THE PORTFUNLIO | Matching Art Game จั่วการ์ดสุดอาร์ตที่ตั้งใจสร้างโอกาสการจ้างงานให้ศิลปินหน้าใหม่

Highlights

  • แสงโสม ช่วยเหลือวงการศิลปะผ่าน THE PORTFUNLIO | Matching Art Game การ์ดเกมจับคู่ผลงานศิลปะที่หวังว่าศิลปินจะได้จับมือกับผู้ประกอบการที่กำลังมองหางานดีไซน์ที่ใช่สำหรับหลากหลายธุรกิจ
  • งานนี้โฟกัสศิลปินหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักแต่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยใช้วิธีเปิดรับผลงานเข้าประกวด ซึ่งในเวลาเพียง 2 สัปดาห์มีศิลปินส่งงานเข้ามากว่า 800 ชิ้น
  • ผลงานแต่ละชิ้นที่ได้รับคัดเลือกจะถูกนำมาพิมพ์ลงบนการ์ด แบบละ 2 ใบ ใบหนึ่งจะมาพร้อมชื่อศิลปิน ส่วนอีกใบมาพร้อมเว็บไซต์ แฟนเพจ หรืออินสตาแกรมที่เป็นช่องทางการติดต่อ เพื่อให้ผู้เล่นติดต่อศิลปินได้ทันที

งานศิลปะที่ดีนั้นควรค่าแก่การรับรู้

การมีฝีมือสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดีๆ ขึ้นมานั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ศิลปินคนหนึ่งสามารถยืนหยัดเลี้ยงชีพเพื่อทำงานที่รักอย่างต่อเนื่องได้ หากไร้ซึ่งการสนับสนุนทางความคิดและทุนทรัพย์ ไม่ว่าพรสวรรค์หรือพรแสวงก็อาจมอดดับไปอย่างน่าเสียดาย การทำให้งานศิลปะของศิลปินที่ยังไม่เป็นที่รู้จักได้เผยแพร่สู่สาธารณะจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงการศิลปะเติบโตงอกงามสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

จะดีแค่ไหนหากเราไม่จำกัดพื้นที่ให้ความอาร์ตอยู่ในแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่สามารถลูบคลำจับต้องได้อย่างใกล้ชิดอย่าง THE PORTFUNLIO | Matching Art Game การ์ดเกมที่คัดสรรงานศิลปะจากศิลปินหน้าใหม่กว่า 30 ชีวิตทั่วไทย มารวมเป็นพอร์ตโฟลิโอเล่นได้ เกิดถูกใจผลงานบนการ์ดใบใดระหว่างเล่นก็ติดต่อไปชวนร่วมงานกันโดยตรงได้ทันที 

จากวันแรกที่ไอเดียถูกวางลงบนโต๊ะประชุม จนถึงวันนี้ที่การ์ดเกมเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปทั่วไทย มีไอเดียอะไรเกิดขึ้นเบื้องหลังบ้าง เราชวน มิ้นท์–นพรัตน์ เอกสุวรรณเจริญ Associate Creative Director & Art Commander ผู้ดูแลโปรเจกต์นี้ร่วมกับ รุ้ง–ศุภาพิชญ์ ทิพย์สมพรดี Art Director และ พิม–รุจรดา เรียนวัฒนา Copywriter เป็นตัวแทนจาก SOUR Bangkok เอเจนซีเพื่อนหญิงพลังหญิง ผู้อยู่เบื้องหลังหลายแคมเปญปังๆ ของแสงโสมมาล้อมวงพูดคุยกันอย่างออกรส

 

จั่วได้โจทย์ดี

ท่ามกลางความวุ่นวายของโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ส่งไปช่วยพยุงโอบอุ้มภาคธุรกิจ ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร แต่กลุ่มศิลปินและนักออกแบบกลับถูกมองข้าม ทั้งที่ในความเป็นจริงผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ก็จู่โจมเล่นงานทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า

“จริงๆ แสงโสมช่วยศิลปินมาตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่ Bangkok Art Biennale ที่ผ่านมา รวมถึงพยายามออกผลิตภัณฑ์แบบลิมิเต็ดอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะสร้างโปรเจกต์ให้ศิลปินไทยมาร่วมงานกัน ครั้งนี้แสงโสมก็โยนโจทย์มาให้เราว่าจะสามารถทำงานอะไรสักอย่างร่วมกับศิลปินได้บ้าง เพื่อที่จะเป็นการช่วยเหลือพวกเขา” มิ้นท์ในฐานะผู้รับผิดชอบภารกิจในการพลิกวิกฤตโรคระบาดเป็นโอกาสสร้างงานให้แก่ศิลปินไทยเล่าถึงที่มาที่ไปของโจทย์การทำงานที่เต็มไปด้วยความตั้งใจดีแต่ก็แสนจะท้าทายนี้ ทำให้ทีมต้องเค้นวิธีคิดที่ไม่ซ้ำใคร ว่าจะทำยังไงให้ผลงานศิลปินหน้าใหม่เผยแพร่สู่สาธารณะได้มากพอที่จะต่อยอดกลายเป็นการจ้างงานจริง โดยไม่ลืมที่จะรักษาแบรนด์ดิ้งของแสงโสมไว้ แถมทีมงานทุกคนยังต้องทำงานกันในสภาวะที่กรุงเทพฯ ถูกล็อกดาวน์อีกด้วย

 

แจกแจงไอเดีย

“ช่วงที่คิดไอเดียกัน เราก็พยายามดูว่าศิลปินขาดอะไร ดีไซเนอร์หลายๆ คนถูกยกเลิกงาน พอผู้ประกอบการได้รับผลกระทบก็ส่งผลมาเป็นห่วงโซ่ ไม่มีเงินก็ไม่มีงบจ้างฟรีแลนซ์ จึงเป็นที่มาของไอเดียว่าเราต้องพาศิลปินไปเจอ publicity มากขึ้น ทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นเขามากขึ้น แต่ในช่วงที่โควิด-19 พีคมากๆ จะทำพื้นที่ให้คนมาเห็นงานก็มีข้อจำกัด จัดนิทรรศการก็ไม่ได้เพราะไม่มีคนไป” สุดท้าย 2 ไอเดียที่เข้ารอบคือ การ์ดเกมที่อวดผลงานบนหน้าการ์ดให้คนที่กักตัวอยู่บ้านมาล้อมวงเล่นด้วยกันและเสพงานศิลป์ไปได้ในทีเดียว และไอเดีย ‘เสื้อคู่’ ที่เหมาะกับช่วงเวลาแห่งการ social distancing ที่ให้ระยะห่างระหว่างคนสองคนกลายเป็นพื้นที่โชว์งานศิลปะ สุดท้ายการ์ดเกมก็ชนะด้วยวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ และตอบโจทย์ความสนุกสนานในวงปาร์ตี้ของแบรนด์แสงโสมมากกว่า

 

ประกาศการประกวด

เมื่อสรุปวิธีการสื่อสารได้แล้วก็ต้องมาเลือกวิธีการร่วมงานกับศิลปินกันต่อ “เราตั้งใจโฟกัสที่กลุ่มศิลปินหน้าใหม่ เพราะว่าคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด บางคนใหม่จริงๆ ขนาดตอนเข้าร่วมกับเรายังไม่มีเพจผลงานของตัวเองเลยด้วยซ้ำ”​ ด้วยเหตุผลนี้ ทีมงานจึงตัดสินใจไม่จ้างศิลปินดังให้มาร่วมงานกันโดยตรงเหมือนที่ผ่านมา แต่หันมาใช้วิธีการเปิดรับผลงานเพื่อกวักมือเรียกศิลปินหน้าใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักมากนัก แต่รักในการไขว่คว้าโอกาสมารวมตัวกันในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า SangSom Art ComMOONity โดยมีเทมเพลตของการ์ดเกมให้ดาวน์โหลดไปออกแบบลวดลายของตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วโพสต์ส่งผลงานกลับเข้ามาในกลุ่ม ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น “ตอนแรกกลัวว่าจะไม่มีคนส่งงานมา เพราะโจทย์มันเฉพาะกลุ่มมากๆ แต่สุดท้ายแล้วมีผลงานส่งเข้ามาเยอะมาก รวมแล้ว 800 กว่าชิ้น”

 

เลือกเพื่อการเล่น

มิ้นท์เล่าถึงกระบวนการเลือกอันแสนจะลำบากใจของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วย คุณนิติกร กรัยวิเชียร กรรมการโครงการ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, คุณวุฒิกร คงคา ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ตัวแทนจาก SOUR Bangkok และทีมงานของแสงโสม ช่วยกันให้คะแนนโดยให้น้ำหนักกับความสวยงามและความหลากหลายของผลงานในภาพรวมที่ตอบโจทย์ได้หลากหลายธุรกิจ “เราอยากให้การ์ดเกมนี้กระจายออกไปแล้วได้ใช้งานจริง เจ้าของธุรกิจต่างๆ ได้รู้จักศิลปินหน้าใหม่ ชวนไปร่วมงานกันต่อได้”

จากผลงานกว่า 800 ชิ้นจึงต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนเหลือเพียง 30 ชิ้นเท่านั้น เพื่อให้แต่ละคนได้รับเงินรางวัลที่สมเหตุสมผลตามที่แสงโสมตั้งใจไว้ “หลายคนที่เราติดต่อไปเขาดีใจมาก งานเขาจะได้พิมพ์เป็นการ์ดจริงๆ เหรอ บางคนเพิ่งวาด 1-2 ชิ้นแรกก็ได้รับคัดเลือกแล้ว” มิ้นท์เล่าถึงความตื่นเต้นที่ได้รับจากปลายสายในช่วงที่โทรศัพท์ไปแจ้งผลการประกวด “บางคนยังเป็นนักศึกษาอยู่ ได้ลงประกาศทั้งในเพจของมหาวิทยาลัยและในเว็บไซต์ว่าเป็นความภาคภูมิใจของเขา” รุ้งเสริม

 

สำรับสำหรับสนุก

การ์ดในสำรับทั้ง 58 ใบจึงมีงานสารพัดเทคนิค หลากหลายสไตล์ ตั้งแต่คอลลาจ ไฟน์อาร์ต กราฟิก งานมือ งานดิจิทัล เรียกได้ว่าครบทุกแขนงศิลปะร่วมสมัย ผลงานแต่ละชิ้นถูกนำมาพิมพ์ลงบนการ์ดแบบละ 2 ใบ ใบหนึ่งจะมาพร้อม ‘ชื่อ’ ศิลปิน ส่วนอีกใบมาพร้อมเว็บไซต์ แฟนเพจ หรืออินสตาแกรมที่เป็นช่องทางการติดต่อ เพื่อให้ทุกครั้งที่เล่นการ์ดเกมนี้ ผู้เล่นสามารถติดต่อศิลปินได้ทันที

โดยทีมได้ออกแบบวิธีการเล่นให้คงความสนุกของการ์ดเกมไว้อย่างครบถ้วน มิ้นท์เล่าว่าสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือการที่การ์ดเกมเหล่านี้เป็นพื้นที่แสดงผลงาน กติกาการเล่นจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้ผู้เล่นโฟกัสที่ผลงานมากที่สุด เกมจับคู่จึงเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ผู้เล่นสังเกตว่าในวงกลมคือภาพอะไร ผลัดกันเปิดการ์ดทีละใบเพื่อตามหาลายที่เหมือนกัน จบเกมใครมีการ์ดในมือมากที่สุดชนะ

 

เปิดการ์ดเปิดโอกาส

ในช่วงที่ผ่านมาเพจแสงโสมได้เปิดให้ผู้ที่สนใจมากรอกแบบฟอร์มและกระจายไปตามเพจของศิลปิน ผู้ประกอบการต่างๆ รวมถึงชวนให้เพจบอร์ดเกมรีวิวการ์ดเกมนี้ เพื่อส่งต่อไปถึงผู้คนกลุ่มต่างๆ ให้กว้างที่สุด โฟโต้เซตโปรโมตสีสันสดใสที่เปิดตัวออกไปได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี “โปรเจกต์นี้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของแสงโสมซึ่งเป็นศิลปินให้มาสนใจค่อนข้างเยอะ ได้ผลดีอย่างเห็นได้ชัด” 

“คนไทยจำนวนมากยังไม่ค่อยให้ค่างานศิลปะขนาดนั้น ยังไม่เคยเห็นว่ามันทำได้หลายแนวนะ ไม่ได้มีแบบเดียว ฝั่งศิลปินได้งาน และคนเล่นการ์ดเกมนี้ได้สนุกไปพร้อมกับเห็นงานหลายๆ แบบที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน” พิมกล่าวทิ้งท้ายถึงความฝันที่อยากเห็นงานศิลปะดีๆ เข้ามาอยู่ในชีวิตของคนไทยมากขึ้น

ใครอยากจับจองเป็นเจ้าของ THE PORTFUNLIO | Matching Art Game ติดตามรายละเอียดที่เพจ SangSom Experience

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก