WAKE UP! – a day 217

เดือนก่อน TCDC กรุงเทพฯ ชวนผมไปทำเวิร์กช็อปในโครงการ Young Designer Club กิจกรรมเวิร์กช็อปเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนระดับมัธยมปลาย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

มีคนเคยเตือนผมว่า การพูดให้เด็กมัธยมฟังนั้นปราบเซียน น้องๆ ไม่มีสมาธิฟังเราเท่าไหร่ ช่วงที่เตรียมตัวผมคิดในใจว่า ถ้าคิดว่าเด็กไม่อยากฟังผู้ใหญ่พูด งั้นเราพูดน้อยลง ให้เด็กพูดมากข้ึนดีกว่า

ทุกครั้งที่ไปทำงานทำนองนี้ ผมมักจะเล่าว่า a day แต่ละฉบับคิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวิร์กช็อปนี้ต่างออกไป ผมเล่าเรื่อง a day แค่ไม่กี่นาที จากนั้นให้เวลาน้องคิดว่า ถ้าจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง อยากจะเล่าอะไร ทำในรูปแบบไหน แล้วออกมาเสนอให้ทุกคนฟังหน่อย โดยผมจะช่วยแนะว่าต้องทำอย่างไรบ้างเรื่องที่เล่าถึงจะมีพลัง ทำได้จริง

วิธีไม่ได้แปลกใหม่ ออกจะเรียบง่ายมากจนแทบไม่ได้สอนอะไร แต่เด็กทุกคนกระตือรือร้น หลายคนหลายกลุ่มออกมาพูดสิ่งที่อยากเล่าพร้อมไอเดียต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไรในสังคม ผมพูดติดตลกว่าคนที่ตอนนี้น่าจะอยากฟังพวกเรามากที่สุด คือนักการตลาดในตึกแกรมมี่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน เพราะในอุตสาหกรรม น้องๆ คือกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาในอนาคต เรื่องที่น้องๆ อยากเล่าก็คือสิ่งที่สนใจ มันคืออินไซต์ทางการตลาดชั้นดีที่เอาไปต่อยอดอะไรได้อีกเยอะแยะ

มีอยู่กลุ่มหนึ่งออกมาบอกว่า พวกเขาอยากเล่าเรื่องความเหนื่อยของเด็กมัธยม มีหลายเรื่องเหลือเกินที่ต้องอดทน

“พี่สัญญาว่าจะไม่บอกใครนอกห้องนี้ ช่วยบอกมาหน่อยว่าน้องทุกข์เรื่องอะไรกันบ้าง”

(ในเมื่อสัญญาแล้ว ผมก็ควรทำตาม)

เรื่องหนึ่งที่ผมว่าไม่ผิดสัญญาคือ การเล่ารวมๆ ว่า จะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ปัญหาที่เด็กต้องเจอยังเป็นเรื่องเดิม แค่เปลี่ยนบริบท เด็กหลายคนยังโดนเปรียบเทียบ ดูถูก เหยียด ผ่านการมองอย่างไม่เข้าใจ ช่วงเวลาที่เด็กได้พูดในเวิร์กช็อปวันนั้นติดอยู่ในใจหลายวัน และทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องงานและชีวิต

ช่วงที่ผมเขียนอยู่นี้ น้องๆ จากโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อน a team junior 14 : Level UP เริ่มทยอยกลับสู่ชีวิตปกติ 3 เดือนก่อนหน้านี้ พวกเราฝึกน้องให้รู้จักวิธีการทำสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เราสอนน้องผ่านการทำงานจริง กระบวนการส่วนมากจึงเป็นการให้เสนองาน ทำงาน น้องส่งงานมา พี่คอมเมนต์กลับ ถ้าไม่ผ่านก็จะวนอยู่แบบนี้

พี่เป็นคนพูด น้องเป็นคนฟัง

ลึกๆ ผมไม่ได้อยากเป็นคนพูดเยอะขนาดนั้น  แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการที่ต้องขัดเกลางานให้ผ่านมาตรฐาน ก็ต้องสอนผ่านการพูดเป็นส่วนใหญ่

สมัยเป็นกองบรรณาธิการ หลังประชุมงานใหญ่เสร็จ ผมชอบถามน้องนอกรอบว่า จริงๆ แล้วคิดเหมือนเพื่อนไหม จูเนียร์เป็นงานกลุ่ม โอกาสที่น้องสัก 2-3 คนจะเห็นไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเป็นธรรมดา คำตอบก็หลากหลาย ไม่ว่าจะตอบอย่างไร บรรยากาศการคุยก็ไม่ได้ตึงเครียดมากนัก ผมเองก็ไม่ได้อยากคาดคั้นความจริงอะไร แค่อยากชวนคุยแลกเปลี่ยนกันตามประสาพี่น้อง

เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาอะไรสักอย่างที่มีสองฝั่งพิพาทกัน มักมีคำแนะนำว่าให้เราฟังกันมากขึ้นแล้วเรื่องจะคลี่คลาย

ผมอยากเพิ่มว่า คงจะดีถ้าเราสร้างระบบที่เปิดให้แต่ละฝ่ายได้พูดมากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติด้วย

ฟังดูคล้าย แต่ไม่เหมือน เพราะถ้าตั้งใจจะเปิดโอกาสให้คนได้พูดสิ่งที่คิดจริงๆ การรอฟังอย่างเดียวไม่พอ เราต้องสร้างระบบ พื้นที่ หรืออะไรสักอย่างที่กระตุ้นให้คนกล้าพูด

ถ้าระบบไม่เกิดขึ้น คนที่อยากพูดก็จะสร้างพื้นที่ของตัวเอง ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยหัวใจใฝ่เสรี คล้ายกับการผงาดของวงการแรปไทย ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของฉบับนี้ เหตุผลหนึ่งที่แรปไทยยังไม่ตายเพราะแรปเปอร์ใต้ดินยังทำหน้าที่ตัวเอง แรปในสิ่งที่เชื่ออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่ค่ายเพลงส่ายหน้าให้แรปเปอร์ จนถึงวันที่สื่อรุมแย่งเพื่อร่วมงานกับพวกเขา

ยากลำบากก็ยังทำ ยังพูด และยังแรป

ผมรู้สึกเองโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เหตุผลที่แรปเข้าถึงคนทุกระดับ เพราะมันเป็นวิธีการร้องและการทำเพลงที่ใกล้เคียงกับการพูดมากกว่ารูปแบบอื่น ยิ่งเจอเรื่องเยอะ แรปยิ่งสนุกมีชีวิต

แรปเปอร์หลายคนที่เริ่มจากใต้ดิน วันนี้ได้พูดมากขึ้น ถอยออกจากเรื่องเพลง ยังมีอีกหลายคนบนโลกที่อยากพูดและเล่าเรื่องของตัวเองมากกว่านี้

บางวัน ผมก็ใฝ่ฝันถึงสังคมที่มีพื้นที่กว้างพอให้ทุกคนได้มีโอกาสพูด โดยที่ไม่ต้องสัญญาว่าจะไม่บอกใครนอกห้องอีก

AUTHOR