การเดินทางของ ‘มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ’ ห้องเรียนที่สอนให้ไม่กลัวการใช้ชีวิต

ในโลกยุคที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่การแข่งขัน ใครหลายคนต้องซ่อนความเป็นตัวเองเอาไว้แล้วหมุนตามระบอบทุนนิยมที่ใช้ความทะเยอทะยานนำหน้า เกิดความเครียดและคำถามหลายๆ ข้อที่ชวนให้ไม่กล้าใช้ชีวิตต่อไป

‘เรามันไม่ดีพอ’ ‘ทำอะไรก็ไม่ได้เหมือนคนอื่น’ ‘ทำไมคนอื่นที่อายุเท่าฉันประสบความสำเร็จกันเร็วจัง’ ‘กลัวว่าโตไปแล้วจะเลี้ยงดูพ่อแม่ไม่ได้’

ความคิดเหล่านี้มักผุดขึ้นมาในหัวบ่อยๆ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่พอเจอโลกความจริงที่ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง ความกลัวก็ถาโถมเข้ามาเป็นเกลียวคลื่น ไม่รู้ว่าจะจมลงเมื่อไหร่

เราทุกคนล้วนผ่านการศึกษามามากมาย ซึมซับความรู้หลายแขนง แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ไม่เคยถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาไทยระดับไหน คือวิธีเอาชนะความกลัวพวกนั้น แล้วใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจริงๆ จนกระทั่งเราได้รู้จักกับ มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ซึ่งเป็นมหาลัยทางเลือก เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดยใช้พื้นที่บริเวณปากช่องเป็นที่บุกเบิก ก่อนจะพัฒนาไปเป็นโครงการมหาลัยเคลื่อนที่อย่าง Gap Year Program ที่นี่ไม่มีการแข่งขันหรือสอบวัดระดับ มีแต่ความจริงใจและหัวใจศรัทธาที่ ป๊อบ-กิตติพงษ์ หาญเจริญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ โดยตั้งใจให้เป็นสถานที่ที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพของตนเอง มีอิสระในการใช้ชีวิต และสร้างความสุขที่ยั่งยืน

เส้นทางที่ป๊อบเลือกเดินนี้เป็นมาอย่างไร แนวความคิดที่เขาเชื่อคืออะไร คงไม่มีใครเล่าได้ดีไปกว่าตัวเขาเอง

เส้นทางของนักพัฒนาสังคมกับอุดมการณ์ที่ถูกกดทับ

ย้อนกลับไปในชีวิตชั้น ม.2 ของเด็กชายกิตติพงษ์ ในคาบเรียนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง

ท่ามกลางหญิงชายวัย 14 ที่กำลังนั่งเขียนเรียงความกันอย่างใจจดใจจ่อและมีความคิดที่หลากหลาย เด็กชายกิตติพงษ์เลือกเขียนเรียงความเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในไทย เขาเสนอทางออกไปว่าควรจะเพิ่มเงินเดือนให้ครูเพื่อกระตุ้นให้คนอยากเป็นครูมากขึ้น นั่นเป็นเพียงความคิด ณ เวลานั้นของป๊อบที่ถูกหยุดไว้

กระทั่ง ม.6 ป๊อบได้แสดงความเห็นอีกครั้งผ่านการเขียนบทความวิพากษ์โรงเรียนตนเองยาว 12 หน้า โพสต์ลงในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ชื่อดังยุคนั้นอย่าง pramool.com บทความจากเด็กธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นกระบอกเสียงที่พูดแทนเด็กอีกหลายพันคน เรื่องราวใหญ่โตจนเกิดการล่ารายชื่อผู้ที่เห็นด้วยในห้องและตัดสินใจยื่นเรื่องให้ครูทุกแผนก รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน แต่สุดท้าย เสียงของเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ดังพอ ป๊อบและเพื่อนต้องยอมจำนนเซ็นชื่อยอมรับผิดต่อเรื่องที่พวกเขาเชื่อว่าถูก เพียงเพราะผู้ใหญ่คิดว่าพวกเขาทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง

ป๊อบได้แต่เก็บความรู้สึกนั้นไว้ลึกๆ แต่ถึงจะลึกเท่าไหร่ อุดมการณ์ที่จะพัฒนาสังคมก็ยังคงอยู่ เวลาผ่านมาจนหลังจากป๊อบจบมหาวิทยาลัย เขาได้พบกับ โจน จันได ผู้ริเริ่มชุมชนพันพรรณ ศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ที่เชื่อในการพึ่งพาตนเอง แนวความคิดของโจนที่ว่า ‘ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เราทำให้มันยากเอง’ ทำให้คนที่เคยสนใจโครงสร้างทางการเมืองหลายรูปแบบ เริ่มพุ่งตัวไปที่วิกฤตทางเมล็ดพันธุ์ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ป๊อบได้อุทิศตนทำงานที่พันพรรณกว่า 4 ปี

“เรารู้สึกขอบคุณคนรุ่นก่อน เขาอุตส่าห์คัดพันธุ์พืชให้คนรุ่นหลังว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี มันก็เกิดคำถามจากคุณโจนว่า เราจะส่งต่ออะไรให้คนรุ่นถัดไป เราจะส่งต่อหนี้สินและทรัพยากรที่พังพินาศไปแล้วให้เหรอ เราบอกกับตัวเองว่าอยากเป็นบรรพบุรุษที่ดี ที่คนรุ่นหลังจะไม่มาบ่นตามหลังว่าทิ้งแต่โลกพังๆ ไว้ให้” ป๊อบเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจครั้งนั้น

จากพันพรรณ ดินแดนแห่งความเรียบง่ายสู่การเป็นครู

การไปใช้ชีวิตในชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างพันพรรณเป็นเวลา 4 ปี ทำให้ป๊อบซึมซับแนวความคิดการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและการพึ่งพาตนเองมากขึ้น เขาสนใจการเก็บและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ได้ชีวิตที่เรียบง่ายกลับคืนมา ในสังคมที่ไม่แบ่งชนชั้น ป๊อบยังได้พบผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกัน อย่าง ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ที่สอนให้เขาให้คุณค่ากับความเมตตา ความรัก และความปรารถนาดีต่อสิ่งต่างๆ โดยไม่แบ่งแยก

จนกระทั่งในวันธรรมดาวันหนึ่งที่เขาเจอจุดเปลี่ยน

“วันหนึ่งระหว่างที่เรากำลังฝึกสมาธิ ใช้เวลากับตัวเอง เราได้ยินเสียงเล็กๆ ออกมาจากภายในตัวเราว่าให้ไปเป็นครู ไปกระจายสิ่งดีๆ ที่เราได้รับจากที่นี่ให้คนอื่น เราก็คิดว่าเราเป็นอะไร เป็นโรคจิตเวชหรือเปล่า ทำไมถึงได้ยินเสียงนี้ มันมาจากไหน เกิดขึ้นได้ยังไง”

ป๊อบใช้เวลาทบทวน พิจารณา และหาเหตุผลให้คำเรียกร้องนี้ร่วม 3 เดือน แต่กลายเป็นว่ายิ่งใช้เวลานานเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยหาเหตุผลอะไรมาหักล้างได้เลย ความเงียบจากสมาธิกลับทำให้เสียงนั้นชัดยิ่งขึ้นจนเขาไม่สามารถปล่อยผ่านไป ป๊อบตัดสินใจออกมาจากพันพรรณและทำตามเสียงนั้น โดยไปสมัครเป็นครูมัธยมตามโรงเรียนทางเลือกหลายแห่ง

“ตอนนั้นอยากเป็นครูวัยรุ่น รู้สึกว่ามันสนุก เราติดต่อไปทุกโรงเรียนทางเลือกในประเทศไทย แต่ก็เจอปัญหาเยอะมาก ไม่ได้งานเลย หลายอย่างไม่ลงตัว คิดโทษตัวเองว่าหรือสุดท้ายเราเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ รู้สึกแย่มาก เพราะเราออกมาพร้อมกำลังใจและคำอวยพรจากเพื่อนที่พันพรรณ พี่บางคนบอกว่าใครได้เรียนกับเราถือว่าโชคดีมาก แต่กลายเป็นว่าเราไม่มีที่สอน”

มหาลัยที่สร้างจากความรักและธรรมชาติ

หลังจากป๊อบลอยอยู่ในทะเลแห่งความผิดหวัง เขาได้เจอกับรุ่นน้องที่เรียนโฮมสคูล (ระบบการศึกษาทางเลือกที่ผู้ปกครองเป็นคนจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวเด็กเอง) น้องได้โยนคำถามใส่ว่าทำไมเขาไม่เปิดโรงเรียนของตัวเองเลยล่ะ

“ตอนนั้นเราก็คิดว่ามันชักจะไปกันใหญ่แล้ว ทั้งออกมาจากพันพรรณ มาหาโรงเรียนสอน ตอนนี้เราจะเปิดโรงเรียนเองแล้ว แต่พอเราทบทวนอะไรหลายอย่าง ประกอบกับมีแรงเชียร์จากหลายคนทำให้เราอยากลอง เราเริ่มเขียนรายละเอียดแผนการทำงานและคอนเซปต์ของโรงเรียนยาวสิบกว่าหน้า ตอนนั้นเองที่มหาลัยแห่งนี้เริ่มต้น”

การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่มีทั้งทีมงาน เงินทุน หรือที่ดิน เป็นการทำงานที่ใช้ศรัทธานำปัจจัยอื่นๆ

ในความเป็นจริง การจะสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้นมาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือที่ดิน หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในยุคนี้ เพราะพื้นที่ทุกผืนต่างมีคนจับจองไปเก็งราคากันหมด แต่กลายเป็นว่าปัญหานี้แก้ได้ง่ายกว่าที่คิด

“ประเทศไทยมีที่ว่างๆ ที่คนอยากให้เกิดประโยชน์เยอะมาก สุดท้ายปีนั้นมีคนเสนอที่ให้เราไปสร้างมหาลัยประมาณ 4 ที่ เรารู้สึกขอบคุณเขาที่เชื่อใจเราขนาดนี้ ทรัพยากรที่หายากมากกว่าคือคนที่จะมาทำ คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมีเยอะนะ แต่คนที่อยากทำมีน้อย”

“สุดท้ายเราตกลงเอาพื้นที่ไร่ข้าวโพดเก่าตรงปากช่อง ที่นั่นไม่มีอะไรเลย บ่อบาดาลเก่าก็พัง เราเริ่มโดยการนอนวัด เดินตามหลวงพี่ไปบิณฑบาต กลางวันไปปรับปรุงพื้นที่ กลางคืนกลับมานอนวัด มันเริ่มด้วยใจโคตรๆ” ป๊อบเล่าถึงความลำบากในการทำงานช่วงแรก

ช่วงเวลาของป๊อบที่ปากช่องนี้เอง เป็นเวลาเดียวกันกับที่ ฝน-กนกพร ตรีครุธพันธ์ ประชาสัมพันธ์ของโครงการ และหนึ่งในทีมงานมหาลัยแห่งความรักและธรรชาติ ได้มารู้จักโปรเจกต์นี้ เดิมทีฝนชอบทำงานอาสาสมัครพัฒนาชุมชนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยเติมคุณค่าให้ชีวิตจากการทำงานในเมืองหลวง

หลังจากอ่านรายละเอียดโปรเจกต์ทั้งหมด ฝนก็เริ่มมาเป็นอาสาสมัครในช่วงแรก และเป็นทีมงานประจำในเวลาต่อมา

หลักสูตรนี้ไม่มีสอบ แต่สอนให้เข้าใจทุกสิ่งตามจริง

เริ่มแรก ทีมงานมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติมีด้วยกันทั้งหมด 5 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่รู้จักกันผ่านพันพรรณเพราะมีแนวคิดและเห็นภาพสำเร็จคล้ายกัน แรงศรัทธานี้ทำให้อุปสรรคต่างๆ กลายเป็นเรื่องเล็ก หลายคนอาจจะคิดว่าการร่วมมือสร้างโรงเรียนเช่นนี้ เป็นเรื่องในอุดมคติ แต่ป๊อบบอกเราว่าไม่เลย สิ่งนี้คือความธรรมดา และสำหรับเขา การสร้างคอนโดมิเนียมในเมืองที่เราเห็นจนชินตายังดูเป็นอุดมคติมากกว่า

ป๊อบเริ่มเขียนหลักสูตรออกมาทั้งหมด 27 วิชา บวกกับอีกหนึ่งวิชาที่คิดเองได้ตั้งแต่แรกเริ่ม เขาคิดทั้งการเรียนการสอนและวิธีจบหลักสูตร เช่น ถ้าอยากต่อเรือ ก็สามารถคิดหลักสูตรเองได้ กำหนดว่าจุดประสงค์ของการต่อเรือครั้งนี้คืออะไร การเรียนทั้งหมดจะแบ่งเป็น 4 ปีเหมือนมหาวิทยาลัย ทุกวิชาจะเป็น project based learning ที่ตั้งแค่จุดหมายปลายทางและไม่มีการประเมินการเรียนการสอนระหว่างทาง เช่น วิชาเย็บปักถักชุน มีเป้าหมายคือทุกคนต้องทำเครื่องแบบของตัวเองขึ้นมาให้มีความแตกต่าง แต่ต้องเนียนเข้าไปเป็นธีมเดียวกัน ฝึกทั้งการคิดหลายขั้นตอน ทั้งออกแบบของตัวเองและปรึกษากับคนอื่น

หรืออีกวิชาที่ป๊อบได้แรงบันดาลใจมาจากรายการกบนอกกะลา ซึ่งจะตามไปดูว่ากว่าที่สิ่งหนึ่งจะผลิตขึ้นมาได้ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง เช่น การผลิตสมาร์ตโฟน ก็ตามไปดูตั้งแต่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมเพื่อทำเป็นพลาสติก

“เป้าหมายของวิชานี้คือเราอยากให้คนได้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งของแต่ละอย่าง พอรู้แล้วว่าผลิตยังไง หลังจากนี้จะใช้อะไรก็จะไม่ใช้กันล้างผลาญแบบนี้อีก ไม่ต้องมานั่งสอนกันแล้ว นี่คืออุดมคติทางการศึกษาที่สามารถทำได้จริง การเรียนรู้มันเกิดขึ้นเยอะมาก ส่วนใครคิดว่าดีแล้วอยากทำตาม ก็เอาไปได้แต่ขอคิดค่าลิขสิทธิ์บาทนึง เผื่อไว้นิดนึง” ป๊อบพูดพร้อมกับหัวเราะออกมาเล็กๆ

ชื่อมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติที่เห็นหวานๆ แบบนี้ ป๊อบเล่าว่าทีแรกจะให้เป็นแค่คอนเซปต์ แต่มีหลายเสียงสนับสนุนให้ใช้เป็นชื่อเพราะฟังแล้วจริงใจ คำว่า ‘มหาลัย’ นั้นไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด แต่เพราะที่แห่งนี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยภายใต้ระบบการศึกษาไทยแบบเดิมๆ แต่เป็นพื้นที่การเรียนการสอนที่ยิ่งใหญ่ เท่าเทียม และเปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกคนเป็นกันเอง เหมือนที่คนส่วนใหญ่มักพูดว่า ‘มหาลัย’ มากกว่าจะพูดว่า มหาวิทยาลัย

แต่เพียงนิดเดียวก่อนที่มหาลัยแห่งนี้จะได้ต้อนรับนักศึกษา ป๊อบและทีมงานก็ประสบกับปัญหาใหญ่เข้า จนมีเหตุให้ต้องแขวนโครงการนี้ไว้ก่อน

การเดินทางสู่ Gap Year Program

แนวคิดเรื่องมหาลัยธรรมชาติและความรักของป๊อบกับเจ้าของที่ที่ปากช่องเริ่มไม่ตรงกัน ทำให้ป๊อบต้องถอยออกมา เพราะถ้าดื้อดึงอาจจะเกิดปัญหาในระยะยาวที่หนักขึ้น

“ความรู้สึกแรก มันเสียดายมาก เพราะจากที่ไม่มีอะไรเลย เราลงต้นไม้ไปเป็นพันๆ ต้น สร้างสาธารณูปโภค เจาะบ่อบาดาล ติดแผงโซล่าเซลล์ สร้างบ้านดินไป 2 หลัง ปลูกสวนไปเยอะมาก อาคารพื้นที่กิจกรรมหลักก็เกือบเสร็จ เรานอนเต็นท์กันมาเป็นปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำใจได้มากขึ้น” ฝนเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่กำลังตัดสินใจออกจากพื้นที่

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาทำใจได้เร็ว คงเป็นเพราะได้เห็นว่าสิ่งที่ลงแรงไปได้สร้างประโยชน์แล้ว ถึงแม้ว่ามหาลัยแห่งนี้จะยังไม่ได้เปิดรับนักศึกษาอย่างจริงจัง แต่ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นและส่งต่อให้อาสาสมัครหลายคนตลอดปีที่ผ่านมา ได้เห็นมุมมองและวิธีคิดต่อโลกที่เปลี่ยนไปของหลายคน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การสร้างบ้านดิน หรือฝีมือการทำอาหาร แต่รวมไปถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นช่วงเวลาที่ได้ลิ้มลองคุณภาพชีวิตที่ดี และรายล้อมไปด้วยผู้คนที่เปิดกว้างทางความคิดวิถีชีวิตที่ใครหลายคนมองว่าเป็นอุดมคติ แต่ป๊อบได้พิสูจน์แล้วว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง

ป๊อบเริ่มออกเดินสายหาพื้นที่อีกครั้งนึง แต่การเป็นแผนงานระยะยาวที่ไม่ได้มองว่าจะทำแค่ 5 ปี 10 ปี ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเลือกพื้นที่หลายอย่าง และไม่เจอผืนที่สามารถตอบทุกเงื่อนไขได้

แต่ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่ ป๊อบก็ยิ่งอยากจะรีบสานต่อสิ่งที่เขาคิดไว้มากเท่านั้น ทำให้ป๊อบตัดสินใจทำสิ่งใหม่ นั่นคือมหาลัยเคลื่อนที่อย่าง Gap Year Program

“ช่วงนั้นเพื่อนหลายคนพูดขึ้นมาว่าอาจจะต้องทำมหาลัยเคลื่อนที่เปล่าวะ เพื่อนเราก็มีศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติเต็มไปหมด แต่ตอนนั้นเรายังไม่อิน เพราะเราไม่ได้ชอบเดินทาง พอไม่อินก็ยังไม่อยากทำ จนช่วงตุลาคมปีที่แล้ว เรากำลังทำสวนในอากาศที่ร้อนมาก อยู่ดีๆ เราเห็นภาพคนกลุ่มนึงที่ใช้ชีวิตด้วยกันอย่างง่ายๆ ดูหนัง เล่นดนตรี ไปไหนมาด้วยกัน เป็นภาพจากภายในที่เกิดขึ้นเหมือนตอนได้ยินเสียงว่าให้ไปเป็นครู จนเริ่มอินและตัดสินใจเริ่มทำช่วงธันวาคมที่ผ่านมา” ป๊อบเล่าให้เราฟัง

วลี gap year เป็นที่รู้จักกันดีของวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ สื่อถึงการใช้ชีวิตตามใจฉัน ว่างจากทั้งการเรียนและการทำงานเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกันไป ป๊อบจึงใช้คอนเซปต์นี้มาเป็นชื่อโครงการ เพื่อชวนคนที่สมัครเข้ามาออกเดินทางสักปี ผู้ร่วมโครงการ Gap Year จะได้เห็นคุณค่าการเป็นมนุษย์ เติบโตขึ้น และปลดล็อกศักยภาพของแต่ละคน ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความกลัวและการแข่งขันที่เจอในทุกช่วงชีวิต โดยใช้หลักการของการช่วยเหลือกัน

“เราจะได้เดินทางไปกับผู้คนหลากหลาย ไปใช้ชีวิตหลายที่ ซึ่งเขาจะเรียนรู้ได้ว่าโลกทั้งใบและวิถีชีวิตในทุกวันคือการเรียนรู้ หลังจากนี้ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาจะเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ต้องห่วงว่าต้องมาลงคอร์สเพิ่ม มันเปิดหัวใจและมุมมองที่เปิดกว้างต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทั้งหมด สุดท้ายชีวิตคนนึงไม่น่าห่วงแล้ว ไม่ต้องมีเราแล้วก็ได้” ฝนพูดขึ้นมา

Gap Year Program จะพาเราไปที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเองทั่วประเทศ เช่น ค่ายเยาวชนเชียงดาว Farm Behind the Barn และปากบารา ระบบนิเวศชายฝั่ง ทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของบุคคล 31 ชีวิต ที่พร้อมจะส่งต่อความรู้ที่ผ่านการลงมือทำจริงๆ แก่คนในทริป เจ้าบ้านแต่ละที่จะกำหนดระยะเวลาและกิจกรรมที่จะร่วมกันทำ โดยป๊อบเป็นเพียงผู้วางตารางปฏิทิน

ป๊อบเล่าว่ามีคนที่สนใจอยากแบ่งปันความรู้เยอะมาก ทุกคนเปิดกว้าง ไม่มีอำนาจพีระมิดจากบนลงล่างอย่างที่เคยเจอในทุกโครงสร้าง จะมีเพียงแค่ความเป็นมิตรต่อกัน แต่ก่อนที่ป๊อบจะพาเดินทางไปพบคนน่ารักเหล่านั้น จะมีค่ายตัวอย่างให้เข้าร่วม 2 อาทิตย์จำลองวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นตลอดหนึ่งปี ถ้าใครรู้สึกว่าไม่ใช่เหมือนที่คิดไว้ก็สามารถถอนตัวได้ ซึ่งแนวคิดนี้ ป๊อบได้ตกตะกอนมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะเขาคิดว่าการศึกษาถือเป็นสินค้าบริการประเภทหนึ่ง ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก

“การศึกษาในไทยมันต้องจ่ายไปก่อน ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเจอกับอะไร ซึ่งแต่ละอย่างมีผลกับชีวิตเยอะมาก เป็นเรื่องการศึกษาที่เราอยากปฏิรูปมาตั้งแต่เด็ก ครั้งนี้เราเลยจัดเอง อีกประเด็นที่อยากแก้ไข คือการรวมศูนย์ มันทำให้อารยธรรมไม่เจริญ ถ้าใครคิดว่าโมเดล Gap Year นี้ดี สามารถเอาไปทำเป็นของตนเองได้เลย เป็นเรื่องธุรกิจ หรือศิลปะได้หมด อยากให้โมเดลนี้เกิดขึ้นเยอะๆ เพราะมันคือการเรียนรู้ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน”

ห้องเรียนที่อิสระทั้งความคิดและการใช้ชีวิต

สำหรับคนที่ตัดสินใจจับมือร่วมทางไปด้วยกันหนึ่งปี หลังจากจบหลักสูตรนี้ยังสามารถทำโปรเจกต์ส่วนตัวต่อยอดได้ โดยยื่นผลงานไปที่มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ดร. ศักดิ์ ประสานดี ไปจดทะเบียนมหาวิทยาลัยไว้ เพื่อขอรับวุฒิปริญญาตรี โท และเอก เทียบเท่าได้กับใบปริญญาของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

มาถึงตรงนี้ ค่าเทอม 60,000 กว่าบาท (ไม่รวมค่าเดินทางและอาหาร) ที่เราเคยคิดว่าแพงเกินกำลังของคนอายุ 20 ต้นๆ กลับเล็กน้อยมากถ้าเทียบกับสิ่งที่เราจะได้ ป๊อบมองว่าราคาเป็นเรื่องนานาจิตตัง เขาได้คุยกับหนูดี (วนิษา เรซ) เธอบอกว่าอยากให้เปลี่ยนราคา เพราะราคานี้ต่ำเกินไป ถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินขึ้นมาจะลำบาก แต่เขายังยืนยันที่จะยึดราคานี้ไว้ ป๊อบเล่าว่าถ้าคิดในเชิงธุรกิจก็คงจะให้ลูกค้าเป็นคนรับภาระความเสี่ยง ค่าเทอมก็คงขึ้นเป็นแสน แต่เขาไม่ใช้วิธีคิดอย่างนี้ในการทำงานตั้งแต่ต้น พวกเขาเชื่อในการช่วยเหลือให้ผ่านอุปสรรคไปด้วยกันมากกว่า

“ความรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรก็ได้และมีศักยภาพ เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้หรือการอ่าน แต่เกิดขึ้นจากการที่เราได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ถ้าเรามีความกล้าที่จะลองแล้ว ความรู้สึกกลัวโลกก็จะหายไป จะรู้สึกว่าถึงไม่มีเงินก็อยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีอิสระมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันน่าเสียดายมากที่คนจะอยู่ในความรู้สึกหวาดกลัวต่อโลก ความรู้สึกว่าชีวิตนี้หมดโอกาสงอกงาม”

ความสุขและชีวิตในอุดมคตินั้น เป็นสิ่งที่ป๊อบได้แสดงให้เราเห็นผ่านการพูดคุยในครั้งนี้ เขาพิสูจน์แล้วว่าความสุขที่เราทุกคนพยายามไขว่คว้าให้ได้มาครอง มันเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่เราคิด กำแพงเดียวที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ คือกำแพงแห่งความกลัวที่กั้นระหว่างคอมฟอร์ตโซนกับความสุขที่ยั่งยืน ถึงแม้มันจะดูสูงสักหน่อย แต่ถ้าเราก้ามข้ามไปได้ มันจะช่วยให้เราได้ลองทำในสิ่งที่เราไม่เคยกล้าที่จะลอง ทำให้เราโตขึ้น กล้าใช้ชีวิตและเผชิญหน้ากับโลกเบี้ยวๆ ใบนี้มากขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายแล้วเราก็จะเป็นมนุษย์ที่เข้าใจตนเองและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่าที่เคยเป็นมา

facebook | มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

ขอบคุณสถานที่ KINN Kaffe & Craft

AUTHOR