Public Space : สาธารณะแบบไหนถึงจะเป็นพื้นที่สาธารณะ

‘ไม่มีที่ไป นัดกันทีไรก็จบที่ห้าง’ คือคำอธิบายอย่างง่ายถึง public space หรือพื้นที่สาธารณะในเมืองไทย และเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

พอพูดถึงพื้นที่สาธารณะ หลายๆ ครั้งเราได้ยินมาว่าไม่ใช่เพราะชาวเมืองไม่อยากไปใช้ แต่เป็นเพราะมองหาไม่ค่อยเจอ ซึ่งก็ดูไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง เพราะถ้าไม่นับสวนสาธารณะที่มีเรื่องให้ถกกันต่อถึงคุณภาพและปริมาณแล้ว ก็ยากเหลือเกินที่จะนึกออกว่าเรามีพื้นที่ใดบ้างที่จะทำกิจกรรมตามใจอยาก นัดพบใครตามใจชอบ หรือแค่นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจและใช้ได้จริงโดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม

แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ดูเหมือนว่าเราจะมีกิจกรรมหรือพื้นที่ให้นัดพบใหม่ๆ มากขึ้นที่ไม่ใช่ห้างหรือการช้อปปิ้งบนตึกสูง หากแต่เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่เปิดกว้างและสร้างความเป็นไปได้หลายรูปแบบมากขึ้น

ถ้ารู้ว่าชอบอะไรจะหาให้เธอ

ไม่ว่าเทรนด์หรือความต้องการของลูกค้าจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบของห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์รวมไอเดียความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ผุดขึ้นมาในช่วง 2 – 3 ปีให้หลัง แต่เราพอจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นเพราะมีกระแสให้สร้างสิ่งเหล่านั้นโดยมีพื้นที่กลางเป็นพื้นที่เปิดเพื่อจัดกิจกรรม หรือปล่อยให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มาใช้บริการ ราว 2 ปีก่อน คอมมูนิตี้มอลล์คอนเซปต์จัดย่านทองหล่อ The Commons ก็เพิ่งจะกำเนิดโดยยกเรื่องพื้นที่ส่วนรวมมาเป็นจุดเด่น โดยหวังว่าคนจะหยิบคอมพิวเตอร์ออกมานั่งทำงาน ซื้ออาหารมานั่งแบ่งกันกินตามขั้นบันได หรือจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบนพื้นที่ส่วนกลาง พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมาไว้บนมอลล์นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านี้ เรายังเห็นตึกคอมเพล็กซ์ที่มีคอนเซปต์เฉพาะมากกว่าแค่ห้างสรรพสินค้า แต่มีคุณค่าบางอย่างที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสรรร้านที่จัดหาสินค้าทำมือ ผลิตด้วยความประณีตเฉพาะเจาะจงหรือมีจุดขายที่ชัดเจนมากขึ้น มีการปรับปรุงตึก โกดัง อาคารเก่าๆ มาเป็นโชว์รูม ร้านค้า คาเฟ่ พื้นที่ขายของ โดยหนึ่งในจุดร่วมของสเปซเหล่านี้คือจะมีพื้นที่โล่งกลางแจ้งหรือพื้นที่เปิดกึ่งกลางแจ้งสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ

นอกจากภาคเอกชน เรายังเห็นความพยายามของกลุ่มคนทั้งออร์แกไนเซอร์และนักพัฒนาเมืองที่จัดกิจกรรมบนพื้นที่ที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้งาน โดยหวังว่าจะจุดให้เกิดการปรับปรุงพื้นที่ตามมา แต่ก็น่าเสียดายที่น้อยคร้ังนักที่จะจุดติดจนพื้นที่นั้นเปิดให้ใช้เรื่อยๆ หรือพัฒนาต่อจนเป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้าใช้งานได้อย่างแท้จริง

แม้แต่ห้างใหญ่ๆ เองก็พยายามผนวกสวนเข้าเป็นหนึ่งในฟังก์ชั่น เช่น ห้างสรรพสินค้า EmQuatier หรือ Siam Square One ที่จัดสวน มีพื้นที่ตากอากาศให้คนออกมารับลมเช่นกัน

หาก ‘เธอ’ ในที่นี้คือลูกค้าหรือผู้บริโภค และนักพัฒนาหลายเจ้ากำลังใส่เกียร์เดินหน้าไปทางเดียวกันอย่างชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่าสิ่งก่อสร้าง ห้างร้านเหล่านั้น กำลังบอกเราว่าพื้นที่สาธารณะ แหล่งรวมตัวแฮงเอาต์ในรูปแบบอื่นๆ นอกจากตึกสูงติดแอร์กำลังเป็นที่ต้องการอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ใช่แค่ใครก็ได้

แม้เหมือนจะมองเห็นแสงรำไรจากความพยายามของนักพัฒนาและเอกชนหลายเจ้าว่าเรายังมีพื้นที่สาธารณะให้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านการออกแบบหรือจัดสรรพื้นที่โดยเอกชนอยู่บ้าง แต่ถ้ามองให้ละเอียดไปกว่านั้นก็ชวนคิดว่าพื้นที่เหล่านั้นมีฟังก์ชั่นความเป็นสาธารณะจริงแท้แค่ไหน ซึ่งพิจารณาได้จากหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงได้ เพราะหลายแห่งก็มีเวลาเปิด-ปิดชัดเจน เราจึงเข้าไปใช้ตามใจสะดวกไม่ได้ แถมยังมีข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจทำให้ใช้ไปเกร็งไป

ถึงการมีพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ตรงกลางให้คนนัดพบทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบใดๆ ก็ตามนั้นย่อมดีกว่าไม่มี แต่เอกชนอาจไม่ใช่ผู้สร้างพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ความเป็นสาธารณะได้ดีที่สุด

เมื่อเร็วๆ นี้ที่ลอนดอนก็มีการพูดถึงพื้นที่สาธารณะ แต่หลุดไปจากประเด็นที่ว่ามีเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ เพราะชาวลอนดอนคุ้นเคยกับพื้นที่สาธารณะกันดีอยู่แล้ว แต่ประเด็นถกเถียงว่าด้วยพื้นที่สาธารณะหลายแห่งที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ทั้งรูปแบบสวน ทางเดิน หรือลานต่างๆ ที่ดูเผินๆ แทบจะหาจุดต่างจากพื้นที่สาธารณะทั่วไปไม่เจอ

ทีมงานของหนังสือพิมพ์ The Guardian ได้รวบรวมข้อมูลและพบว่ามีพื้นที่สาธารณะที่เป็นของเอกชนถึงกว่า 50 แห่งด้วยกัน สิ่งที่เป็นข้อกังวลของพื้นที่สาธารณะที่มีเอกชนเป็นเจ้าของตามที่ระบุไว้ในหลายบทความของ The Guardian คือการที่ระเบียบข้อบังคับไม่ได้ถูกเปิดเผยแก่สาธารณะ ความเสี่ยงจึงตกอยู่ที่ผู้ใช้งานซึ่งอาจทำผิดกฎโดยไม่รู้ตัว ทาง The Guardian จึงได้ไปขอข้อมูลจากหน่วยงานเอกชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นถึงกฎระเบียบที่วางไว้ ผลคือมีเพียง 2 แห่งจากกว่า 50 แห่งเท่านั้นที่ชี้แจงและตอบคำถาม

นอกจากการทำผิดกฎโดยทั่วไปแล้ว อีกข้อกังวลหลักกับการที่เอกชนเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะก็คือการที่พื้นที่สาธารณะมีส่วนผูกพันกับเรื่องประชาธิปไตย แม้อาจจะฟังดูไกลจากบ้านเมืองเราในตอนนี้ แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากในลอนดอน เพราะถ้าหนึ่งในกฎที่ทางเอกชนกำหนดไว้คือห้ามไม่ให้ประชาชนรวมตัวเพื่อประท้วงหรือเรียกร้อง ก็อาจหมายความว่าพื้นที่สาธารณะนั้นขาดหัวใจหลักของความเป็นพื้นที่สาธารณะไปด้วย

มีตัวอย่างชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2011 เมื่อ Occupy movement ที่ไปรวมกลุ่มประท้วงในย่านการเงินใกล้ๆ London Stock Exchange ที่ Paternoster Square แต่กลับไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อเจ้าของที่กันประชาชนออกจากพื้นที่ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวย้ายไปรวมกลุ่มกันที่บริเวณขั้นบันไดของ St. Paul’s Cathedral แทน หรือกรณี More London พื้นที่สาธารณะที่ติดอยู่ใกล้กับ City Hall ของเมือง เพราะเมื่อบริเวณดังกล่าวมีเอกชนมาครอบครองเป็นเจ้าของ การรวมกลุ่มประท้วงต่อต้านหรือคัดค้านการทำงานของรัฐก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงการถ่ายภาพ การรายงานข่าวโดยใช้พื้นที่บริเวณนั้นด้วย

พื้นที่สาธารณะจึงอาจเหมาะสมมากกว่าหากมีความเป็นสาธารณะที่แท้จริง

หลังจากที่รายงานของ The Guardian ถูกเผยแพร่ ทำให้ประเด็นนี้เป็นที่สนใจมากขึ้น Sadiq Khan นายกเทศมนตรีเมืองลอนดอนจึงออกมาบอกว่าจะออกนโยบายเรื่องการจัดการพื้นที่สาธารณะโดยยึดหลักให้ทุกคนเข้าถึงได้ ที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

สำรวจตรวจสาธารณะ

ลองหันกลับมามองพื้นที่สาธารณะที่เรามีอยู่กันบ้าง

ปกติแล้วถ้าจะพิจารณาว่าพื้นที่สาธารณะหนึ่งๆ มีประสิทธิภาพแค่ไหน สังเกตคร่าวๆ ได้จากการใช้งานโดยกลุ่มคนหลายกลุ่มและความหลากหลายของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อยอดจากการออกแบบและวางแผนพื้นที่นั้นๆ อีกทีหนึ่ง

Richard Sennett นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันได้พูดถึงพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงว่าจะมีบรรยากาศของความเป็นธรรมชาติ ความสนุกสนาน รวมไปถึงมีความวุ่นวายเล็กๆ น้อยๆ ปะปนอยู่ Helle Søholt สถาปนิกชาวเดนมาร์กและผู้ร่วมก่อตั้ง Gehl Architects บอกว่าถ้ามองลักษณะทางกายภาพจะพบว่าพื้นที่สาธารณะที่ดีควรมีลักษณะที่ติดต่อกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ง่ายต่อการเข้าถึงและเดินทางไป รวมไปถึงมีฟังก์ชั่นที่เชื้อเชิญให้คนมาสร้างเครือข่ายหรือทำอะไรบางอย่างร่วมกัน นอกจากนี้ยังต้องรู้สึกปลอดภัย เสียงไม่ดัง ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป

คล้ายๆ กับทาง Project for Public Spaces (PPS) หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกาที่ขับเคลื่อนเรื่องการสนับสนุนให้คนสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนก็ได้ประเมินพื้นที่สาธารณะหลายพันแห่งทั่วโลก ผลคือพื้นที่สาธารณะที่ประสบความสำเร็จจะมีลักษณะสำคัญอยู่ 4 อย่าง คือ เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ (access & linkages) โดยคนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกิดหรือจัดขึ้น (uses & activities) พื้นที่สะดวกสบายและดูดี (comfort & image) และเอื้อต่อการเข้าสังคม (sociability) โดยได้สรุปเป็นไดอะแกรมตามด้านล่างนี้

หากกลับมามองฟังก์ชั่นของพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ลองสอดส่องความเป็นสาธารณะผ่านจัตุรัสกลางเมืองอย่างลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร บริเวณเสาชิงช้า ถ้าใครเคยผ่านลานนั้นจะคุ้นเคยดีว่าระยะหลังมานี้มีเหล็กล้อมรอบปิดกั้นไว้สักพัก ซึ่งจริงๆ แล้วพอจะเดินเข้าไปใช้งานได้อยู่บ้าง แต่ในบางช่วงบางคราวก็จะมีกฎหรือข้อห้ามใหม่ๆ เช่น จำกัดระยะเวลาการใช้งานเข้มงวดขึ้น เราจึงไม่ค่อยได้เห็นลานที่ว่านี้คึกคักหรือใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เว้นแต่ช่วงที่มีกิจกรรมพิเศษจัดขึ้นเท่านั้น

นับวันเมืองก็ยิ่งมีแนวโน้มหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ Søholt บอกไว้ว่าคนมีพื้นที่ส่วนตัวที่บ้านน้อยลง พื้นที่สาธารณะจึงจำเป็นที่จะมาทำหน้าที่เป็นห้องนั่งเล่นของเมือง

ส่วนเรื่องการออกแบบ ปริมาณ ความเป็นเจ้าของ ไปจนถึงรูปแบบการใช้งานนั้นมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย และคงจะดีถ้าชาวเมืองได้ร่วมเสนอแบบห้องนั่งเล่นของตัวเอง

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/cities/2015/aug/04/pops-privately-owned-public-space-cities-direct-action

https://www.theguardian.com/cities/2017/nov/23/london-mayor-charter-pseudo-public-space-sadiq-khan

https://www.theguardian.com/cities/2017/jul/24/revealed-pseudo-public-space-pops-london-investigation-map

https://www.ft.com/content/45cd3dbe-34dd-11e7-99bd-13beb0903fa3

https://nextcity.org/daily/entry/mapping-londons-privately-owned-allegedly-public-spaces

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์, ศานนท์ หวังสร้างบุญ, Matt Kieffer on Flickr, https://www.pps.org/reference/grplacefeat/

AUTHOR