เรารู้จัก
ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ในฐานะช่างภาพอิสระที่ทำงานภาพถ่ายแฟชั่นสะท้อนปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ที่คุ้นกันดีคือภาพถ่ายชุด ‘The Last Farewhale’ ที่เขาพานางแบบสาวไปยืนและเกลือกกลิ้งกับศพวาฬบรูด้าที่ตายในอ่าวไทยเมื่อปี 2557 ความขัดแย้งระหว่างความสวยงามและความจริงอันน่าสะเทือนใจถูกสะท้อนผ่านการกดชัตเตอร์ที่เฉียบคมของเขาได้อย่างลงตัว
แต่มากกว่างานที่เขาทำ ทอมยังลงมือเข้าไปช่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือการเป็นครีเอทีฟให้กับ Trash Hero Thailand กลุ่มอาสาสมัครไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเรื่องขยะในทะเลไทย จุดเริ่มต้นของไอเดียที่ทอมนึกสนุกอยากนำขยะของจริงจำนวนมหาศาลที่เก็บได้จากทะเลทั่วไทย มาประกอบเป็นงานศิลปะจัดวางชิ้นใหญ่ชื่อ Little Monsters ที่เราจะได้เห็นมันเต้นรำไปทั่วงาน Wonderfruit ในปีนี้ ความท้าทายของการทำงานชิ้นใหม่ และอะไรคือสิ่งที่อยากสื่อสารไปให้ถึงทุกคนที่จะมาสนุกกันในเทศกาลนี้ เราแวะไปให้ทอมนั่งลงเล่าให้ฟังแล้ว
รวมพลังทำไอเดียใหม่ให้แข็งแรงที่สุด
“เราทำงานให้ Trash Hero Thailand มาสักพักและคิดอยากทำแคมเปญรณรงค์สักอย่างตลอด แต่ติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ปีที่แล้วเลยได้คุยกับ Wonderfruit ว่าเราอยากทำแคมเปญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตรงกับโจทย์ของเทศกาลอยู่แล้ว และดึงเอา Trash Hero Thailand มาร่วมด้วยเลย ถ้าหลายๆ องค์กรมาร่วมมือกัน เสียงของสิ่งที่ทำจะใหญ่ขึ้น คนจะเห็นความสำคัญของสิ่งที่เราทำมากขึ้น”
“ไอเดียแรกที่คิดคืออยากถ่ายภาพแฟชั่นแบบโอต์กูตูร์ไปเลย เอาดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาออกแบบชุดที่ทำจากขยะ แต่มันแพงมาก เราคิดกันอีกทีว่าการถ่ายแฟชั่นเซ็ตก็ไม่มีประโยชน์และไม่ตอบโจทย์งาน Wonderfruit ด้วย งานนี้มันทำให้เก๋และเพี้ยนได้ เลยคิดต่อไปว่าอยากทำงานศิลปะที่สร้างจากขยะในทะเล ให้มันเคลื่อนไหวได้ด้วย น่าจะเปรี้ยวและสนุกดี เราเองก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำอะไรเพี้ยนๆ และชิ้นใหญ่ขนาดนี้มาก่อนด้วย”
ทำทุกอย่างจากข้อมูลที่แน่นพอ
“เราทำงานสำรวจประชากรสัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนหรือวาฬให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมา 10 ปีแล้ว ทำให้เรารู้ว่าจำนวนสัตว์เหล่านี้มีเท่าไหร่ และเห็นปัญหาที่แท้จริงว่าที่พวกมันตายส่วนใหญ่เป็นเพราะกินขยะที่มนุษย์ทิ้งลงทะเลจนไปทำลายระบบการย่อยอาหาร เราเลยอยากสร้างงานศิลปะที่จะสื่อสารข้อความตรงนี้ งานของเราไม่ใช่ว่าอยากทำเพราะดูเท่ ดูคูล ยิ่งเราทำเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เราก็น่าจะพูดให้น่าเชื่อถือที่สุดผ่านงานศิลปะของเรา โดยอาศัยข้อมูลและประวัติการทำงานที่เราทำมา
“เราชอบดำน้ำ และมีโอกาสได้เจอสัตว์ทะเลน้ำลึกหลายชนิดที่มันเปลี่ยนฟอร์มไปจากที่เราคุ้นชิน อย่างปลาที่กลายพันธุ์จนมีขา หรือปลาหมึกที่วางไข่ในกะลา เราเจอปูชนิดหนึ่งที่มันจะเอาของมาใส่ในกระดอง แล้วเราเห็นมันใส่ขยะมา ก็สะเทือนใจเราเลย สิ่งที่มนุษย์ทำด้วยความสบายใจมันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของสัตว์พวกนี้ด้วย เลยหาข้อมูลเยอะมาก จะใช้แบบจากสัตว์ทะเลน้ำลึกพวกนี้ จนมาลงตัวที่ปลา Anglerfish มีไฟติดอยู่บนหงอนที่หัว และกุ้งชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกและสูญพันธุ์ไปแล้ว”
ปะทะไอเดียระหว่างคนสองรุ่น
“งานนี้จริงๆ เราทำคนเดียวก็ได้ แต่ไม่สนุกเท่าไหร่ ถ้าได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่มาจากความถนัดของคนอื่นด้วย มันน่าจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความสร้างสรรค์ขึ้นมา และเราอยากเปิดโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่ด้วย เลยชวน JitJer (จิตต์โสภิณ โพธิ์น้อย) ที่เคยฝึกงานกับเราเมื่อปีที่แล้วมาช่วยในงานนี้ เพราะน้องเรียนมาทางด้านออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็คิดว่าน้องน่าจะทำได้ อย่างตอนดราฟต์แบบก็ช่วยกันคิดเลยว่าคาแรกเตอร์ของสัตว์ประหลาด 2 ตัวนี้ควรจะเป็นยังไง เป็นเพศไหน ขยะที่จะเอามาใช้ประกอบแต่ละส่วนควรเป็นอะไร ซึ่งสิ่งที่ได้จากความเห็นของ JitJer ก็เป็นสิ่งที่เราขาด เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนั้นด้วย”
ทิ้งจริง เก็บจริง ขยะจริง
“พอแบบเสร็จ เราก็ลิสต์ชนิดของขยะที่อยากได้ไปให้ Trash Hero Thailand ช่วยเก็บมาจากทะเลต่างๆ ทั่วไทยและรวบรวมมาส่งให้เรา กระบวนการทำงานของเขาจะมีอาสาสมัครไปเก็บขยะทุกวันจันทร์อยู่แล้ว ซึ่งมีตั้งแต่แห อวน เชือก โฟม ไปจนถึงไฟแช็ก แค่จากเกาะลันตาก็เยอะมาก พวกนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์ทะเลตาย แต่ละชิ้นมีความหมายของมันอยู่ว่าเราเลือกมันมาทำไม”
ประกอบร่างสัตว์ประหลาดแบบทำมือ
“ความยากของงานนี้อยู่ที่การประกอบร่างนี่แหละ เดิมทีงานของเราคือภาพถ่าย แปลงไอเดียที่มีในหัวลงมาบนกระดาษหรือภาพ แต่งานชิ้นนี้คือการเปลี่ยนความคิดผ่านงานประดิษฐ์ งานคราฟต์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการมัด การตัด การเชื่อม ก็ท้าทายดีและสนุกสำหรับเรา ได้พัฒนาความสามารถทางศิลปะไปด้วย
“โจทย์คือเราอยากให้มันเคลื่อนไหวได้ด้วย Wonderfruit พูดเรื่องความสนุกผ่านศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม อาหาร ก็มีวัฒนธรรมหนึ่งที่เราไม่เคยคิดถึงเลยคือการเชิดสิงโตและอุปรากรจีน มันน่าจะสนุกและคนจะสนใจด้วย พองานชิ้นนี้ต้องถูกเชิดและใช้โชว์ด้วย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที จากที่ออกแบบไว้จะใช้วัสดุเป็นโฟมหรือเชือกเยอะหน่อย ก็ต้องลดเชือกลงให้มันน้ำหนักเบา เปลี่ยนมาใช้ไฟแช็ก แผ่นซีดีบ้าง แต่เป็นขยะเหมือนเดิม บางอย่างก็เอามาจากในบ้านเราเองด้วย อีกอย่างที่เราเพิ่งลองเอามาใช้เพราะคิดว่าจะเหมาะกับงานชิ้นนี้คือไฟเบอร์ออฟที่เป็นแสงไฟเส้นๆ ติดตามตัวสัตว์ประหลาดสองตัวนี้ ตัวนึงสีฟ้า อีกตัวสีชมพู ตามเพศของมัน”
ส่งสารและสัตว์ประหลาดไปทั่วงาน
“เราคิดคาแรกเตอร์ให้สัตว์ประหลาด 2 ตัวนี้มาแล้ว ตัวหนึ่งตั้งชื่อว่า ‘กุ๊กกู๋’ หล่อๆ ขรึมๆ หยิ่งๆ น่ากลัวหน่อย ส่วน ‘ดุ๊กดิ๊ก’ จะเข้ากันได้กับทุกคน ซึ่งก็ถอดมาจากคาแรกเตอร์ของเราและ JitJer นี่แหละ ก็คุยกับทางคณะอุปรากรที่มาแสดงให้ว่าควรเชิดประมาณไหน เล่นกับคนดูได้ขนาดไหน สองตัวนี้จะต้องมาแสดงด้วยกันยังไง ไม่ใช่ต่างคนต่างโชว์ ซึ่งเราจะโชว์ทั้งหมด 5 รอบ คือช่วง 5 โมงเย็นจะวนไปเล่นกับคนตามจุดต่างๆ ทั่วงาน ส่วนช่วงตี 1 จะอยู่ที่ The Quarry เป็นเวทีตอนกลางคืนซึ่งออกแบบให้เหมือนอยู่ในป่า ก็จะแสดงประกอบไปกับดนตรีของโชว์เลย ไม่ได้เข้าไปเบรกอีเวนต์ใดๆ ของงาน”
ทุกคนมีความสามารถบางอย่างที่ช่วยโลกได้
“เรื่องวิชวลของตัวงาน เราคิดว่าคนดูน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่ามันเป็นขยะจากทะเล และงานชิ้นนี้จะพ่วงไปกับ Scratch Talks เวทีเสวนาที่เชิญ Trash Hero Thailand ขึ้นไปพูดและเราเป็นตัวแทนเพื่อบอกสิ่งที่อยากสื่อสารจริงๆ ให้คนได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสมอ ถ้าทำให้คนเริ่มหันมาสนใจงานอนุรักษ์ขึ้นบ้าง เราก็คิดว่ามันน่าจะประสบความสำเร็จแล้ว
“สิ่งที่ตัวเราเองได้จากการทำงานชิ้นนี้คือเราคิดเยอะขึ้นเวลาจะเลือกใช้หรือซื้อของอะไร พยายามจะลดการทำให้เกิดขยะ ตัวเราเปลี่ยนได้ เราก็คิดว่าคนอื่นก็น่าจะเปลี่ยนได้ด้วย อีกประเด็นที่อยากบอกคือมันสำคัญมากที่เราควรใช้ความสามารถของเราทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมกลับคืนไป แค่เสียสละเวลา เสียแรง ไปทำบางสิ่งที่มันส่งผลดีต่อคนอื่นได้จริงๆ ทุกคนชอบมองว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ ใครจะไปทำไหว แต่จริงๆ แล้วทุกคนทำไหว และทุกคนทำได้”