ก้าว : เพลงแห่งความหวังและกำลังใจสไตล์ Greasy Café

โลกนี้ไม่เคยมีเพลงมากเกินไป
ไม่ว่าเพลงนั้นจะหวานหยดหรือแสนเศร้า แต่หากมันได้มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนลุกขึ้นเดินตามความฝันของตัวเอง
ยืนหยัดสู้กับความอยุติธรรม กระตุ้นแรงบันดาลใจ เพลงเหล่านั้นก็ย่อมเป็นบทเพลงแห่งความรัก
ความปรารถนาดีที่ควรค่าแก่การรับฟังอย่างตั้งใจ เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือ
Greasy Café กำลังมีผลงานใหม่จากแคมเปญ ‘SangSom คนไทย… ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก The Inspirers’ ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นหนึ่งในงานเพลงที่ท้าทายที่สุดเท่าที่เคยทำมา

ก้าวแรกเริ่มจากศูนย์ : โจทย์ที่มากกว่าความท้าทาย

“เราเคยร่วมงานกับแสงโสมมาหลายงาน
จนวันหนึ่งได้รับการติดต่อเข้ามาเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่ว่าด้วยการให้กำลังใจในการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เราดีใจมากที่แสงโสมเลือกให้เราทำเพลงที่ชวนคนให้ก้าวออกมาทำอะไร
ไม่ค่อยได้แต่งเพลงแบบนี้สักเท่าไหร่ มันยาก ท้าทายแล้วก็สนุกด้วย แต่ช่วงแรกเราวนมาก ไม่แน่ใจเลยว่าเราจะพูดยังไง
เพลงนี้มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างจากเพลงอื่นๆ ที่ผ่านมาเพราะมีโจทย์มาก่อน ในเพลงอื่นๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นในเพลง คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา
คนรอบข้างที่สนิทมาก ๆ แต่ก่อนที่จะเกิดมาได้แต่ละเพลง เราต้องรู้สึกกับมันมากๆ”

ก้าวที่สอง : สมการบันดาลใจที่แก้ได้ด้วยบทสนทนา

“เราติดกับเพลงนี้อยู่นานพอสมควร
จนกระทั่งมีโอกาสได้แชร์เรื่องนี้กับรุ่นน้องคนหนึ่ง
แล้วมันชัดเจนขึ้นมากๆ เขาพูดขึ้นมาว่า ‘จริงๆ
แล้วการลุกขึ้นมาทำอะไรมันมีหลายขั้นตอนมาก ตั้งแต่ก่อนจะออกจากบ้าน ล้มลงไปแล้ว
ลุกขึ้นมาใหม่’ มันชัดมากเลย สิ่งที่เราจะบอกในเพลงนี้คือ เรายังไม่ได้ออกจากบ้านเลย
การก้าวออกมาทำอะไรของเรามันอาจจะยังไม่ได้ล้ม ยังไม่เคยล้มด้วยซ้ำหรือเปล่า
มันก็เลยมาถึงคอนเซปต์เลข 9 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะกลายเป็นศูนย์
ถ้าคนเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ชีวิตอาจจะกลายเป็นสูญเปล่าหรือเปล่า
การที่คนคนหนึ่งตั้งใจทำอะไรมากๆ แล้วมันดันกลายเป็นศูนย์
อย่าลืมว่ามันมีเลขหนึ่งรอคอยให้เราเริ่มต้นใหม่เสมอ”

ก้าวที่สาม : รูปลักษณ์ของแรงบันดาลใจ

“เราคิดว่าการลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง
มันไม่ใช่การกระโดดพรวดพราดลุกขึ้นมา แต่อาจจะเป็นการรวบรวมกำลังใจค่อยๆ ลุกแล้วก้าวเดินไป
สิ่งที่เรารู้สึกคือมันไม่ควรเร็วมาก แต่ก็ไม่ช้าอืดอาด ขยับได้ แต่ไม่ควรเต้น
เพลงนี้มันไม่ใช่เพลงเต้น ซึ่งเราก็ไม่ถนัดอยู่แล้ว ดนตรีของเพลงนี้มันก็เลยอยู่กลางๆ ส่วนเรื่องของการเลือกสรรคำ เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องใช้คำที่พิเศษหรือคำยากอะไร แต่เมื่อพูดแล้วจะเป็นคำที่คนทั่วไปไม่ได้คุ้นเคยกับมันมาก
เช่นคำว่า ‘ในวันที่เราตัดสินข้างในใจ’ มันไม่ใช่แค่การตัดสินใจ
เราคิดว่าการตัดสินข้างในใจมันกินความหมายมากกว่า มันกินไปถึงการพูดคุยกับข้างในของเราแล้ว
แล้วค่อยลุกออกมาทำ ในเพลงมันจะพูดถึงว่า ‘อย่าหวั่นไหวกับคำพูดบางคำของใคร’ การที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง คำพูดรอบข้างอาจมีผลต่อการตัดสินใจแต่ถ้าไม่ได้เสียหายหรือผิดกฎหมาย ทำไปเถอะ
แล้วค่อยมาดูผลกัน หลายคนถามเราว่า “พี่ ผมอยากแต่งเพลง ผมต้องทำยังไง”
สิ่งที่เราตอบก็คือ “เริ่มต้นทำสักที” แค่นั้นเอง ไม่ต้องมัวแต่คิดว่าคนจะชอบไหม
จะเพราะไหม เราคิดแค่ว่า ทำก่อนไหม ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่พร้อม
แล้วเมื่อไหร่คุณจะพร้อมล่ะ บางทีเราก็ต้องลองดูก่อน
ถ้าลองไปแล้วได้เห็นว่าเรายังไม่พร้อมจริง ๆ อย่างน้อยเราได้เริ่มแล้วนะ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ทำสักที”

ก้าวที่สี่ : เสียงที่โอบล้อมเรื่องราวเอาไว้

“เพลงของเราโดยส่วนใหญ่แล้วจะชอบให้มันมีบรรยากาศ
เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเพลงของ Greasy Café บางคนอาจจะถามว่า อ้าว
นี่คือบรรรยากาศเหรอ เราไม่รู้ แล้วแต่ใครจะฟัง
แต่สำหรับเรามันควรมีบรรยากาศในเพลง เปรียบเหมือนหนังผีสักเรื่องหนึ่ง
ที่แม้ผีจะยังไม่ออกมาแต่เรารู้สึกกลัวแล้ว มันมีอะไรห่อหุ้มให้เรารู้สึกแบบนั้น
ก็เลยรู้สึกว่ามีบรรยากาศในเพลงที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องเตรียมตัว แล้วค่อย ๆ
ก้าวไปด้วยกัน

ก้าวที่ห้า : กระบวนการบันทึกท่วงทำนอง

“เพลงนี้เริ่มจากช่วงแรกที่ช้าๆ มาถึงช่วงกลาง
แล้วพอท่อนฮุกก็จะมีจังหวะ ตึง ตึง ตึง บรรยากาศของเพลงนี้จะเป็นโทนสีอุ่นๆ หน่อย หากเราเป็นเพื่อนเธอก็จะไม่กอดเธอ แต่จะนั่งข้างๆ แล้วจับมือหรือจับเข่าเอาไว้มากกว่า มันจะไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายอะไรมาก
มันจะเป็นการแบบเมื่อไหร่ที่ต้องการหันมานะ เราอยู่ตรงนี้
มันจะไม่ได้กระชากเขาออกมา แต่จะเป็นการบอกว่า ไปเถอะตอนแต่งเพลงก็ทำที่บ้านเรานี่แหละไม่ได้มีห้องอัดอะไรเลย
ปิดหน้าต่างแล้วก็อัด มิกซ์มาสเตอริงก็ไปที่สมอลล์รูม
เพราะที่บ้านมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนตลอด บางทีอัดกลองแล้วหมาเห่าก็ต้องรอ
มอเตอร์ไซค์ผ่านก็ต้องรอ”

ก้าวที่หก : มุมมองของการออกเดิน

“แสงโสมอยากให้คนมีส่วนร่วมมากกว่าการแค่ไปร่วมคอนเสิร์ตเฉยๆ จึงคิดแคมเปญที่ให้ผู้ที่สนใจส่งคลิปเรื่องราวของตัวเองเข้ามาร่วมสนุก ความยากก็คือการจะบริหารยังไงให้คลิปที่คนส่งมามีส่วนร่วมอยู่ด้วยกันได้พอดี
เพราะเพลงนี้ถ้าจำไม่ผิดมีความยาว 4.5 หรือ 5.4 นาทีนี่แหละ การให้คนส่งคลิปเข้ามา
ก็ต้องมาคิดว่าทำยังไงจะอยู่ด้วยกันได้ คนส่งคลิปเข้ามาจริง
คอมเมนต์ใต้คลิปที่มีคนมาให้กำลังใจ หรือเล่าเรื่องราวของตัวเองก็น่าสนใจด้วยเช่นกัน เรากับทีมรู้สึกว่าคอมเมนต์มันเยอะมาก จึงเห็นว่าเราน่าจะเอาตรงนั้นมาทำอะไรด้วย
จึงเอาคอมเมนต์มารวมกันแล้วตีโจทย์เพิ่ม สร้างประเด็นขึ้นมาอีกอันหนึ่งที่สรุปรวมความเป็นเพลงนี้ไว้”

ก้าวที่เจ็ด : จากเสียงสู่ภาพ

“เพลงนี้จุดสำคัญของมันคือต้องให้คนรู้สึกอะไรบางอย่าง
ถ้าคนดูแล้วฟังแล้วไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไหร่ก็อาจจะผิดวัตถุประสงค์
จากความรู้สึกจริงๆ ว่าเราอยากให้คนรู้สึกแบบนั้น คลิปจึงต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ว่าถ้าดูแล้วรู้สึกก็เอามาใช้ ดูแล้วมันสะเทือนไหม ถ้ายังไม่สะเทือนพอ
ก็ยังไม่เลือกคลิปนั้นมาใช้ ทีมงานเป็นคนคัดเลือกก่อน เราเองก็มาช่วยดูอีกที
ที่ส่งมาก็มีหลาย ๆ แบบ บางคนก็ทำมาจริงจังมาก
แต่ก็อยากจะเป็นตัวแทนขอบคุณแทนทุกคนที่ทุกคนมาร่วมแชร์ความรู้สึก
ประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง เราเชื่อว่าต่างคนต่างจะให้กำลังใจกัน
เมื่อเอ็มวีนี้เสร็จแล้วจะเป็นการรวมตัวกันของคนหลายๆ คน”

ก้าวที่แปด
: สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเพลงจบ

“เราว่าเรื่องบางเรื่องที่เกิดในชีวิตเรา
บางทีที่รู้สึกว่ามันยาก แต่พอผ่านมันไปได้
เราสู้กับความรู้สึกที่มันยากมากขึ้นได้อีกหน่อย
เราก็รู้สึกว่าเรานั่งรถไฟเหาะโดยที่ไม่ได้เป็นอะไรมากได้นี่หว่า
ตอนนี้เรานั่งรถไฟเหาะที่ใหญ่ขึ้นและยาวขึ้นได้แล้ว แต่การตัดสินใจจะนั่งรถไฟเหาะหรือไม่นี่แหละที่สำคัญ
มันก็เหมือนกัน เราก็รู้สึกว่า เราก็ทำได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเก่งจัง
ไม่ใช่แบบนั้นเลย แค่รู้สึกว่ามันท้าทายเรา เป็นรถไฟเหาะเที่ยวที่ลงมาแล้วโอเค”

ก้าวที่กล้า
: ถ้าตั้งใจทำอะไร
ไม่ว่ายังไงจะเกิดอะไรขึ้นมาเสมอ

“เราว่ามันอาจจะมีแหละที่เราตั้งใจแล้วมันไม่เป็นอย่างใจ
มันมีแหละ แต่สิ่งที่เขาพูดมันคือความตั้งใจของคน มันมีค่ามาก ในการที่คนคนหนึ่งรู้สึกว่าโอเค จะกลับไปหาแม่เดือนละครั้งแล้ว จากสามปีครั้ง
หรือต่อไปนี้จะตั้งใจทำงานเพื่ออะไรสักอย่าง ในความตั้งใจแรกที่เป็นเลขหนึ่งมันดีอยู่แล้ว
ถ้ามันไม่ใช่เรื่องเสียหายทำร้ายใคร คนที่ตั้งใจทำอะไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราเอาตัวเราไปวางไว้ตรงไหนด้วย
สมมติว่าเราทำกราฟิกดีไซน์ เห็นงานของต่างชาติคนหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเขาคือพระเจ้า
ถ้าเราเอาตัวเองไปวางไว้ตรงนั้นเราจะรู้สึกด้อยสุดๆ เลย ทำไมเราไม่ลองหาวิธีแบบเรา
เราอาจไม่ใช่พระเจ้าที่เก่งที่สุด แต่เราเป็นคนธรรมดาที่ตั้งใจดี
เราเชื่อว่าสักวันคนจะเห็นเอง เราว่ามันคือคำว่าตั้งใจ”

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

AUTHOR