แบบเรียนแห่งความทรงจำและปณิธานแห่งความเป็นครูของรัชนี ศรีไพรวรรณ

แบบเรียนแห่งความทรงจำและปณิธานแห่งความเป็นครูของรัชนี ศรีไพรวรรณ

บทเกริ่นนำ 

ต่อไปนี้คือภาพที่เกิดจากความทรงจำห้วงหนึ่งในพ.ศ. 2521… 
วันแรกของการเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ 
แดดยามเช้าส่องสว่างสดใส 
เด็กนักเรียนทั่วประเทศเดินกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนหลังจากปิดเทอมใหญ่มานานเดือน 
เช้าวันนั้นเด็กชาย-หญิงหลายคนกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจที่ได้พบกับเพื่อนร่วมห้อง 
บ้างกำลังพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ย้ายมาจากอีกโรงเรียน 
เด็กเล็กในชั้นอนุบาลหลายคนร้องไห้โยเยเพราะยังไม่คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากบ้าน 
และสำหรับเด็กชั้นประถมหนึ่งแล้ว 
มีสิ่งหนึ่งที่พวกเขากำลังจะได้เริ่มทำความรู้จัก 
และอาจไม่รู้ตัวเลยว่า ในเวลาต่อมา สิ่งนั้นจะกลายเป็นความประทับใจ 
ที่วางตัวอยู่ในความทรงจําของพวกเขาเนิ่นนาน…ไม่เสื่อมคลาย 

บทที่หนึ่ง 
การพบกันของคนสองวัย

ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 

จากการนัดหมายทางโทรศัพท์ที่เป็นไปอย่างง่ายดายเกินกว่าที่คิดไว้ ฉัน กับ ‘เจตน์’ และ ‘เพ็ญ’ เพื่อนชาย-หญิง สองคนก็ได้มาเดินทางมาถึงบ้านหลังน้อยในย่านเตาปูนที่รื่นรมย์ไปด้วยร่มครึ้มของเหล่าพรรณไม้ 

“บ้านหายากไหมลูก?” คือประโยคทักทายอันนุ่มนวลที่เอื้อนเอ่ยขึ้นพร้อมรอยยิ้มเปี่ยมเมตตาจากสุภาพสตรีวัยกลางคนผู้เป็นเจ้าของบ้าน ทันทีที่พบหน้าเหล่าดรุณผู้มาเยือน 

“ไม่ยากค่ะอาจารย์” พวกเรายกมือไหว้แล้วตอบขึ้นพร้อมๆ กัน ความรู้สึกประหม่าจางหายไปทันทีเมื่อได้พบกับความเป็นกันเองของผู้อาวุโส 

ในห้องรับแขกที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายและสมถะ นั่งอยู่เบื้องหน้าพวกเราคือ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ สุภาพสตรีสูงวัย ผู้มีรอยยิ้มแย้มและน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาเป็นอาภรณ์งานประดับกาย หลังจากแนะนำตัว และบอกกล่าวถึงจุดประสงค์ของการมาครั้งนี้แล้ว อาจารย์รัชนีก็เริ่มเล่าเรื่องของท่านให้พวกเราฟังบ้าง

“ครูเกษียณมาเก้าปีแล้ว ทุกวันนี้ก็เลี้ยงหลานจอมซน แล้วก็เขียนหนังสือให้คุรุสภาบ้าง…” ผู้อาวุโสบอกเริ่มเล่าเรียงด้วยรอยยิ้ม โดยใช้คำเรียกแทนตัวเองด้วยอาชีพที่ทำมายาวนานกว่าครึ่งชีวิต ทุกวันนี้ท่านเป็นคุณแม่ของบุตรชายและบุตรสาวสองคน และเป็นคุณยายของหลานชายตัวน้อยที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นป.1 

หกสิบเก้าปีคือตัวเลขอายุของอาจารย์รัชนีในวันนี้ ฟังดูแล้วอาจคิดว่ามาก แต่จากที่พวกเราได้สัมผัส อาจารย์รัชนียังคงดูสดชื่นแข็งแรง และมีความทรงจำที่แม่นยำจนน่าทึ่ง สิ่งนี้บ่งชี้ได้จากเรื่องราวหลากหลายที่ท่านกรุณาเล่าให้พวกเราฟังอย่างไม่ตกรายละเอียดตลอดสายจรดบ่ายในวันนั้น 

“ตอนเด็กอาจารย์เป็นอย่างไรคะ” เพ็ญเอ่ยถามขึ้น 

“ครูเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้าน ตอนครูเกิด คุณพ่อครูอายุสี่สิบปีแล้ว สมัยเป็นนักเรียน ตอนนั้นอยากเรียนศิลปะมาก เพราะเป็นคนชอบวาดรูป แต่คุณพ่อไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ท่านอยากให้เป็นครู ก็ตามใจท่าน เพราะการเป็นครูก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ฝังใจมาตั้งแต่เป็นเด็ก สุดท้ายก็เลือกเรียนครู และได้ทำงานเป็นครูอย่างที่คุณพ่อหวังและตั้งใจ” 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงมิพักต้องสงสัยว่า อาจารย์รัชนีจะภาคภูมิใจในสถานภาพผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาที่ท่านสวมบทบาทอยู่เพียงใด ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ท่านผ่านการสอนนักเรียนนักศึกษามาแล้วทุกระดับชั้นไล่ตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงขั้นอุดมศึกษา 

ทว่านอกจากความเป็น ‘ครู’ ของนักเรียนหลายสิบรุ่น นับเป็นจํานวนก็คงรวมได้หลายพันหลายหมื่นคนแล้ว อีกสิ่งพิเศษสิ่งหนึ่งซึ่งอาจารย์รัชนีได้สรรค์สร้างขึ้น และคงเรียกได้ไม่ผิดว่า สิ่งนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวประทับใจในวัยเยาว์ซึ่งฝังตัวอย่างสุขสงบอยู่ในความทรงจำของคนหนุ่มสาวทั่วประเทศไทยนับล้านคนในวันนี้ ก็คือ การเป็นผู้ประพันธ์หนังสือเรียนวิชา ภาษาไทยชั้นประถมศึกษา หรือที่นักเรียนทั้งหลายเรียกคุ้นปากมากกว่าว่า ‘มานะ มานี’

เมื่อการสนทนาเดินทางมาถึงเรื่องนี้ เรื่องเล่าอันน่าสนใจราวกับกำลังฟังประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยเยาว์ของพวกเรา ก็ถูกถ่ายทอดเป็นคำพูดต่อมา

“ที่มาก็คือกระทรวงศึกษามีความคิดอยากจะเปลี่ยนหลักสูตร ซึ่งอันที่จริงหลักสูตรการเรียนการสอน ก็ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายหลักสูตรของ พ.ศ. 2503 ซึ่งใช้หนังสือภาษาไทยของคุณหลวงดรุณกิจวิฑูรเป็นแบบเรียน ก็ถูกใช้เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2521 ทางกระทรวงฯเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะเปลี่ยนหลักสูตรได้แล้ว ทีนี้พอเปลี่ยนหลักสูตร หนังสือเรียนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เขาก็เลยมองหาคนมาเขียน พอดีครูเป็นคนชอบเขียนหนังสือ สมัยเป็นนักศึกษาเคยเขียนบทความ เขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสาร ‘ศรีสัปดาห์’ เป็นประจำ ครูจะมีความสุขมากเวลาได้ขีดๆ เขียนๆ ก็ทำคู่กันไปกับการสอนเด็กๆ จนในที่สุด เมื่อไปเป็นศึกษานิเทศก์ในวิชาภาษาไทย ตอนนั้นครูก็เขียน ‘หนังสือวันเด็ก’ ควบคู่กันไปด้วย ทางกระทรวงฯ คงเห็นว่าเรื่องเหมาะสม ก็เลยมอบหมายหน้าที่ให้มาเป็นผู้เขียนหนังสือเรียน” 

ผู้อาวุโสใส่เว้นวรรคในคำพูดนิดหนึ่ง ก่อนร้อยเรียงเรื่องราวในอดีตให้พวกเราฟังต่อ 

“ที่ภูมิใจที่สุด ก็ตรงที่หนังสือเรียนภาษาไทยเล่มนี้เป็นแบบเรียนฉบับแรกที่มีการทดลองใช้ ก่อนประกาศใช้จริงทั่วประเทศ โดยเริ่มแรกในปี พ.ศ. 2519 ทดลองกับโรงเรียน 65 แห่ง ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด หลังจากนั้นก็นำมาปรับปรุงหลักสูตรก่อนนำออกทดลองสอนต่อในปี 2520 ต่อมาก็ประกาศใช้จริงในปี 2521 การที่หนังสือเรียนมีการทดลองสองปีก่อนนำออกใช้เป็นบทเรียนจริงทำให้ไม่ค่อยมีปัญหากับเด็ก อีกอย่างคงเป็นเพราะเรามีจุดประสงค์หลักอยู่ในคู่มือการสอน ซึ่งคุณครูจะเป็นคนศึกษาก่อนสอนเด็ก เป็นต้นว่า จะเน้นในเรื่องอะไร เรียนแล้วเด็กควรจะได้อะไร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เรารวมวิชา ‘หลักภาษา’ เอาไว้ในแบบเรียนเล่มนี้ด้วย” 

เก้าปีเต็มคือระยะเวลาที่อาจารย์รัชนีคลุกคลีอยู่กับการเขียนหนังสือเรียนเล่มนี้ซึ่งท่านเป็นผู้เขียนคนเดียว ตั้งแต่หนังสือเรียนสําหรับสอนนักเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่ง ไปจนถึงชั้นประถมปีที่หก

“อาจารย์ได้แรงบันดาลใจหรือเรื่องราวจากไหนมาแต่งเป็นเรื่องเหล่านี้ครับ?” เป็นคำถามจากเจตน์ที่อาจารย์รัชนีฟังแล้วยิ้มชื่น 

“ครูใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการสอนและคลุกคลีกับเด็กในแต่ละระดับชั้นมาประยุกต์ให้เข้ากับหลักสูตรหนังสือเรียนเล่มนี้ และทางกระทรวงฯ ก็กำหนดว่า หนังสือเรียนต้องตรงกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร นั่นก็คือ มุ่งหวังให้นักเรียนมีทักษะภาษาทางการฟัง พูด อ่าน เขียน และทางความคิด โดยให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา ครูอยากให้เด็กนักเรียนรู้จักใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ซึ่งครูจะเน้นมากให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ที่พูดอย่างนี้เพราะว่า เด็กบางคนเมื่อเรียนจบ ป.6 ไปแล้ว มีเป็นจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ครูอยากปลูกฝังให้เขาไม่ละทิ้งและไม่ลืมหนังสือ เพราะเชื่อว่าการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้และดำรงชีวิต

“ครูดีใจที่ตอนนี้คนตื่นตัวกันมากเรื่องการศึกษา และมีการขยายการศึกษาภาคบังคับเป็นเก้าปีแล้ว” คำพูดนี้ทำให้เราเห็นว่าวิญญาณแห่งความเป็นครูนั้นไม่เคยจางหายไปไหนเลยจากความคิดความรู้สึกของอาจารย์รัชนี 

“เอ้า ทานขนมกันก่อนดีกว่า ทานไปด้วยคุยไปด้วย” ผู้อาวุโสเอ่ยชวนให้พวกเราหยิบข้าวตังหมูหยองที่วางอยู่ตรงหน้า ฉันมองท่วงท่าของท่านแล้วคิดในใจว่าคล้ายคุณยายใจดีที่เรียกให้หลานๆ ทานขนม

บทที่สอง
ความเป็นมาของมานะ มานี และผองเพื่อน

อากาศกำลังสบาย แม้แดดข้างนอกจะแรงจ้า แต่น่าแปลกที่ยามสายวันนี้ไม่รู้สึกร้อนอ้าวเลย ตรงกันข้าม พวกเรากลับรู้สึกโปร่งใจอย่างไรบอกไม่ถูก 

“ครูเป็นคนรักเด็ก ชอบศึกษาความคิดของเด็ก ชอบที่จะทำความเข้าใจกับเขา เลยอยากให้หนังสือแบบเรียนเล่มนี้มีลักษณะเหมือนเป็นเพื่อน ที่สำคัญคือต้องมีความสนุก ก็วางเค้าโครงอยู่หนึ่งเดือนก่อนลงมือเขียนจริง…” หลังจากข้าวตังหมูหยองรสอร่อยหลายชิ้นถูกพวกเราจัดการ อาจารย์รัชนีก็เริ่มต้นเล่าถึงเบื้องหลังของแบบเรียนชุดนี้อีกครั้ง “อันดับแรกเลยก็คือต้องมีตัวละครเป็นเด็ก เพราะคิดว่า ยังไงเด็กก็ต้องอยู่กับเด็กถึงจะสนุก เชื่อมเขาด้วยความรู้สึกผูกพันของความเป็นเพื่อน เพื่อนที่เรียนชั้นเดียวกัน เติบโตมาด้วยกัน อันดับสองคือ เรื่องราวต้องสนุกสนานชวนอ่าน แทรกด้วยสิ่งที่น่าสนใจ น่าจดจำอันเหมาะกับวัย นั่นคือที่มาของการเขียนถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ เป็นธรรมชาติของเด็กๆ เลยที่จะสนุกมากถ้ามีสัตว์เลี้ยงตัวโปรดมาคอยอยู่ใกล้ๆ เคยสังเกตไหมลูก เด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้ทุกคนชอบที่จะมีสัตว์เลี้ยง หรือถ้าไม่มีจริงๆ ขอเป็นตุ๊กตาสัตว์ก็ได้” 

ฉันฟังแล้วพยักหน้าเห็นด้วยกับคำพูดนี้ อย่างน้อยที่สุด เวลาผ่านไปเกือบสองทศวรรษแล้ว ตัวละครสัตว์ที่เป็นสุนัขอย่าง ‘เจ้าโต’ แมวชื่อ ‘สีเทา’ หรือม้าชื่อ ‘เจ้าแก่’ ก็ยังไม่เลือนหายไปจากความประทับใจของฉันเลย 

“สุดท้ายพอเห็นว่าเด็กๆ โตขึ้นแล้ว ครูก็นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีไทยและความเป็นไทยหยอดลงไป อยากจะปลูกฝังให้เด็กนักเรียนมีความอยากเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมของไทย”

เพ็ญอยากรู้ว่า อาจารย์รัชนีได้ที่มาของตัวละครแต่ละตัวจากไหน มีต้นแบบจริงๆ หรือเปล่า อาจารย์ฟังคำถามนี้ แล้วตอบว่า 

“สําหรับตัวละครในเรื่องครูได้แนวความคิดมาจากชีวิตในวัยเด็ก เอาความจริงที่เคยผ่านมาในชีวิตผสมผสานกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา จากคนนั้นนิดคนนี้หน่อย ก็เอามาผสมผสานแล้วสร้างให้เป็นตัวละคร เมื่อเรื่องราวดำเนินมาจนถึงจุดๆ หนึ่งก็จะมีตัวละครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งสอดแทรกแนวความคิดสิ่งละอันพันละน้อยเพิ่มเข้าไป ครูถือว่า การที่ให้ตัวละครโตขึ้นมากับเด็กๆ ก็ต้องเป็นการเติบโตจริงๆ ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา อย่างอะไรที่เด็กควรจะรู้หรือควรจะคิดได้ ทำได้ ก็เขียนใส่เข้าไปในแบบเรียน เช่น ในวัยหนึ่งเด็กจะชอบโลดโผนผจญภัย ก็หาทางให้เขาไปผจญภัยบ้าง มีเรื่องตื่นเต้นแทรกเข้ามาบ้าง หรือสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาให้เขาช่วยสืบจับหาตัวคนร้าย…” 

“อาจารย์ชอบตัวละครตัวไหนเป็นพิเศษไหมครับ?” เจตน์ถามสีหน้าจริงจังจนฉันอดขันไม่ได้

“ส่วนตัวแล้วครูชอบชื่อ ‘มานี’ แล้วตัวละครอย่าง ‘คุณครูไพลิน’ ก็มีตัวตนจริงๆ และในชีวิตจริงก็มีอาชีพเป็นครู ด้วย ท่านเป็นภรรยาของนายตำรวจท่านหนึ่งและเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน ‘อนุบาลวิบูลเวศน์’ ชื่อจริงๆ ของท่านก็คือ คุณไพลิน บูรณสัมฤทธิ์ ส่วน ‘มานะ’ ก็เป็นชื่อที่คล้องกับ ‘มานี’ เด็กชายมานะโผล่มาตอนที่เด็กหัดเรียนสระเสียงสั้น เพื่อให้สอดคล้องไปตามวัยและขอบเขตของการเรียนรู้ เรื่องสระเสียงสั้น สระเสียงยาว วรรณยุกต์ตัวสะกดต่างๆ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปตามบท ตัวครูเองจะวางจุดประสงค์ไว้ตลอด นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี ‘คำบังคับ’ ด้วยนะ

“เป็นยังไงหรือคะ คำบังคับ?” เพ็ญสงสัย

“อย่าง ป.1 ถึง ป.4 ก็จะเรียนเรียน ‘คำพื้นฐาน’ ซึ่งก็หมายถึงว่า ถ้าผ่านคำพวกนี้ได้ เด็กนักเรียนจะสามารถเอาลักษณะการผสมคำพวกนี้มาอ่านคำอื่นๆ ได้ นับเฉพาะ ป.1 ก็ประมาณ 450 คำ ครูจะเลือกเอาคำประเภทนี้มาแต่งเป็นเรื่องไว้ในแบบเรียน ป.2 ก็ 1,200 คำ ป.3 1,550 คำ ป.4 รู้สึกจะประมาณ 1,800 คำ ถึงเหล่านี้ได้รับการวิจัยมาจาก ดร.จรรจา สุวรรณทัต ท่านเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กที่ยูเนสโก้ ครูก็เลือกเอาคำพวกนั้นมาร้อยมาแต่งเป็นเรื่องราว 

“ยกตัวอย่าง ‘ปิติ’ เป็นชื่อที่ออกต้องด้วยสระเสียงสั้น ส่วน ‘ชูใจ’ เป็นสระเสียงยาว เธอเลยจะมาไล่ๆ กับ ‘มานี’”

พวกเราคุยกับอาจารย์รัชนีพลางพลิกหนังสือแบบเรียนที่เจตน์และเพ็ญอุตส่าห์ไปตระเวนหาซื้อตามร้านขายหนังสือเก่ามาได้ครบถ้วนทุกเล่ม เมื่อเห็นฉันพลิกหนังสือแบบเรียนชั้นป.1 ไปที่หน้าแรกๆ ซึ่งเป็นภาพแผนที่บ้านของตัวละคร อาจารย์รัชนีก็เฉลยให้ฟังว่า 

“ครูกำหนดเรื่องราวนี้ให้เกิดขึ้นที่ชนบทแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี เพียงแต่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือ สาเหตุที่ชอบลพบุรีก็เพราะว่า จังหวัดนั้นมีทั้งแม่น้ำ มีภูเขา แล้วก็มีทุ่งนา มีส่วนผสมที่เหมาะสมจะเป็นแหล่งเกิดของเรื่องราว ก็พยายามจำลองออกมาให้ได้มากที่สุด” 

“จำได้ว่าตอนนั้นอ่านเรื่องนี้ด้วยความสนุกสนานมากเลยค่ะ เหมือนกับไม่ใช่อ่านหนังสือเรียนเลย” ฉันเปรยขึ้นมา เพ็ญฟังแล้วพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนให้ความเห็นเสริมเติม 

“ใช่ค่ะ บางตอนอ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจไปกับเรื่องด้วย คล้ายกับกำลังอ่านเรื่องจริงของคนที่มีชีวิตจริง” 

อาจารย์รัชนีฟังพวกเราพูดแล้วยิ้มชื่น 

“ครูตั้งใจที่จะเขียนให้ตัวละครโตขึ้นตามวัยของเด็ก มีเรื่องราวที่โลดโผนผจญภัย มีเรื่องสืบสวนตื่นเต้น รวมไปถึง เรื่องเศร้าๆ อย่างเช่นตอนที่แม่ของ ‘เพชร’ เสียชีวิต ครูต้องการสื่อให้เห็นถึงสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตที่มีการเกิดก็ต้องมีการตาย หรือแม้กระทั่งตอนที่ม้าชื่อ ‘เจ้าแก่’ ตาย ปรากฏว่าเด็ก ๆ ร้องไห้ เขียนจดหมายกันมาว่า ทำไมต้องให้เจ้าแก่ตาย สงสารมัน…” จบคำพูดพวกเราก็หัวเราะกันใหญ่กับความไร้เดียงสาของเด็กๆ 

“ตอนนั้นครูไปเยี่ยมที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านพลับพลาไชย เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาแล้วบอกว่า “คุณครูขา หนูไม่ยอม หนูไม่อยากให้เจ้าแก่ตาย” ครูก็บอกไปว่า “นี่แหละหนู ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นไรนะ แล้วครูจะหาม้าตัวใหม่มาให้เอาให้น่ารักกว่าเดิมอีก” 

“นั่นคือที่มาของ ‘เจ้านิล’ ใช่ไหมครับ?” เจตน์เดาถาม 

“ใช่ เห็นไหม เหตุการณ์ทุกอย่างในแบบเรียนฉบับนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจจากเด็กทั้งนั้น”

ฉันมองภาพวาดสายเส้นรูปม้าสีดำร่างเพรียวที่กำลังวิ่งเล่นกับเหล่าเด็กๆ ในหนังสือเรียนชั้นป.4 แล้วนึกไปถึง เรื่องราวในวัยนั้น…วันที่พลิกหนังสือเรียนมาถึงหน้านี้ 

“อาจารย์มีวิธีการทำงานเขียนอย่างไรครับ?” เจตน์ถามขึ้นอย่างเป็นการเป็นงาน เพื่อนฉันคนนี้ดูจริงจังเสมอไม่ ว่าเรื่องไหน 

“ครูจะเขียนทีละบท พอเขียนเสร็จก็จะเสนอให้คณะที่ปรึกษาอ่านก่อนซะทีหนึ่ง เมื่อเห็นสมควรแล้วจึงทำเป็นต้นฉบับ แล้วทางกรมวิชาการก็ตีพิมพ์เป็นแบบเรียน การมีที่ปรึกษาก็ทำให้ครูได้มุมมองอีกแง่หนึ่ง เช่น เคยวางโครงเรื่องไว้ให้เด็ก ๆ ไปเที่ยวป่า แล้ว ‘ชูใจ’ ไปเด็ดดอกไม้จากต้นมาหัดหู คณะกรรมการอ่านแล้วก็เดินมาพูดว่า “ครูครับ ขอแก้หน่อยเถอะ อย่าไปเด็ดดอกไม้เลย มันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม” ครูเลยเปลี่ยนให้ ‘ชูใจ’ เก็บดอกที่ร่วงอยู่โคนต้นมาแทน อะไรอย่างนี้เป็นต้น”

“อาจารย์มีตอนไหนบ้างไหมคะที่ประทับใจที่สุด?” เป็นความอยากรู้ของเพ็ญ อาจารย์รัชนีนั่งคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนให้คำตอบว่า

“ที่ประทับใจครูเป็นพิเศษมีอยู่บทหนึ่ง เป็นตอนที่อยู่ในแบบเรียนชั้น ป.5 เล่มหนึ่ง ชื่อตอน ‘เที่ยวน้ำตก’ สาเหตุก็เพราะว่าครูเป็นคนชอบเที่ยวน้ำตกมาก ภาษาที่ครูใช้เขียนในแบบเรียนบทนั้นอ่านแล้วรู้สึกกับตัวเองเลยว่าเห็นภาพน้ำเย็นๆ กำลังไหลจากแอ่งหินตกลงมาเป็นทอดๆ ครูจินตนาการว่าได้ยินเสียงน้ำตกดังมาไกล ๆ มองไปก็เห็นเด็กๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน เชื่อไหมคะ ครูใช้เวลาเขียนไม่นานเลย และเพราะมีน้ำตกนี่เองกระมัง เลยทำให้ชอบมากกว่าทุกตอน”

“รู้สึกว่าแบบเรียนชุดนี้จะมีแต่ตัวละครที่นิสัยดีๆ นะคะ อาจารย์ตั้งใจไว้อย่างนั้นใช่ไหมคะ?” ฉันตั้งขอสังเกตเล็กน้อย

“ตัวร้ายก็ลูกเจ้าของโรงสีไงคะ” สิ้นคำพูดของอาจารย์ทั้งวงสนทนาก็ได้หัวเราะกันสนุก ดูเหมือนทุกคนจะจดจำตัวละครไร้น้ำใจตัวนี้ได้ดี “ไม่ใช่หรอกค่ะ คือที่ปรึกษาท่านอยากให้เด็กเห็นแต่ด้านที่สดใสสวยงาม ไม่อยากให้เห็นด้านที่แสดงออกถึงความไม่ดี อย่าว่าแต่เรื่องตัวร้ายเลย ขนาด ‘มานี’ กับ ‘มานะ’ เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ เห็นสภาพเมืองหลวงสกปรก มีฝุ่นควันกระจายเต็มท้องถนน ครูยังเขียนไม่ได้เลย ที่ปรึกษาท่านไม่ยอม” อาจารย์พูดแล้วหัวเราะ “คือก็ต้องเข้าใจท่านนะคะ ว่าแบบเรียนชุดนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นแต่สิ่งที่ดีๆ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อได้อ่านได้เห็นแต่สิ่งที่ดี จิตใจเด็กก็จะดีตามไปด้วย” 

ในหนังสือเรียนภาษาไทยชุดนี้ นอกเหนือจากเรื่องราวที่สนุกสนานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความชื่นชอบให้พวกเราเป็นอย่างมาก ก็คือภาพวาดประกอบเรื่อง อาจารย์รัชนีเล่าว่าภาพเหล่านี้เป็นฝีมือของนักวาดภาพหลายท่านด้วยกัน 

“จริงๆ แล้วครูก็ไม่ค่อยทราบหรอกค่ะ ว่าใครเป็นคนวาดภาพประกอบ เพราะครูรับผิดชอบทางด้านงานเขียนอย่างเดียว ส่วนเรื่องนักวาดก็เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการที่จะคัดสรรมา แต่จำได้ว่าท่านหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ลายเส้นสวยงามคุ้นตามาก ก็คือ คุณเตรียม ชาชุมพร”

“ผมก็ชอบภาพวาดของคุณเตรียมในแบบเรียนเล่มแรกๆ มากครับ จำได้ว่าคุณเตรียมเคยวาดการ์ตูนและนิยายภาพที่ชัยพฤกษ์การ์ตูนด้วย” เจตน์ซึ่งเป็นหนอนหนังสือตัวยงพูดขึ้น อาจารย์รัชนีฟังแล้วพยักหน้ารับ 

“พูดถึงเรื่องภาพประกอบ เชื่อไหมคะ ด้วยความช่างคิดของเด็ก ครั้งหนึ่งเคยมีภาพประกอบเขียนรูปรถ ด้านหลังก็จะเขียนเป็นตัวหนังสือยี่ห้อรถเป็นภาษาอังกฤษ แต่เราไม่อยากจะโฆษณาอะไร ก็เลยเลี่ยงเขียนไปว่า “TOYOTO ปรากฏ ว่ามีเด็กๆ เขียนจดหมายมาบอกครูว่า “คุณครูคะ ไม่มีรถยี่ห้อ TOYOTO มีแต่ยี่ห้อTOYOTA”

สิ้นคำบอกเล่าทั้งวงสนทนาก็ได้หัวเราะสนุกกันอีกครั้ง

บทที่สาม
ปณิธานแห่งความเป็นครู ของ รัชนี ศรีไพรวรรณ

การสนทนาในเรื่องราวที่ทุกคนสนใจอย่างสนุกสนาน ทำให้รู้สึกว่าเวลาเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วราวกับติดปีก กว่าสองชั่วโมงที่มาพูดคุยกับอาจารย์รัชนี ฉันมีความรู้สึกคล้ายพวกเราเพิ่งยกขบวนมาได้ยี่สิบกว่านาทีนี้เอง สุภาพสตรีสูงอายุผู้ใจดียังคงพึงใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังผลงานของท่านให้ผู้เยาว์ฟังอย่างต่อเนื่องด้วยน้ำเสียงเบิกบาน 

“ความคาดหวังสำหรับหนังสือเล่มนี้หรือลูก…” อาจารย์รัชนีทวนคำถามของเพ็ญ ก่อนให้คำตอบ “อย่างน้อยที่สุด ครูอยากให้เด็ก ๆ ที่เรียนแบบเรียนเล่มนี้ มีความน่ารักเหมือนตัวละคร สิ่งที่ครูดีใจที่สุดก็คือ มีเด็กเป็นจำนวนมากสามารถเขียนบทกลอนได้ก็เพราะหนังสือแบบเรียนเล่มนี้ ที่ครูรู้ก็เพราะว่า มีเด็กๆ ส่งจดหมายมาให้เป็นร้อยๆ ฉบับ แล้วก็มีเด็กๆ อยู่หลายคนน่ารักมาก เขาส่งบทกลอนที่เขาแต่งมาให้ ครูอ่านแล้วก็ชื่นใจ…หายเหนื่อย”

“เด็กๆ ส่งมาได้ยังไงหรือครับ?” เจตน์สงสัย 

“เขาก็ส่งมาตามที่อยู่ของบ้านมานะในจดหมายจากหนังสือ ป.4 แล้วเด็กๆ ก็จ่าหน้าซองส่งมาหาครูตามนั้น บางคนกลัวไม่ถึงก็ส่งไปที่กรมวิชาการ ซึ่งครูก็เขียนตอบกลับทุกฉบับโดยสมมุติว่าตัวเองเป็น ‘มานะ’ ตอนลงท้ายของจดหมายก็ลงชื่อด้วย แล้วต่อมาเกิดอะไรขึ้นรู้ไหม…” ท่านพูดค้างไว้อย่างนั้น เหมือนยั่วให้เราอยากรู้ พวกเราส่ายหน้าเหมือนนัดกันมา 

“เด็กผู้ชายคนหนึ่งจะมาหาครูที่บ้าน เขาส่งจดหมายนัดวันเวลามาเลย บอกว่าผมอยากจะมาหา มานะ ครูก็เลยต้องเปิดเผยความจริง เขียนตอบกลับไปอีกทีว่า อย่ามาเลยมานะไม่ว่าง…” พวกเราฟังแล้วหัวเราะไปกับอาจารย์รัชนี

“อีกอย่างที่ประทับใจ คือเวลาเดินทางไปสารนิเทศที่ต่างจังหวัด เด็กๆ ก็จะมาล้อม พูดคุยกันอยู่เรื่องเดียว คงไม่ต้องบอกนะลูกว่าเรื่องอะไร” ท่านพูดถึงตรงนี้แล้วยิ้ม 

“ทุกวันนี้ครูก็ยังอ่านหนังสือ มีหนังสือสำหรับเด็กดีๆ หลายเล่มเลยของกรมวิชาการ คือมีอาจารย์คนหนึ่งชื่อ คุณจินตนา ใบกาซูยี ท่านเป็นคนที่เขียนหนังสือดีมากเลย เป็นหนังสืออ่านเสริมการอ่านแต่ที่น่าเสียดายก็คือหนังสือเหล่านี้บางทีไม่ได้นำออกมาให้เด็กอ่าน เคยไปเห็นนะลูก หนังสือดีๆ แต่ถูกขังอยู่ในตู้ พอถามว่าทำไมไม่เอาออกมาให้เด็กอ่าน เขาก็บอกว่า “เอาออกมาก็ขาดหมดซิคะ เสียดาย” ครูเห็นแล้วก็รีบบอกไปว่า “เอาออกมาให้เด็กอ่านเถอะ ถ้าหายหรือถ้าขาด จะส่งมาให้ใหม่” 

“อาจารย์ยังได้กลับไปอ่าน ‘มานะ มานี’ อยู่หรือเปล่าคะ และเมื่ออ่านแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร?” เป็นคำถามที่น่าคิดจากเพ็ญ 

“จนถึงทุกวันนี้ ครูก็ยังกลับไปอ่าน ‘มานะ มานี’ อยู่เรื่อยๆ ครั้งล่าสุดก็ก่อนที่พวกหนูจะมานี่แหละ เป็นการอ่านโดยที่ได้ความรู้สึกผิดแปลกไปกว่าเดิม เพราะครูอ่านโดยจับเอาอารมณ์ในตอนที่เขียน อ่านไปก็คิดทบทวนไปว่า เราสร้างตัวละครหรือสถานการณ์ขึ้นมาเพื่ออะไร เหมือนกับเป็นการระลึกความหลัง อย่างวันก่อนอ่านเรื่อง ‘น้ำบ่อน้อย’ ก็จะคิดถึงคุณพ่อ ตอนเป็นเด็กๆ คุณพ่อไม่ชอบให้ใช้ลิ้นเลียแสตมป์ คือในแต่ละเรื่องแต่ละตอน มันก็มีที่มาที่ไปทั้งนั้น อ่านไปแล้วก็คิดถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คิดแล้วก็มีความสุขทุกครั้ง” มีรอยยิ้มผุดพรายอยู่บนสีหน้าของผู้อาวุโส

“เคยมีคนถามกันมามากว่า ถึงแม้แบบเรียนนี้จะเป็นของเด็ก แต่ก็ยังอุตส่าห์มีพระเอกนางเอก เขาก็อดไม่ได้ที่จะถามครูว่า ทำไมถึงเขียนให้พระเอกเป็นเกษตรอำเภอ แทนที่จะเป็นทหารหรือตำรวจเก่งๆ…ไม่รู้เหมือนกันนะ ตอนนั้นครูรู้สึกว่า คนไทยทิ้งไร่นา ทิ้งสวน ทิ้งชนบททิ้งอะไรต่างๆ มากมายเข้าไปหางานในเมือง ครูต้องการจะสื่อให้เห็นความสำคัญของการทำเกษตร เพราะนี่คืออาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษเรา เมืองไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เรารอดมาได้เพราะการเกษตร ไม่ใช่เพราะทำโรงงานอุตสาหกรรม เลยอยากสะกิดให้คนคิดถึงเรื่องนี้บ้าง มีที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาก็เอาปลาไปขาย หรืออย่าง ‘มานี’ เลี้ยงไก่ เอาไข่ไก่ไปขาย เพียงแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว” 

“แล้วที่ให้ ‘มานะ’ มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ นี่เพราะเหตุผลอะไรครับ?” เจตน์ถาม 

“ที่ให้มานะเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เพราะว่าตอนนั้นเราต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ระบบการศึกษายังไม่กระจายอย่างเท่าเทียมกันเหมือนเช่นทุกวันนี้ และด้วยความที่ครูเป็นศึกษานิเทศก์ ครูเห็นปัญหานี้ เพราะครูไปดูจนเห็นมากับตาแล้วทุกที่ โรงเรียนตามต่างจังหวัดก็ไม่ค่อยจะแข็งเท่าไหร่ในสมัยก่อน นี่คือปัญหาใหญ่ที่เราต้องยอมรับ แล้วทีนี้อยากแสดงอะไรบางอย่างเพื่อให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ เห็นว่าการศึกษาบ้านเรายังมีขีดจำกัดอยู่” 

“โชคดีนะคะ วันนี้สิ่งที่อาจารย์ต้องการเห็น ก็ได้เห็นแล้ว” เพ็ญเอ่ย แล้วตั้งคำถามต่อ “อาจารย์ได้อ่านแบบเรียนสำหรับเด็กในยุคนี้บ้างหรือเปล่าคะ?” 

“ทุกวันนี้ก็อ่านค่ะ เป็นหนังสือแบบเรียน ป.1 ที่มากกว่า ‘การอ่าน’ ก็คือ ‘การเขียน’ ทุกวันนี้ถึงแม้ครูจะเกษียณมาแล้วเก้าปีแต่ก็อดไม่ได้ที่จะทำงาน ที่เป็นหลักตอนนี้ก็คือเป็นกรรมการทำหนังสือ ‘ประวัติครู’ เป็นการเขียนบันทึกประวัติของคุณครูที่เสียชีวิตไปแล้วให้กับคุรุสภา เป็นเรื่องราวของคุณครูที่มีผลงานดีๆ เขียนเอาไว้ให้ครูรุ่นหลังอ่านเป็นแบบอย่าง พอมีเวลาก็จะเขียนตำราเรียนให้สำนักพิมพ์บ้าง” 

พูดจบประโยคนี้ ‘น้องภู’ หลานชายตัวน้อยของอาจารย์รัชนีก็ย่องเงียบๆ มาหา คุณยาย ในมือถือตุ๊กตุ่นตัวเล็ก ๆ มาอวด 

“ว่าไงลูก มีอะไรมาอวดยาย?” อาจารย์รัชนีถามขึ้น พลางขยับแว่นเพ่งสายตา มองสิ่งที่อยู่ในมือหลานชายคนโปรด 

“อ๋อ นี่เป็นอีกตัวหนึ่งของโปเกม่อนใช่ไหมลูก ‘มิวทู’?” คุณยายเอ่ยถามหลานชายด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน เด็กชายตัวน้อยแหงนหน้าขึ้นมองหน้าคุณยาย พร้อมกับพยักหน้าหงึกหงัก 

“ยายรู้ได้ไงครับ?” 

“นี่ไงลูก ‘มิวทู’ เขาจะมีชุดเกราะเอาไว้ห่อหุ้มร่างกาย” คุณยายตอบอย่างรู้จริง 

เราฟังแล้วมองหน้ากันด้วยความทึ่ง จนเพ็ญอดถามไม่ได้ว่า “อาจารย์รู้จักตัวละครเรื่องโปเกม่อนด้วยหรือคะ?”

“รู้จักสิคะหนู ก็รู้จากเขาแหละ…?” ท่านพูดแล้วทอดสายตามองหลานชายตัวน้อย 

“เราต้องรู้ในสิ่งที่เขารู้ จะได้ตามเขาทัน เล่นกับเขาสนุก แปลกเหรอ…คนแก่รู้จักโปเกม่อน” คำพูดของอาจารย์เรียกเสียงหัวเราะได้อีกครั้ง

“ดูเหมือนอาจารย์จะรักเด็กมากนะคะ?” ฉันเปรยถามอย่างที่เห็น 

“ครูทำงานทุกอย่างด้วยก็เพราะใจที่รักเด็กๆ อยากให้เขาได้รับความสุข คนเราเกิดมาชาติหนึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ครูอยากให้เด็กทุกคนได้รับสิ่งนั้น ครูเคยดูทีวีรายการหนึ่ง เขานำเสนอเรื่อง ‘ครูตำรวจข้างถนน’ เขาน่าเอาโบกี้รถไฟมาดัดแปลงให้เป็นโรงเรียน แล้วสอนหนังสือให้กับเด็กเร่ร่อน นั่นเป็นภาพที่สะเทือนใจและน่าประทับใจมาก ครูอยากให้เด็กพวกนั้นพบกับความสุข เพราะชีวิตของคนเรา ช่วงที่มีความสุขก็คือตอนเป็นเด็ก ถ้าพ้นช่วงนี้ไปแล้ว เราอาจไม่ได้พบกับมันอีกเลย

“ความสุขในวัยเด็กเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และน่าจดจำมาก หนังสือแบบเรียนมานะมานี คือความภูมิใจที่สุดในชีวิตของครู มันคือความคิดที่ว่าเกิดมาชาตินี้แล้วได้มีโอกาสทำสิ่งที่ดี ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

AUTHOR