HOUSE OF PASSA : สเปซอารมณ์ดีที่ชวนคนมาสร้างประสบการณ์ผ่านทุกมิติการสัมผัส

Highlights

  • เรื่องราวของ HOUSE OF PASSA เริ่มต้นขึ้นในออฟฟิศของ PASSA STUDIO (ผัสสะ สตูดิโอ) ที่อยากเปลี่ยนพื้นที่ส่วนหนึ่งในออฟฟิศเป็น 'บางอย่าง' ที่สามารถผนวกความชอบที่ได้ไปนั่งในคาเฟ่ ความชอบที่ได้ดูงานแสดงที่น่าสนใจ และความชอบในชั่วขณะที่เกิดบทสนทนาของคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน นั่นเองคือเหตุผลที่ที่นี่เกิดขึ้น
  • HOUSE OF PASSA ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นร้านกาแฟ สตูดิโอ หรือบาร์ใดๆ พวกเขาพยายามเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้สอยของที่นี่ไปเรื่อยๆ  เช่น ชวนคนมาร่วมทำกิจกรรม หรือจากคาเฟ่ พวกเขาก็อาจเปลี่ยนไปเป็นสถานที่เวิร์กช็อป หรือเปลี่ยนเวลาเปิดเป็นตอนกลางคืนก็ได้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายพวกเขาอยากให้คนที่มาได้ประสบการณ์อย่างไม่ซ้ำซากจำเจ  

เราคงเคยเห็นคำว่า เอนกประสงค์ ถูกหยิบมาใช้อธิบายสิ่งรอบตัวมากมายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร 

ในมุมหนึ่ง คำนี้อาจแสดงถึงความครบครันหรือสะดวกสบาย แต่ในอีกด้านก็อาจสะท้อนไปถึงความเปิดกว้าง ลื่นไหล แฝงไปด้วยความสนุกอย่างไม่ตัดสิน 

และในย่อหน้าต่อจากนี้ เราขออาสาพามาสัมผัส กับพื้นที่เอนกประสงค์น่ารักๆ ที่เลือกชูโรงความหมายภายใต้ชื่อ HOUSE OF PASSA กัน

 

PASSA

เรื่องราวของที่แห่งนี้เริ่มต้นจากบริษัทดีไซน์ PASSA STUDIO (ผัสสะ สตูดิโอ) ที่รับงานออกแบบ แบบ multidisciplinary พูดง่ายๆ คือตั้งแต่งานกราฟฟิกไปจนถึงจัดอีเวนต์ โดยพวกเขาตั้งใจอยากให้งานของตัวเองกระตุ้นให้เกิดการ ‘รับรู้’ ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง ไปจนถึงจิตใจ 

ตรงกับ ผัสสะ คำบาลีที่แปลว่าการสัมผัส (ที่ลึกซึ้ง) 

เรามองไปที่พื้นปูนคอนกรีตที่เต็มไปด้วยรอยครูดขีดจากการเลื่อนย้ายชิ้นส่วนของและเฟอร์นิเจอร์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด จากการสอบถาม เราได้ทราบว่าตอนแรกที่แห่งนี้คือที่พักผ่อน กินข้าว และนั่งเล่นของทีมในบริษัท เแต่อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของน้องๆ ที่มาฝึกงาน จนถึงช่วง Bangkok Design Week ในช่วงต้นปีที่ทางสตูดิโอนึกสนุกพาน้องตุ๊กตาลมหน้าปั๊มที่เต้นเหงาๆ อยู่คนเดียวเข้ามาเต้น 

จากความตั้งใจที่อยากสร้างการรับรู้ในหลายมิติของบริษัท พวกเขาต่อยอดน้องตุ๊กตาลมนี้โดยการสร้างอีเวนต์เชิญชวนคนมาเต้นร่วมกับน้องและมีอินเทอร์แอ็กทีฟด้วยกัน ใครที่เข้ามาร่วมสนุกก็หยิบเบียร์ไปดื่มฟรีได้ งานครั้งนั้นเลยเป็นตัวจุดประกายความคิดของพวกเขาที่ว่า ‘พื้นที่ที่มีอยู่’ ถ้าผนวกเข้ากับความชอบที่ได้ไปนั่งในคาเฟ่ ความชอบที่ได้ดูงานแสดงที่น่าสนใจ และความชอบในชั่วขณะที่เกิดบทสนทนาของคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนก็คงจะดีไม่น้อย 

HOUSE OF PASSAจึงเป็นผลลัพธ์ที่เกิดออกมาให้ทุกคนได้สัมผัสกันอย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้

 

BAR & INSTALLATION

ถ้าจะนิยามว่า HOUSE OF PASSA คือร้านกาแฟก็คงไม่ถูกนัก สตูดิโอก็ยังไม่ใช่ บาร์ก็ยังไม่เชิง เพราะพวกเขามีทั้งหมดที่กล่าวมาแต่ถูกจัดสรรให้เหมาะสมโดยไร้กรอบควบคุม

ในส่วนของบาร์ กาแฟของที่นี่ถูกกดกลั่นออกมาด้วยเครื่องที่เรียกว่า Flair espresso ซึ่งมีกรรมวิธีคล้ายกับเครื่องทำเอสเปรสโซปกติ เพียงแต่เปลี่ยนแรงจากความดันไอน้ำเป็นแรงดันจากมือ และแรงกดนี้มาจาก มิ้น–ธัญชนิต ลิ้มสุวรรณ หนึ่งในทีมของ PASSA ที่มักรับหน้าที่ทำเครื่องดื่มและพูดคุยกับคนที่แวะเวียนเข้ามานั่นเอง

“รู้สึกดีนะที่ได้ทำตรงนี้ เพราะได้เห็นขั้นตอนการทำ แรงก็เป็นแรงที่มาจากตัวเราเอง แต่อาจต้องใช้เวลาในการทำแต่ละแก้วมากหน่อย คนที่มาก็ต้องค่อยๆ ใจเย็นนิดหนึ่ง” มิ้นหัวเราะก่อนเสริมว่าที่เธอมายืนตรงนี้เพราะอยากให้ตัวกาแฟเป็นเซนส์อย่างหนึ่งในพื้นที่แห่งนี้ นอกจากเมล็ดกาแฟที่ sourcing เอง และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามใจคนในสตูดิโอที่ชอบซื้อมาลองกัน ตัวภาชนะ (ไม่นับแก้วกลับบ้าน ที่ทางสตูดิโอก็ออกแบบเอง) ก็จะมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน เพิ่มความพิเศษให้ประสบการณ์ในแต่ละครั้งด้วย

เลยลึกผ่านช่องประตูรูปห้าเหลี่ยมแปลกตา เราเจอกับหลอดไฟนีออนที่ถูกแขวนสูง-ต่ำสลับไปมา บนพื้นมีฟอนต์สีขาวเขียนไว้ว่า SOMETHING LEFT UNSAID 

“วันนั้นเห็นหลอดไฟที่เสียกะพริบ ดูไปดูมาเหมือนมันกำลังสื่อสาร เลยคิดเล่นๆ กับทีมว่าเหมาะที่จะให้เป็นอินสตอลเลชั่นแรกของเรา เพราะอยากให้เป็นงานที่มีปฏิสัมพันธ์ สื่อสารกับคน ไม่อยู่นิ่ง” นัด–ณัฐพล กีรติพันธวงศ์ เล่าถึงที่มาของการหยิบพระเอกหลักของอินสตอลเลชั่นอย่างรหัสมอร์สตรงหน้าให้เราฟัง 

เราอาจรู้จักรหัสมอร์สในแง่ของความจริงจัง อย่างการใช้ในสงครามหรือการขอความช่วยเหลือ แต่พอเอามาตีความให้หลากหลาย เปิดกว้างมากขึ้นตามแบรนด์ของ PASSA สิ่งที่เราสัมผัสคือรหัสมอร์สก็สามารถน่ารักได้ เป็นเหมือนตัวแทนของข้อความที่เอาไปบอกกับใครที่ไม่กล้าบอกหรือไม่มีโอกาสได้บอก คล้ายโค้ดลับที่คนสองคนใช้แอบคุยกัน 

การกะพริบของไฟเป็นรหัสมอร์สจึงสร้างความอินเทอร์แอ็กทีฟเอื้อให้ผู้ชมได้ ‘สัมผัส’ งานได้ในหลายมิติ หรือได้ลองนั่งถอดรหัสเล่นก็ได้เช่นกัน

 

SO ON AND SO FORTH

ด้วยความหลากหลาย ไม่แปลกที่บางคนอาจมอง HOUSE OF PASSA ว่าเป็นคาเฟ่เปิดใหม่ และทางสตูดิโอเองก็เข้าใจ ในเมืองไทยอาจยังไม่ค่อยมีคนนำเสนอพื้นที่ออกมาในรูปแบบนี้มาก่อน 

ด้วยความตั้งใจของทีมแล้ว พวกเขาอยากให้ที่ตรงนี้เป็นสเปซที่ผ่านมานั่งพักผ่อนหรือมาดูอินสตอลเลชั่นโดยไม่ต้องสั่งกาแฟก็ได้ นั่นเองคือที่มาของชื่อที่ทีมตั้งไว้ว่า HOUSE OF PASSA : sense and experience space เพราะยากแก่การนิยาม พวกเขาอยากให้ตีความพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่สายตาของผู้ที่มาเจอ

“สิ่งที่ประทับใจและรู้สึกว่ามันเติมพลัง คุ้มค่ากับการทำคือเวลาได้เจอเหตุการณ์เช่น น้องเด็กนักเรียนที่แวะมาถึงสามครั้งในสัปดาห์เดียว หรือผู้หญิงคนหนึ่งที่มาดูงานแล้วรู้สึกชอบมาก เย็นวันนั้นถึงกับกลับไปเอาชื่องานไปสักบนแขน ด้วยฟอนต์เดียวกันเป๊ะๆ” ตัวแทนทั้งสองเล่าด้วยเรื่องราวให้พวกเราฟังด้วยรอยยิ้ม

ทีม PASSA STUDIO เล่าให้เราฟังในช่วงท้ายว่าถ้ามีเวลาว่าง พวกเขาพยายามเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้สอยของที่นี่ไปเรื่อยๆ  เช่น ชวนคนมาร่วมทำกิจกรรม หรือจากคาเฟ่ พวกเขาก็อาจเปลี่ยนไปเป็นสถานที่เวิร์กช็อป หรืออเปลี่ยนเวลาเปิดเป็นตอนกลางคืนก็ได้เหมือนกัน เพราะสุดท้าย ทีมอยากให้คนที่มาได้ประสบการณ์อย่างไม่ซ้ำซากจำเจ  

ก่อนจากกัน มิ้นกับนัดแอบกระซิบบอกเราว่า อยากให้ทุกคนมาสนุกกัน หรือถ้าใครมีไอเดียเด็ดๆ สำหรับพื้นที่ของประสาทสัมผัสและประสบการณ์น่ารักๆ แห่งนี้ 

ไม่ต้องเกรงใจ มาช่วยคิดช่วยเสนอได้เลย

 


HOUSE OF PASSA

address : 36/3 Lit Bangkok Resident ซอยเกษมสันต์ 1 กรุงเทพฯ (ใกล้กับ YELO House)

Instagram : @houseofpassa

facebook : PASSA

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!