การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรในยุคที่ใครๆ ก็ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียได้

Highlights

  • คอลัมนิสต์ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ชวนคิดว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรในยุคที่โฆษณาบนโซเชียลมีเดียเข้าถึงคนได้อย่างเฉพาะเจาะจงกว่าเดิม

การประกาศจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในรอบหลายปีของการเมืองไทยหลังจากเราไม่มีการเลือกตั้งมานานหลายปี

แต่ที่น่าสนใจมากคือการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเรากำลังอยู่ในช่วง ‘โต’ ของการใช้ดิจิทัลโดยเฉพาะโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และไลน์ ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มาก และเราก็คงอดคิดไม่ได้ว่าบทบาทของโลกโซเชียลหรือชาวเน็ตนั้นจะมีผลกับการเลือกตั้งมากขนาดไหน

บางคนก็อาจจะคิดว่าการเลือกตั้งสมัยก่อนนั้นเราก็มีการใช้งานออนไลน์มากระดับหนึ่งแล้ว มันจะแตกต่างไปมากขนาดไหนกัน แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์ปัจจัยหลายๆ อย่างก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างพอสมควร อย่างจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันก็เรียกว่าครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศไปแล้ว (อย่างเฟซบุ๊กเองก็มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านบัญชีไปแล้ว) เช่นเดียวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งก็เป็นกลุ่มคนที่ใช้งานดิจิทัลอย่างหนักหน่วงดังสถิติที่มีการเผยแพร่ออกมาเป็นระยะๆ

แน่นอนว่าการกุมพื้นที่สื่อโลกดิจิทัลจึงกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของพรรคการเมืองอย่างไม่อาจมองข้ามได้ เพราะทุกวันนี้โลกออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีการพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างหนักหน่วงบนช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ซึ่งก็มีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

นอกจากนี้แล้ว เราก็ยังเห็นว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น หลายพรรคการเมืองก็เริ่ม ‘ถูกพูดถึง’ ผ่านเพจต่างๆ มีการตั้งบัญชีออนไลน์เพื่อมาสื่อสารกับประชาชน หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็มีการเปิดช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ (ส่วนจะเป็นการหาเสียงอะไรหรือไม่นั้น ก็คงต้องตีความกันต่อไป)

อย่างไรก็ตาม นอกจากการสื่อสารผ่านช่องทางของพรรคการเมืองหรือตัวนักการเมืองคนนั้นๆ แล้วนั้น สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือบรรดา thought leader หรือ influencer ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเฟซบุ๊กเพจ ยูทูบเบอร์ ทวิตเตอร์แอ็กเคานต์ ที่ทุกวันนี้มีอำนาจในการสื่อสารไม่แพ้กับสื่อหัวใหญ่ๆ ซึ่งก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นต่อนโยบาย การวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ ย่อมมีผลต่อคนที่ติดตามรับข่าวสารไม่มากก็น้อย

ส่วนอีกปัจจัยที่ไม่อาจจะมองข้ามได้เพราะมีการพัฒนาให้ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ก็คือเทคโนโลยีในการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยิงโฆษณาเจาะเฉพาะกลุ่ม (Targetting Ad) อย่างในเฟซบุ๊ก ตลอดไปจนถึงการทำคอนเทนต์ในระดับเฉพาะบุคคล (Personalization) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักการตลาดน่าจะคุ้นเคยกันมาพักใหญ่ๆ เพื่อใช้ในการขายสินค้าของตัวเองอยู่แล้ว

คำถามคือถ้าพรรคการเมืองนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์เหล่านี้มาใช้กับการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพรรคการเมืองเข้ามาทำการตลาดให้กับพรรคตัวเองด้วยเครื่องมือเหล่านี้ ทั้งการยิงโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย การใช้ influencer ช่วยโปรโมตพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งการนำข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ไปวิเคราะห์เพื่อจะหาโอกาสเจาะฐานคะแนนเสียงทั้งของตัวเองและคู่แข่ง ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากที่นักการตลาดทำเพื่อจะแย่งฐานคู่แข่งของตัวเองมา

พอมาถึงตรงนี้ สิ่งที่หลายๆ คนอาจเป็นกังวลอยู่ไม่น้อยคือความโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นจากข้อมูลข่าวสารที่จะล้นทะลักในช่วงใกล้การเลือกตั้ง การปล่อยข่าวลวง การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อทำลายคะแนนเสียง การเลือกนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนโดยใช้เทคนิคของเทคโนโลยีมาช่วย ฯลฯ ซึ่งก็อดห่วงไม่ได้ว่าผู้ควบคุมกฏการเลือกตั้งจะตามทันสิ่งเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เพราะมันอาจจะเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ประเทศเรายังไม่มีประสบการณ์ในการรับมือก็ได้ แถมดันมาเป็นจังหวะการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศอีกต่างหาก

สถานการณ์นี้คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองกันแบบชิลล์ๆ ได้ เพราะแม้แต่ในต่างประเทศก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กเองก็ต้องออกมาชี้แจงเพราะมีแรงกดดันจากหลายๆ ประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรมต่อทุกๆ คน

สุดท้ายแล้ว การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า เราคนไทยก็คงต้องมานั่งติดตามกันต่อล่ะว่าการเลือกตั้งครั้งแรกที่เรามีโลกออนไลน์ที่ทรงพลังขนาดนี้จะเกิดอะไรขึ้น และผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer/ Illustrator สิ่งที่ชอบคือ ของต๊อง /หมา /Gin /Sample Sales และด้วง