คุณเคยคิดจะแต่งงานไหม? งานแต่งงานในฝันของคุณมีหน้าตาประมาณไหน?
สวมแหวนให้กันริมทะเลในบรรยากาศสบายๆ เพิ่มความสนุกให้งานด้วยการจัดลานเต้นบีบอยเพราะนั่นคือที่ที่คุณพบรัก หรือกระทั่งกำหนดธีมให้ผู้เข้าร่วมงานแต่งตัวคัฟเวอร์เป็นตัวละครโปรด
แม้จินตนาการงานแต่งของใครหลายคนจะดูสวยงามราวกับความฝัน แต่เมื่อมองกลับมาในโลกแห่งความเป็นจริง การแต่งงาน (โดยเฉพาะแบบไทยๆ) มักต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของพ่อแม่และเครือญาติ พิธีการที่เขาว่ากันว่าต้องทำ ไปจนถึงงบประมาณที่ต้องใช้ นอกจากจะไม่ได้จัดงานตามใจอยาก ความยุ่งยากทั้งหลายเหล่านี้ยังพลอยทำให้คนรุ่นใหม่หลายๆ คนแขยงงานแต่ง และบ้างก็ไม่อยากแต่งงานไปซะอย่างงั้น
แล้วนี่ยังไม่นับรวมถึงคู่รัก LGBTQ+ ที่แม้แต่สิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมกันกับคู่รักชาย-หญิงก็ยังถูกจำกัดอีกต่างหาก
เมื่อมันเป็นเสียอย่างนี้ คำถามคือ ยังเป็นไปได้อยู่มั้ยที่จะมีงานแต่งอย่างที่ใจต้องการ
คำตอบคือ ได้!
แถมยังจะเป็นไปได้มากขึ้นอีกด้วย หากคุณได้รู้จัก Wonders & Weddings บริการวางแผนจัดงานแต่งงานที่พร้อมเนรมิตงานในฝันของคู่รักทุกเพศให้เกิดขึ้นจริงภายใต้แนวคิด Humanist Wedding ซึ่งไม่ยึดถือพิธีการเป็นใหญ่ แต่ให้ความสำคัญกับคนที่แต่งงานและเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ปีใหม่–วรรณิดา กสิวงศ์ คือผู้ก่อตั้งบริการจัดงานแต่งงานที่ว่า โดยมีแรงบันดาลใจ คือการทำให้คู่แต่งงานทุกคู่ได้มีงานแต่งงานที่มีความสุข น่าจดจำ เหมือนที่เธอรู้สึกกับงานแต่งงานของตัวเอง
งานแต่งงานมีไว้เพื่อเฉลิมฉลองความรัก
Wonders & Weddings เริ่มขึ้นจากเพนพอยต์ที่ปีใหม่เจอตอนเตรียมงานแต่งงาน นั่นคือความไม่อินกับพิธีทางศาสนาหรือพิธีการที่ไม่เข้าใจว่ามีไปเพื่ออะไร ตั้งแต่การเชิญประธานที่ไม่ได้รู้จักคู่แต่งงานมาพูดบนเวทีไปจนถึงการเชิญคนมาเยอะๆ เหมือนเป็นงานเลี้ยงรุ่นของพ่อแม่มากกว่า
“เรานับถือศาสนาพุทธแต่ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับงานแต่งงานของตัวเอง เราอยากให้มันเป็นงานที่คนมาเพื่อเฉลิมฉลองความรักของเราเฉยๆ ได้เจอเพื่อน เจอครอบครัว อยากให้คนที่รักและรู้จักเราจริงๆ เคยอยู่ในช่วงสำคัญต่างๆ ของชีวิตมาร่วมยินดีมากกว่า” หญิงสาวอธิบาย
ระหว่างที่กำลังมองหาความเป็นไปได้ในการจัดงานแต่งตามใจตัวเอง เธอจึงเจอเข้ากับแนวคิด Humanist Wedding หรือการแต่งงานที่ออกแบบจากสิ่งที่คู่รักยึดถือ เรื่องราว หรือประสบการณ์ความรักที่ฝ่าฟันร่วมกันมา
เพราะประทับใจในงานแต่งงานที่แม้จะเล็กแต่อบอุ่น แถมยังเต็มไปด้วยรายละเอียดน่ารักที่เกิดจากเรื่องราวของเธอและสามี เธอที่อยากจะแบ่งปันความสุขแบบนั้นให้คนอื่นบ้าง จึงเริ่มต้นทำธุรกิจรับจัดงานแต่งงานตามแนวคิด Humanist Wedding ขึ้นมา
“เรามองว่าเรื่องนี้เป็นเพนพอยต์ของคนรุ่นเรา มีคนเยอะมากที่บอกว่าไม่อยากแต่งงานซึ่งในจำนวนคนเหล่านั้นมีทั้งที่ไม่อยากแต่งจริงๆ ไม่ชอบงานแต่งงานในทุกกรณี และอีกส่วน ที่เป็นส่วนใหญ่คือไม่อยากจัดงานแต่งงานเพราะคิดว่ายุ่งยาก และไม่อยากแต่งงานในแบบที่ไม่ใช่ตัวเอง”
เพนพอยต์จากลูกค้าที่ปีใหม่ยกตัวอย่างล้วนคล้ายกัน คือไม่ชอบงานที่เป็นกรอบแบบไทย ไม่ชอบกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างการโดนเชียร์ให้หอมแก้มกันกลางเวที หรือการที่ผู้หญิงต้องกราบสามี
“มันเป็นซีนที่คนตลกกันแต่หลายคนรู้สึกอึดอัด” ปีใหม่บอกด้วยน้ำเสียงจริงจัง เธอคิดว่าในความเป็นจริงหากคนสองคนเคารพกัน การกราบกันย่อมไม่ใช่เรื่องน่าขำ แต่ทุกวันนี้สังคมกลับมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนซีนเรียกเสียงฮา
“อย่างการแซวว่าพ่อบ้านใจกล้าอะไรนั่น มันก็ทำให้เห็นว่าลึกๆ ลงไปแล้วสังคมเรายังมีทัศนคติเรื่องนี้อยู่ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นเลยว่ายังไม่มีความเท่าเทียมทางเพศในสถาบันครอบครัว”
บริการจัดงานแต่งงานที่สนับสนุนความรักของคู่รักทุกเพศ
“การแต่งงานแบบ humanist wedding ยังเหมาะมากกับคู่รักที่เป็น LGBTQ+ ด้วยนะ” ปีใหม่เสริม พร้อมเล่าให้เราฟังถึงอีกหนึ่งความตั้งใจของ Wonders & Weddings นั่นคือการสนับสนุนความรักของคู่รักทุกเพศ
“งานแต่งงานแบบไทยมีกรอบของชายหญิงอยู่เยอะ ระบุไว้ชัดว่าผู้ชายต้องทำสิ่งนั้น ผู้หญิงต้องทำสิ่งนี้ มันมีข้อมูลหรือภาพให้เห็นอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น หรือใครต้องทำอะไรในงาน อย่างการเขียนการ์ดเชิญก็แทบจะเป็นไปแบบอัตโนมัติว่าชื่อผู้หญิงต้องขึ้นก่อน ต้องใช้คำว่าคู่บ่าวสาว ผู้หญิงต้องมีช่อดอกไม้ สมมติว่าเราเป็นคู่รัก LGBTQ+ และอยากแต่งงาน แต่พอมองไปในสังคมกลับเจอแต่ภาพว่างานแต่งงานต้องเป็นผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น ต้องเป็นคนที่มี role ทางเพศแบบนี้เท่านั้น มันเป็นเรื่องยากมากเหมือนกันที่จะจินตนาการถึงตัวเองต่อได้ หลายคนเลยมีความคิดว่า เฮ้ย แล้วเราจะแต่งงานได้เหรอ ถ้ามีประเพณีเหล่านี้แล้วเราจะไปอยู่ตรงไหน”
ก่อนหน้านี้เราอาจเคยเห็นข่าวหรือภาพว่าในไทยมีคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจัดงานแต่งงานกันให้เห็นไปบ้างแล้วก็จริง แต่ปีใหม่บอกว่าหากพูดกันถึงข้อมูลหรือวิธีการ จะพบว่ามีข้อมูลเรื่องนี้อยู่น้อยมาก ทุกวันนี้เธอจึงพยายามลงเรียนและศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศมาปรับใช้ เพื่อให้คนที่มาใช้บริการได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และเป็นไปด้วยความเข้าใจ
“พอได้ศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น เราถึงรู้ว่าการที่เราเป็นผู้หญิงตรงเพศ มีแฟนเป็นผู้ชายตรงเพศแบบนี้คือความมีพริวิลเลจ”
เธอบอกว่ามีหลายเรื่องมากที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าคู่รักหรือคนร่วมชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน นอนไบนารี่ หรือคนที่เป็นเพศหลากหลายต้องเจออะไรบ้าง งานนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าคำว่ายอมรับ หรือเปิดรับอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีองค์ความรู้ในการทำงานด้วย
“อย่างการพยายามยัดเยียด gender role หรือพยายาม misgender ที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ก็แค่ล้อเล่นนิดเดียวเอง แต่นั่นเป็นเพราะเรามีอภิสิทธิ์”
การที่เราไม่เจอ ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่เจอด้วย ยิ่งหลายคนอาจต้องเจอเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แบบนี้มานานมากแล้ว เธอจึงพยายามเตือนตัวเองเสมอว่ายังมีปัญหาอีกมากมายที่เธอไม่ต้องกังวล ไม่ต้องรับรู้ แต่มันเกิดขึ้นจริง
“เราพยายามจะไม่ไปเป็นอีกคนที่ทำให้เขาเจ็บปวด สังคมหรือกฎหมายไม่ยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากพออยู่แล้ว เราจึงอยากให้ Wonders & Weddings เป็นที่ปลอดภัยที่เขาจะสามารถแชร์ได้ว่าเขาต้องการอะไร เขาเป็นใคร และเขาเชื่อในอะไร เขามีไอเดียอะไร เขาเจออะไรมา มีความกังวลตรงไหน หรือมีปัญหาอะไร เขาสามารถคุยกับเราได้ทุกเรื่อง ในขณะเดียวกันเราก็ยินดีที่จะรับฟีดแบ็กด้วย หากไปทำให้ใครไม่สบายใจ หรือมีเรื่องไหนที่เราบ้ง เราไม่ได้เข้าใจเขาทั้งหมดแล้วมันทำให้เขารู้สึกไม่ดี เจ็บปวด เราก็อยากให้เขารู้ว่าเรายินดีที่จะรับฟังและระมัดระวังในเรื่องนี้”
เพื่อทำให้อนาคตลูกค้าเห็นว่าเธอใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หากเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของบริษัท จะพบกับบทความมากมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างงานแต่ง บทสัมภาษณ์คู่รัก LGBTQ+ หรือกระทั่งบทความว่าด้วยความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
“เราพยายามจะสร้างมายด์เซ็ตที่เรียกว่า Wedding is Wedding ขึ้นมาสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าหลายประเทศจะยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแต่นั่นไม่ได้หมายความว่างานแต่งงานของเขาจะเป็นไปไม่ได้หรือมีค่าไม่เท่ากับคนที่เขาจดทะเบียนได้
“สำหรับเรา ความสำคัญของงานแต่งงานคือการเฉลิมฉลองความรัก ความสัมพันธ์ คือการเฉลิมฉลองเรื่องราวของคุณ ถ้าตัดสินใจว่าพร้อมแล้ว อยากจัดงานแต่งงาน อยากมีความทรงจำนี้ด้วยกัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” เธอบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ความรักไม่ใช่เรื่องของ ชาย-หญิง สามี-ภรรยา แต่คือคนสองคน
จุดตั้งต้นที่ทำให้เธอหันมาสนใจสิทธิในการสมรสของคนทุกคนอย่างนี้ ปีใหม่ว่าเป็นเพราะคู่ชีวิตสองคนที่เดินถือป้ายในขบวนพาเหรด new york pride ตอนปี 2017
ป้ายที่คนทั้งคู่เขียนคือ 41 years married in 2003 หากบวกลบเวลาในตอนนั้น นั่นแปลว่าพวกเขารอมา 27 ปีกว่าจะได้แต่งงานกัน
“เขารอมา 27 ปี รอมาทั้งชีวิต กว่าจะได้แต่งงาน เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ถูก ไม่ควรมีใครต้องรอนานขนาดนี้ แค่เพราะอยากแต่งงานกับคนที่ตัวเองรัก
“ตอนที่เราจดทะเบียนสมรสกับแฟน เจ้าหน้าที่พูดกับเราว่าสังคมของเราเริ่มต้นจากความรักของคนสองคน มันไม่ใช่ man-woman ไม่ใช่ husband and wife แต่คือ two people เรารู้สึกว่าประเด็นนี้ใช่มาก การแต่งงานมันคือคนสองคนที่รักกัน ซึ่งพอมองกลับมาในบริบทประเทศไทย เราเห็นคนใกล้ตัว คนที่เป็น LGBTQ+ คบกันมานานมากแล้วแต่ก็ยังไม่ได้แต่งงาน เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ
“เราไม่มีทางเข้าใจได้ทั้งหมดว่าเพื่อนหรือใครก็ตามเขาต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง แต่เราแค่รู้สึกว่าในทุกความสัมพันธ์มันก็มีปัญหาที่ไม่ได้ง่ายอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาเจอเรื่องนี้อีก”
เธอมองว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมคือการให้ตัวเลือกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ใช่อยู่ที่คู่รักเพศตรงข้ามก็มีคนที่อยู่ด้วยกันแบบไม่จดทะเบียน แต่หากวันหนึ่งที่อยากจดหรือมีเหตุทางกฎหมาย สุขภาพ บริการทำให้ต้องจด คู่รักชาย-หญิงก็สามารถดำเนินการได้เลยทันที แต่คนในชุมชน LGBTQ+ กลับไม่มีตัวเลือกนั้น
“ทั้งๆ ที่เป็นคนเหมือนกัน จ่ายภาษี อยู่ในสังคมเดียวกัน มีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นเยอะมากเพียงเพราะเขาไม่มีกฎหมายคุ้มครอง
“แน่นอนว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด หลายคนจะเข้าใจว่าพอมีสมรสเท่าเทียมปุ๊ป ปัญหาทุกอย่างของ LGBTQ+ จะหายไป มันไม่ใช่ มันยังมีปัญหาอีกหลายล้านอย่างที่ยังต้องแก้ไปเรื่อยๆ แต่หลายปัญหามันเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม”
เธอยกตัวอย่างว่าอย่างน้อยกฎหมายนี้ก็ทำให้คนที่รักกันไม่ต้องทุกข์ทรมานกับความไม่เท่าเทียมของการเลือกปฏิบัติ หรือการไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอีกต่อไป เขาสามารถมีสวัสดิการ มีการเข้าถึงบริการ การรักษาทางการแพทย์ และการที่มีกฎหมายรองรับมันเป็นความปลอดภัยและมั่นคงที่ต่างมากๆ กับสังคมที่ไม่มีกฎหมายรองรับ
“อย่างน้อยคือคนที่เขาอยากจะเหยียด อยากแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย เขาต้องหยุดคิดแล้ว เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่มันผิดกฎหมาย” ปีใหม่ว่า ก่อนจะเปรียบเทียบกับสังคมของเยอรมนีให้ฟัง
“เยอรมนีเขามีกฎหมายมาตราหลัก 19 มาตรา หนึ่งในนั้นมาตราที่ 3 บอกไว้ว่า all men are equal before law กฎหมายมาตรานี้เป็นหนึ่งในป้ายสัญลักษณ์ เวลามีการชุมนุม หรืองานไพรด์ต่างๆ ในระดับสังคมเขาอาจจะยังไม่ได้เปิดกว้างเท่าไทยก็จริง คือคนที่เป็น LGBTQ+ ไม่ได้เปิดเผยตัวตนมากขนาดนั้น แต่นั่นก็เป็นเพราะเขามีกฎหมายรองรับ เป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่าคนเท่ากัน มันเลยทำให้การใช้ชีวิตที่นี่ง่ายขึ้น ถึงจะยังมีปัญหาหลายอย่าง เราก็ได้เห็นครอบครัวที่มีพ่อสองคน มีแม่สองคนออกมาเดินเล่น พาลูกไปสวนสาธารณะ เราเลยอยากให้ภาพแบบนี้มันเกิดขึ้นในไทยบ้าง มันคือรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย
“สโลแกนของบริษัทเราคือ support gender equality, one wedding at a time เพราะเราเชื่อว่างานแต่งงานควรเป็นเรื่องที่คนแต่งงานมีความเท่าเทียมกัน เราอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการมีความรัก การอยู่ด้วยกัน มันเป็นเรื่องที่ดี เราจึงเริ่มทำงานนี้ขึ้นมา และแน่นอนคือเราเชื่อว่าการมีวันพิเศษที่จะเฉลิมฉลองความรักความสัมพันธ์ของกันและกันมันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับคนทุกเพศ” เธอทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพจาก : Wonders & Weddings