‘นิรันดร์ราตรี’ : เบื้องหลังหนังสารคดีโรงหนังสแตนด์อะโลนที่แฝงด้วยปรัชญาแห่งการเปลี่ยนแปลง

“เซลล์ตัวนี้ตาย เซลล์ตัวนี้เกิด คนเราตายเกิดทุกวันนะ มันเร็วมาก เหมือนจิต เกิด-ดับเร็ว เราก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองเนี่ย ตายเกิดต่อเนื่องกัน อุปมาเหมือนฉายหนัง”

นี่คือคำพูดของสัมฤทธิ์ ตัวละครเอกของเรื่องที่ถูกใช้เป็นเสียงบรรยายฉากเปิดภาพยนตร์ นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination) หนังสารคดีเล่าเรื่องโรงหนังสแตนด์อะโลนที่ความนิยมเสื่อมถอยลง แต่หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะพบว่าประเด็นของ นิรันดร์ราตรี ขยายขอบเขตไปไกลกว่านั้น

นิรันดร์ราตรี เล่าเรื่องชีวิตชายที่เฝ้าครุ่นคิดถึงจุดเสื่อมถอยและอนิจจังของภาพยนตร์ ด้วยองค์ประกอบภาพที่ถ่ายทอดความงามและความโศกเศร้าผ่านแง่มุมคนทำงานฉายหนังมาแทบทั้งชีวิตและได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของโรงหนังสแตนด์อะโลน
ผสมกับสายตาที่มองโลกผ่านพุทธปรัชญาและเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ

หลังจากคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาล
CPH:DOX (Copenhagen Documentary
Film Festival) ประเทศเดนมาร์ก ในสายประกวด Next:Wave Award จนเมื่อเร็วๆ
นี้ นิรันดร์ราตรี เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของประเทศไทยและสร้างเสียงฮือฮาในแวดวงภาพยนตร์ไทย เรามีโอกาสจับเข่าคุยกับ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย แห่ง Eyedropper Fill ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของ นิรันดร์ราตรี ที่ทั้งกำกับและลงมือถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เอง
เพื่อเผยแนวคิดและกระบวนการทั้งหมดของการทำหนังเรื่องนี้

ตั้งต้นไอเดียจากครอบครัว

เบสท์บอกเราว่าแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นทำ นิรันดร์ราตรี คือช่วงเวลาในวัยเด็กที่เขาคลุกคลีกับภาพยนตร์และโรงหนังสแตนด์อะโลน

“พ่อเราเป็นคนบ้าหนัง เราเลยไปโรงหนังประเภทนี้บ่อยมากตั้งแต่สมัยเด็กๆ
อาทิตย์ละสองสามครั้ง หรือว่าบางวันดูหนังสองเรื่อง
ย้อนกลับไปพ่อกับแม่เขาก็จีบกันที่โรงหนัง โรงหนังเลยมีความสำคัญกับพ่อแม่เรา และมีความสำคัญกับเราในวัยเด็กมาก”

“สิ่งที่เราอยากทำหลังจากเรียนจบเป็นเรื่องของโรงหนัง
เล่าพื้นที่ของโรงหนังที่ตายไปแล้วในยุคที่เราโตขึ้นมา
โดยเอาความทรงจำของพ่อแม่มาใส่ในหนังให้เหมือนพื้นที่นี้มีชีวิตอีกครั้ง
เหมือนเติมความทรงจำให้กับโรงหนังหรือพื้นที่ที่ตายไปแล้ว
นี่คือไอเดียแรกของเรา”

ตะลุยการค้นคว้า

ปีแรก เบสท์ใช้เวลาหาข้อมูลและเขียนบทอย่างตั้งใจ เพื่อให้นิรันดร์ราตรีเป็นหนังทดลองขนาดสั้น
แต่เมื่อพัฒนาบทเรื่อยๆ ก็ตันจนไปต่อไม่ถูก
เบสท์จึงหยุดเขียนบทและแตกไอเดียทั้งหลายไปสู่การลงสถานที่จริง ออกไปพูดคุยและตระเวนถ่ายรูปโรงหนังสแตนด์อะโลนอีกหนึ่งปีเต็ม จนได้เซ็ตภาพถ่ายของโรงหนังเก่าสิบกว่าแห่งในกรุงเทพฯ ด้วยข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาแข็งแรงมากพอ นิรันดร์ราตรีจึงพัฒนาสู่สเกลของหนังสารคดีขนาดยาว

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราอยากให้คนยุคเก่าพูดถึงโรงหนังเก่า
และระหว่างที่รีเสิร์ชได้ไปโรงหนังหลายๆ ที่ นิรันดร์ราตรีจึงต่อยอดมาเป็นหนังสั้นเรื่อง
ยามเมื่อแสงดับลา ซึ่งดันเสร็จและฉายก่อน หาดูได้ในยูทูบ ซึ่ง ยามเมื่อแสงดับลา จะพูดคนละแบบกับ นิรันดร์ราตรี พูดถึงความทรงจำของการดูหนังในโรงหนังสแตนด์อะโลนซึ่งจะต่างกับยุคปัจจุบัน”

ค้นพบซับเจกต์ที่ปล่อยไปไม่ได้

“เราไปเจอโรงหนังธนบุรีรามาตอนกำลังจะปิดตัวพอดี
แล้วได้เจอพี่สัมฤทธิ์ หรือพี่ฤทธิ์ เป็นคนฉายหนัง
จากตอนแรกที่สนใจแค่เรื่องพื้นที่โรงหนังก็เริ่มเบนมาเป็นตัวคนแทน
เราเลยตามถ่ายคนงานในโรงหนังธนบุรีรามาสามคน มีพี่ฤทธิ์เป็นตัวละครหลัก พี่นทีเป็นตัวละครเสริม
แล้วก็มีอีกคนนึงชื่อกี้ จริงๆ เคยอยู่ในหนังดราฟต์แรกๆ แต่เราเอาออกเพราะสุดท้ายเขามีปัญหาทางจิต ซึ่งเราว่าดราม่าเกินไปเลยเอาออกดีกว่า หลังโรงหนังปิดก็เหลือสามคนนี้ที่ยังใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
ระหว่างที่ถ่ายชีวิตพี่สัมฤทธิ์ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าซับเจกต์คนนี้น่าสนใจ”

“พี่ฤทธิ์อธิบายโลกหรือสิ่งที่เขาเห็นผ่านธรรมมะ ทั้งความคิดของเขาที่มีต่อชีวิต โรงหนัง เขาอ่านหนังสือเรื่องการเกิด
ดับ เรื่องจิต ซึ่งเป็นจุดดึงดูดทำให้เราอยากถ่ายเขาต่อ
บวกกับชีวิตของเขาที่อยู่ที่นี่มานานกว่าคนอื่นในโรงหนัง และเขาก็ทำอาชีพฉายหนังอย่างเดียวตลอด
20 ปี เรารู้สึกว่าตัวละครนี้มีมิติความคิดที่น่าสนใจ เล่าแทนคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพได้”

ตามชีวิตเพื่อถ่ายทำสามปี

“ระหว่างที่เราถ่ายสารคดีเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ของเรากับตัวละครก็พัฒนาไปด้วย ตรงนี้อาจทำให้คนดูรู้สึกว่าทำไมเราซอกซอนชีวิตเขาได้ละเอียดขนาดนี้ เพราะเราอยู่กับเขาแทบจะตลอดเวลา
วันนึงที่ไปอยู่ด้วยกันก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเยอะ ทั้งตอนที่พี่ฤทธิ์อาบน้ำ
กินข้าว และนอน บางทีไม่ได้ถ่ายเพราะไม่มีอะไรให้ถ่ายก็นั่งคุยกัน
พี่ฤทธิ์อยู่กรุงเทพฯ ตลอด 20 กว่าปี ใน 1 ปีจะมีโอกาสกลับบ้านแค่สองครั้ง
ครั้งละสองอาทิตย์ เราเลยขออนุญาตแฟนเขาตามกลับไปถ่ายที่บ้านด้วย ไปเจอเมียเจอลูกเขา
ไปขอสัมภาษณ์เมียเขาว่ามีมุมมองต่อพี่ฤทธิ์ยังไง เมียเขาก็เป็นอีกคนที่น่าสนใจ
แต่ว่าไม่ให้เป็นตัวหลัก จึงนำมาเป็นกระจกสะท้อนให้คนดูเห็นว่าทางฝั่งเมียเขาที่รอเงินจากพี่ฤทธิ์แต่ละเดือนเนี่ยต้องดูแลลูกยังไง มีชีวิตยังไง ครอบคลุมไปถึงเรื่องพื้นที่อีสานและตะเข็บชายแดนแถวสุรินทร์ด้วยว่ามีวิถีชีวิตและความเชื่ออย่างไร”

“หนังขยับจากการทำหนังเรื่องโรงหนังมาสู่พี่ฤทธิ์
จากพี่ฤทธิ์ก็นำมาสู่อะไรที่กว้างไปกว่านั้น
ทั้งเรื่องความเชื่อและปรัชญาทางพุทธศาสนา
เรื่องปรัชญาทางพุทธศาสนาส่วนหนึ่งมาจากความสนใจส่วนตัวของเราเอง อีกส่วนมาจากตัวพี่ฤทธิ์เองที่เป็นคนชอบแบบนี้
ในหนังจะเห็นว่าพี่ฤทธิ์จะปรัชญา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าถ้าเอาเรื่องโรงหนัง
คนฉายหนัง พุทธศาสนา การทำงานของจิตมนุษย์ หรือคอนเซปต์การเปลี่ยนแปลงมาผสมกัน จะทำให้หนังเราที่พูดถึงเรื่องโรงหนังเดินทางไปได้ไกลกว่าเดิม”

หั่นตัดฟุตเทจ 143 ชั่วโมง 58 นาที


นิรันดร์ราตรี
มีคนตัดต่อสามคนคือ เบสท์, เค
(กมลธร เอกวัฒนกิจ) และ ฟิว (ภาคภูมิ นันตาลิตร)
โดยเริ่มจากเบสท์เป็นมือตัดเองในตอนแรกที่ค่อยๆ คัดฟุตเทจที่ชอบมาร้อยเรียงประกอบกัน
ตัดทิ้งตัดแก้ไปมาถึง 20 เวอร์ชันกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

 

ทำไมต้อง นิรันดร์ราตรี

“ความหมายของชื่อคือการเก็บบันทึก
เรามองว่าราตรีคือภาพยนตร์ การทำหนังไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นการสร้างภาพในหัวขึ้นมา ซึ่งเหมือนความฝันผู้กำกับ
แล้วนิรันดร์ราตรีเป็นคำที่เปิดกว้าง
มืดก็ได้ สว่างก็ได้ ราตรีอาจพูดถึงความฝันหรือจินตนาการ สื่อถึงองค์รวมทั้งหมดของภาพยนตร์
เพราะภาพยนตร์ต้องฉายในที่มืด แล้วคำว่านิรันดร์หมายถึงการอยู่ตลอดไป นิรันดร์ราตรีจึงพูดถึงภาพยนตร์ที่เก็บทุกอย่างไว้แม้หลายอย่างสูญสลายไปแล้ว”

“จากเทศกาล CPH:DOX เราได้รางวัล
Special Mention จากคณะกรรมการ เขามองว่าหนังเราไม่ได้พูดถึงแค่การล่มสลายของโรงหนังหรือคนฉายหนังอย่างเดียว
แต่พูดเรื่องภาพยนตร์ด้วย ในแง่ที่ว่าทุกอย่างในหนังมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในอีกมุมหนึ่ง
ภาพยนตร์ยังช่วยเก็บรักษาสิ่งต่างๆ ให้คงอยู่ตลอดไป”

จากภาพสเก็ตซ์สู่ฉากจริง

“เวลาทำงานเราจะมีสมุดสเก็ตซ์เอาไว้จดตลอดเวลา
เราเขียนไอเดียไว้ตอนแรกและตลกมากเมื่อเอากลับมานั่งอ่าน มีบางคีย์เวิร์ดที่ดันมาเกิดในสิ่งที่พี่ฤทธิ์พูด
เช่น เราเขียนไว้ว่าเกิดดับในสมุดตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่ได้เจอพี่ฤทธิ์
โคตรประหลาดเลย มีเขียนไอเดียเรื่องการเปลี่ยนแปลง การฉายภาพลงบนควัน
ฉายลงบนจอใหญ่ๆ ซึ่งเราลืมไปแล้วระหว่างที่เราตามถ่ายพี่ฤทธิ์”

“หนังส่วนท้ายๆ ที่เป็นวิชวล ใช้บอกคอนเซ็ปต์ที่เราเล่าผ่านแนวสารคดีไม่ได้ เราจึงสร้างซีนหรือวิชวลขึ้นมาใหม่เพื่อพูดถึงสิ่งนี้ ภาพยนตร์ที่เราดูจริงๆ มีการติดๆ
ดับๆ ตลอดเวลา เพราะเราใช้เทคนิค flickering เล่นเรื่องการสั่นกะพริบเข้าไปในซีนท้ายๆ ใส่ควัน ความฟุ้งเพื่อพูดถึงวัตถุดิบที่จับต้องไม่ได้อย่างความทรงจำ แต่พอมาอยู่ในภาพยนตร์ ความทรงจำกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ยิ่งถ่ายด้วยฟิล์มความทรงจำยิ่งจับต้องได้ ซีนท้ายๆ จึงพูดถึงเรื่องประมาณนี้ ความจริง ความทรงจำ ความเป็นภาพยนตร์
ซึ่งจะไปเชื่อมกับสิ่งที่พี่ฤทธิ์พูดตอนต้น เซลล์เกิด เซลล์ตาย ก็เหมือนกับภาพยนตร์ที่มีการเกิดๆ
ดับๆ ตลอดเวลา”

Trailer:

AUTHOR