The Commons ชุมชนความคิดใหม่ที่ใครไปก็หลงรัก

The Commons คือพื้นที่ชุมชนแห่งใหม่ในทองหล่อซอย 17 ที่ไม่มีอะไรเหมือนคอมมูนิตี้มอลล์ที่เราคุ้นเคย พื้นที่ส่วนกลางไม่มีแอร์ ไม่มีร้านค้าเฟรนไชส์ที่เคยคุ้น แต่มีผู้คนที่รักในสิ่งที่ทำมาอยู่รวมกัน ที่สำคัญคือสวยงามและบรรยากาศดีจนอยากใช้เวลาอยู่นานๆ

หัวเรือใหญ่ของ The Commons อย่าง วิชรี และ วรัตต์ วิจิตรวาทการ, ธิดารัชต์ วิวัฒน์สุรกิจ และ สถาปนิกผู้ออกแบบจากบริษัท Department of Architecture อมตะ หลูไพบูลย์ จะมาบอกเล่าไอเดียและขั้นตอนเบื้องหลังกว่าจะก่อร่างสร้าง The Commons ชุมชนแห่งใหม่ที่อยากให้คนเมืองใช้เวลาด้วยกันและอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

 

Step 1: First Idea

ทีม The Commons:
เกือบ 4 ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ มีผู้ประกอบการด้านอาหารที่ทำอะไรดีๆ เยอะขึ้นเรื่อยๆ เริ่มอยากให้มีที่รวมตัวกันของคนกลุ่มนี้ สินค้าบางอย่างของเขาอาจเป็นอะไรเรียบง่ายมากๆ เช่น ข้าวกะเพราหรือขนมปัง แต่มันทำด้วยส่วนผสมคุณภาพและความใส่ใจจริงๆ เราทำงานสายนี้ก็เห็นว่าลูกค้าต้องการอะไรที่แตกต่างและมีคุณภาพ

“นอกจากนี้ เราอยากสร้างที่ที่คนมาใช้ชีวิตอยู่ใกล้ธรรมชาติขึ้นอีกนิด คนซื้ออะไรดีๆ มานั่งกินเล่นในพื้นที่กึ่ง
outdoor เหมือนเป็นสวนหลังบ้านให้คนทองหล่อ เพราะพอกรุงเทพฯ พัฒนาขึ้น มีตึกเยอะ ความเขียวของต้นไม้ก็น้อยลงเรื่อยๆ ถึงเวลานั่งข้างนอกจะไม่ได้เย็นเหมือนห้องแอร์ แต่อย่างน้อยมันก็มีลมผ่าน นั่งแล้วสบาย เราคิดถึงความรู้สึกนั้น”

Step 2: Gathering the Team

ทีม The Commons: “เราตกลงว่าจะทำพื้นที่เล็กๆ ที่มารวมตัวกันเป็นเหมือนมาร์เก็ตและเป็นหัวใจของที่นี่ แต่ผู้ประกอบการใหม่ๆ บางคนอาจไม่มีเงินลงทุนเยอะ พื้นที่แต่ละร้านจึงต้องไม่ใหญ่เกินไปเพื่อให้เขาไม่ต้องจ่ายค่าเช่าหรือค่าลงทุนตกแต่งร้านเยอะ ไม่ต้องห่วงว่าต้องจ้างพนักงานเสิร์ฟจำนวนมาก ช่วยให้เขาได้โฟกัสสินค้าจริงๆ จากนั้นเราก็คิดกันว่าคนแถวนี้คือใคร เขาต้องการอะไรในชีวิตประจำวัน คิดเป็นหมวดๆ ไปว่าส่วนผสมไหนน่าจะดีสำหรับกลุ่มลูกค้านี้ แล้วไปดูว่าคนที่ทำด้านนี้เก่งๆ มีใครบ้าง ลองเข้าไปคุยทีละคนๆ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามีใครอยากทำด้วยรึเปล่า แต่พอคุยเกือบทุกคนสนใจหมด เราเลยเห็นศักยภาพว่ามันน่าจะทำอะไรได้มากกว่าเอาร้านอาหาร 2 – 3 ร้านมาอยู่ด้วยกัน”

Step 3: Create Space for Conversation

ทีม The Commons: เราอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่คนมาสร้างคอมมูนิตี้ อยากโปรโมตคำว่า wholesome living ที่หมายถึงการใช้ชีวิตแบบมีสมดุลที่ดี ดูแลตัวเองด้วยการกินอะไรดีๆ ออกกำลังกาย และเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่สำคัญคือ ใช้เวลาด้วยกันกับเพื่อนฝูงครอบครัว มีบทสนทนาดีๆ กัน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราอยากมีพื้นที่เอาต์ดอร์ให้คนมาใช้เวลาด้วยกัน แต่ละชั้นเราจะสร้างสเปซที่เป็นจุดพบปะให้คนที่ความคิดความชอบคล้ายกันได้มาเจอกัน

“คอนเซปต์ของโซนต่างๆ เริ่มที่ market ชั้นล่าง ลูกค้าจะซื้ออะไรจากร้านไหนก็ได้แล้วลงไปนั่งกินด้วยกันตรง communal area พื้นที่ส่วนกลางด้านนอกที่เป็นเอาต์ดอร์ ชั้น 2 เป็นชั้น village คอนเซปต์คือรวมของที่ซื้อแล้วเหมือนให้รางวัลตัวเอง ผสมผสานของที่เป็นไลฟ์สไตล์หน่อย เพราะทุกวันนี้เราทำงานหนัก บางทีก็อยากหาอะไรเป็นรางวัลแก่ตัวเองหรือคนที่รัก ส่วนชั้น 3 เป็น play yard พื้นที่สำหรับเล่น เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กก็ควรมีเวลาได้เล่น เรามีฟิตเนสโยคะสำหรับผู้ใหญ่ มีพื้นที่ทำกิจกรรมของพ่อแม่และเด็ก สุดท้ายชั้น 4 เป็น top yard มีห้อง Commons Kitchen เป็นเหมือนครัวหลังบ้านเพื่อนที่ใหญ่หน่อย มีอุปกรณ์ครบ เอาไว้เป็นสถานที่ส่วนกลางสำหรับจัดกิจกรรมหรือเวิร์กช็อป

“เราขอผู้เช่าว่าใน 1 ปีต้องมีอย่างน้อย 3 – 4 ครั้งที่คุณขึ้นมาแชร์สิ่งที่ตัวเองชอบให้คนอื่นมาเรียนรู้ เราจะมีการจัดเวิร์กช็อปต่างๆ เช่น วันนี้มาเรียนจัดดอกไม้กับร้าน Plant House อีกวันมาปรุงกาแฟกับ Roots เพื่อให้คนที่อยู่แถวนี้ได้มาเจอกัน มาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ชุมชนที่เราอยากสร้างไม่ใช่แค่ของคนที่เปิดร้าน แต่ต้องเป็นของคนในพื้นที่ การทำให้ที่นี่อยู่ได้ในระยะยาวเป็นสิบปีต้องอาศัยการกลับมาบ่อยๆ ของคนละแวกนี้ เขาต้องรู้สึกว่านี่เป็นที่ของเขา เขาได้ประสบการณ์น่าจดจำ หรือได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่มีคุณค่ากับเขาจริงๆ เราเชื่อว่าถ้าได้สิ่งเหล่านี้ มันจะทำให้เขาอยากกลับมา”

Step 4: Design Our Place

ทีม The Commons: “ในขั้นตอนดีไซน์ ความที่ทำงานสายนี้อยู่แล้ว เวลาบรีฟเราจะลงดีเทลเยอะ เช่น คนที่อยู่ในมาร์เก็ตพื้นที่เขาเล็กมาก ต้องมีพื้นที่เก็บของให้เขา เราเข้าไปคุยกับดีไซเนอร์หลายที่ คุณอมตะกับทาง Department of Architecture ก็เป็นที่นึงที่ไปคุยตั้งแต่แรก ซึ่งพอคุยปุ๊บก็ถูกคอกันมาก นอกจากนี้เราก็โชคดีมากที่ได้ทำงานกับหลายฝ่ายที่เชี่ยวชาญในทางของเขาจริงๆ”

อมตะ: “The Commons เน้นความเป็นชุมชนเป็นหลัก คนแถวนั้นแวะมาบ่อยได้เท่าที่ต้องการ จึงต้องออกแบบให้ดูสบายๆ มีพื้นที่เอาต์ดอร์ให้ใช้ได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกฤดูกาล เราวิเคราะห์ว่าคอมมูนิตี้มอลล์เมืองไทยมีปัญหา 3 อย่างและพยายามตอบโจทย์ให้ได้ครบทั้งหมด

“โจทย์แรก คอมมูนิตี้มอลล์ทั่วไปมีพื้นที่เอาต์ดอร์แต่ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ฝนตกก็ใช้ไม่ได้ เวลากลางวันก็ร้อน ช่วงล่างอาคารเลยทำพื้นที่เรียกว่า common ground เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นทางลาดและบันไดที่โปร่งมาก ลมพัดผ่านได้จากทุกทิศทาง ผนังของอาคารชั้น 3 – 4 ก็โปร่ง ถ้าลมเข้ามาจากระยะบน อาคารก็จะดักลมแล้วตลบลงมาด้านล่างได้ นอกจากนี้ยังมีพัดลมเพิ่มการหมุนเวียนของอากาศ ทำให้คนข้างล่างอยู่ได้สบายดี อาคารชั้น 3 – 4 ออกแบบให้เป็นเหมือนกล่องโปร่งๆ ลอยเต็มพื้นที่ ทำหน้าที่กันแดดกันฝนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตลอดเวลา

“โจทย์ถัดมาคือ ปกติคอมมูนิตี้มอลล์จะขายดีแค่ชั้นล่าง เราจึงแก้ปัญหาโดยทำบันไดขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมชั้น ground ขึ้นไปถึงชั้น 2 คนค่อยๆ เดินแป๊บเดียวก็ถึงชั้น 2 อย่างไม่รู้สึกว่าพยายาม ชั้น 3 ชั้น 4 โปร่งและมีช่องทะลุกันจำนวนมาก มองลงมาเห็นชั้นล่างได้ง่าย คนจากชั้นล่างก็มองเห็นร้านชั้นบนได้แทบทุกร้าน ทำให้ไม่ถูกตัดขาด

“โจทย์ข้อสุดท้ายคือ ปกติคอมมูนิตี้มอลล์มีผู้เช่ามากมาย แต่ละร้านมักมีป้าย การตกแต่งหรือการเจาะผนังแตกต่างกัน สถาปัตยกรรมเลยค่อนข้างดูวุ่นวาย เราจึงห่อชั้น 3 – 4 ด้วยเหล็กฉีกที่พับโปร่งๆ ทำหน้าที่คลุมอิมเมจของสถาปัตยกรรมให้ดูเรียบร้อย สวยงาม ในขณะเดียวกันก็ยังโปร่งพอให้คนมองเห็นวิวได้ด้วย”

ทีม The Commons:
“เรารู้กันอยู่แล้วว่ายิ่งเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหม่รายเล็กอย่างเรา ร้านค้าด้านบนอาจจะแย่ เราไม่มีงบที่จะสร้างบันไดเลื่อนอะไรเยอะแยะ แต่คุณอมตะดีไซน์แต่ละชั้นให้คนอยากเดินต่อไปเรื่อยๆ ได้ พื้นที่เชื่อมต่อกันหมด คนเดินบันไดกันหมดเลย ขนาดมีลิฟต์คนก็ยังไม่ค่อยใช้ นี่เป็นครั้งแรกที่เราทำอะไรในสเกลนี้ และได้เห็นว่าสถาปัตยกรรมและบริบทแวดล้อมที่ดีทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนได้จริงๆ”

Step 5: Make it Come True

ทีม The Commons: “สิ่งที่เป็นปัญหาถัดมาคือการหาเงินมาสร้างที่นี่ ตอนนั้นคิดว่าจะกู้แบงก์แต่ปรากฏว่าทุกแบงค์ไม่ให้เงิน เขาไม่เข้าใจว่าทำไมคุณสร้างเยอะแต่มีพื้นที่เช่าน้อยจังเลย นอกจากนี้เขาก็ไม่รู้จักร้านในโครงการ
ไม่คิดว่าจะมีร้านที่ดึงคนเข้ามาได้ สุดท้ายเราจึงหาผู้ลงทุนรายย่อยเป็นรายๆ ไป เสียเวลาไปเกือบปีจนรวบรวมเงินมาสร้างที่นี่ได้ ผู้ลงทุนอาจจะเป็นเพื่อน ครอบครัว คนรู้จัก บางคนก็เป็นคนแถวนี้ที่อยากเห็นอะไรแตกต่างมากขึ้น
คนอยู่คอนโดฯ มีลูกเล็กไม่รู้จะพาลูกไปไหน เขาเข้าใจว่ามันยังมีอะไรขาดหายไปอยู่ เรารู้สึกขอบคุณคนกลุ่มนี้ที่ทำให้ฝันเราเป็นจริง จึงทำแผ่นป้ายขอบคุณติดไว้ด้วย นอกจากการเงินก็มีปัญหาอื่นเข้ามาเรื่อยๆ แต่เรามองว่าเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ พยายามแก้ไปเรื่อยๆ”

 

Step 6: Keep Growing Together

ทีม The Commons: ความท้าทายอีกอันหนึ่งคือการทำยังไงให้คนที่มาร่วมมีความสุขและเติบโตไปกับเราได้จริง
บางคนอาจไม่ได้เป็นคนทำธุรกิจโดยตรง ไม่ถนัดด้านบริหาร แค่รักในสิ่งที่ทำและทำได้ดี เราก็คิดว่าทำยังไงให้ทุกคนค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตได้เต็มศักยภาพ การมาอยู่ด้วยกันอาจจะดูเหมือนมีคู่แข่ง แต่ไปๆ มาๆ มันก็เหมือนการสนับสนุนกันและกัน จะมีการเอาสินค้ามาจอยกัน โปรโมตด้วยกัน เติบโตด้วยกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็ทำได้ดี”

 

Step 7: Give Back to Neighborhood

ทีม The Commons:
“เราคิดว่าถ้าจะอยู่ที่นี่และเป็นส่วนหนึ่งของทองหล่อจริงๆ จะทำอะไรดีที่เป็นการให้คืนกลับสังคมแถวนี้ได้ด้วย ตอนนี้ก็มีไอเดียที่จะเปิดตัวในอีกไม่นาน เช่น น้ำดื่มที่เราเรียกว่า Commons Compassion ซึ่งอาจวางไว้ตรงมาร์เก็ตหรือตรงชั้นวินเลจแล้วมี honesty box วางไว้ให้จ่ายเงิน กำไรส่วนนึงเราจะเอาไปช่วยเหลือใครก็ได้ในชุมชนทุกเดือน”

“สิ่งหนึ่งที่เป็นจิตวิญญาณของที่นี่คือการสร้างคุณค่าในการคิดเพื่อสังคม ถ้าคุณมีแล้วแบ่งกลับอย่างไรได้บ้าง หรือถ้าคุณรักอะไรก็ควรแชร์กับคนอื่น มันมีคุณค่าเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอยากส่งเสริมแต่ไม่อยากเขียนแปะไว้ อยากให้เขารู้สึกค่อยๆ ซึมซับไปเอง เช่น เราอยากให้เขาใช้ชีวิตอยู่เอาต์ดอร์ ถ้าเราสร้างพื้นที่แล้วน่านั่ง เขานั่งไปก็รู้สึกได้เอง เปลี่ยนพฤติกรรมเอง หรืออีกไม่นานเราจะมีกล่องให้เด็กๆ นำตุ๊กตา ของเล่น หรือหนังสือเก่ามาบริจาค เป็นการปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ให้เขานึกถึงคนอื่น เราต้องเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ The Commons จึงจะมีตัวตนชัดเจนจริงๆ”

Step 8: Back to the Common

ทีม The Commons:
“คำว่า common ในต่างประเทศมีหลายความหมายคือเป็นสวนสาธารณะ เป็น center court มีที่นั่งล้อมรอบให้คนมาพบปะพูดคุยกัน มีอยู่เกือบทุกเมือง แต่ว่ายิ่งคนในเมืองเราเยอะ ยิ่งราคาที่ดินแพงขึ้น แนวคิดนี้มันก็ค่อยๆ หายไป ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่เป็นทั่วโลก เราแค่อยากสร้างที่ตรงนี้ขึ้นมา คนไทยฟังชื่อ The Commons แล้วอาจนึกถึงคำว่า common ที่แปลว่าธรรมดา ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เป็นไร ของที่เราขายก็เป็นของพื้นฐานที่ดี คนกินได้ทุกวัน ใช้ได้ทุกวัน การหันมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว อยู่กับเพื่อน ใช้เวลาอยู่ข้างนอก นี่คือเรื่องธรรมดาๆ ที่เราอยากให้คนให้คุณค่ามากขึ้น”

Facebook | The COMMONS

ภาพ Department of Architecture และ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!