โปรเจกต์เรือนจำของนักศึกษาไทยที่ไปอวดโฉมไกลถึงงานประชุมออกแบบเรือนจำแห่งเอเชีย

Highlights

  • แนวโน้มเรือนจำในสมัยใหม่ ไม่ได้มีฟังก์ชั่นเป็นแดนลงทัณฑ์อันน่าขนพองไว้คุมขังนักโทษอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูนักโทษบนพื้นฐานมนุษยธรรมที่นักโทษพึงได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
  • สรัยและน้ำ คือตัวแทนเยาวชนไทยที่ไปเสนอผลงานการออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงใน การประชุมออกแบบและก่อสร้างอาคารสถานที่และสถานควบคุมแห่งเอเชีย หรือ ACCFA
  • ACCFA คือแพลตฟอร์มเชื่อมประสานความเป็นไปได้ในการจัดหาทางออกที่ดีที่สุด (best practice) ในเรื่องการออกแบบเรือนจำของแต่ละประเทศ ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกอยู่ 13 ประเทศ

ซี่ลูกกรง ลวดไฟฟ้า และกำแพงสูงทึบ อาจกลายเป็นของแปลกปลอมสำหรับการออกแบบเรือนจำในทศวรรษนี้

เพราะแนวโน้มเรือนจำในสมัยใหม่ ไม่ได้มีฟังก์ชั่นเป็นแดนลงทัณฑ์อันน่าขนพองไว้คุมขังนักโทษให้เข็ดหลาบ แต่มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูและแก้ไขความผิดของนักโทษบนพื้นฐานมนุษยธรรม เพื่อให้เขาเดินกลับสู่สังคมได้อีกครั้ง

และด้วยความคิดที่ว่าเรือนจำคือที่ฟื้นฟูนักโทษ จึงทำให้โลกหลังซี่ลูกกรงไม่ใช่สถานที่น่ากลัว และไม่ถูกทิ้งให้เป็นแดนสนธยาอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันมีองค์กรหลายภาคส่วนที่เข้าไปช่วยพัฒนามาตรฐานความเป็นอยู่ของนักโทษ ทั้งเรื่องสุขอนามัย การฝึกอาชีพ รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในเรือนจำโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมที่นักโทษพึงได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ในหลายประเทศมีการออกแบบเรือนจำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาช่วยดูแลความปลอดภัย มีพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางให้นักโทษได้ทำกิจกรรม มีอาคารสำหรับฝึกทักษะอาชีพ และมีการออกแบบให้ตัวอาคารดูเป็นมิตรและลดความแข็งกร้าวลง

ทั้งหมดก็เพื่อให้นักโทษรู้สึกผ่อนคลายคล้ายกับได้รับการบำบัด มากกว่าจะรู้สึกว่ากำลังติดคุกและถูกพรากอิสรภาพไป

เพราะหากมองเรือนจำในฐานะสถาปัตยกรรมแห่งการเยียวยา เมื่อจิตใจของนักโทษได้เติมเต็มจากความสงบของสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร นี่จะเป็นยาใจชั้นดีที่ทำให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ทำพลาดพลั้งและอยากปรับปรุงแก้ไข จนไม่อยากกลับเข้ามาในเรือนจำอีก

นี่เลยอาจฟังดูสวนทาง เพราะเรือนจำที่ดี ไม่ได้ทำให้นักโทษอยากอยู่ไปนานๆ แต่กลับทำให้นักโทษลดการกระทำผิดซ้ำและออกจากเรือนจำถาวร ดูได้จากสถิติเรือนจำของบางประเทศที่มีมาตรฐานการออกแบบดีเยี่ยม พบว่ามีจำนวนนักโทษน้อยลงมากถึงกับต้องปิดตัวและประกาศขายคุกทิ้ง

การช่วยกันพัฒนามาตรฐานเรือนจำให้ดีขึ้นและการออกแบบเรือนจำที่เข้าถึงหัวใจของมนุษย์จึงเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถาปนิกมืออาชีพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือองค์กรที่ทำงานกับนักโทษเท่านั้น แต่สถาปนิกรุ่นเยาว์อย่างนักศึกษาสถาปัตย์ ก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมสมองและสร้างสรรค์โปรเจกต์ออกแบบเรือนจำยุคใหม่ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อพันธนาการนักโทษเท่านั้น แต่เป็นเรือนจำที่ช่วย ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ แก่นักโทษด้วย

สรัย–กีรติกร โชติธนวิชช์ และ น้ำ–เพียงขวัญ เศรษฐกร คือตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คือตัวแทนเยาวชนไทยไปนำเสนอผลงานการออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงใน การประชุมออกแบบและก่อสร้างอาคารสถานที่และสถานควบคุมแห่งเอเชีย หรือ ACCFA ครั้งล่าสุดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันมาเป็นปีที่ 8

ไปฟังเสียงของนักออกแบบรุ่นใหม่กันว่าถ้าฐานคิดของเรือนจำไม่ได้เป็นสถานที่ลงทัณฑ์คาดโทษ แล้วอะไรคือหัวใจหลักที่สองสาวสถาปนิกรุ่นเยาว์ใช้ในการออกแบบ เพื่อเปลี่ยนสถานที่จองจำอันอับทึบ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งการฟื้นฟูความหวังและให้กำลังใจนักโทษ

แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนบทเรียนในเรือนจำ

การประชุมออกแบบและก่อสร้างอาคารสถานที่และสถานควบคุมแห่งเอเชีย หรือ ACCFA เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2012 โดยเป็นความริเริ่มของสามภาคี ได้แก่ กระทรวงยุติธรรมประเทศไทย กระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่น และกระทรวงมหาดไทยประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นเวทีหารือร่วมกันของหลายฝ่ายเพื่อที่จะส่งเสริมให้สมาชิกร่วมกันแชร์แนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบเรือนจำ ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก การรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพองค์รวมของผู้ต้องหาในเรือนจำ

ACCFA ประกอบด้วยสมาชิก 13 ประเทศ และร่วมมือกับอีก 4 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC (International Committee of the Red Cross), สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice), UNAFEI (United Nations Asia and Far East Institute for the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ในงานประชุมนี้จึงประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับเรือนจำและนักโทษ เช่น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จากประเทศต่างๆ นักออกแบบและสถาปนิกมืออาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากสถาบันการศึกษา มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันว่าแต่ละประเทศมีองค์ความรู้ใดบ้างที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบเรือนจำ

ACCFA จึงเป็นเหมือนแพลตฟอร์มเชื่อมประสานความเป็นไปได้ในการจัดหาทางออกที่ดีที่สุด (best practice) ในเรื่องการออกแบบเรือนจำของแต่ละประเทศ เพราะในท้ายที่สุด จุดประสงค์ที่แท้จริงของการมีเรือนจำคือเป็นสถานที่ฟื้นฟูนักโทษทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ให้นักโทษสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ การออกแบบสถาปัตยกรรมในเรือนจำจึงต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ด้านตัวแทนนักศึกษาไทยอย่างสรัยและน้ำซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ระดับชั้นปีที่ 2 เรื่องการออกแบบเรือนจำสำหรับนักโทษหญิง ได้รับคัดเลือกจากทางมหาวิทยาลัยให้เป็นตัวแทนเพื่อนๆ ในชั้นเรียนและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอผลงานการออกแบบเรือนจำในเวทีระดับเอเชียครั้งนี้ด้วย

สรัย เจ้าของผลงานการออกแบบเรือนจำ ‘Reflection of Mind’ ตั้งต้นการออกแบบจากความสงสัยที่ว่า ทั้งๆ ที่แสงอาทิตย์เป็นของธรรมชาติที่ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ได้ลดมาตรฐานความปลอดภัยหรือแหกกฎเกณฑ์ของเรือนจำแต่อย่างใด แต่เหตุใดนักโทษจึงต้องถูกจองจำให้อยู่ในสถานที่อันอึมครึมตลอดเวลา เธอจึงออกแบบเรือนจำให้มีช่องแสงจำนวนมากเพื่อช่วยลดความสลัวอึมครึม และให้แสงลอดเข้ามาในอาคารเป็นเหมือนความหวังที่ส่องเข้ามาทักทายนักโทษเพื่อเติมเต็มพลังชีวิต

สรัยอธิบายหลักการและองค์ประกอบการออกแบบเรือนจำหญิงของเธอว่า

“คอนเซปต์คือเป็นเรือนจำที่ช่วยให้นักโทษได้สะท้อนย้อนคิดกับตนเอง เพื่อให้เขาคิดอยากกลับตัวเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะเราออกแบบเรือนจำด้วยความสงสัยว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมจะช่วยทำให้คนดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า การออกแบบของเราเลยเอื้อให้นักโทษได้สะท้อนความคิดของตัวเองออกมา โดยเรือนจำของเราจะมีช่องเปิดเล็กๆ ที่นำสายตานักโทษเป็นแพตเทิร์นยกขึ้นไป และมีแท่งไม้ยื่นออกไปเป็นทางเดิน แต่มีกระจกใสปิดเพื่อให้แสงลอดผ่านได้และช่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งเราต้องการแสดงสัญลักษณ์ของแสงที่เปรียบได้กับความหวัง ให้นักโทษรู้สึกไม่ว้าเหว่ในห้องปิดทึบ และให้เขาได้ครุ่นคิดกับตัวเองเพื่อค้นหาทางแห่งแสงสว่างในชีวิตระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ

“ส่วนด้านการจัดสรรพื้นที่ เราใช้เส้นโค้งเพื่อแบ่งพื้นที่เรือนนอน และกั้นพื้นที่สนามส่วนกลางทำกิจกรรมร่วมกัน มีพื้นที่ learning space ซึ่งมีห้องสมุดและมีห้องบรรยายให้ความรู้โดยวิทยาการจากภายนอก ให้มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถทำกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ” สรัยเสริม

ส่วนน้ำซึ่งเป็นเจ้าของผลงานเรือนจำหญิง ‘The Rhythm of Mortal’ ได้แรงบันดาลใจมาจากผีเสื้อตั้งแต่เป็นหนอน ดักแด้ และกลายเป็นผีเสื้อ ซึ่งเปรียบวัฏจักรชีวิตของผีเสื้อได้กับวัฏจักรชีวิตของนักโทษเฉกเช่นเดียวกัน เพราะเธอมองว่าการที่นักโทษเข้าไปในเรือนจำ คือกระบวนการปรับปรุงตัวเอง ฝึกปรับพฤติกรรม ฝึกอาชีพ เพื่อสุดท้ายแล้วนักโทษจะสามารถออกมาอยู่ในสังคมได้โดยไม่ทำความผิดซ้ำอีก และสามารถโบยบินสู่อิสรภาพได้เช่นเดียวกับผีเสื้อ

เจ้าของงานเล่าถึงการออกแบบตึกหลัก และตีความชีวิตของผีเสื้อซึ่งเปรียบได้กับชีวิตในเรือนจำว่า

“ตึกของเรามีสามตึก ตึกแรกคือโรงรับประทานอาหารซึ่งเปรียบได้กับตัวหนอน ตึกนี้จะคอยฟูมฟักให้นักโทษอิ่มท้องและมีสุขภาพกายที่ดี ส่วนเรือนนอนคือตัวแทนที่บอกว่านักโทษเป็นเหมือนดักแด้ที่ได้ใช้เวลาพักผ่อนและอยู่กับตัวเองเพื่อครุ่นคิดเรื่องราวต่างๆ ส่วนตึกสุดท้ายคือตึกสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน มีการฝึกงานให้นักโทษหญิง เราเปรียบเทียบว่าหากนักโทษมีวิชาชีพติดตัว นักโทษจะได้โบยบินอย่างเป็นอิสระจากกรงขังเหมือนอย่างผีเสื้อ 

“และในทุกๆ ตึก เราเปลี่ยนจากซี่ลูกกรงแนวตั้ง เป็นเส้นเฉียงเพื่อลดความขึงขัง ให้ดูอ่อนช้อยขึ้นและดูไม่กดดันเกินไปสำหรับนักโทษหญิง” เธอขยายถึงสาเหตุของการใช้เส้นเฉียง

นอกจากการนำเสนองานออกแบบเรือนจำหญิง สถาปนิกรุ่นเยาว์ทั้งสองยังเล่าให้เราฟังถึงองค์ความรู้ที่ได้รับจากการร่วมแลกเปลี่ยนในงานประชุมนี้ด้วย เช่น บางประเทศโดดเด่นมากเรื่องการนำเทคโนโลยีไฮเทคมาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย มีทั้งตัวตรวจจับความร้อนเพื่อตรวจดูความเคลื่อนไหวของนักโทษ มีการใช้หุ่นยนต์เดินตรวจแทนผู้คุม มีโดรนบินตรวจความปลอดภัยจากมุมสูง เพราะในบางประเทศประสบปัญหาขาดเจ้าหน้าที่ รวมทั้งค่าจ้างผู้คุมที่สูงลิ่ว จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยดูแลความปลอดภัยแทนมนุษย์ ซึ่งก็เป็นทางออกที่น่าสนใจไม่น้อย 

ที่น่าสนใจไม่แพ้เทคโนโลยีสุดล้ำในเรือนจำคือ ในบางประเทศมีการอบรมให้นักโทษหัดใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ เพื่อหลังพ้นโทษไปแล้ว นักโทษสามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพเป็นยูทูบเบอร์ได้เลย ซึ่งสองสาวมองว่าโปรแกรมอบรมนักโทษในลักษณะดังกล่าวทันยุคทันสมัย 

ส่วน อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ปรึกษาโปรเจกต์ออกแบบเรือนจำเพื่อผู้ต้องขังหญิง  เล่าภาพรวมของงานนักศึกษาซึ่งได้ประมวลออกมาเป็นองค์ความรู้เพื่อนำเสนอในเวทีประชุมระดับเอเชียครั้งนี้ด้วย อาจารย์สุนารีเล่าว่า องค์ประกอบการออกแบบหลายอย่างที่ออกมาจากพลังสร้างสรรค์ของนักศึกษา บางประเทศให้ความสนใจอย่างมากและขอหยิบไปใช้ในการออกแบบเรือนจำในอนาคต

“เรื่องแรกคือประเด็น ‘Balance of Power’ นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริงและได้ลองออกแบบอาคารเรือนจำให้มีความโค้งมน เพื่อสื่อถึงความอ่อนโยน ซึ่งพอได้คุยกับบางประเทศในการประชุม ACCFA ก็เห็นตรงกันว่าทางออกนี้น่าสนใจ เพราะการจะสร้างเรือนจำในชุมชน ชุมชนรอบข้างจะต่อต้าน เพราะการมีกำแพงสูงล้อมรอบตึกเหลี่ยมทำให้ดูเป็นอาคารอันตราย แต่พออาคารมีความโค้งมนแล้วน่าสนใจ น่าเอาไปปรับใช้ และพื้นที่รอบข้างตึกโค้งก็สามารถปรับเป็นสวนหย่อมได้ ทำให้คนในชุมชนสามารถมาออกกำลังกายรอบๆ เรือนจำได้ ซึ่งนี่สำคัญเพราะจะช่วยให้เรือนจำสามารถผสานตัวเข้ากับบริบทชุมชนรอบข้างได้

“ส่วนประเด็นเรื่อง micro living เป็นการออกแบบที่ตอบโจทย์เรื่องนักโทษล้นเรือนจำ เพราะเรือนจำส่วนใหญ่จะอัดคนเข้าไปแชร์ในพื้นที่เล็กๆ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง นักศึกษาได้ลองออกแบบและพบว่าการที่นักโทษต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่คนแปลกหน้า การจัดพื้นที่ให้มีการเรียนรู้ผู้อื่นก็สำคัญไม่แพ้เรือนนอน จึงมีการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางด้านหน้าเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะนักโทษหญิงจะต้องการการยอมรับในสังคมและต้องการเข้าสังคมมากกว่านักโทษชาย

“ส่วนเรื่องพื้นที่ในเรือนจำที่มีพื้นที่สีเขียวน้อย นักศึกษาได้ทำโครงสร้างเพื่อปลูกผักไฮโดรพอนิกส์แบบลอยตัวและแบบใต้อาคาร เป็นการสร้างความอ่อนโยนให้นักโทษได้มีกิจกรรมก่อนพ้นโทษ บางประเทศมาดูแล้วก็อยากนำไอเดียนี้ไปปรับใช้กับเรือนจำประเทศเขาเพื่อลดความอึมครึมในตัวอาคาร และส่งเสริมให้นักโทษมีกิจกรรมเพื่อฝึกอาชีพ

“ส่วนเส้นตั้งที่ทำให้ดูเหมือนห้องขัง นักศึกษาก็ลองบิดเส้นตั้งให้เฉียงเพื่อให้ดูผ่อนคลายและให้นักโทษรู้สึกไม่ได้ถูกจองจำ บางกลุ่มก็ใช้แผงกันแดดมาแทนซี่ลูกกรงเป็นระแนงที่ให้แสงลอดผ่านได้ ส่วนการระบายอากาศที่ดีก็สำคัญ หลายกลุ่มจึงออกแบบงานก่ออิฐให้เป็นช่องระบายอากาศในตัว คือไม่ต้องเอาอิฐแต่ละก้อนมาชนกันหมด แต่เปิดเป็นช่องแทน จึงเกิดงานออกแบบที่ผนังเป็นรูพรุนเพื่อช่วยระบายอากาศ ซึ่งหลายประเทศก็มองว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้” 

นี่เป็นบางตัวอย่างซึ่งอาจารย์สุนารีมองว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ประเทศ และได้หยิบยกไปแชร์ในวงประชุมครั้งนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการประชุมนี้คล้ายกับช่วยสะกิดเตือนให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุม รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เก็บเอาปัญหาเหล่านี้ไปคิดในการออกแบบเรือนจำต่อๆ ไป

กุญแจแก้ปัญหาคือการรับฟังและร่วมมือ

ทางด้านของ ฮวาเวียร์ คอร์โดบา ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสาธารณสุขส่วนภูมิภาคเอเชียแห่ง ICRC ซึ่งเข้าไปเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนบอร์ดบริหารการจัดประชุม ACCFA ตั้งแต่ปี 2015 ขยายให้ฟังถึงความท้าทายที่เรือนจำทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน เช่น ปัญหานักโทษหนาแน่นล้นเกิน ปัญหาการอำนวยความสะดวกแก่นักโทษสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นซึ่งผันแปรตามสังคมผู้สูงวัยที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เพียงพอ ปัญหาความอับทึบในเรือนจำ อากาศไม่ระบายและแสงแดดส่องไม่เพียงพอ ซึ่งฮวาเวียร์มองว่าสถาปนิกจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด

“มันเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักออกแบบและสถาปนิก เพราะบางครั้งเขาไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสร้างเรือนจำที่ไหน ทำให้เกิดความท้าทายในการแก้ปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เช่น เรื่องความแออัดของพื้นที่ เรื่องไฟฟ้าและน้ำประปาไม่เพียงพอ และเรื่องการบริการต่างๆ ที่ไม่พร้อม ทำให้ต้องอาศัยจินตนาการและความสร้างสรรค์ของสถาปนิกในการวิเคราะห์บริบทของปัญหาซึ่งทำให้เกิดนวัตกรรมการออกแบบขึ้น 

“ในระหว่างการประชุม มีประเด็นเรื่องการสร้างเรือนจำและโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่สำหรับนักโทษ และการพัฒนาเรือนจำเก่าที่มีอยู่ก่อน ยังมีปัญหาเรื่องการออกแบบให้ทำอีกมากในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เพราะนอกจากจะกำลังใช้งานอยู่แล้ว เรายังจะต้องใช้ต่อไปอีก 20 ปี และเรายังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการฟื้นฟูนักโทษอีกมาก นี่จึงเป็นภารกิจของเหล่านักออกแบบและสถาปนิกที่ควรช่วยกันปรับให้เรือนจำสามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น คือเป็นที่ฟื้นฟูและเยียวยากายใจให้นักโทษ”

ฮวาเวียร์เสริมว่าทิศทางของการพัฒนาเรือนจำกำลังมาถูกทาง แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่ต้องสะสาง เพราะเรือนจำในแต่ละประเทศก้าวหน้าไปไม่พร้อมกัน ทำให้การจัดประชุมการออกแบบเรือนจำในลักษณะนี้มีความสำคัญและจำเป็น เพราะนี่จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และดูว่าบทเรียนจากประเทศใดบ้างที่สามารถถอดเอาไปประยุกต์ใช้ได้ 

ฮวาเวียร์มองว่าการมีตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นหลักไมล์ที่สำคัญ เพราะเยาวชนจะเป็นคนจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ให้ผู้ใหญ่ไปคิดพัฒนาต่อจนสามารถทำให้เกิดขึ้นจริง และเด็กเองจะเติบโตไปเป็นนักออกแบบมืออาชีพซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหาเรือนจำอีกแรงในอนาคต 

“นักศึกษาที่มาในงานนี้เป็นเหมือนยุวทูตเรื่องการออกแบบงานสถาปัตยกรรมสำหรับเรือนจำ และในขณะเดียวกัน การที่นักศึกษาได้มาแชร์ไอเดียการออกแบบก็เป็นโมเมนต์ที่น่าจะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ไปยังผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นการปลุกพลังสร้างสรรค์ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลให้ทุกฝ่ายและทุกคนได้รับประโยชน์ 

“ในฐานะที่ ICRC เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเรือนจำร่วมกับนักวิชาการ สถาปนิกมืออาชีพ วิศวกร ฯลฯ มันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องมาร่วมกันถกกับคนรุ่นใหม่และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน เพราะเยาวชนก็ถือเป็นผู้ที่จะมีบทบาทต่อไปและช่วยสะท้อนมุมมองต่อสังคมได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่ เราจึงต้องรับส่วนนี้มาพิจารณาด้วยเช่นกัน โดยพยายามทำให้เกิดแรงกระตุ้นไปสู่แวดวงวิชาการ และประเทศไทยก็รับไม้ต่อได้อย่างดีเยี่ยมผ่านการออกแบบหลักสูตรร่วมกันกับ ICRC เพื่อให้นักศึกษาลองออกแบบเรือนจำอย่างสร้างสรรค์ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องให้เยาวชนร่วมการประชุม ACCFA”

ฮวาเวียร์ย้ำชัดว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มปลูกฝังความรู้เรื่องการออกแบบเรือนจำตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย เพราะการลงมือปฏิบัติจริงจะทำให้นักศึกษาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้การออกแบบเรือนจำเดินไปถูกทางและเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่