ช่วงสายปลายฤดูร้อนปี 2018 ผมยืนอยู่กลางลานหน้าจัตุรัสสำคัญใจกลางเมืองซาราโกซา ประเทศสเปน ก่อนจะถูกลากตัวเข้าไปเป็นคู่เต้นให้กับคุณป้าที่กำลังทำการแสดงอยู่ที่ลานนี้
เป็นครั้งแรกที่ผมถูกผู้สูงอายุฉุดกระชากลากถู ถูลู่ถูกังแบบไม่ปรานีปราศรัย คุณป้านำผมเต้นไปตามจังหวะของเพลงสเปน และจับผมหมุนไปตามสเตปแดนซ์ของแก แค่นี้คงไม่ยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่ไม่ใช่กับคนที่เต้นไก่ย่างยังคร่อมจังหวะแบบผมแน่นอน
อันที่จริงผมเองก็มาที่นี่ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันกับคุณป้านั่นแหละ
Encuentro Internacional de Folklore ‘Ciudad de Zaragoza’ คือเทศกาลดนตรีพื้นบ้านนานาชาติประจำปีของซาราโกซา เมืองหลวงแห่งแคว้นอารากอน ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 27 แล้ว
นักแสดงและนักดนตรีจากหลายประเทศต่างถูกเชิญให้มารวมตัวกันในเทศกาลนี้ ผมเองก็เช่นกัน
นอกจากโรงละครหลักของเมือง สถานที่หลักในการจัดเทศกาลดนตรีนี้ก็คือ Plaza del Pilar จัตุรัสที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป และเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังจากเรื่องราวและประวัติศาสตร์อันยาวนาน อย่างมหาวิหาร Nuestra Señora del Pilar ที่เชื่อกันว่าพระแม่มารีเคยมาปรากฏตัวที่นี่เมื่อ ค.ศ. 40 และวิหาร La Seo มรดกโลกทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานการออกแบบสไตล์มุสลิมและโรมันคาทอลิกเข้าด้วยกัน
นักแสดงจากแอลจีเรียทยอยเดินเข้าสู่ลานกว้างที่ถูกวางให้เป็นเวที ดนตรีเริ่มบรรเลง ไหล่ของนักแสดงค่อยๆ ขยับและหมุนไปตามจังหวะ คงจะดูไม่ยากนักหากนี่เป็นจังหวะบีกินหรือวอลซ์ แต่จังหวะที่ผมได้ยินคือ ‘สามสิบช่า’ (เร็วกว่าสามช่าประมาณสิบเท่า)
โจทย์การแสดงของเราในแต่ละวันจะแตกต่างกันออกไปตามแต่สถานที่ ตามแต่เวทีจะเอื้ออำนวย และโจทย์ของวันนี้คือการแสดงที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ รวมถึงนักแสดงที่ยังไม่ขึ้นเวทีอย่างผมก็นับเป็นผู้ชมด้วยเช่นกัน
เหล่าผู้ชมกรูเข้ามาร่วมวงหมุนไหล่กันอย่างสนุกสนาน และแน่นอนว่าผมก็ยังคงเต้นไม่ได้อีกเช่นเคย แล้วก็ได้แต่สงสัยว่าจังหวะที่เราเตรียมไปมันง่ายไปหรือเปล่า
“เจ้าดอกเอ๋ย…เจ้าดอกลำไย ขอเชิญประเทศไทยออกมาทำการแสดงเอยยย”
โฆษกประกาศเรียกการแสดงชุดถัดไปเป็นภาษาสเปน ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยคงได้ประมาณนี้
นักแสดงจากประเทศไทยเดินจับคู่ชาย-หญิงออกไปล้อมวงอยู่กลางเวที ยกมือไหว้ซึ่งกันและกัน และวาดลวดลายร่ายรำตามแบบนาฏศิลป์ชั้นครู ตามทำนองที่คุ้นหูมาตั้งแต่อนุบาล
‘งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า งามใบหน้ามาอยู่วงรำ…’ ถ้านึกถึงเพลงแดนซ์ของไทย นอกจาก คุกกี้เสี่ยงทาย ก็มีเพลงนี้แหละเหมาะสุด
ครั้นจะให้มาตีลังกาเป็นหนุมานก็สงสารคุณลุงคุณป้าที่จะเข้ามาร่วมวงด้วย จะให้มารำสวยๆ เป็นนางสีดาก็กลัวว่าฉันจะเสียใจ ที่ฉันชอบทำผิดไปทุกที ความคิดไม่ตรงกับใจสักที…พอ! เดี๋ยวโดนลิขสิทธิ์
เรารำเป็นตัวอย่างกันได้สักพักก็กระจายตัวไปจับคู่ใหม่กับผู้ชมรอบๆ บ้างก็จับคู่เข้ามาร่วมวงกันเอง จากรำวงมาตรฐานวงเล็กๆ ก็ขยายเป็นวงเวียนใหญ่อย่างรวดเร็ว
ผมจับพลัดจับผลูจับคู่กับสาวรัสเซียที่รอแสดงอยู่ข้างๆ กัน ดนตรีเริ่มบรรเลงอีกครั้ง การรำวงไม่มาตรฐานก็เริ่มขึ้น ก็แหม จะถามหามาตรฐานที่ไหนอีกเล่า เข้ามาร่วมสนุกกันก็พอแล้ว
ผมเริ่มจากสอนคู่ของตัวเองให้รู้จักตั้งวงก่อน แล้วจึงค่อยจีบ (หมายถึงท่ารำจริงๆ นะ) จากนั้นก็ค่อยๆ สลับท่ากันระหว่างมือทั้งสองข้าง
ผมรู้สึกเหมือนทุกสิ่งรอบตัวหยุดหมุนไปชั่วขณะ กว่าจะรู้สึกตัวก็จบไปสองเพลงแล้ว
ผมมองไปรอบตัว ทุกคนกำลังทะเลาะกับมือตัวเองเป็นพัลวัน วงรำหยุดนิ่งไม่มีเท้าใครไหวติง จนนักร้องบนเวทีต้องแอบเปลี่ยนเนื้อร้องจาก ‘รำมาซิมารำ’ ให้เป็น ‘เดินมาซิมาเดิน’ ไม่เคยคิดเลยว่าไอ้การสลับมือไปมาสองท่าที่ดูง่ายจะต้องใช้สมาธิมากมายขนาดนี้
เมื่อมือขวา-ซ้ายของหลายคนเริ่มปรองดองกัน ทุกคนก็เดินไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องอาศัยโร้ดแมป
วงรำเริ่มหมุนอีกครั้ง ทุกคนสนุกกันจนหมดเวลา ด้วยความที่เราพูดกันคนละภาษา ผมและสาวรัสเซียตรงหน้าจึงร่ำลากันด้วยภาษากาย เราโบกมือบ๊ายบายอีกฝ่ายและแยกย้ายกันลงจากเวทีเพื่อเปิดพื้นที่ให้การแสดงชุดต่อไป
Encuentro Internacional de Folklore ‘Ciudad de Zaragoza’ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองซาราโกซา จุดศูนย์กลางบนเส้นทางระหว่างมาดริด บาร์เซโลนา และบาเลนเซีย เมืองท่องเที่ยวสำคัญทั้งสามของประเทศสเปน ติดตามข่าวสารของงานนี้ได้ที่ eifolk.com
ภาพ พีรวิชญ์ ศรีนันทวงศ์