U BEER U CAN : เรื่องราวการเดินทางของศิลปะบนท้องถนนสู่กระป๋องดีไซน์เฉียบ

เราแอบติดตามการเดินทางท่องโลกของงานสตรีทอาร์ตเส้นสายลายกราฟฟิกบนผนัง ตึกรามบ้านช่องในบ้านเรา สู่การผจญภัยตามหัวเมืองใหญ่
เมืองเล็ก เมืองลับในต่างประเทศของศิลปินสตรีทอาร์ตและนักออกแบบสไตล์ชัด
อย่าง กิฟ – รักกิจ ควรหาเวช มานาน

นี่เป็นอีกครั้งที่เราตกหลุมรักการผจญภัยทางศิลปะของเขาแบบถอนตัวไม่ขึ้น
จากการทดลองถ่ายทอดงานศิลปะบนท้องถนนสู่กระป๋องดีไซน์ใหม่ล่าสุดของ U beer รุ่น Limited Edition ที่จะออกมาสร้างปรากฏการณ์ของวงการเบียร์
ผ่านร้านสะดวกซื้อ 7 – 11 ทุกสาขา

ระหว่างหยิบกระป๋องขึ้นมาสำรวจแพตเทิร์นมันๆ
เส้นสีสนุกๆ รักกิจบอกเราว่า เขาไม่ได้มองกระป๋องเป็นเพียงที่บรรจุเครื่องดื่ม
แต่พื้นผิวทุกตารางนิ้วบนนั้นคือพื้นที่แสดงงานศิลปะรูปแบบใหม่ที่ท้าทายวิธีคิด
และแนวทางการทำงานของเขาอีกครั้ง

มากกว่ากระป๋องเครื่องดื่ม คือพื้นที่ศิลปะ!

“เวลาเราทำงานแพคเกจจิ้ง เราจะมองมันเหมือนเป็นงานศิลปะ
ถ้างานชิ้นนี้มันสื่อสาร ให้ความหมาย
หรือกระตุ้นความรู้สึกอะไรบางอย่างกลับมาสู่ผู้พบเห็น จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้
นั่นก็คือวินๆ แล้วนะ เราเชื่อว่างานกราฟิกดีไซน์ที่ดีคืองานที่เข้าไปแก้ปัญหา
และเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ นอกจากสวยน่าสะสม
งานนั้นควรมีอะไรบางอย่างที่สื่อสาร ชวนให้เขาคิดต่อ มีลูกเล่นที่ทำให้คนรับรู้
และรู้สึกได้ว่าสินค้านี้แตกต่างจากแบรนด์อื่น มีคาแรกเตอร์ชัด และจดจำได้ว่านี่คือ U Beer”

“เวลาคุยกับทีม
U beer เราพยายามดึงเอกลักษณ์
ค้นหาที่มาที่ไปของแบรนด์ผ่านมุมมองของเราให้มากที่สุด”

หลอมรวมตัวตนเข้ากับตัวแบรนด์จนได้ผลลัพธ์แสบสนุก

“ไอเดียเรามาจากการนำสีของแบรนด์มาใช้
นั่นคือ เหลือง-ดำ มาตั้งต้น แล้วพยายามหาสัตว์ที่มีสีเหลืองดำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น นกเอี้ยง
งู ผึ้ง ยีราฟ และเสือชีตาห์

จริงๆ
จะทำงาน Abstract ก็ได้นะ
แต่เรารู้สึกว่ามันเล่นอะไรได้ไม่เยอะ และไม่ใช่ตัวเราขนาดนั้น
การเลือกทำศิลปะขึ้นจากตัวสิงสาราสัตว์มันสะท้อนตัวตนเราได้ดีกว่า หนึ่ง
เพราะเราดึงโครงสร้างเส้นสายได้ง่าย สอง เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวคน
เรายังจำได้อยู่เลยว่าสัตว์ตัวแรกที่ทดลองดึงโครงสร้างเส้นสายทำ block
stencil ไปพ่นกำแพงกับพี่ P7
ก็คือกวาง เพราะโครงสร้างมันทั้งสวย ทั้งสนุก

อีกเหตุผลหนึ่งคือ
เราไม่ใช่สายฟรีแฮนด์แบบกราฟิตี้ เราก็อยากทำนะแต่ไม่ถนัดเลยพัฒนาจากพื้นฐานที่ตัวเองถนัด
นั่นคือกราฟิกดีไซน์ แพตเทิร์น สี การทำ block stencil ซึ่งก็มีข้อด้อยตรงที่มีข้อจำกัดในรายละเอียด
แต่ข้อด้อยอันนี้ก็ทำให้งานเกิดคาแรกเตอร์ มีความชัดเจนในตัวเรา

พอต้องหาตรงกลางที่ใช่ที่สุด
เสือโคร่ง คือสัตว์ที่เรากับ U beer เลือกมาพัฒนางานต่อ เพราะมีลายสีเหลือง-ดำ
และมีโครงสร้างที่ค่อนข้างใหญ่ หนา และแข็งแรงกว่าเสือชีตาห์ที่เสนอไปตอนแรก
โดยยึดเอาตัวโลโก้เป็นที่ตั้ง และนำอาร์ตเวิร์กแทรกเข้าไป”

เปลี่ยนเสือโคร่งป่าให้กลายเป็นเสือโคร่งกระป๋อง

“เราเริ่มจากภาพถ่ายจริงของตัวเสือเป็นหลัก
นำเอาโครงสร้างสัดส่วนของมันมาสร้างงาน ค่อยๆ ตัดทอนเป็นเส้นสายให้ดูยังรู้ว่านี่คือเสือ
นก งู วิธีสร้างก็คือยึดไอ้ตัวโครงสร้าง block stencil ไว้ แล้วพลิกไปพลิกมาให้ลงตัวกับแบบที่นำมาใช้ เหมือนเราเล่นเลโก้เลยล่ะ ซึ่งถือเป็นทฤษฎีแรกที่เราตั้งเอาไว้เพื่อไปทำงานศิลปะบนกำแพง
พอมาอยู่บนกระป๋องก็เลยเป็นอย่างที่เห็น คือมีทั้งเส้นตรง เส้นนอน รูปสี่เหลี่ยม ปรับวางให้อยู่ในหัวเสือนั่นเอง

ต่อจากนั้นก็มาสู่ขั้นตอนการใส่สีสัน
แพตเทิร์น เราก็คงสีเหลือง-ดำ ให้รวมๆ แล้วดูเป็นเสือโคร่ง แล้วแทรกด้วยสีสนุกๆ
แปลกๆ อย่างสีพวกรถบรรทุกบ้านเราเข้าไปให้งานมีอะไรมากขึ้น
ด้านแพตเทิร์นถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเราใส่ตัว U ซึ่งเป็นโลโก้ของแบรนด์ลงไป

ส่วนการพิมพ์บนกระป๋อง เราต้องเข้าไปเช็กความถูกต้องเรื่องสี
เพราะว่าพอลงกระป๋องมันก็จะไม่ใช่การใส่สีอะไรลงไปก็ได้เหมือนอิงก์เจ็ต บางสีอาจจะต้องเป็นสกรีนเม็ดผสม เช่น เป็นสีฟ้าผสมสีเหลือง

ตอนแรกใส่เงาเข้าไปด้วยเพื่อให้มีระยะมากขึ้น
ระหว่างตัวเสือกับตัวโลโก้ แต่พอพิมพ์ออกมากลับดูเหมือนเป็นรอยด่าง เลยตัดออกไปเป็นภาพกราฟิกที่ดูคลีนขึ้น
เส้นสายชัดเจนขึ้น”

ความท้าทายใหม่ในงานออกแบบ

“เพราะเรามองการออกแบบครั้งนี้เป็นภาพใหญ่
เป็นซีรีส์ต่อเนื่องกัน ไม่ได้จบลงแค่กระป๋องเดียว แต่อยากให้คนสะสมได้ โดยตั้งคำถามว่าทำกระป๋องซีรีส์ต่างๆ
สามารถ Connect
กันได้มั้ย ยิ่งพอเป็นกระป๋องมนๆ ก็ยิ่งสนุกไปใหญ่ เราสามารถเอาลูกเล่นของการทำแพกเกจจิ้งมาเล่น เช่น
การต่อกันของภาพ คือกระป๋องจะมีตัว U ทั้ง
2 ด้าน เราก็พยายามให้วางคู่กันแล้วต่อเป็นภาพเดียวกันได้ เรียงๆ กัน เราสนุกมากกับการเล่นตรงนี้ เพราะรากเราเป็นกราฟิกมาก่อน”

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR