เพราะการศึกษามีแต่เรื่องสยอง! ชวนอ่านวิธีคิดหนังสั้น ‘เรื่องสยองการศึกษาไทย’ ที่เล่าปัญหาการศึกษาเข้มข้นผ่านหนังผี

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนรัฐบาล
เชื่อเถอะว่าคุณจะดูหนังสั้น ‘เรื่องสยองการศึกษาไทย’ ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด ด้วยความอิน
เพราะหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องปัญหาในระบบการศึกษาบ้านเราตั้งแต่ระดับตัวนักเรียนจนถึงเชิงนโยบาย
หลายเรื่องเราอาจคุ้นเคย ไม่ก็ชวนให้นึกไปถึงปัญหาอื่นที่เคยเจอ

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าสาระอัดแน่น
คือการหีบห่อสาระเหล่านี้ด้วยวิธีแปลกใหม่
แทนที่จะร่ายยาวความรู้แบบที่ดูแล้วก็อินแต่ตาจะปิด
หนังสั้นเรื่องนี้จะพาคุณไปสู่ข้อมูลแสนจริงจังด้วยหนังสยองขวัญ
ในห้องเรียนมืดสลัว
ปัญหาการศึกษาคือเรื่องสยองหนึ่งเรื่องที่นักเรียนมาล้อมวงเล่าให้พวกเราได้ฟังหลังเลิกเรียน

วิธีการน่าสนใจดึงดูดให้เราสนใจ เราจึงไปพูดคุยกับ ‘นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์’ สมาชิกจาก วันโอวัน ที่รับบทเป็นผู้กำกับเพื่อค้นหาว่าทีมงานมีวิธีคิด วิธีทำอย่างไรกว่าจะได้หนังสั้นที่มีสาระมากแต่หลอนมากเรื่องนี้

1. หนังสั้นที่เกิดจากโจทย์วิชาการ

“วันโอวันได้โจทย์มาจากทาง สกว. ที่ทำงานวิจัยต่างๆ สกว. อยากให้เราเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาไทยซึ่งชี้ให้เห็นปัญหา
เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมีการนำเสนอทางออก พวกเราก็มาตีโจทย์กันว่าเราอยากเผยแพร่เรื่องนี้ให้กว้างที่สุด
แล้วทำยังไงให้ตัวงานวิจัยที่บางคนอาจรู้สึกว่าไม่น่าสนุกเท่าไหร่ ให้ดูสนุกที่สุดเท่าที่จะทำได้
ก็เลยเลือกทำในรูปแบบหนัง”

2. เรื่องสยองขวัญ
ก็ต้องเล่าเป็นหนังสยองขวัญ

“เรามาคิดไอเดียกันว่าจะเล่าปัญหาของการศึกษาไทยยังไง
พอ brainstorm กัน ก็รู้สึกว่าไอเดียเล่าเป็นเรื่องสยองขวัญ พอเป็นหนังน่าจะสนุกดี
คือจริงๆ แล้ว ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่สยดสยองเหมือนกัน ถ้าเราต้องมีลูกหรือตัวเราเองอยู่ในระบบการศึกษาที่ยังมีปัญหาเยอะขนาดนี้
มันก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ เป็นเรื่องที่น่ากลัวอยู่ เราเลยตีโจทย์ว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอางานวิจัยมาทำเป็นหนังผีไปเลย
เล่าว่ามีเรื่องสยองอยู่เยอะนะในระบบการศึกษาไทย อยากจะแชร์และให้มาช่วยกันคิดว่าทำยังไงให้มันสยองน้อยลง”

“ที่จริงเราไม่ได้มีภาพในใจว่าต้องเป็นหนังสยองขวัญแบบไหน
เพราะมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ข้อหนึ่งคือข้อมูลเยอะมาก
สองคือเราไม่ได้มีงบประมาณในการถ่ายทำมากนัก เพราะฉะนั้น มันเลยต้องดีไซน์หนังให้ถ่ายทำง่ายที่สุด
เราก็เลยคิดสถานการณ์ให้น้อย โลเคชันให้น้อย เลยคิดถึงเวลาที่เด็กๆ
แอบหลบไปเล่นผีถ้วยแก้วหรือหลบไปเล่าเรื่องผีในห้องเรียนกัน แล้วสมมติว่า ในคืนวันหนึ่ง
มีเด็ก 3 คนที่ไม่ยอมกลับบ้าน แต่ไปนั่งเล่าเรื่องสยองของโรงเรียนหรือของการศึกษาไทยกัน
มันก็เริ่มจากตรงนั้น แล้วเด็กกลุ่มนี้ก็จะค่อยๆ เล่าว่าแต่ละเรื่องสยองยังไงบ้าง”

“ตอนเอาไอเดียนี้ไปขายลูกค้า เราบอกเหตุผลหลักที่จะต้องทำหนังแบบนี้ไปว่า ที่จริงแล้วเราและทาง สกว. เอง
ไม่ได้อยากให้อยากให้งานวิชาการหรือวิชาความรู้อยู่บนหิ้ง
ทีนี้วิธีที่จะเอามันลงมาสู่คนเยอะที่สุด ก็ต้องทำมันให้ตรงกับรสนิยมคนในวงกว้างที่สุด
เช่น เขาชอบดูหนังผีกัน องค์ประกอบเหล่านี้แหละที่เราเอามาเป็นสะพานเพื่อเอาสาระไปสู่คนเท่าที่มันจะไปได้”

3. ข้อมูลย่อยยากกลายเป็นบทย่อยง่าย

“หนังเรื่องนี้ไม่เหมือนหนังโฆษณาทั่วไปคือ
เราต้องจัดการข้อมูลอย่างจริงจัง ซึ่งนี่คืองานที่วันโอวันทำ นอกจากได้โจทย์มา
ได้ข้อมูลมาแล้ว เราต้องเอาข้อมูลนั้นมาย่อยให้พอจะทำสื่อได้
มาเลือก จัดกลุ่ม หยิบประเด็นขึ้นมา เราก็จะมี สมคิด พุทธศรี น้องในทีมเป็นคนทำข้อมูลให้พอเอาไปเขียนบท
แล้วก็มี คิริเมขล์ บุญรมย์ และ อดิสรณ์ เด่นสุธรรม น้องในทีมอีกสองคนร่างบทขึ้นมา จากนั้นเราก็สุมหัวคิดกันต่อว่าทำยังไงให้มันสนุกที่สุด
ที่จริงแล้ว เราว่าวิธีเขียนบทเรื่องนี้ผสมระหว่างการหนังกับการทำรายการทีวี
เพราะจะว่ามันเป็นหนังเลยก็ไม่ใช่ ข้อมูลเยอะ แต่จะเป็นรายการทีวีเลยก็ไม่ใช่ฟอร์แมตนั้น
เพราะฉะนั้น เราจะทำงานในส่วนข้อมูลเหมือนทำรายการทีวี แต่เวลาเขียนเป็นบทก็จะพยายามเอาข้อมูลมาเขียนเป็นไดอะล็อกหนัง”

“เรื่องปัญหาการศึกษาไทยนี้เล่ายากอยู่เหมือนกัน เพราะทาง สกว. เองก็มีภาพลักษณ์ที่ควรจะน่าเชื่อถือ เราก็เลยทำในระดับที่คิดว่าพอเหมาะ เข้าใจว่าต้องรักษาความน่าเชื่อถือของเขาด้วย
วิธีที่เราใช้คือ ในส่วนของปัญหา เราดึงปัญหาสำคัญที่คิดว่าควรเล่าและเกี่ยวข้องกับผู้คนมาแค่ประมาณ
5 – 6 ข้อ แล้วยกตัวอย่างให้คนเห็นภาพ
รู้สึกว่า เออ ใช่ว่ะ เราก็อยู่ในระบบนี้แหละ เราจะตีความมันออกมาเป็นมุก
เป็นภาพหรือวิธีเล่าที่สนุก เช่น เขาบอกว่ามีนักเรียนที่ยากจนมาก
เราก็มาตีความกันว่าจนยังไงดี สมมติว่าจนจนไม่มีเงินซื้อดินสอใช้ แล้วพอเขียนจนดินสอหัก
ไม่มีดินสอใหม่แล้ว ก็ต้องกัดนิ้วตัวเอง เอาเลือดเขียนเป็นโจทย์เลข ส่วนวิธีแก้ปัญหาหรือทางออก
เราจะพูดถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวอย่างปัญหา เช่น การจัดการระบบและการทำนโยบายใหม่
เล่าด้วยบทที่ค่อนข้างวิชาการหน่อย แต่ก็พยายามเล่าผ่านบทสนทนาของตัวละครเด็กนักเรียน
3 คน เรามีตัวละครเด็กคนนึงชื่อปัญญา เป็นตัวแทนของคนที่บอกทางออกให้
ทางแก้ปัญหาก็จะถูกบอกผ่านปากของปัญญา ขณะที่อีกสองคนก็จะมาเล่าปัญหาให้ฟัง
เราพยายามทำยังไงก็ได้ให้มันเข้าหูคนดูมากที่สุด ไม่อย่างนั้นเรื่องพวกนี้พูดไปจะซีเรียสมาก”

4. นักแสดงที่ตรงใจคนทำและคนดู

“เราเลือกนักแสดงจากบุคลิกที่ตรงกับตัวละครและเป็นคนที่เราชอบ อย่าง เอิร์ธ-อติคุณ อดุลโภคาธร เราเคยเห็นงานในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ แล้วรู้สึกว่าบุคลิกเขาน่าจะ ปัญญา ที่มีความรู้เยอะๆ
ได้ และเขาก็เล่นดีอยู่แล้ว ส่วน หลิว-มรกต หลิว ก็น่าจะเล่นเป็น ใจ๋ ตัวละครผู้หญิงขวัญอ่อน ไม่ค่อยรู้อะไรได้น่ารักดีและเราก็รู้สึกว่าเขาเล่นเก่ง
ส่วน เบสท์-ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ จะเล่นเป็น เป้ง ที่เกเรหน่อย
ดื้อหน่อย ซึ่งเราคิดว่าเบสท์มีบุคลิกนั้นอยู่ในตัว เรื่องเล่นเก่งก็ไม่ต้องพูดถึง”

“อีกเหตุผลในการเลือกของเราคือ ถึงหนังเราไม่ได้มีงบเยอะมาก ทำแคสติ้งกันเองซึ่งมักจะทำให้ได้นักแสดงค่อนข้างใหม่ เป็นมือสมัครเล่น แต่เรารู้สึกว่า ถ้าได้คนแสดงที่ดี
หนังคงน่าดู คือเวลาเราทำงานแบบนี้ของดิ วันโอวัน เราจะคิดถึงทุกองค์ประกอบที่ดึงดูดผู้ชมได้
เพราะรู้อยู่แล้วว่าเนื้อหามันค่อนข้างไกลตัวคนทั่วไป สมมุติเราได้สามีแห่งชาติมาเล่น
ได้น้องผู้หญิงน่ารัก หรือได้คนที่เล่นเก่งมากมา มันก็ช่วยได้เยอะ เวลาคิด เราก็จะฝันไปถึงสิ่งที่ดีที่สุดก่อน
ถ้าไม่ได้ก็ค่อยว่ากัน ก็เลยได้ลองติดต่อบรรดานักแสดงดู
ลองคุยกันดู ซึ่งพอเขาเห็นว่ามันเป็นหนังที่ไม่ใช่หนังโฆษณา เขาก็ยินดีมาเล่น
ก็ต้องขอบคุณเขา เพราะเราคิดว่าคนพวกนี้ เช่น น้องเบสท์ ก็ไม่ได้มีคิวว่างเท่าไหร่”

5. การออกกองครั้งเดียว ในโลเคชันเดียว

“โลเคชันของเราคือโรงเรียนบริบูรณ์ศิลป์ศึกษา โรงเรียนเล็กๆ แถวถนนวิภาวดี หลักในการเลือกคือเป็นโลเคชันที่เป็นไปได้
ถ่ายดึกได้ และที่นี่ก็เก็บเงินค่าสถานที่ไม่เยอะ ระยะเวลาการถ่ายคือประมาณตั้งแต่เที่ยงวันถึงตี 3 ถือว่าถึกมาก แทบจะเรียกว่าช็อตละเทกเลย คือไม่เกิน 3 เทก เพราะมีข้อจำกัดของเวลาด้วย
แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือ การถ่ายทำค่อนข้างลื่นไหล น้องๆ เล่นกันดีเลยถ่ายได้เร็วแทนที่จะต้องใช้เวลามากกว่านี้”

6. หนังที่ต้องผสมระหว่างสาระและความสนุก

“ตอนตัดต่อค่อนข้างสนุก เพราะเราถ่ายมาแบบที่มีของพอตัดอยู่
แต่ส่วนที่หนักใจคือ เราคิดว่าหนังที่ตัดมาค่อนข้างมีจังหวะของความสนุกกับสาระซึ่งอาจยังเบลนด์กันไม่ได้ถึงขึ้นเป็นเนื้อเดียว เราคิดว่าการบาลานซ์ระหว่างสองส่วนนี้คือส่วนยากที่สุด ความบันเทิงคือประตูบานใหญ่ที่จะเปิดให้คนอยากเข้าถึงเนื้อหา
แต่ถ้าเนื้อหาวิชาการมากก็จะทำให้ประตูแคบลง แต่ถ้าน้อยเกินไป ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ
ก็อยู่ที่ว่าจะจัดสมดุลตรงนี้ยังไงให้ได้ประโยชน์จากเนื้อหาและให้มันไม่น่าเบื่อด้วย
เราก็ยังเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ และคิดว่ายังไม่ได้ค้นพบวิธีที่ตัวเองทำได้ดีขนาดนั้น
แต่ก็คิดว่าน่าจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เรามองว่าตัวเองพยายามหาดูรสนิยมจากคนดูกลุ่มเป้าหมายก่อนว่าเขาอยากดูอะไร
เราจะให้ดูแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะหยอดสิ่งที่อยากบอกลงไปในนั้นด้วย
คือไม่คิดจากตัวเอง คิดจากเขา แต่ก็ไม่ลืมสิ่งที่เราอยากจะบอก เช่น
สมมติว่าเขาชอบดูมิวสิกวิดีโอกันมาก
วันหนึ่งเราอาจนำเสนอออกมาในรูปแบบมิวสิกวิดีโอก็ได้”

7. หนังรสชาติใหม่ที่อยากให้ลอง

“หลังจากตัดต่อเสร็จ เอาไปให้ลูกค้าดู เขาก็ตกใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้แก้เยอะ ถ้าแก้เยอะคงเละเลย
(หัวเราะ) คือลูกค้าอาจไม่ได้นึกภาพออกมาว่ามันจะขนาดนี้ เขาเป็นสถาบันวิชาการ
งานที่เคยทำมาก็จะค่อนข้างจริงจัง น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นงานนี้จริงๆ
แล้วก็เป็นการทดลองของเขาเหมือนกัน เขาก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจ แต่ก็เรียกว่ากระโดดข้ามเส้นจากที่เคยทำพอสมควร
ซึ่งจริงๆ ทั้งเขาและเราก็อยากจะเช็ก feedback จากคนดูเหมือนกัน ว่าสำหรับคนดู เวลาเห็นเนื้อหาที่เป็นวิชาการถูกนำนำเสนอแบบนี้
มันเป็นยังไงบ้าง”

8. เรื่องสยองการศึกษาไทย: เรื่องที่อยากให้รู้แล้วลุกมาช่วยกัน

“เรื่องสยองการศึกษาไทย เป็นหนังสั้นที่พูดถึงทางออกของปัญหาการศึกษาที่ใหญ่
แต่จริงๆ แล้วมันทั้งเชื่อมโยงกับเรา และเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้
คือเราต้องตระหนักรู้ก่อนว่ามันมีปัญหานี้นะ ไม่ใช่เออออไปกับระบบที่ยังอยู่ แล้วคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้
หรือแค่อยู่ในนั้นไป พอตระหนักรู้แล้ว ทาง สกว. ก็อาจมีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย
แต่เราในฐานะของประชาชนคนนึง ก็อาจช่วยกันพูดถึงปัญหาหรือเสนอทางออก
เราว่ามันก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ได้ สังคมก็ขับเคลื่อนไปแบบนี้ คือตระหนักรู้ เห็นถึงความสำคัญของปัญหา
แล้วก็ช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

เครดิต:
วิจัยและข้อมูล:
สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

กำกับ:
นิ้วกลม
เขียนบท:
คิริเมขล์ บุญรมย์, อดิสรณ์ เด่นสุธรรม, สมคิด พุทธศรี, นิ้วกลม

AUTHOR