ายๆ

 

จนทำให้หลายคนต้องมีการอันเฟรนด์ อันฟอลโลว์กัน บ้างก็ไปก่อดราม่าทะเลาะกันบนหน้าวอลล์เลยก็มี เราเริ่มพบการใช้คำพูดรุนแรง ทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายกันหนักขึ้นๆ จนเหมือนกับว่าเรากลับไปช่วงที่การเมืองรุนแรงเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้เป็นภาวะที่มีคนพูดถึงมากกว่าเดิมเนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ฝั่งดราม่าการเมืองว่าน่าเป็นห่วงแล้ว อีกเรื่องที่น่าห่วงไม่แพ้กันก็คือการที่ฝ่ายการเมืองเริ่มสร้าง ‘ข้อมูลเท็จ’ หรือ ‘ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน’ เพื่อหวังผลต่างๆ ไม่ว่าจะให้พรรคตัวเองดูดีขึ้นในสายตากลุ่มคนเลือกตั้ง หรือทำให้พรรคคู่แข่งดูแย่ ทำลายฐานเสียง ซึ่งจะว่าไปแล้วประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศแรกที่เจอเรื่องนี้แต่อย่างใด

ในต่างประเทศนั้น กรณีของ fake news (ข่าวเท็จ ข่าวลวง) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยยังไม่มีอินเทอร์เน็ต อย่างที่เราเห็นตามหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในต่างประเทศที่ขยันปั้นข่าว หรือพาดหัวเรียกแขกต่างๆ นานา แต่อย่างไรก็ดี fake news ในสมัยก่อนยังจำกัดอยู่ในวงที่ไม่กว้างนัก หากแต่มันเป็นเรื่องใหญ่มากกับยุคออนไลน์ที่เราเสพข่าวกันเร็วมากขึ้น ให้เวลากับรายละเอียดและการตรวจสอบข้อมูลน้อยลง เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการตัดต่อและทำคอนเทนต์นั้นก็ทำให้การทำภาพกราฟิก การทำวิดีโอเป็นเรื่องง่ายและใครๆ ก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อหรือสำนักพิมพ์ ผลคือทำให้โลกออนไลน์ตอนนี้มีความเสี่ยงกับการเกิดข่าวลือ ข่าวเท็จ หรือข่าวที่ถูกบิดเบือนได้ง่ายดายจากผู้ไม่หวังดีหรือหวังประโยชน์จากข่าวเหล่านี้

นั่นยังไม่นับกับการที่โลกโซเชียลทำให้เกิดการแชร์ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว พ่วงด้วยการแนบความคิดเห็นตัวเองเสริมเข้าไปอีก มันจึงไม่แปลกที่ตอนนี้เราจะเห็นข่าวการเมืองที่ ‘ออกรสออกชาติ’ ถูกแชร์กันอย่างรวดเร็ว ยิ่งอะไรที่สามารถเร้าอารมณ์คนได้ ไม่ว่าจะทำให้รู้สึกกรี๊ดกร๊าด รู้สึกโกรธแค้น รู้สึกเศร้าใจ ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้คอนเทนต์เหล่านี้ถูกแพร่ไปเร็วกว่าเดิม ตรงข้ามกับข้อมูลทั่วๆ ไปที่อาจดูน่าเบื่อและหลายๆ คนมองข้ามเพราะมัน ‘ไม่เร้าใจ’

ด้วยเหตุนี้ ตัวแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลเองก็พยายามพัฒนาระบบตรวจสอบบรรดา fake news เหล่านี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เรียกได้ว่าเป็นเกมแมวจับหนูที่คงวิ่งไล่กันและต้องดูว่าใครจะเร็วกว่ากัน แน่นอนว่าตอนนี้ตัวแพลตฟอร์มก็พยายามวิ่งไล่ตามด้วยวิธีต่างๆ เช่นการนำ AI และคนมาวิเคราะห์คอนเทนต์ต่างๆ แต่นั่นก็ยังไม่ทันกับปริมาณคอนเทนต์มหาศาลที่เกิดขึ้นมาไม่หยุดทุกวินาที

ฉะนั้นการรอแพลตฟอร์มในการมาแก้ปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะไม่ทันการณ์ คงต้องอาศัยวิจารณญาณของคนเสพคอนเทนต์ในการแยกแยะข้อมูลเหล่านี้ ตื่นรู้เรื่องการปลุกปั่นผ่านข้อมูลข่าวสารและไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการใช้ข้อมูลเหล่านี้สร้างความเข้าใจผิด หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือให้คนรู้เท่าทันสื่อในวันนี้โดยเฉพาะกับสื่อออนไลน์นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อน เราก็จะเห็นว่าคนแชร์ข่าวลือต่างๆ กันสนั่นไทม์ไลน์โดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่นับการวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่เหมาะสมอีกมากมาย

ซึ่งก็คงทำให้เรากลับมาคิดว่า เรายังหวังอะไรกับเรื่องการรู้เท่าทันสื่อของคนไทยในออนไลน์ไม่ได้เช่นกัน

และนั่นก็คงทำให้ต้องทำใจว่าเลือกตั้งครั้งนี้ ก็อาจมีบางอย่างให้เราต้องเรียนรู้และไปเตรียมตัวกันต่อในครั้งหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมตามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้นั่นแหละครับ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน