TCDC เจริญกรุง Design Center โฉมใหม่บนตึกเก่าไปรษณีย์กลางที่มีอายุเกือบ 80 ปี

เราคุ้นเคยกับ
TCDC ที่เอ็มโพเรียมมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ
เมื่อถึงเวลาที่ TCDC ประกาศจะย้ายถิ่นฐานที่เราคุ้นชินไปสู่พื้นที่ใหม่บนตึกไปรษณีย์กลาง
บางรัก อาคารเก่าที่มีอายุกว่า 80 ปีในย่านเจริญกรุง
ยิ่งทำให้เราตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ว่าความเก่า-ใหม่ครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร
เลยไขข้อข้องใจด้วยการไปพูดคุยกับ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
(TCDC) และ กิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการ TCDC
ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ที่มาพร้อมกับภารกิจการให้บริการและพัฒนาสังคมรูปแบบใหม่ๆ

ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น
เรายังตามไปคุยกับผู้ชนะการประกวดแบบ TCDC ได้แก่บริษัท
Department of Architecture (DEPT)
ที่มี ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ เป็นผู้ดูแลโปรเจกต์ซึ่งทำงานร่วมกับ
ประพันธ์ นภาวงศ์ดี Director ของโปรเจกต์จากบริษัทฉมา ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบภูมิทัศน์และสวนบนดาดฟ้า

ก่อนจะได้เข้าไปใช้บริการ TCDC โฉมใหม่ช่วงต้นปี 2560
ลองอ่านขั้นตอนการคิดในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้กันเถอะ 🙂

1. ถึงเวลาแล้วที่ต้องโยกย้าย

อภิสิทธิ์
(TCDC) : แม้เราจะหมดสัญญาเช่ากับที่เดิมแล้วแต่เราก็ยังสามารถต่อสัญญาได้เรื่อยๆ
เสมอ แต่สิ่งที่ผมคิดและประเมินคือ ถ้าเรายังอยู่ที่เดิม บุคลิกของ TCDC ก็ยังเป็นแบบเดิมแล้วเราจะตอบโจทย์คนในอนาคตได้ไหม
โดยเริ่มคิดจากสถานที่ที่เราอยู่ เราอยู่ในศูนย์การค้าที่อนาคตก็ดูเหมือนว่าจะ hi-end
ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ดีตรงที่มันสะดวกและสวยงาม แต่คนจะเข้าใจ TCDC
อีกแบบหนึ่ง เขาจะเข้าใจว่า TCDC แตะลำบาก
ถ้าเราจะทำงานกับกลุ่ม OTOP ก็น่าจะพูดลำบากมาก
เพราะแม้แต่ตำแหน่งที่ตั้งของ TCDC เองก็ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ข้างบน
เราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถแตะงานได้ทุกหมวด ทุกประเภท
ผมจึงคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะปรับบุคลิกของ TCDC แล้ว

2. การเขยิบเข้าไปใกล้ชุมชน

การออกแบบของ DEPT และ Shma

อภิสิทธิ์
(TCDC) : เราพยายามหาพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตรเพื่อที่จะใหญ่พอกับบริการของ TCDC
ทั้งหมด
แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะย้ายจากศูนย์การค้าหนึ่งไปตั้งอีกศูนย์การค้าหนึ่ง
แต่พื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ก็ต้องใช้เงินเยอะและไม่ได้หากันง่ายๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้จะมีเงินไปเช่าที่ไหนก็ได้
เลยนึกถึงตึกไปรษณีย์กลาง บางรักขึ้นมา
ผมรู้ว่ามันเป็นตึกเก่าที่น่าทึ่งแล้วก็มีเรื่องราวเยอะ ทั้งเรื่องย่านเจริญกรุง
ตัวอาคาร และพื้นที่ที่ใกล้ริมน้ำเจ้าพระยา ผมคิดว่าถ้าเราสามารถรีโนเวทอาคารเก่า 80
ปีได้โดยเอาบริการสมัยใหม่สวมเข้าไปก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้เห็นว่าอาคารเก่าที่เราสวมโลกวันนี้เข้าไปแล้วใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ
มันจะเป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้ก็มีการหันมาใช้สมบัติเดิมของชาติมากขึ้นด้วย
มันน่าจะเห็นความสร้างสรรค์ในนั้นได้ ซึ่งพื้นที่ใหม่นี้น่าจะเปิดโอกาสให้เราได้หลายอย่างและน่าจะดึงคนกลุ่มอีกเข้ามารู้จัก
TCDC ได้ด้วย

3. เปิดความคิดสร้างสรรค์ให้คนทำงานสร้างสรรค์คิด

ตึกไปรษณีย์กลางมีลักษณะอาคารเป็นรูปตัว T โดยพื้นที่ที่ TCDC ได้เช่าคือ บริเวณปีกด้านซ้ายทุกชั้น และบริเวณชั้น 5 (ชั้นบนสุด)ซึ่งมีการต่อเติมเพิ่ม เชื่อมกับตึกหางตัวทีด้านหลังทุกชั้น

กิตติรัตน์
(TCDC) : การประกวดแบบเป็นระเบียบของทางรัฐอยู่แล้วซึ่งเราก็อยากจะสร้างความมีส่วนร่วมของการออกแบบด้วย
เราจึงเปิดการประกวดแบบทั่วไปเพราะเราอยากให้ทุกคนในวงการสร้างสรรค์เข้ามาเสนออนาคตของ
TCDC ร่วมกัน
การประกวดแบบของเรามีข้อจำกัดเยอะเนื่องจากพื้นที่ของไปรษณีย์กลางที่เราได้นั้นยังเจรจากันไม่จบ
แต่เราก็บอกสถาปนิกทุกคนทีมที่ประกวดแบบว่าให้ออกแบบมาให้เต็มที่
เพราะการออกแบบงานสร้างสรรค์ เรารู้สึกว่ามันกั๊กไม่ได้
เราอยากมองเห็นศักยภาพของพื้นที่นี้แบบเต็มที่
ตั้งแต่ด้านหน้าไปรษณีย์ติดถนนเจริญกรุงไปจนถึงหลังแม่น้ำเจ้าพระยา
และบรีฟไปว่าสถาปนิกสามารถตีความเพิ่มเติมจากพื้นที่ตรงนี้ได้อีกด้วย
ซึ่งก็มีคนเข้ามาสนใจประมาณ 14 แห่งเป็นบริษัทคนไทยหมดเลย

4. ออกแบบพื้นที่ให้ต้อนรับทุกคน
ทวิตีย์ (DEPT)
:
เราคิดว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่น่าทำเพราะมันเป็น
Design Center ของเมืองไทย
เรารู้ว่าคงจะคุยกันสนุกถ้าได้ทำงานร่วมกันเพราะเวลาเราเป็นดีไซเนอร์
ถ้าเจ้าของโครงการเข้าใจการออกแบบ มันก็จะทำให้เรา push การออกแบบไปได้ไกล
แล้วที่นี่เป็น Design Center ด้วย
มันก็น่าจะมีอะไรที่สนุกเกิดขึ้นได้ ทาง TCDC ก็เล่าให้เราฟังถึงวิสัยทัศน์ของเขาว่าจะทำอะไรบ้าง
มันจะมีรูปแบบบริการที่เหมือนเดิมและมีบางส่วนเพิ่มขึ้นมา
สิ่งสำคัญคือการขยายบทบาทของตัวเองให้ภาคนักออกแบบ ภาคธุรกิจการเงินมาเจอกัน
ดังนั้นพื้นที่ใหม่นี้จึงอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่รองรับคนหลากหลาย
ไม่เพียงแต่ดีไซเนอร์เก๋ๆ เท่านั้น อาจจะมีผู้ประกอบการหรือชาวบ้านเข้ามาใน TCDC
ดังนั้นมันจึงต้องมีบรรยากาศที่ต้อนรับ มีความเป็นมิตร

พอเราได้รับบรีฟมาว่าให้ออกแบบ TCDC ในไปรษณีย์กลาง เพื่อให้ตอบโจทย์การเชื่อมคนเข้าด้วยกัน
หัวใจของการออกแบบของเราเลยอยู่ที่การรีโนเวทบันไดใหญ่กลางอาคาร ซึ่ง ณ
ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าทาง TCDC
จะได้เช่าพื้นที่ตรงนี้หรือเปล่า แต่เราก็คิดว่ามันจะกลายเป็น Public
Space ขนาดใหญ่ที่จะเกิดกิจกรรมขึ้นมากมายตรงนั้นได้
จากบันไดเดิมที่มีการต่อเติมห้องน้ำ ห้องเก็บของเต็มไปหหด
เราก็แกะแบบให้เหลือแต่บันไดโล่งๆ ที่ทุกพื้นที่เช่าของ TCDC จะได้เชื่อมกันหมด จากความใหญ่ของบันไดเดิมเคยเป็นโถงใหญ่มาก เราก็คิดว่าจะแบ่งพื้นที่ให้เป็น co-working space มีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเข้าไปสวมกับบันได
มีโต๊ะเป็นที่นั่งอ่านหนังสือหรือตามราวกันตกก็จะมีเคาน์เตอร์เล็กๆ ให้นั่ง
แล้วมันจะเป็นพื้นที่ที่คนมาเจอกัน คนเห็นกันรู้จักกัน
แล้วมันก็ชวนให้เกิดกิจกรรมได้อีกเยอะ

โถงบันไดในไปรษณีย์กลางที่ DEPT ออกแบบให้เป็น Co-working Space

ประพันธ์ (Shma): บรีฟประกวดแบบบอกว่าอยากให้ภูมิทัศน์โดยรอบของไปรษณีย์กลางนั้นเข้าถึงง่าย
รวมถึงพื้นที่ริมแม่น้ำข้างหลังด้วย
เราก็มาคิดว่าการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับปัจจุบันมันคืออะไรกันแน่
เราก็ศึกษาประวัติของตึกไปรษณีย์กลางที่มีอายุ 80 ปี
ที่นี่เป็นเป็นตึกแรกๆ ที่หันหน้าเข้าถนน เพราะก่อนหน้านี้ชาวไทยใช้ชีวิตริมน้ำก็จะหันไปทางริมน้ำ
ดังนั้นมันจึงมีพื้นที่เปิดโล่งด้านหน้าตึกมากเพื่อให้เห็นความสวยงามของอาคาร
แต่เมื่อมองถึงยุคปัจจุบัน
เราคิดว่าจะทำยังไงให้คนไม่เกร็งกับสถานที่และอยากจะเข้าไปด้านใน
อยากให้ภูมิสถาปัตย์ที่เรากำลังจะออกแบบนั้นดึงดูดคนเข้ามา
การออกแบบในแผนประกวดแรกก็เลยตั้งใจให้พื้นที่ข้างหน้าเป็นสวนหมดเลย
เปิดรั้วด้านหน้าให้โล่ง เพื่อให้คนอยากจะเดินเข้ามา แม้ไม่ใช่ผู้ใช้บริการของ TCDC
ก็ตาม แต่เราเชื่อว่าพื้นที่ของรัฐเป็นของทุกคน
แล้วก็มีการเชื่อมพื้นที่ริมน้ำข้างหลังตึกไปรษณีย์กลางด้วย
คือเมื่อเดินเข้ามาที่ตึก จะมีทั้งสวน ทางเดิน ทางจักรยาน เชื่อมตั้งแต่ด้านหน้า
ยาวไปด้านข้างอาคารแล้วก็ไปจนถึงด้านหลัง มันจะให้ความรู้สึกว่ามันเป็นสวนที่ใครจะเข้าไปใช้ก็ได้
แต่เมื่อสุดท้ายแล้วการเจรจาพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารและพื้นที่ริมน้ำไม่สำเร็จ จึงไม่ได้ใช้การออกแบบนี้เลย

5. เริ่มใหม่อีกครั้ง

บริเวณทางเข้า TCDC เจริญกรุง

ห้องสมุด

ทวิตีย์ (DEPT):
เรารู้สึกว่าเราชนะการประกวดออกแบบด้วยคอนเซปต์นี้
แต่สุดท้ายแล้วทาง TCDC
ก็ไม่ได้เช่าพื้นที่ตรงนี้ แบบที่เราเตรียมไว้ก็ต้องทำใหม่ทั้งหมด
ด้วยเวลาที่มีและทาง TCDC ที่จะหมดสัญญาเช่ากับเอ็มโพเรียม
ก็เลยต้องทำงานนี้อย่างเร็ว เพราะฉะนั้นเรามีเวลาออกแบบ 4 เดือนครึ่งจากศูนย์
ตั้งแต่คอนเซปต์ไปจนถึงแบบก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 9,000 ตารางเมตร
ด้วยเวลาแค่นี้ การทำเสร็จทันเวลาเลยเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของทีมมาก

พอเราเข้าไปศึกษาก็พบว่าโจทย์ยากมาก
พื้นที่เช่าที่ TCDC
ได้ก็กระจายอยู่ทั่วอาคาร
คือบริเวณหัวตัวทีที่ปีกด้านซ้ายและบริเวณชั้น 2 ทั้งหมดซึ่งจะกลายเป็นออฟฟิศของ TCDC
และบริเวณหางตัวทีทุกชั้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มันไม่ได้เชื่อมกันเลย
การที่เราไม่ได้เช่าพื้นที่ตรงบันไดทำให้เราเข้าไปปรับปรุงมันไม่ได้ การเดินเข้าๆ
ออกๆ อาคารก็ทำให้เราคุมดีไซน์ไม่ได้ ประสบการณ์ของผู้ใช้ก็จะไม่ต่อเนื่องกัน
พื้นที่ที่เราได้เช่าตรงหัวตัวทีตรงชั้น 5 ก็จะเล็กเกินไปสำหรับบริการหลักอย่าง
co-working space หรือห้องสมุด และพื้นที่กว้างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหางตัวทีมากกว่า
ฉะนั้นจึงต้องมีการต่อเติมบริเวณชั้นบนสุดของอาคาร
คือเชื่อมหัวตัวทีและหางตัวทีเข้าด้วยกันให้กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะกับการเป็น
co-working space และห้องสมุด
โดยเราต่อเติมพื้นที่ค่อนไปทางด้านหลังอาคาร เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับภาพลักษณ์ของอาคารไปรษณีย์กลางแต่เดิม
ซึ่งเราก็เข้าใจในประเด็นตรงนั้น

Co-working Space

วิธีคิดเริ่มจาก
เราต้องออกแแบบให้ตอบโจทย์การบริการของ TCDC ได้ ซึ่ง TCDC พูดถึงเรื่องระบบนิเวศของความสร้างสรรค์
มันจึงต้องเป็นพื้นที่ที่ได้เจอกันเพราะตราบใดที่คนไม่เชื่อมต่อกัน มันจะไม่เกิดพลวัตของความสร้างสรรค์
ฉะนั้นพื้นที่หลักอย่าง co-working space หรือห้องสมุดมันต้องเป็นพื้นที่เปิด
คือมาแล้วก็จะมองเห็นคน ถ้ามองแล้วจะมองเห็นคนอื่นๆ ถ้ามาบ่อยๆ ก็จะคุ้นหน้ากันและอาจจะเริ่มรู้จักกันก็ได้ หรือแม้แต่ลักษณะการตั้งเฟอร์นิเจอร์ เราก็จะมีโต๊ะยาวๆ เยอะๆ
เพื่อให้คนมานั่งรวมกัน แม้จะไม่รู้จักกันก็ตาม มี Communication board ที่ให้เหล่านักออกแบบหรือนักธุรกิจได้สื่อสารว่าเขาอยากได้อะไร
อยากโชว์งานอะไร มันก็เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
มีพื้นที่สันทนาการนิดหน่อยให้เขารีแลกซ์แล้วก็ได้คุยกันในบรรยากาศสบายๆ

ดังนั้นจึงใช้วิธีดึงคนขึ้นไปชั้นบนสุดก่อน
เขาจะเจอกับพื้นที่ส่วนรวมอย่าง co-working
space และห้องสมุด จากนั้นก็ให้ผู้ใช้ลงมาเรื่อยๆ
ด้วยบันไดเลื่อนที่เราเติมเข้าไปในอาคาร มีห้องเวิร์กช็อป
ห้องจัดนิทรรศการขนาดเล็ก ห้อง Maker space ห้อง Material
library และห้องจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ผนังจะใช้กระจกทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนเชื่อมกันได้อยู่
เห็นว่าใครทำอะไร หรือเห็นว่า TCDC มีรูปแบบการบริการแบบไหน

ส่วนเรื่องการออกแบบภายใน
เราตั้งคำถามว่าพื้นที่แบบไหนถึงจะเรียกว่าพื้นที่สร้างสรรค์ เราคิดว่าการทำพื้นที่ที่ตายตัวถาวรไปหมดน่าจะไม่ตอบโจทย์เรื่องความสร้างสรรค์ เพราะความสร้างสรรค์ไม่มีกรอบ พื้นที่จึงควรมีความเปิดกว้างปรับเปลี่ยนได้ รองรับกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายในอนาคตที่เราอาจจะคาดเดาไม่ได้ด้วยซ้ำ จึงออกแบบพื้นที่หลักให้ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ เฟอร์นิเจอร์เคลื่อนที่ได้เกือบทั้งหมดหรือแม้แต่งานระบบอย่างแสง ก็ต้องปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ตามกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ประพันธ์ (Shma): พื้นที่ที่เราได้ทำงานก็จะเป็นส่วนบนของอาคารบริเวณหัวตัวที
เป็นจุดที่ผู้ใช้บริการจะขึ้นมาเจอกันเป็นจุดแรกซึ่งจะเป็น co-working space ลักษณะสวนที่เราต่อเติมเข้าไปจะสามารถถอดเข้าออกได้
แล้วก็มีพื้นไม้ยกระดับขึ้นมาเพื่อไม่ให้ไปกระทบกับโครงสร้างเดิม
บริเวณปีกด้านขวาของตึกจะเป็นพื้นที่สำหรับสมาชิกของ TCDC ซึ่งจะตกแต่งด้วยบล็อกต้นไม้
มีที่นั่งแล้วก็ออกมานั่งรับวิวได้
เราพยายามทำให้มันเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้จริงและเหมาะกับคนสมัยใหม่
ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จะสามารถเคลื่อนย้ายได้
มีเต้าเสียบเพื่อเสียบปลั๊กโน้ตบุ๊กได้ แล้วก็มีไฟให้แสงสว่างเพราะบริเวณด้านนอกกว่าคนจะออกมาใช้งานก็น่าจะเย็นๆ
ไปจนถึงค่ำ

6. อันไหนเก่าควรให้รู้ว่าเก่า อันไหนของใหม่ก็ให้เห็นว่าใหม่

Maker Space

Material Center

ทวิตีย์ (DEPT): การเข้าไปอยู่ในอาคารอนุรักษ์ เราต้องเข้าใจว่าอนุรักษ์อย่างไร เข้าใจในคุณค่าของอาคารเดิม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องก้าวไปข้างหน้า อย่างรูปลักษณ์อาคารด้านหน้าถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เราก็จะแตะน้อยที่สุด คงของเดิมไว้เป็นหลักเพราะมันเป็นคาแรกเตอร์หลัก และส่วนยอดอาคารจะมีครุฑที่อำนวยการสร้างโดยอ.ศิลป์ พีระศรี ก็จะต้องรักษาไว้ โดยไม่มีส่วนใดที่จะอยู่สูงไปกว่านี้ด้วย ส่วนใหญ่เราจะออกแบบภายในอาคารมากกว่า ซึ่งคิดว่าสิ่งที่เราออกแบบใส่เข้าไปก็ควรเห็นชัดว่าเป็นของใหม่ เราอยากเผยให้เห็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและวัสดุเดิมของอาคารเดิมให้มากที่สุด แม้แต่ฝ้าเพดานเราก็จะไม่มีเพื่อเปิดให้เห็นโครงสร้างเดิมของอาคาร เราเลือกที่จะทาสีส่วนอาคารเดิมให้เป็นสีเทาเข้มที่ให้ความรู้สึกว่ามีความหนักแน่น ส่วนที่ออกแบบใหม่จะดูลอยตัวอยู่ภายในเปลือกอาคารเดิม โดยมีองค์ประกอบเป็นเหล็กสีน้ำตาลเข้ม และอคริลิกขุ่นที่จะเรืองแสงเป็นผนังหรือชั้นหนังสือซึ่งก็จะคอนทราสกับองค์อาคารเดิม

ประพันธ์ (Shma): ในส่วนของสวนชั้นดาดฟ้า
เราพยายามเติมน้ำหนักให้น้อยที่สุดจึงไม่ค่อยใส่ต้นไม้ใหญ่เข้าไป ส่วนใหญ่จะใช้ไม้พุ่ม
แล้วก็ยกโครงสร้างใหม่ขึ้นมาเพื่อไม่ให้สวนที่เราจัดไปสัมผัสกับโครงสร้างเก่าโดยตรง
ซึ่งเราก็เสนอให้มีการติดตั้งแผ่นกันซึมบนพื้นเพื่อลดโอกาสการรั่วซึมให้น้อยลงอีก
แล้วก็ออกแบบให้การติดตั้งวัสดุทุกๆ ชิ้นสามารถถอดออกได้
เผื่อการบำรุงรักษาในอนาคต

เครดิตภาพ Department of Architecture และ Shma
Rendering Credit 3DOJ Studio

AUTHOR