‘โครงสร้างบ้านที่แข็งแรงก็เหมือนซูเปอร์ฮีโร่’ คุยกับทีมผู้กำกับโฆษณาชุดใหม่ของปูนเอสซีจี

มีเหตุผลสองอย่างที่ทำให้โฆษณาชุดใหม่ของ
“ปูนเอสซีจี” ถูกพูดถึงในวงกว้าง

หนึ่งคือพรีเซนเตอร์คนเก่ง ตอง-กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูฟุตบอลทีมชาติไทย และสอง, โฆษณาเป็นรูปแบบแอนิเมชั่นที่สวยสมจริง และทำโดยฝีมือคนไทยล้วนๆ

เราใช้โอกาสนี้ร่วมพูดคุยกับ
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับโฆษณาจากบริษัท หับโห้หิ้น บางกอก และหนึ่งในผู้กำกับซีรีส์วัยรุ่นชื่อดังจาก GDH อย่าง Project S The Series ตอน SOS Skate ซึม ซ่าส์ และ จอน-เฉลิมพงษ์ บรรพลา Supervisor จากบริษัท Alternate Studio และ RiFF Animation Studio หนึ่งในทีมงานผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นฝีมือคนไทยอย่าง 9 ศาสตรา

เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นงานแอนิเมชั่นฟูลสเกลในงานโฆษณาเนื่องจากต้นทุนและข้อจำกัดหลายอย่าง ดังนั้นเมื่อโฆษณาชุดนี้ถูกปล่อยออกมา เราจึงอดตื่นตาตื่นใจไม่ได้

เผชิญโจทย์ที่ท้าทาย

ในฐานะผู้กำกับ พัฒน์เล่าให้เราฟังว่าพอได้รับบรีฟมาจากผลิตภัณฑ์ปูนเอสซีจี ก็รู้สึกแปลกเหมือนกัน เพราะความต้องการของลูกค้าประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ 1. อยากได้งานแอนิเมชั่นที่สื่อสารถึงคุณสมบัติสินค้าได้ 2. มีกวินทร์เป็นพรีเซนเตอร์ และ 3. แน่นอนว่าต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ด้วย

ความท้าทายจึงอยู่ที่ผู้กำกับว่าจะตีความและนำความแตกต่างทั้งสามอย่างนี้มารวมกันได้อย่างไร

“ก่อนทำงานกับปูนเอสซีจี ภาพลักษณ์ปูนซีเมนต์คือไกลตัวมาก เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เป็นคนซื้อ แต่ว่าพอมาสร้างบ้านเลยเข้าใจว่า อ้าว จริง ๆ นี่ก็ปูนซีเมนต์ นั่นก็ปูนซีเมนต์ ปูนซีเมนต์อยู่รอบตัวไปหมดเลย แค่เราไม่ได้เป็นคนที่เข้าไปดีลกับมันโดยตรง เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วปูนซีเมนต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราเห็นอยู่กับชีวิตประจำวันเรามากๆ แต่เราอาจจะมองข้ามไป และทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างบ้าน ก็เลยรู้สึกว่าอันนี้แหละเป็นส่วนหนึ่งของไอเดีย”

แล้วมู้ดโทนโฆษณาควรออกมาเป็นแบบไหน

“ในช่วงพัฒนาไอเดีย ลูกค้าบอกว่าเขาชอบเรเฟอเรนซ์ของภาพยนตร์เรื่อง
เมย์ไหน.. ไฟแรงเฟร่อ ซึ่งมันเฟรนด์ลี่กว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก แต่พอเขาบอกว่าอยากได้เวย์นี้เลยรู้สึกว่าก็ใหม่ดีสำหรับภาพลักษณ์เขา แล้วก็น่าจะดีสำหรับภาพลักษณ์เขาต่อผู้ชมที่จะได้ดู”

โครงสร้างที่แข็งแรงเริ่มต้นจากข้างใน

ขั้นตอนต่อมาคือการลงรายละเอียดว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรให้ผู้ชม

“ไอเดียของแอนิเมชั่นควรจะเล่าผ่านคนที่ทำให้รู้สึกว่าเรารีเลตได้ด้วย ถ้าเล่าผ่านกวินทร์ก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นไอดอล ไกลตัวเรา เลยเลือกเล่าเรื่องผ่านเด็กที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกวินทร์ ซึ่งปกติเราไม่ดูฟุตบอล พอไปดูแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นไอคอนที่เป็นมากกว่านักฟุตบอลที่หล่อเท่ แต่เขาเป็นคนมีวินัย มีความรับผิดชอบ ความตั้งใจของเขากลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้เขาไปได้ไกลขนาดนี้”

สำหรับคอนเซปต์ของโปรเจกต์นี้ พัฒน์เล่าให้ฟังว่าเขาได้มาจากพ่อของตัวเอง

“พอดีเรากำลังทำบ้านใหม่ แล้วมันมีช่วงของการตอกเสาเข็ม ทำคาน พ่อเราที่ช่วยคุมก่อสร้างก็จะบอกให้เราฟังตลอดว่าโครงสร้างสำคัญสุดเลยนะ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่จะบอกว่าบ้านจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ก็รู้สึกว่ามันแปลกดี แต่ปกติสิ่งนี้จะไม่ค่อยมีคนเห็น เช่น พอทำคานเสร็จก็เอาฝ้าปิดแล้ว หรือเสาเข็มตอกไปก็ไม่เห็นแล้ว เลยรู้สึกว่ามันเป็นโครงสร้างที่มองไม่เห็น แต่ว่ามันจำเป็นต้องสนใจมากที่สุด ก็เลยออกมาเป็นไอเดียว่า ‘โครงสร้างที่แข็งแรง เริ่มต้นจากข้างใน’”

‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ไม่ใหม่ แต่ก็ไม่ง่าย

เมื่อถามว่าทำไมถึงเล่าเรื่องผ่านซูเปอร์ฮีโร่ ผู้กำกับบอกว่าความตั้งใจคืออยากจะดูการ์ตูนที่ตัวเองชอบตอนเด็ก เพราะในการ์ตูนเหล่านั้นจะมีคำสอนง่ายๆ เช่น ‘ฮีโร่อยู่ในตัวทุกคน’ ‘ธรรมะย่อมชนะอธรรม’

“นี่ก็เหมือนกับโครงสร้างที่แข็งแรงย่อมเริ่มต้นจากข้างใน ก็เลยกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เพราะตัวกวินทร์เองก็เป็นเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ของคนไทยอยู่แล้ว ทั้งรูปร่างที่แข็งแรง และการเป็นผู้ปกป้องประตูของทีมชาติไทย” พัฒน์ว่าเช่นนั้น

แน่นอนว่าซูเปอร์ฮีโร่ไม่ใช่เรื่องใหม่ก็จริง แต่กว่าจะมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่สักตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างตัวกวินทร์ในร่างซูเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังพิเศษก็ผ่านการคิดมาอย่างหนัก จะดีไซน์คาแร็กเตอร์ออกมาอย่างไร เสื้อผ้าควรเป็นแบบไหน สามารถทำอะไรได้บ้าง เรียกได้ว่าผ่านการเคี่ยวกรำมาหนักหน่วงไม่แพ้การซ้อมในสนามฟุตบอลเลยทีเดียว

เฉลิมพงษ์ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านภาพแอนิเมชั่นเล่าให้เราฟังว่านี่คือหนึ่งในขั้นตอนที่ยากและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

“ความยากของการดีไซน์คาแร็กเตอร์คือการเอากวินทร์มาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ปกติแล้วซูเปอร์ฮีโร่ไม่ใช่ผู้รักษาประตู ไม่ใช่นักฟุตบอล เราต้องเอาทั้งความเป็นซูเปอร์ฮีโร่กับนักฟุตบอลที่เป็นตัวกวินทร์มาดีไซน์ให้เข้ากัน โชคดีที่ทีมงานปกติเขาก็ชอบกวินทร์กันอยู่แล้ว พอได้ทำก็รู้สึกมีแพสชั่น อยากทำ รู้สึกเหมือนได้ทำกับฮีโร่ของเขา”

สำหรับชุดของซูเปอร์ฮีโร่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากกวินทร์เช่นกัน โดยจับเอาคาแร็กเตอร์ของผู้รักษาประตูมาเล่น เราจึงได้เห็นว่ากวินทร์ในภาคซูเปอร์ฮีโร่ยังสวมถุงมือและรองเท้าสตั๊ดอยู่เช่นเดิม ซึ่งให้ความรู้สึกว่าฮีโร่ดูใกล้ตัวและจับต้องได้มากขึ้น

ครั้งแรกของการร่วมงานกับ ‘กวินทร์’

“จริงๆ ตอนแรกจะเป็นห่วงกวินทร์เพราะเขาเป็นนักฟุตบอล แต่กลายเป็นว่าพอเจอเขาที่หน้าเซ็ต เขาแสดงเก่งมากถ้าเทียบในมาตรฐานนักกีฬาคือเก่งเลย เขาเป็นคนมีจินตนาการ เราบรีฟเขาด้วยไอเดียเหมือนบรีฟนักแสดง เขาเข้าใจและก็สามารถเล่นได้” พัฒน์เล่าให้ฟัง

จากการพูดคุยกันระหว่างการทำงานทำให้พัฒน์ทราบว่ารากฐานที่แข็งแรงที่สุดของการเป็นผู้รักษาประตูฟุตบอลคือการใช้ ‘จินตนาการ’ นี่แหละ เพราะวินาทีที่ต้องตัดสินใจพุ่งตัวไปทางไหนย่อมเกิดขึ้นก่อนที่นักกีฬาจะง้างเท้าเตะลูกฟุตบอลเสียอีก

“มันเลยทำให้เขามีทักษะการจินตนาการในการแสดงด้วยเลยประทับใจกวินทร์ที่สุด เพราะว่าเขาเก่งกว่าที่เราคิดไว้ แล้วเขาก็ตั้งใจ ใส่ใจในงาน เขาจะเข้ามาถามตลอดว่าเป็นอย่างไร”

การทำงานร่วมกันของสองทีม

ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หัวใจสำคัญจึงไปตกอยู่ที่ส่วนของแอนิเมชั่นจะเป็นฝ่ายรังสรรค์ภาพขึ้นมาให้ได้ดั่งใจผู้กำกับ

“เราได้ทีมที่ดีคือคุณจอนจาก Alternate Studio ซึ่งเขาเก่ง แล้วก็เป็นคนที่มีเซนส์ของผู้กำกับ ทำให้เวลาเราบรีฟเขา คุยกับเขาจะง่ายมาก เราแค่บอกเขาว่าไอเดียคืออะไร แล้วก็อยากเปลี่ยนวิธีเล่าเป็นแบบนี้นะ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องบอกเขาว่าช็อตนี้ต้องต่อช็อตนี้ แค่บอกว่าอยากได้สิ่งนี้ คุณจอนก็จะไปทำของเขาแล้วก็กลับมา คือเหมือนผู้กำกับ 2 คนคุยกัน เราก็จะแลกเปลี่ยนกันแล้วสุดท้ายก็ไปหาจุดลงตัวตรงกลาง สบายใจมาก”

ฝ่ายเฉลิมพงษ์เองก็แฮปปี้ไม่ต่างกัน “โปรเจกต์นี้ใช้เวลาประมาณสองเดือนกว่าๆ งานนี้ผมมีส่วนร่วมเยอะเลยเพราะว่าพัฒน์เป็นคนเปิดมาก คิดว่าเราเชี่ยวชาญทางด้านแอนิเมชั่นเขาก็ให้เกียรติเราตั้งแต่คิดสตอรีบอร์ดแล้วก็การทำแอนิเมติกที่ทำภาพ 3D ออกมา เขาก็จะฟีดแบ็กกลับมาตรงที่ไม่ตรงตามคอนเซปต์เขา ข้อดีคือเราทำงานร่วมกัน ส่วนใหญ่จะมองไปทางเดียวกันมาก เลยทำให้งานไม่ค่อยสะดุด”

เรียกได้ว่าโครงสร้างที่แข็งแรง เริ่มต้นจากทีมเวิร์กที่ดีก็คงจะไม่ผิดนัก

โครงสร้างที่แข็งแรงของแอนิเมชั่น…ควรเริ่มต้นจากอะไร

‘การต่อยอดย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากโครงสร้างพื้นฐานยังไม่แข็งแรง’ ประโยคนี้ไม่เพียงใช้ในบริบทของการก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของทุกเรื่องในชีวิต ดังที่อาจารย์มักจะสอนเราเสมอว่าเมื่อพื้นฐานเราแน่น การติดเสริมเติมแต่งจากของเดิมย่อมไม่ใช่เรื่องยาก

แล้วกับแอนิเมชั่นล่ะ…โครงสร้างที่แข็งแรงของการทำงานคืออะไร

“pre-production” เฉลิมพงษ์ว่า “คือการทำแบบแผนไว้แล้วให้ทีมต่างๆ ทำตาม ตรงนี้คือโครงสร้างสำคัญ ถ้าพื้นฐานตรงนี้ไม่แข็งแรง คอนเซปต์อาร์ตเราไม่แข็งแรง สตอรีบอร์ดเราไม่สวย หรือว่าไดเร็กชั่นไม่แน่นอน ต่อให้ทำออกมาอย่างไรมันก็ไม่สวย คล้ายๆ การสร้างบ้าน ต่อให้บ้านสวยแต่ถ้าโครงสร้างไม่ดีอยู่ไปไม่นานบ้านก็มีปัญหา มันจะไม่แน่นเท่าโครงสร้างที่พื้นฐานไดเร็กชั่นให้มันตรง”

ปลุกกระแสแอนิเมชั่นไทย เมื่อฝีมือเราไม่เป็นรองใครในโลก

“แอนิเมชั่นคืองานฝีมือ เป็นงานอาร์ต งานคราฟต์ ที่คนไทยถนัดอยู่แล้ว ตอนนี้เทคโนโลยีมันก็มาถึงไทยแล้ว เมื่อฝีมือแอนิเมชั่นบวกกับเทคโนโลยีมันก็ไปได้ไกล แล้วคนไทยเก่งๆ ที่เคยทำงานต่างประเทศตอนนี้ก็กลับมาประเทศไทยเพื่อพัฒนาวงการ เอาความรู้มาให้กับวงการนี้เยอะแยะ ผมว่าศักยภาพของไทยเทียบเท่าเมืองนอกได้แล้ว”

เฉลิมพงษ์กล่าวอีกว่าข้อดีของโฆษณาคือผู้ชมไม่ต้องเสียเงินเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์ จึงทำให้คนทั่วไปได้เห็นว่าฝีมือการทำแอนิเมชั่นของคนไทยไปได้ถึงระดับไหนแล้ว ซึ่งผลตอบรับจากหลายที่ก็ตกใจเหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้ทำได้ถึงแบบนี้เลยหรือ

“งานนี้ต้องขอบคุณทางปูนเอสซีจีที่ให้โอกาสแอนิเมชั่นไทย ทำโฆษณาที่ช่วยปลุกกระแสแอนิเมชั่นไทยอีกครั้ง น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ และกำลังใจให้คนที่ทำงานในวงการนี้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นจากภาพยนตร์
9 ศาสตรา ขอบคุณที่ให้โอกาสและมองเห็นจุดนี้”

นี่อาจจะเป็นก้าวแรกๆ ของแวดวงแอนิเมชั่นไทยที่เข้ามาโลดแล่นในวงการโฆษณา แต่เชื่อเถอะว่าด้วยฝีมือและศักยภาพที่เรามี

นี่จะไม่ใช่ก้าวสุดท้ายแน่นอน

AUTHOR