เปลี่ยนโรงรถให้เป็นห้องสมุด ‘เอี่ยม Book’ พื้นที่แบ่งปันหนังสือและโอกาสของคนเชียงใหม่

ตามประสาคนรักหนังสือ เราหวงหนังสือของตัวเองเป็นที่หนึ่ง เอี่ยม book

ก่อนซื้อต้องเลือกเล่มที่สภาพดีที่สุดจากชั้น ซื้อมาแล้วต้องห่อปก ไม่ชอบพับ ไม่ชอบเปิดกว้างจนกระดาษแอ่น เราไม่ค่อยให้ใครยืมยกเว้นคนที่ไว้ใจได้ หากยืมต้องมีกำหนดคืน พร้อมกำชับกึ่งขู่ว่าถ้าตอนเอามาคืนแล้วหน้าไหนมีรอยพับก็บอกลาโอกาสยืมเล่มใหม่ไปได้เลย

ฟังดูจุกจิกเกินไป แต่คุณอาจเข้าใจถ้ามีสิ่งที่รักและอยากทะนุถนอมเหมือนกัน

เราเคยคิดแบบนั้นจนกระทั่งได้เจอกับ โดม–สัมพันธ์ เณรรอด ชายวัย 35 ปีที่ทำให้เราตั้งคำถามกับความหวงหนังสือของตัวเอง

เอี่ยม book

เหมือนกับเรา, โดมหลงใหลในเสน่ห์หนังสือ งานอดิเรกของเขาคือการอ่าน ส่วนงานหลักคือการรันสตาร์ทอัพ ‘เอี่ยมดี รีไซเคิล’ บริการจัดการขยะรีไซเคิล 24 ชั่วโมง นอกจากเดินสายให้คำแนะนำในการแยกขยะกับคนเชียงใหม่ โดมยังรับซื้อขยะรีไซเคิลกับข้าวของเครื่องใช้มือสอง รวมไปถึงการรับบริจาคสิ่งของเหลือใช้

หนึ่งในประเภทของที่คนเชียงใหม่นิยมส่งมาให้เขามากที่สุดคือหนังสือ ด้วยปริมาณที่ล้นหลามจนน่าตกใจ โดมตัดสินใจเปลี่ยนโรงรถที่เคยเป็นที่พักของให้กลายเป็นห้องสมุดชื่อ ‘เอี่ยม Book’

นอกจากการเป็นที่พักหนังสือก่อนนำไปบริจาค โดมตั้งใจให้มันเป็นพื้นที่ในการแชร์หนังสือดีๆ ให้คนในชุมชนได้อ่าน

จะนั่งอ่านที่นี่ทั้งวัน ยืมกลับบ้าน หรือถ้าชอบมากจนอยากซื้อ โดมก็ยินดีขายให้ในราคาหลักสิบ!

“หนังสือนี่ ต่อให้เก่าหรือโดนปลวกแทะขนาดไหนมันก็ยังเป็นของมีค่าสำหรับเรา” โดมยืนยันความหลงใหล ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะผ่านมากี่มือหรือมีสภาพทรุดโทรมแค่ไหน เขาก็พร้อมจะซ่อมแซมให้เหมือนใหม่เท่าที่จะทำได้

ตามประสาคนรักหนังสือ ยามบ่ายของวันธรรมดาที่เรามีโอกาสขึ้นไปเชียงใหม่ เราแอบแวะไปเยี่ยมเอี่ยม Book และคุยกับโดม–ผู้เสนอให้เราลูบคลำหนังสือบนชั้นของเขาได้เต็มที่ไม่มีหวง

“เราอยากทำให้การแบ่งปันเป็นเรื่องง่าย” เอี่ยม book

ย้อนกลับไปในบทบันทึกแรกเริ่มของเอี่ยม Book โดมบอกว่าห้องสมุดแห่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดแรงสนับสนุนจากคนเชียงใหม่

ก่อนหน้านี้โดมเคยทำงานอยู่ที่บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เราถึงกับเซอร์ไพรส์เมื่อชายตรงหน้าบอกว่าเขาเคยอยู่เบื้องหลังรายการทีวีสุดฮิตอย่าง คนค้นฅน และ กบนอกกะลา โดมเคยประจำอยู่ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายมาสาขาเชียงใหม่ แต่ทำได้แค่ 2 ปีเขาก็ตัดสินใจลาออก

อะไรทำให้ชายคนหนึ่งทิ้งงานประจำอันมั่นคงออกมาสร้างธุรกิจจัดการขยะที่ไม่รู้อนาคต เราสงสัย

“การออกจากงานที่เราทำมาสิบกว่าปีมันยากเหมือนกัน แต่เหตุที่เราออกมาเพราะรู้สึกอิ่มตัว เราอยากท้าทายตัวเอง อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากงานที่ชอบและยังมีพลังจะทำมัน ซึ่งนอกจากงานทีวีแล้ว เราชอบงานด้านสิ่งแวดล้อม”

แม้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่โดมก็เลือกเมืองที่คุ้นเคยอย่างเชียงใหม่ในการเริ่มสร้างสตาร์ทอัพของตัวเอง อาจเพราะสเกลเมืองกำลังดี และการอยู่เชียงใหม่มาหลายปีทำให้เขาเห็นปัญหาการจัดการขยะซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของเมือง

“เราทำเรื่องรีไซเคิลเพราะเชื่อว่าเมืองที่สะอาดขึ้นจะทำให้คนรับผิดชอบมากขึ้น ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราอยากทำคือธุรกิจที่มีการแบ่งปัน เราอยากทำให้ขยะเป็นเรื่องที่ไม่ได้คิดถึงแค่ราคาซื้อขาย แต่เขาเห็นคุณค่าว่า เฮ้ย ขยะในบ้านเขา สำนักงานเขา ก็สามารถแปลงเป็นโอกาสให้คนด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ได้ แล้วขยะมันมีทุกที่ เพราะฉะนั้นทุกคนมีโอกาสที่จะช่วยเหลือคนอื่น”

เอี่ยม book

โดมแนะนำตัวเองและเอี่ยมดีให้คนเชียงใหม่รู้จักในฐานะร้านรับซื้อและพื้นที่จัดการขยะเคลื่อนที่ 24 ชั่วโมง ด้วยสัญลักษณ์จำง่ายอย่างรถมอเตอร์สีเหลืองสดใสคล้ายตุ๊กๆ ขี่ตระเวนทั่วเชียงใหม่เพื่อให้คำแนะนำในการแยกขยะ รับซื้อขยะรีไซเคิล และรับบริจาคของเหลือใช้

หลังจากคัดแยกและทำความสะอาดเรียบร้อย ของเหลือใช้จะถูกส่งต่อไปยังที่ต่างๆ สุดแล้วแต่ความต้องการของคนในพื้นที่นั้น และมีบางส่วนวางขายเป็นของมือสองที่สำนักงานเอี่ยมดี เช่น ของแต่งบ้าน รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละอย่างโดมตั้งราคาไว้ไม่เกินหลักร้อยทั้งนั้น รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย 30 เปอร์เซ็นต์จะถูกนำไปสมทบในการดูแลกลุ่มเด็กกำพร้า ผู้พิการ คนไร้บ้านและโรงเรียนในเขตพื้นที่รอบนอกจังหวัดเชียงใหม่

ยังมองไม่เห็นว่าตรงไหนจะทำกำไรได้เลย เราบอกโดมไปอย่างตรงไปตรงมา และเขาก็พยักหน้ารับคำ

“ถ้าเราเลือกทำธุรกิจโดยหวังกำไร เราไม่ทำสิ่งนี้แน่นอน เพราะกำไรน้อย ไม่คุ้มกับต้นทุน แต่เราอยากให้เห็นว่าขยะกับของเหลือสามารถใช้เป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงโอกาสให้ผู้ขาดแคลน” เขายกตัวอย่างการส่งจักรเย็บผ้าไปให้คนในชุมชนหนึ่งเพื่อสร้างอาชีพให้พวกเขา หรือการส่งอุปกรณ์กีฬาไปให้โรงเรียนในชนบทจนโรงเรียนสามารถสร้างทีมฟุตบอลได้เลย

“เราคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นธุรกิจที่มันจะอู้ฟู่ แต่จะเป็นธุรกิจที่ขยายเครือข่ายการแบ่งปันไปเรื่อยๆ รายได้ที่เกิดจากการหมุนเวียนไปนี้มันก็พอเลี้ยงปากท้องได้ กำไรเราก็คืนสังคม

“พอคนเชียงใหม่เขาเห็นว่าเราทำอะไร เขาก็เชื่อมั่นและช่วยกันบริจาค เอี่ยมดีเหมือนเป็นสะพานให้คนอื่นได้ร่วมทำบุญ”

เพียงแค่ปีครึ่ง เอี่ยมดีส่งของบริจาคให้โรงเรียนและชุมชนที่ขาดแคลนแล้วกว่า 300 แห่ง ตอนนี้โดมเพิ่งผุดบริการใหม่ชื่อ ‘เอี่ยมไรเดอร์’ ที่ทำหน้าที่คล้ายตัวกลางในการส่งของบริจาคจากบุคคลหนึ่งไปหาอีกคนหนึ่งในพื้นที่ใกล้ๆ ได้แบบฟรีๆ

“เราอยากทำให้การแบ่งปันเป็นเรื่องง่าย ไม่ให้ติดเงื่อนไขเรื่องยานพาหนะหรือเสียเงินทอง”

เอี่ยม book

“ต่อให้เก่าหรือโดนปลวกแทะขนาดไหนมันก็ยังเป็นของมีค่าสำหรับเรา”

เพราะเสียงตอบรับที่ดีของเอี่ยมดี สถานที่ที่เรายืนอยู่จึงถูกสร้างขึ้น

มองด้วยสายตา เอี่ยม Book ก็ยังมีโครงสร้างของโรงรถเด่นชัด แต่ชั้นหนังสือสูงเหนือหัวกับโซฟาน่านั่งทำให้คนรักหนังสืออย่างเรามองข้ามจุดนั้นและอดจินตนาการถึงความสุขเมื่อได้มาขลุกอยู่ที่นี่ทั้งวันไม่ได้…ถ้าเป็นวันแดดร่มแล้วมีลมเย็นหน้าหนาวพัดตลอดทั้งวันจะดีแค่ไหนกัน

มองด้วยสายตา หนังสือบนชั้นก็ดูใหม่จนเราคิดว่าเป็นหนังสือมือหนึ่ง หากกลิ่นกระดาษเก่าและสีคล้ำของกระดาษบางเล่มบ่งบอกว่ามันผ่านวันเวลามาพอสมควร

“เมื่อก่อนโรงรถนี้เป็นที่เก็บของเหลือใช้เพื่อคัดแยกและทำความสะอาด” โดมเล่าความหลังของเอี่ยม Book ให้ฟัง “เราเห็นว่าในแต่ละวันเราได้รับหนังสือบริจาคเยอะมาก เดือนหนึ่งเราบริจาคให้โรงเรียน วัด และมูลนิธิ ได้เดือนละหลายสิบกล่อง ถ้าจะให้นับก็เกิน 10,000 เล่มไปแล้ว

“ก่อนหน้านี้มีคนเข้ามาถามบ่อยๆ ว่า มีหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ไหม เราจึงรู้สึกว่าบ้านเรามีหนังสือเยอะ บริจาคก็เยอะ ทำไมเราไม่เปิดพื้นที่ตรงนี้ให้คนมาเลือกดู อ่าน และบริจาคหนังสือได้ล่ะ”

เอี่ยม book

ว่าแล้วโดมก็จัดการจัดพื้นที่ใหม่ สร้างโซนชั้นหนังสือที่เปิดให้คนภายนอกสามารถเข้ามานั่งอ่าน ยืมออกไปอ่าน หรือหากถูกใจก็ซื้อเป็นของตัวเองในราคาหลักสิบบาทไทย หรือบางเล่มแจกฟรีไปเลย

“หนังสือนี่ต่อให้เก่าหรือโดนปลวกแทะขนาดไหนมันก็ยังเป็นของมีค่าสำหรับเรา พอเก่ามันก็ดูเหมือนหมดประโยชน์ จะปล่อยทิ้งไว้ให้ปลวกกินเราก็เสียดาย เลยรับหนังสือทุกเล่มและเอามาทำความสะอาดใหม่ ถ้าอันไหนกระดาษหลุดต้องใส่กาว ห่อปกใหม่ ทำให้ดี เพราะบางเล่มเป็นหนังสือที่หาไม่ได้อีกแล้ว”

หนังสือบนชั้นของเอี่ยม Book ถูกแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ หนังสือภาพและแบบเรียนสำหรับเด็ก นิตยสาร หนังสือธรรมะ และพ็อกเก็ตบุ๊ก โดมยังเสริมว่า หนังสือที่เราเห็นตอนนี้พรุ่งนี้อาจจะไม่เห็นมันแล้วก็ได้ เพราะมีโอกาสที่จะรับล็อตใหม่มาและถ่ายล็อตเก่าไปบริจาคได้ทุกเวลา ฉะนั้นใครเจอเล่มที่ต้องตาให้รีบคว้าไว้เลย

เอี่ยม book

การทำสิ่งนี้ดูหากำไรได้ยากอีกแล้ว เราบอกโดมอย่างตรงไปตรงมา และเขาก็พยักหน้ารับคำ

“จุดประสงค์ของการทำเอี่ยม Book เราอยากให้มันเป็นพื้นที่ของการแบ่งปันและการเรียนรู้” เขาพูดชัดถ้อยชัดคำ “เราเชื่อว่าคนที่มาที่นี่คือคนที่อยากอ่านหนังสือ ต่อให้เดี๋ยวนี้การอ่านหนังสือมันน้อยลงไปเยอะ แต่คนที่มาหาเราที่นี่ยังมีความต้องการเรื่องนี้ เท่ากับว่าเขาเปิดรับที่จะเรียนรู้ เราเลยคิดว่า เฮ้ย จริงๆ เราจะเรียกมันเป็นห้องสมุดก็ได้

“คิดว่าหนังสือมีความสำคัญเพราะมันหลอมให้เราเป็นเรา อย่างเราชอบอ่านหนังสือธรรมะกับสารคดีก็สามารถเอามาปรับใช้กับชีวิตและอาชีพได้ เพราะเราอ่านหนังสือเราจึงมีทักษะต่างๆ หนังสือให้ทั้งอาชีพ หลักคิดในการดำเนินชีวิต มันมีคุณค่าแบบนั้น”

ไม่เพียงแต่คนที่เข้ามาที่นี่เท่านั้นแต่คนที่อยู่ปลายทางของการบริจาคอย่างเด็กๆ ในโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก็มอบฟีดแบ็กที่ดีกับเขาเรื่อยมา

สำหรับเด็กชนบทที่บางทีไม่ได้มีโทรศัพท์เล่นเหมือนเด็กในเมือง แม้เป็นหนังสือภาพประกอบเล่มเล็กจิ๋วมันก็เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการเรียนรู้ของเขา

ถ้าคนในสังคมมีโอกาสเท่ากัน การแบ่งปันอาจจะไม่มีความหมายเลย

ทั้งๆ ที่หน่วยงานรัฐก็มีห้องสมุดประชาชนให้อยู่แล้ว ทำไมโดมถึงต้องออกมาทำห้องสมุดแห่งนี้อีก นั่นคือสิ่งที่เราสงสัยที่สุด

“อื้อ ทำไมนะ” โดมนั่งนึกอยู่นานทีเดียว “มันอาจจะเป็นความอยาก อาจเพราะเรามีเป้าหมายนี้ในใจอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านหนังสือ แต่ต้องลำบากตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เดินทางไกลไปร้านหนังสือเพราะมีอยู่แค่ร้านเดียวในเมือง เรารู้ว่าการจะได้มาซึ่งอะไรสักอย่างมันยากสำหรับคนที่ไม่มีโอกาส สำหรับคนที่ขาดแคลน เราเป็นคนกลุ่มนั้นมาก่อน

“อีกอย่างคงเพราะเราเห็นพ่อแม่ทำงานอาสาสมัครตั้งแต่เราเกิด พอเข้ามหา’ ลัยเราเองก็มีโอกาสไปเป็นผู้นำนักศึกษา ออกค่าย ก็ปลูกฝังให้เราได้เห็นโลกที่แตกต่าง และเป็นโลกที่เหลื่อมล้ำอยู่เยอะ เราเห็นโลกแบบที่คนมันไม่เท่ากันมา เราเลยรู้สึกว่า เชี่ยแม่ง ในวันที่เราพอมีเราก็อยากให้คนอื่นเขาไม่เดือดร้อนเหมือนเรา โดยเฉพาะคนที่ลำบากเหมือนเรา”

แล้วธุรกิจเชิงแบ่งปันแบบนี้จะยั่งยืนได้ยังไง เราอยากรู้

“จริงๆ มาถึงวันนี้เรายังไม่มีเงินเดือนเลยนะ ทุกวันนี้ใช้เงินที่ได้จากตรงนี้ไปกับค่ากินค่าอยู่ก็หมดแล้ว ถามว่า เอ้า แล้วมันจะยั่งยืนไหม มันจะไปได้ไหม

“เราเชื่อเรื่องการแบ่งปันนะ เชื่อเรื่องการให้ สิ่งสำคัญคือเราต้องทำจริง เราต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่เราทำ ต่อเจตนาของเรา สิ่งสำคัญคือเรารับของเพื่อจะไปส่งมอบ บริจาคต่อ ช่วยทำให้ชีวิตหลายคนดีขึ้น พอคนเห็นว่าเอี่ยมดีทำจริงว่ะ คนเขาพร้อมจะแบ่งปันให้เราและให้ไปทำประโยชน์ต่อ เราว่าอยู่จากตรงนี้อย่างยั่งยืนได้

“ในทางกลับกัน ถ้าคนในสังคมมีโอกาสเท่ากัน การแบ่งปันอาจจะไม่มีความหมายเลย แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นไง เราจึงต้องมีการให้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องสิ่งของหรือตัวเงิน แต่มันคือการให้โอกาส

“ในทางหนึ่งสิ่งนี้มันก็ทำให้เรารู้สึกสมบูรณ์ในจิตใจด้วยเหมือนกัน”

เอี่ยม book

หลังบทสนทนาจบลง โดมคะยั้นคะยอให้เราหยิบหนังสือจากชั้นของเขาติดไม้ติดมือกลับกรุงเทพฯ มาสักเล่ม เราหยิบๆ จับๆ อยู่นานจนเจอเล่มที่ถูกใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หยิบมันกลับมา

ไม่ใช่เพราะสภาพไม่ดี แต่เราคิดว่าถ้าไปอยู่กับใครสักคนที่ต้องการมันจริงๆ อาจจะดีกว่ามาอยู่กับเรา

การได้เห็นสิ่งที่โดมทำมันทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อคุณค่าของหนังสือที่ดี มันไม่ได้วัดกันที่สภาพสวยเนี้ยบเหมือนที่เราเคยมองก่อนหน้านี้ แต่อยู่ที่ว่าหนังสือเล่มนั้นสร้างคุณค่าอะไรให้คุณ

แล้วคุณส่งต่อคุณค่านั้นให้ใคร


อยากไปนั่งอ่านหนังสือที่เอี่ยม Book ตามไปเลยที่บ้านเอี่ยมดี ร้องเรือคำ ซอย 16 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หรือต้องการบริจาคหนังสือหรือสิ่งของอื่นๆ ติดต่อได้ที่ เอี่ยมดี รีไซเคิล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย