เรือนจำทำอย่างไรให้ยั่งยืน? การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการปรับตัวครั้งใหญ่ของเรือนจำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เรือนจำทำอย่างไรให้ยั่งยืน? การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการปรับตัวครั้งใหญ่ของเรือนจำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง ประเด็นนี้คงไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัญหาน้ำท่วม ฝนตกหนัก ภัยแล้งในบางพื้นที่และแม้แต่ฤดูมรสุมที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

เราได้ยินปัญหาที่มาพร้อมหนทางแก้ไขในหลากหลายแง่มุม แต่น้อยครั้งที่มุมมองจากเรือนจำและผู้ถูกคุมขังจะถูกหยิบยกเข้าสู่แสงไฟ หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบทุกคน แล้วหน่วยสังคมอย่างพื้นที่คุมขังประสบปัญหาแบบใดและมีทางออกอย่างไรบ้าง

“ในจำนวน 15 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด มีประเทศจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกติดอยู่ในลิสต์มากถึง 8 ประเทศ” ฌอง มาร์ค ซบินเดน ผู้ประสานงานด้านระบบน้ำและที่อยู่อาศัยประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวโดยอ้างถึงรายงาน Global Climate Risk Index ประจำปี 2021 ที่จัดทำโดย Germanwatch ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในประเทศเยอรมนี ในมุมมองของเขา ประเทศต่างๆ ควรเริ่มหันมาสนใจและบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งของการจัดการเชิงโครงสร้างอาคารและระบบการบริการงานเรือนจำที่มีความซับซ้อน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเราทุกคน รวมถึงผู้ถูกคุมขังและเจ้าหน้าที่สถานคุมขังกับเรือนจำ เราเห็นเรือนจำหลายแห่งประสบปัญหาน้ำท่วม บางพื้นที่ประสบภัยแล้ง ดินถล่ม หรือปัญหาน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่น้ำจืด เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เผชิญพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง หน้าที่ของเราคือการเพิ่มความตระหนักรู้ในประเด็นดังกล่าว อย่างที่ทราบกันดี การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข”

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจรอช้า คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ จึงได้จับมือร่วมกันจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานเรือนจำ (Prison Administration Certificate Course) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเป็นพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในประเด็นสำคัญหลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสาเหตุของการเกิดอาชญากรรม ภาวะเสี่ยงหรือภาวะเปราะบางที่กลุ่มประชากรในสถานคุมขังเผชิญ ประเด็นด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงข้อกำหนดแมนเดลาด้วย

ฌอง มาร์ค ซบินเดน ผู้ประสานงานด้านระบบน้ำและที่อยู่อาศัยประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC)

ฌอง มาร์ค เล่าให้เราฟังว่า วิธีหนึ่งในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เรือนจำที่เราทำได้คือ ทำความเข้าใจว่าเรือนจำแห่งใดมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภัยพิบัติอันเป็นผลจากสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด จากนั้นเราจึงค่อยช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานเรือนจำให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ปัญหาที่เรือนจำจะต้องเผชิญอยู่แล้วก็มีแต่จะยิ่งหนักขึ้น การบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความพร้อมของระบบเรือนจำ การปรับปรุงอาคารเพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น การออกแบบเรือนจำให้ทนทานต่อมหันตภัยด้านสภาพภูมิอากาศ การปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานเรือนจำ ไปจนถึงการสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของประเด็นปัญหาให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยในงานอบรมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันแชร์ปัญหาและวิธีการที่พวกเขาใช้ในการแก้ไข ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท

ปากีสถาน-มรสุมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์และปัญหาที่ตามมาเมื่อต้องอพยพผู้ต้องขัง

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบประเทศของเราเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจที่ต้องชะลอตัว เรือกสวนไร่นายังถูกทำลายจากมรสุมครั้งใหญ่และน้ำท่วม ประชาชนกว่า 33 ล้านคนต้องอพยพจากบ้าน เรือนจำเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เรือนจำของเราสองแห่งถูกน้ำท่วม แม้แต่บ้านพักเจ้าหน้าที่ก็ยังได้รับความเสียหาย สิ่งที่เราทำได้คือการอพยพผู้ต้องขัง แต่ก็ทำได้ยากลำบากเพราะปัญหาด้านความปลอดภัย เมื่อเราย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำเก่าไปสู่สถานที่คุมขังใหม่ในจังหวัดอื่น ปัญหามากมายก็จะตามมา เช่น จำนวนผู้ต้องขังที่มากเกินไปต่อพื้นที่ โรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นมาลาเรียหรือไข้เลือดออก มรสุมใหญ่ทำให้การขนส่งเสบียงเป็นไปได้ยาก เรายังประสบปัญหาในการแจ้งข่าวแก่ญาติว่าผู้ถูกคุมขังแต่ละรายถูกย้ายไปอยู่ที่ไหน ในขณะที่ผมพูดอยู่นี้เรือนจำของเราก็ยังจมน้ำอยู่ ปัญหาที่ว่าคงไม่สามารถแก้ได้ในทันที การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบอย่างฉับพลันทำให้เราต้องหยุดและคิดใหม่อีกครั้ง จากนั้นเราคงต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”

นายคาซี นาซีร์ อาเหม็ด ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ทัณฑสถานจังหวัดสินธุ์ ประเทศปากีสถาน

ฟิลิปปินส์-คลื่นความร้อนกระทบชีวิตผู้ต้องขัง มรสุมหนักราวปีละ 16 ครั้ง กับสิ่งที่ผู้ต้องขังรวมทั้งบุคลากรเรือนจำต้องเผชิญ

“ฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุไต้ฝุ่นอยู่บ่อยครั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เรือนจำต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ยากจะรับมือ การแก้ปัญหาในระยะสั้นคือการเพิ่มพัดลมระบายอากาศ อนุญาตให้ผู้ต้องขังออกมานอกอาคาร บ้างก็ให้พวกเขานอนหลับในสนามบาสเกตบอลซึ่งเป็นพื้นที่อากาศถ่ายเทมากกว่า ในการจัดการกับปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงนี้ เรายังมีแผนการระยะยาวคือการปรับมาตรฐานอาคาร โดยเรือนจำที่จะสร้างใหม่ต่อจากนี้ต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10% เป็นหน้าต่างเปิดโล่ง แต่สิ่งที่แก้ไขได้ยากคือไต้ฝุ่น และผลกระทบที่ตามมา เนื่องจากผลกระทบจากไต้ฝุ่นแต่ละครั้งแตกต่างกัน บ้างทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก บ้างทำให้ระบบไฟฟ้าถูกตัดขาด บางครั้งไต้ฝุ่นทำให้การขนส่งเป็นอัมพาต ทำให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเดินทางมาปฏิบัติงานไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรือนจำในแต่ละที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติแบบไหน อะไรคือความจำเป็นสูงสุด เราได้วางแผนในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกคุมขังอย่างรัดกุม ยกตัวอย่างเช่น หากเราทราบว่าไต้ฝุ่นกำลังจะมา เรือนจำที่อาจได้รับผลกระทบจะมีการเคลื่อนย้ายผู้ถูกคุมขังไปยังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ในละแวกใกล้เคียงซึ่งมีการเตรียมการด้านการรักษาความปลอดภัยเอาไว้ก่อนหน้า โดยปกติแล้วการอพยพจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แค่วันถึงสองวันก่อนระดับน้ำจะลด เนื่องจากปัญหาหลักอย่างหนึ่งสำหรับเรือนจำในฟิลิปปินส์คือจำนวนผู้ต้องขัง เราจึงมีแผนจะสร้างเรือนจำแห่งใหม่ซึ่งในตอนนี้ต้องมีการศึกษาพื้นที่ให้ดีว่าแต่ละภูมิภาคประสบปัญหาด้านภัยธรรมชาติแบบไหน เรายังมีแผนออกแบบเรือนจำให้เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่น คลื่นความร้อน หรือน้ำท่วม”

นายเบรนแดน โอ ฟุลเกนซิโอ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักบริหารจัดการเรือนจำและทัณฑวิทยา

อินโดนีเซีย-ดินถล่มและฝนตกหนัก สองภัยสำคัญที่ทำให้เรือนจำต้องมีระบบการจัดการแบบยั่งยืน

“ประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่ในบริเวณที่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมจากฝนตกหนัก หรือดินถล่มเพราะแผ่นดินไหว ในขณะที่ภัยธรรมชาติทำให้เรือนจำจำนวนมากต้องปรับตัว ระบบเรือนจำในอินโดนีเซียได้รับการออกแบบเพื่ออยู่กับภัยธรรมชาติ มีการจัดทำแผนที่แสดงบริเวณที่ได้รับผลกระทบ และแผนการรองรับว่าหากเหตุการณ์เลวร้ายลง จะต้องอพยพผู้ต้องขังไปยังบริเวณไหน ซึ่งมีการประสานงานเป็นอย่างดีกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจในท้องที่ นอกจากนี้ เรือนจำของเรายังมีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกอยู่ภายในเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงตัวเอง ในกรณีที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นและการขนส่งไม่สามารถทำได้ เรือนจำก็ยังมีอาหารที่เก็บตุนสำรองไว้ ผลผลิตที่มาจากเรือนจำนอกจากจะสามารถใช้บริโภคกันเองภายใน ยังสามารถนำออกขายสู่ท้องตลาด ส่วนรายได้ก็จะนำมาแบ่งให้ผู้ต้องขัง ทำให้พวกเขามีเงินเก็บก่อนออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ สิ่งที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญต่อจากนี้ คือการอบรมฝึกสอนผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในอนาคต บุคลากรทุกคนจะได้เตรียมพร้อมรับมือ”

เด็ดดี้ เอดูอาร์ เอก้า สาปุตรา รองผู้ประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ประเทศอินโดนีเซีย

ไทย-เรือนจำคือบ้านหลังใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบทุกภาคส่วนและต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างหน่วยงาน

“ทุกวันนี้เราเห็นได้ด้วยตาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบอย่างไร เรารู้สึกร้อนขึ้น เจอปัญหาน้ำท่วม เรือนจำเองก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นบ้านใหญ่หลังหนึ่งที่เจอผลกระทบแบบเดียวกัน ต่างที่ว่าปัญหาที่เขาเจอมีความซับซ้อนกว่า เพราะหากรู้สึกร้อน ก็ใช่ว่าจะลุกขึ้นมาเปิดแอร์ได้ เรือนจำมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง หากอากาศร้อน ก็ต้องช่วยเรื่องการถ่ายเทอากาศ มีการติดตั้งพัดลมมากขึ้น สำหรับเรื่องน้ำท่วม หากมีความจำเป็น พระราชบัญญัติราชทัณฑ์อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง แต่ต้องมีการออกแนวปฏิบัติว่าต้องทำอย่างไร ย้ายไปไหน โดยการย้ายต้องไม่ส่งผลกับความมั่นคง และชีวิตของผู้ต้องขังในสถานที่ใหม่ รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ มองไปข้างหน้า ปัจจุบันไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง เรือนจำบางแห่งสร้างมานานก็ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือการออกแบบเรือนจำ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมเรือนจำ และสภาพอากาศ มีการคำนึงถึงทิศทางลมเพื่อให้อากาศถ่ายเท รวมไปถึงทิศทางแสงให้แดดสามารถส่องถึง อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญกับเรือนจำ คือความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานข้างเคียง รวมไปถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพราะเรือนจำเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจเพื่อไม่ให้ภัยพิบัติกระทบชีวิตของผู้ต้องขัง”

นายวิชชวุฒิ ศุภพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานราชทัณฑ์ต่างประเทศ กรมราชทัณฑ์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการออกแบบเรือนจำที่ยั่งยืน

หนึ่งในประเด็นที่ผู้แทนเรือนจำจากประเทศต่างๆ พูดถึงกันมาก คือการออกแบบเรือนจำให้มีความสอดคล้องและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาปัตยกรรมสามารถชะลอ ช่วยเหลือ และเกื้อหนุนให้ชีวิตในเรือนจำสามารถปรับตัวได้แค่ไหน อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในวิทยากรที่เข้ามาช่วยแลกเปลี่ยนความรู้ในการประชุมอบรมครั้งนี้ตอบอย่างมั่นใจว่า “ได้แน่นอน”

“สถาปัตยกรรมกับความยั่งยืนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ ถ้าเราใช้วัสดุที่แยกออกจากกันได้ อย่างผนังคอนกรีต เวลาที่เกิดความเสียหาย แทนที่จะซ่อมทั้งผนังก็อาจเลือกซ่อมเป็นส่วนๆ เป็นการลดวัสดุที่จะนำมาปรับปรุง อย่างเรื่องของการประหยัดพลังงาน การออกแบบที่คิดเยอะๆ ตั้งแต่ต้น เปิดช่องทางลมที่ถูกต้องกับทิศทางลม ก็จะลดการใช้พลังงานในระยะยาว หรือกับแสงธรรมชาติ ประเทศในแถบนี้มีแสงสว่างเยอะอยู่แล้ว เราสามารถเปิดรับแสงธรรมชาติในช่วงเช้า ให้แสงที่ส่องมาในเรือนจำเป็นแสงที่ผ่านการตกกระทบเพื่อไม่ให้นำพาความร้อน”

อาจารย์สุนารีกล่าวว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้วในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นการสำรวจและทำความเข้าใจปัญหาเพื่อการเตรียมตัวตั้งรับจึงเป็นเรื่องที่ต้องมองไปข้างหน้า

“เราต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้จะทวีความหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ยังไงพายุก็ต้องมา แต่เราจะอยู่กับลมมรสุม ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น และการอยู่อาศัยในภาวะน้ำท่วมได้อย่างไร ดังนั้นการออกแบบเรือนจำจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เช่นการใช้วัสดุในชั้นล่างสุดให้เป็นวัสดุที่น้ำท่วมได้อย่างคอนกรีตหรือเซรามิก มีเส้นทางการใช้งานพื้นที่ชั้นสองชั้นสาม จัดระบบไฟฟ้าที่แยกเป็นชั้นๆ สามารถตัดไฟในส่วนที่น้ำท่วมได้ในขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นของอาคารยังทำงานได้อยู่ เราอาจต้องนึกถึงวัสดุที่รองรับแรงลม หรือแม้แต่การรั่วซึมของหลังคา จะมีการปรับปรุงอย่างไรให้รองรับปริมาณน้ำฝนได้มากขึ้น”

นอกจากการออกแบบเรือนจำที่มีความยืดหยุ่นไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจารย์สุนารียังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของเรือนจำซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมที่สามารถเข้ามามีบทบาทในการลดโลกร้อน เช่น การแยกขยะ การหมักปุ๋ย การปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว “ถ้าเรามองกันดีๆ เรือนจำเหมือนเป็นหน่วยสังคมเล็กๆ มีคนจากหลากหลายอาชีพ มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน หากมีการจับกลุ่ม ช่วยกันทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สอนการแยกขยะ นำกลับมาใช้ประโยชน์ เรือนจำก็จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน”

นอกจากจะเปิดพื้นที่ให้ผู้แทนของเรือนจำจากแต่ละประเทศได้เข้ามาแลกเปลี่ยนปัญหาและแนวทางแก้ไข อีกหนึ่งไอเดียน่าสนใจที่อาจารย์สุนารีนำมาใช้ คือการใช้ภาษาภาพเพื่อนำไปสู่การอธิบายปัญหา เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้เข้ามาเป็นส่วนร่วมขององค์ความรู้ โดยภาพประกอบการอบรมเป็นผลงานจากทีปวัฒน์ ไพรสิงห์ขรณ์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ออกแบบบอร์ดกระดานแบบพิเศษสำหรับจัดแสดงคำถามให้แก่ผู้เข้าร่วม โดยมาพร้อมกับภาพประกอบของแนวทางคำตอบของคำถามที่หลากหลายแตกต่างกันไป ผู้เข้าอบรมจะต้องร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับคำถามและประเด็นต่างๆ เป็นเวลาหนึ่งวันเต็ม

แม้การอบรมในครั้งนี้จะเป็นแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลในทางทฤษฎี ไม่ใช่แบบสำเร็จที่ประเทศต่างๆ จะสามารถหยิบไปจับวางได้เหมือนบ้านจัดสรร เพราะหากมองกันอย่างละเอียด เรือนจำในแต่ละประเทศล้วนมีภูมิประเทศและประเด็นปัญหาที่แตกต่าง การนำแนวทางที่ประสบความสำเร็จในประเทศหนึ่งไปใช้โดยตรงอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของอีกพื้นที่ก็เป็นได้ แต่อาจารย์สุนารีมองว่าการอบรมหลักสูตรนี้เป็นเพียงก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เพราะแม้แต่เรือนจำที่มีอายุหลายสิบปี หากมีการปรับปรุงมาตรการก็สามารถกลายเป็นเรือนจำที่ยั่งยืนได้ การพูดคุยที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นแค่การเตรียมพร้อมไปสู่เส้นทางใหม่ที่ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถมีส่วนร่วมได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ