Cloud Atlas: บทลำนำแห่งการเดินทางต่อสู้ ดวงวิญญาณ กับชีวิตต่างร่างกายในหลายภพชาติ

Cloud Atlas: บทลำนำแห่งการเดินทางต่อสู้ ดวงวิญญาณ กับชีวิตต่างร่างกายในหลายภพชาติ

คอนเซปต์เรื่องของชาตินี้ชาติหน้า (next life), การกลับชาติมาเกิด (reincarnation), ดวงวิญญาณ (Soul) และการระลึกชาติ (recall) เป็นความเชื่ออันพิศวงที่มีมาช้านานและเป็นข้อถกเถียงที่ไม่จบไม่สิ้น นำมาสนทนากี่ครั้งก็ยังน่าสนใจเสมอ ด้วยการที่ทั้งสามประเด็นจัดอยู่ใน phantom zone ของการรับรู้ ทดลอง และการพิสูจน์ของมนุษย์

Cloud Atlas นิยายชื่อดังของ David Mitchell พูดถึงประเด็นเหล่านี้ และในปี 2012 สองพี่น้อง Wachowski ร่วมกันกำกับกับอีกคนอย่าง Tom Tykwer ดัดแปลงเรื่องนี้เป็นหนังความยาวราวๆ 3 ชั่วโมง เพื่อโชว์ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้มีดีแค่หนังไตรภาค The Matrix แต่ยังสามารถรับมือกับเรื่องราวที่อัดแน่น ซับซ้อน ตัวละครเยอะ และถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างงดงาม และสมบูรณ์ สอดประสานลงตัว (ภายหลัง 4 คนรวมถึงคนแต่งนิยายได้มาร่วมงานกันในซีรีส์ Sense 8 อีกครั้ง)

เนื่องในโอกาสที่ The Matrix: Resurrections หรือ The Matrix ภาค 4 กำลังจะฉายในอีกไม่ช้าโดยมี David Mitchell เป็นคนร่วมเขียนบทกับ Lana Wachowski จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะกลับไปสำรวจตรวจสอบสวยงาม ความดราม่า-แอ็กชั่น-ไซไฟ-ลึกลับที่คล้ายคลึงกัน ปรัชญาในหนัง และสไตล์การเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้อีกครั้งหลังจากไม่ได้ดูมาเนิ่นนานและเชื่อว่าทุกคนต่างก็เติบโตขึ้นกว่าครั้งล่าสุดที่ได้ดูพอสมควร

บทความนี้จะเป็นทั้งการสังเคราะห์ข้อมูลให้เข้าใจง่าย ชวนขบคิดผ่านการวิเคราะห์ประเด็นเนื้อหา และเป็นเสมือน guide book ฉบับเข้าใจง่ายของหนังมีรายละเอียดมากมายอย่าง Cloud Atlas ที่ครบจบสมบูรณ์ในเล่มเมื่ออ่านจบถึงบรรทัดสุดท้าย

(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญหนัง Cloud Atlas)

ตัวตนสรรพสิ่งโลกจักรวาลภายใต้คำว่าเรื่องราว

ในชีวิตจริงเรามองผ่านออกมาจากดวงตาทั้งสองข้างในฐานะหรือมุมมองของบุคคลที่ 1 (First Person View) แต่ในทุกครั้งที่เราดูหนังสักเรื่อง จะขึ้นอยู่กับว่าหนังหยิบยื่นมุมมองไหนให้กับเรา 1 หรือ 2 หรือ 3 แต่ไม่ว่าจะเป็นมุมมองไหน สิ่งนึงที่หนังต้องมีคือ ‘ตัวละครหลัก (protaginist)’ เพื่อให้เราเกาะไปด้วยได้ตลอดทาง และมีความเข้าอกเข้าใจหรืออินไปกับสิ่งที่ตัวละครเผชิญ แก้ไขปัญหา กระทำและสาเหตุที่ทำเช่นนั้น

สำหรับ Cloud Atlas เป็นหนังที่นำคนดูไปนั่งเก้าอี้ ‘ผู้สังเกตการณ์ (Observer)’ ที่คอยเฝ้ามองดูเรื่องราวในฐานะ ‘พยาน (Witness)’ และนำเสนอหลายเรื่องราวโดยการตัดสลับพาเราไปตรงนั้นตรงนี้แล้วสร้างอารมณ์ร่วมให้กับเราได้ตลอด สะท้อนถึงเมสเสจสำคัญที่ว่า ในทุกๆ เรื่องราว ไม่มีใครเป็นตัวประกอบ ต่างคนต่างก็เป็นตัวเอกของเรื่องราวตัวเองหรือเรื่องราวที่ถูกนำมาเล่าขานทั้งสิ้น

หนังเรื่องนี้ประกอบไปด้วย 6 เรื่อง 6 ช่วงเวลา 6 ไทม์ไลน์ 6 genre เล่าเรื่องราวที่แตกต่างในคนละช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันแต่กลับมีจุดร่วมกันและส่งผลต่อกันและกันอย่างอัศจรรย์ เป็นการหยิบไอเดียของการมีหลายชีวิต (live many lives) มาเล่าโดยถักทอทุกเรื่องราวเข้าด้วยกันในหนังหนึ่งเรื่อง ที่ผ่านการคิดเรียงร้อยมาอย่างดีแล้ว และเก็บตะเข็บให้ราบรื่นด้วยการตัดต่อกับดนตรีประกอบที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องทางอารมณ์ 

ต้องขอชมวิธีที่ผู้กำกับทั้งสามเลือก เพราะเดิมทีนิยายต้นฉบับจะเล่า 6 ไทม์ไลน์แบบเรียงลำดับ แต่ผู้กำกับกลับเลือกนำมันมาตีความให้เหมาะกับฉบับภาพยนตร์ด้วยการเล่าตัดสลับ 6 เรื่องแบบโดดไปโดดมา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘ความ Cloud Atlas‘ ที่ไม่มีเรื่องไหนเหมือน แม้วิธีการนำเสนอนี้จะทำให้หนังซับซ้อนไปบ้าง แต่ก็ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของหนัง และตรงจุดกับคอนเซปต์ ‘หลายชีวิตในหลายเรื่องราว’ 

แต่คำว่า ‘ซับซ้อน’ ในที่นี้จะคลับคล้ายคลับคลากับความซับซ้อนของซีรีส์เรื่อง ‘Dark’ ของ Netflix ที่ไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้นในแง่เนื้อหา เพียงแต่ล้ำในคอนเซปต์และนำเสนอด้วยการเล่าตัดไปตัดมา มีตัวละครตัวเดียวในหลายไทม์ไลน์ หลายนักแสดง หลายช่วงวัย (จนมารวมๆ กันแล้วจะได้ตัวละครราวๆ 50 กว่าเวอร์ชั่นเห็นจะได้) ซะมากกว่า ภายใน 3 ซีซั่น 26 อีพี ในขณะที่ Cloud Atlas เป็นหนังที่มีความยาว 3 ชั่วโมงกับตัวละคร 61 ตัว ซึ่งถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว

อีกทั้งการเล่าเรื่องแบบตัดสลับของหนัง Cloud Atlas ชวนให้คิดไม่น้อยว่าจริงๆ แล้วอดีต ปัจจุบัน อนาคต หรืออดีตกว่า ปัจจุบันกว่า และเท่าที่สามารถถ่างออกไปไกลกว่านั้นได้ อะไรเกิดก่อนเกิดหลัง หรือแท้จริงแล้ว มันกำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเหมือนหนังเรื่องนี้เพียงแต่เราไม่สามารถรับรู้ถึงมันได้และแต่ละไทม์ไลน์ต่างก็แยกกันอย่างสิ้นเชิง หลงเหลือเพียงผลลัพธ์ที่ถูกส่งต่อเท่านั้น?

Halle Berry หนึ่งในนักแสดงหลักเคยพูดไว้ในคลิปสัมภาษณ์เบื้องหลังว่า “นี่เป็นโอกาสเดียวที่ฉันจะได้ทำอะไรสนุกๆ แบบนี้ คงไม่มีหนังเรื่องไหนเหมือนเรื่องนี้อีกแล้ว” แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ถึงตอนนี้ยังไม่มีเรื่องไหนคล้าย

โดยความสนุกที่ Halle บอก คือการที่นักแสดงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงหลัก ไม่ว่าจะเป็น Tom Hanks, Halle Berry, Hugo Weaving  (Smith ใน The Matrix), Jim Sturgess, Bae Doona, Ben Whishaw, Hugh Grant, Jim Broadbent และคนอื่นๆ จะมารับบทเป็นตัวเองในอีกชาติภพ ที่หน้าตาอาจมีเค้าเดิมบ้าง แต่สำเนียง องค์ประกอบย่อย และตัวตน เอกลักษณ์ จนถึงเพศแตกต่าง 

เท่ากับว่าในหนังเรื่องเดียว นักแสดงส่วนใหญ่ต้องรับบทมากกว่า 1 บทขึ้นไป มันเป็นทั้งความท้าทายกับนักแสดง ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่แต่ละคนจะได้เฉิดฉายในบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในหนังเรื่องเดียวซึ่งไม่ใช่โอกาสที่มีบ่อยเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะบทบาทที่เยอะต่อหนึ่งคนขนาดนี้

ชีวิตของฉันชีวิตของเธอชีวิตของเราและชีวิตคนอื่น 

“ชีวิตของเรา ไม่ใช่ของเราแต่เพียงผู้เดียว จากมดลูกสู่สุสาน (womb to tomb) เราผูกพันกับผู้อื่น เรื่องราวในอดีตและปัจจุบัน ทุกการกระทำดีที่ก่อ ทุกความผิดที่สร้าง ส่งผลเกิดเป็นอนาคตของเรา” หรือก็คือผลที่ตามมาของแต่ละชีวิต กระทบถึงกันชั่วกัลปาวสาน นี่เป็นประโยคที่ตัวละคร Sonmi-451 พูดไว้ในช่วงท้ายของหนังอย่างอิมแพคและทรงพลัง กับอีกประโยคคือ “ความตายก็แค่ประตูหนึ่งบานที่ปิดลง เมื่อมันปิด อีกบานจะเปิดขึ้น”

ทั้งสองประโยคบ่งบอกถึงไอเดียหลักเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจน การเล่าเรื่องราวของแนวคิด ‘การเกิดใหม่’ และ ‘กรรม’ ในแง่ของการกระทำที่ส่งผล ในเวอร์ชั่นหรือมุมมองของปุถุชนผู้เป็นฆราวาส (Secular) 

 เมื่อเป็นเช่นนั้น หนังจึงไม่มี subplot แต่ทุกพล็อตเป็น main plot และไม่มีช่องว่างให้คนดูรู้สึกว่าตรงนี้ช้า ตรงนี้เปื่อย ตรงนี้หน่วง แต่อย่างใด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ถูกเล่าด้วยการต่ออารมณ์ไปสู่อารมณ์กับเนื้อหาของฉากที่ใกล้เคียงกัน  เหมือนที่ในเวลานี้ที่ใครก็ตามกำลังอ่านบทความอยู่ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กันจนยากจะนับ และเราได้อภิสิทธิ์นั้นที่จะได้เฝ้ามองและรับรู้มันพร้อมๆ กันถึง 6 เรื่อง รวมถึงเห็นความสำคัญของชีวิต กับอิทธิพลของชีวิตนึงต่ออีกชีวิตนึง หรืออีกหลายชีวิตอย่างไม่คาดคิด

ไม่ว่าจะเป็นเจตนารมณ์ ผลงาน ไดอารี่ คำกล่าว หนัง วิดีโอฟุตเทจ หนังสือ บทสนทนา ข่าว หรือการกระทำใดๆ ทำหน้าที่เป็นหนังที่สอนให้เราตระหนักถึง cause-effect หรือการกระทำและผลของการกระทำได้อย่างเห็นผล ผ่านการเผชิญหน้าต่อสิ่งต่างๆ และพัฒนาการการเติบโต เอาชนะอุปสรรคของตัวละครหลักในแต่ละไทม์ไลน์

ไทม์ไลน์ที่ปี 1849 เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางทางทะเลแถบแปซิฟิกในแนวดราม่าประวัติศาสตร์

ตัวเอกคือ Adam Ewing ทนายความและนักเดินเรือผู้พบสหายใหม่อย่าง Henry Goose และได้ช่วยชีวิตทาสที่ชื่อ Autua ไว้ก่อนเดินเรือ ระหว่างทริป Adam ล้มป่วยลงโดยมี Henry คอยดูแลรักษาและวินิจฉัยโรคว่าเขากำลังมีหนอนกัดกินสมอง ทั้งที่อันที่จริง Henry พยายามวางยาพิษ Adam เพื่อช่วงชิงทรัพย์สมบัติ แต่ได้ Autua ช่วยไว้และพากลับมาเจอภรรยาที่บ้านที่ชื่อ Tilda ได้สำเร็จ 

ไดอารี่ของ Adam Ewing ถูกอ่านในไทม์ไลน์ที่ 2 โดย Robert Frobisher

ไทม์ไลน์ที่ 2 ปี 1936 ความรักและความฝันของเกย์หนุ่มผู้ทะเยอทะยานในแนวรักทางไกลที่ประเทศสกอตแลนด์

Robert Frobisher ตัวเอกเกย์ผู้ละทิ้งคู่รักของเขาอย่าง Dr.Sixsmith ไปตามล่าหาความฝันด้วยการไปเป็นผู้ช่วย Vyvyan Ayrs นักดนตรีที่อดีตเคยดังเสมือนเป็นไฟให้กับตะเกียงที่กำลังจะดับมอด เขาช่วย Vyvyan คิดบทเพลงที่ชื่อ ‘The Cloud Atlas Sextet’ ขึ้นมา และทราบภายหลังว่าเขาถูกสืบประวัติมาก่อน เพื่อที่ Vyvyan จะได้หลอกใช้และเทกเครดิตไปแต่เพียงผู้เดียวเนื่องจากสังคมสมัยนั้นไม่ยอมรับเกย์ เรื่องราวจบลงด้วยการที่ Robert ยิงนักดนตรีนิสัยไม่ดีตายคาที่ และหลบหนีไป ก่อนที่จะไปฆ่าตัวตายในภายหลังเพื่อเป็นทางออกสำหรับสิ่งที่เขาได้ทำไว้

จดหมายของ Frobisher ตกไปยัง Sixsmith และ Luisa Rey ในไทม์ไลน์ที่ 3 ได้อ่านมันหลังจากได้พบกับอดีตคนรักของ Robert

ไทม์ไลน์ที่ 3 ปี 1973 เป็นแนว political-thriller เกิดขึ้นที่ซานฟรานซิสโกเรื่องราวการเปิดโปงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

Luisa Rey นักข่าวกัดไม่ปล่อยเป็นตัวเอก เธอสืบค้นเรื่องไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับบริษัทน้ำมันและโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ส่งผลต่อเรื่องผลประโยชน์และชีวิตคน การตามหาความจริงทำให้เธอเสี่ยงอันตราย คนที่มีเอี่ยวเสียชีวิต ถูกตามไล่ล่า ลอบฆ่า และด้วยความช่วยเหลือของพนักงานภายในบริษัท เธอทำสำเร็จ แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นทำเอาลุ้นแทบแย่

รายงานข่าวของ Luisa Rey กลายเป็นนิยายสืบสวน-ลุ้นระทึกของ Cavendish ในไทม์ไลน์ที่ 4 

ไทม์ไลน์ที่ 4 ปี 2012 แนวดราม่าคอมเมดี้เกิดที่ประเทศอังกฤษเรื่องราวของชายชรากับภารกิจหลบหนีจากบ้านพัก

เรื่องราวของ Timothy Cavendish ชายผู้ถูกนักเลงทวงหนี้ และเพราะความแค้นที่เขาเคยไปมีซัมธิงกับภรรยาพี่ชาย เขาถูกหลอกส่งตัวไปขังลืมที่สถานดูแลคนชราโดยมีพยาบาล Naokes สุดใจร้ายและชอบใช้กำลังคอยบูลลี่เขาอยู่ตลอด เนื้อเรื่องฝั่งนี้ที่เป็นการต่อต้านท้าทายผู้ดูแล ให้ความคล้ายคลึงกับหนังชื่อดังอย่าง One Flew Over the Cuckoo’s Nest รวมถึงพยาบาล Naokes  มีความคล้ายกับพยาบาล Ratched ด้วยเช่นกัน

ตัวละคร Sonmi-451 ในไทม์ไลน์ที่ 5 ได้ดูเรื่องราวของ Cavendish ในรูปแบบหนัง โดยมี Tom Hanks แสดงเป็นเขาในฉากที่โวยใส่พยาบาลในแผนกต้อนรับ

ไทม์ไลน์ที่ 5 กรุง Neo Seoul ประเทศเกาหลีปี 2144 เป็นเนื้อเรื่องโลกอนาคตดิสโทเปียของหุ่นยนต์สังเคราะห์ Sonmi-451 และการปฏิวัติ

หลังจากการตื่นรู้ของหุ่นสังเคราะห์อย่าง Yoona-939 เพื่อนที่ฆ่าผู้ดูแลร้านคาเฟ่ที่ทำงานอยู่ขณะถูกข่มขืนและจบลงด้วยการปลดระวาง จากนั้น Sonmi-451 ก็ได้เกิดการตระหนักรู้ในตัวตนตาม เธอถูกช่วยเหลือโดย Hae Joo หนึ่งในกองกำลังปฏิวัติสหภาพในการหลบหนี ทั้งหมดก็เพื่อให้ Sonmi-451 จุดประกายและปลุกขวัญกำลังใจในการสู้กับรัฐผู้กดขี่ แม้ท้ายที่สุดเธอจะถูกปลดระวาง และดูเหมือนพ่ายแพ้ แต่ข้อความของเธอได้กระจายออกไปแล้ว

Sonmi ได้กลายเป็นไอคอนของนักปฏิวัติในฐานะผู้ตื่นรู้และต่อต้านระบบ และเป็นเทพที่คนในอนาคตนับถือในไทม์ไลน์ที่ 6 มีรูปปั้นเคารพบูชา และมีคลิปวิดีโอของ Sonmi เปิดให้เห็น

ไทม์ไลน์ที่ 6 ปี 106 หลังจากการล่มสลายของมนุษยชาติ (post-apocalyptic) ที่บิ๊กไอล์

เป็นอนาคตที่ไกลโพ้นที่สุดในทุกไทม์ไลน์ ไทม์ไลน์ที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เพราะหลังจากเล่าถึงความดิบและป่าเถื่อนของมนุษย์ด้วยกัน กับความดูงมงงาย ไร้อารยะ ดูเป็นชนเผ่า จนทำให้คิดในใจว่ายุคโบราณและเกิดก่อนใครแน่ๆ แต่ก็ได้เผยว่ามียานความเร็วสูง มีการนับถือ Sonmi-451 เป็นเทพ และแท้จริงแล้วไทม์ไลน์นี้เกิดทีหลังสุดซะอย่างนั้น 

มี Zachary เป็นตัวเอก ชายผู้ศรัทธาอย่างงมงาย ปิดกั้นและไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ได้รับคำทำนายจากแม่หมอแห่งหมู่บ้านหุบเขาที่ตนอาศัยอยู่ และได้พาหญิงต่างแดนนาม Meronym ไปค้นหาความจริงที่ Mauna Sol วิหารศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะค้นพบว่าจริงๆ แล้ว Sonmi-451 ที่พวกเขานับถือเป็นนักปฏิวัติ แถมยังเป็นหุ่นสังเคราะห์อีกด้วย ท้ายที่สุดเขาเปิดใจยอมรับและไม่ใช้ชีวิตอยู่ในความเชื่อ

Zachary เล่าเรื่องตัวเองให้หลานๆ ฟังในตอนท้ายบนดาวดวงอื่น และเรื่องราวนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้คนอีกมากมายในอีกหลายช่วงเวลาหลังจากนั้น

การต่อสู้ของดวงวิญญาณการตายและการถือกำเนิดใหม่

ใจความเกี่ยวกับการต่อสู้ของหนัง Cloud Atlas สรุปได้จากบทพูดของสองตัวละคร

ประโยคพูดของตัวละคร Henry Goose ของ Tom Hanks ที่ว่า “มันมีกฎข้อเดียวที่ผูกมัดทุกคนเข้าด้วยกัน หลักการเดียวที่อธิบายความสัมพันธ์บนโลกใบนี้ ผู้อ่อนแอคือเหยื่อ ผู้เข้มแข็งได้กินอิ่ม” ตัวละครพ่อตาของ Adam Ewing ที่รับบทโดย Hugo Weaving ก็ได้พูดในเชิงนี้เช่นกันว่า “โลกนี้มีลำดับตามธรรมชาติ และคนที่คิดฝ่าฝืนมันมักจะไม่พบจุดจบที่ดี นายและคนรอบข้างจะต้องวิบัติหากจะเข้าร่วม อย่างดีก็จะเป็นทหารชั้นเลวที่โดนถ่มถุยทุบตี อย่างร้ายจะถูกแขวนคอและตรึงกางเขน สิ่งที่นายทำมันไม่ได้มีค่าอะไรไปกว่าน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทร”

ถอดโครงสร้างโดยอิงตามนี้ก็จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่มีแก่นคือ ‘การต่อสู้’ ของ soul ผ่านร่างอวตารต่างๆ ในตัวตนที่ต่างกัน กับอำนาจและอุดมการณ์ที่อยู่เหนือความสามารถที่เอาชนะ แต่ไม่มีใครยอมแพ้ เป็นการปะทะระหว่างผู้ต่อต้านกับผู้มีอำนาจ การถูกกดขี่และการกดขี่ ความเป็นผู้ล่าและผู้ถูกล่า (เหยื่อ) อำนาจกับผู้อยู่ใต้มัน ความโลภ การทรยศ ความดีงาม ความกล้าหาญ ความขลาดกลัว ในเรื่องราวที่มีกลิ่นอายและมีรสชาติหลากรสหลากสไตล์

ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว ธีมของ ‘การต่อสู้กับค่านิยมในต่างยุคต่างสมัย’ คือธีมหลักธีมเดียวของทั้ง 6 เรื่องราว

Adam Ewing ต่อสู้ในยุคของการค้าทาสหรือค่านิยมการกำหนดให้สีผิวที่แตกต่างดูต้อยต่ำทั้งที่จริงๆ เราทุกคนเมื่อย้อนกลับไป 200,000 ปีที่แล้วต่างก็มีบรรพบุรุษเป็นคนดำและมาจากทวีปแอฟริกา ตัวของ Adam ผู้มีชื่อสียง ยศศักดิ์ ต้องออกหน้าเพื่อช่วยคน (ที่แม้ในความเป็นจริงจะเท่ากัน) ที่สถานะต่ำกว่าในขณะนั้น และตัดสินใจกับภรรยาว่าจะไปเข้าร่วมต่อสู้เพื่อทาสผิวดำ ปลดปล่อยพวกเขาเป็นอิสระ ให้กลับมาเป็นมนุษย์ที่เท่ากันอีกครั้ง นี่คือเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างทนายความกับทาสหลบหนีที่ในท้ายที่สุด ผลของการทำดีต่อผู้อื่นก็ได้ส่งผลตอบแทนเป็นชีวิตเขาและการได้เดินทางถึงบ้านเกิด ส่วน Autua เองก็ต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเขาคู่ควรและเป็นคนเท่ากันเช่นกัน

Robert Frobisher ต่อสู้กับค่านิยมที่กดทับตัวตนที่แท้จริง บังคับให้เขาต้องเป็นคนที่ไม่ได้เป็น หลบๆ ซ่อนๆ และพอมีโอกาสในการ express ความคิด โชว์ความสามารถ เขากลับถูกบล็อกด้วยความไม่เท่าเทียมที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง และมีคนที่ทำตัวสูงส่งกว่าใช้ประโยชน์จะขโมยเครดิตผลงานจากความไม่เท่าเทียมนี้ เป็นการต่อสู้ที่ดูแล้วช่างไม่แฟร์กับหนุ่มอนาคตไกลเลยสักนิด นี่คือสตอรี่ของความไม่สมหวัง แต่ก็ไม่แย่ซะทีเดียว

Luisa Rey ที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมแห่งการกอบโกยผลประโยชน์ หรือระบบ อำนาจนิยมและทุนนิยม เห็นแก่สิ่งที่จะได้รับมากกว่าการนำมาสู่ความยั่งยืนอย่างที่ปากว่า และผลกระทบที่จะตามมากับคนอื่นๆ 

Timothy Cavendish ต่อสู้กับค่านิยมที่คนชรามักต้องอยู่บ้านพักคนชรา และความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ว่ายิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งดูสายเกินแก้และปิดโอกาสที่จะสุขสมหวังมากขึ้นเท่านั้น ด้วยการแหกคุกแห่งบ้านพักคนชราเป็น จนมาลงเอยกับรักแรกที่เขาได้แต่เฝ้ามองแต่ไม่เคยได้มีโอกาสทำอะไรกับรักครั้งนี้ได้ในที่สุด เขาเอาชนะความเสียดายได้ และทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ

Sonmi-451 ต่อสู้เอาชนะค่านิยมแห่งการกดขี่แบ่งแยกและกำแพงระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้น มี Sonmi มากมาย แต่ 451 ได้ยกระดับพัฒนาจิตใจ (transcend) จากการเป็นเพียงหุ่นบริการที่มีเป้าหมายเพียงเอนเตอร์เทนและเสิร์ฟอาหารกับเครื่องดื่มให้กับลูกค้า จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใต้สำนึก (consciousness) เป็นของตัวเอง ตระหนักถึงตัวตน และมีความทรงจำกับอารมณ์ไม่ต่างจากมนุษย์ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Soul’ ท้ายที่สุดเธอไม่ใช่ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตเทียม แต่เกิดขึ้นกึ่งกลางระหว่างทั้งสอง ทั้งเธอยังมีความรักได้ และยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ให้กับมนุษย์อีกด้วย

และ Zachary ที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมของความเชื่องมงายและคำทำนาย ในทีแรก Zachary นับถือมนุษย์สังเคราะห์ถึงขั้นกราบไหว้บูชา และการทำตามคำทำนายของแม่หมอประจำหมู่บ้านอย่างรัดกุมเพื่อที่จะอยู่ใน comfort zone และทุกอย่างเป็นไปตามนั้น เขาถึงขั้นถูกผี Old Georgie (ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อเก่าที่มาหลอนเพื่อฉุดรั้งไม่ให้คนเดินไปข้างหน้าหรือตั้งคำถาม) เป่าหูไม่ให้ไปค้นพบความจริง และเกือบจะสังหารหญิงที่อนาคตจะเป็นภรรยาให้กำเนิดลูกหลานกับเขาก็เพราะผีตนนี้ แต่ท้ายที่สุดเขาเอาชนะมันได้ และทำสิ่งที่ต้องทำโดยไม่ฟังคำทำนาย Zachary จึงได้ลงเอยอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง

ในบทสนทนาเรื่องการเข้าร่วมต่อสู้ระหว่าง Adam และ Tilda กับพ่อตาที่เล่าขนานกับการปฏิวัติที่ล้มเหลวแต่จุดประกายของ Sonmi-451 และ Hae Joo ที่เป็นอีกชาติภพของทั้งสอง เป็นอีกใจความของเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากเรื่องการสู้ และการตอกกลับของ Adam เป็นการตอกกลับอย่างทรงพลังด้วยการพูดว่า “แล้วมหาสมุทรคืออะไร หากไม่ใช่หยดน้ำมารวมกัน” 

ทุกๆ ความพยายามมีผล ทุกๆ การกระทำไม่เคยไร้ค่า หากทำแล้วผิดพลาด นั่นก็เป็นเพียงการเรียนรู้วิธีที่จะไม่ได้นำไปสู่การสัมฤทธิ์ผลและเก็บข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อที่จะเติบโต รอบคอบรัดกุม และพาเราไปใกล้กับความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการตายเพื่ออุดมการณ์ เป็นเหยื่อของระบบที่กดขี่ แต่ไม่ได้สู้เพื่อมันหรือยังไม่ได้มีโอกาสทำอะไรที่สามารถทำได้

และเรื่องราวทั้ง 6 นี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงน้ำ 6 หยดในมหาสมุทรแห่งเรื่องราวอันกว้างใหญ่ที่รอวันไปสำรวจเท่านั้น 

ทุกเรื่องราวมีคุณค่า

Cloud Atlas คือหนังที่แสดงให้เราเห็นถึงความสำคัญของเรื่องเล่า ผู้คนคอนเนกต์กันด้วยเรื่องเล่า ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ผู้เขียนและผู้อ่าน ผู้วาดและนักทำหนังกับผู้ชมผู้มอง หรือนักทำข่าวกับผู้เสพข่าว และทั้งผู้คนที่อยู่ในเรื่องราวเอง และเรื่องเล่ามักเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับผู้คนที่มักจะถูกส่งต่ออย่างไม่จบสิ้นเสมอ พอๆ กับความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีชีวิตไหนอยู่อย่างโดดๆ การกระทำนึงมักนำไปสู่การกระทำนึง ผลลัพธ์นึงนำไปสู่ผลลัพธ์นึงเสมอ ซึ่งกลับมาสู่เรื่องของ ‘กรรม’ นั่นเอง

“ดิ แอตลาส เป็นสิ่งมีค่าเดียวในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสสร้างสรรค์ ผมรู้ผมคงเขียนมันไม่ได้ถ้าผมไม่ได้รู้จักคุณ เราพบกันครั้งแล้วครั้งเล่าในต่างชาติภพ ต่างวัย เพลงนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพลงของผมหรือของคุณ แต่เป็นบทเพลงของเรา” บทสนทนาระหว่าง Robert Frobisher กับ Vyvyan ในไทม์ไลน์ที่ 2 สื่อถึงธีมของเรื่องราวทั้ง 6 ได้อย่างชัดเจน ระหว่างกระบวนการสรรค์สร้างเพลง Cloud Atlas ที่เป็นชื่อเรื่องของหนังเรื่องนี้ 

เพราะทั้งหมดคือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นสิงสาราสัตว์หรือผู้คน และเราอยู่ในเซิร์ฟเวอร์เดียวกันภายใต้สังคม วิถี และวัฒนธรรมของดาวที่มีชื่อว่า ‘โลก’ (อย่างน้อยๆ ก็ในตอนนี้จนกว่าจะไปตั้งอาณานิคมบนดาวดวงอื่นได้สำเร็จ) โลกเป็นของเราทุกคนและเราเกิดมาจากมัน เราจึงต้องตระหนักตรงนี้ให้มาก และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ไม่ควรทำตัวเหนือใครในเชิงจิตวิญญาณและการกระทำ

 แม้ 6 เรื่องราวจะไม่ใช่เรื่องราวที่จบดีทุกเรื่อง แต่มันคือเรื่องราวที่ดีที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองกับการเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวอื่น เรื่องราวที่ดีคือเรื่องราวที่สมจริงนั่นคือสิ่งที่สร้างคุณค่า (value) ให้กับหนังอย่างมหาศาล เพราะเรื่องราวที่ดูจริงไม่ว่าจะภายใต้ genre ไหน ผนวกเข้ากับข้อความที่แข็งแรง จะสามารถสะท้อนบทเรียนอะไรบางอย่างกลับมาแก่ผู้อ่านผู้ฟังผู้ชม โดยที่ไม่จำเป็นต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้ ท้ายที่สุดตัวละครแต่ละตัว หลังจบเรื่องต่างก็เติบโตไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งและค้นพบเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

มีทั้งเรื่องราวที่ขมขื่น เศร้าโศก เกี่ยวข้องกับความตายและการไม่สมหวังของ Robert Frobisher, เรื่องราวที่น่าปีติยินดีของ Timothy Cavendish ที่กลับมาลงเอยกับรักแรกอีกครั้ง, เรื่องราวที่น่าเฉลิมฉลองของ Luisa Rey หลังจากผ่านอะไรมาตั้งมากมายก่อนจะเปิดโปงได้สำเร็จ, เรื่องราวที่สวยงามของผู้หลุดพ้นและผู้ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดอย่าง Zachary, เรื่องราวที่น่าเอาใจช่วยที่แม้จะไม่ได้เห็นต่อแต่สามารถจินตนาการได้ของคู่ Adan Ewing และ Tilda และเรื่องราวที่ลึกซึ้งกินใจของ Sonmi-451 กับการตื่นรู้ของหุ่นสังเคราะห์ที่ลุกมาต่อสู้ในฐานะสัญลักษณ์เพื่อเผ่าตัวเองและมนุษย์

  ภายใต้ความไซไฟแฟนตาซีของ Cloud Atlas ไส้ในจึงเป็นการนำเสนอเรื่องจริงที่ว่าไม่มีชีวิตใดสมหวังไปซะทุกอย่าง ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรที่จะหมดหวัง จึงควรเชื่อในหลักแห่งการกระทำและยึดมันไว้ให้แน่น คิดหน้าคิดหลังก่อนพูดก่อนทำ เมื่อนั้นเราจะควบคุมชะตาได้ อย่างน้อยๆ ก็เท่าที่ได้ภายใต้กฎเกณฑ์อันน่ากลัวบางอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและทำให้อีกคนอยู่เหนืออีกคน มนุษย์บางกลุ่มอยู่เหนืออีกกลุ่ม 

และแม้คนเราจะมีชีวิตเดียว แต่การได้เป็นพยานของเรื่องราวหลายภพชาติและการรับรู้ว่ามีเรื่องของภพชาติและการกลับชาติมาเกิดอยู่ในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้โล่งไม่น้อยว่าคนดีบางคนได้สุขสมหวัง คนชั่วบางคนได้รับผลกรรม คนที่ไม่ได้มีโอกาสหรือความสุขได้มีโอกาสใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ซึ่งนั่นก็ทำให้เห็นเช่นกันว่าในบางครั้งมันมีลูปของมันอยู่ ลูปที่ว่าใครเป็นคนยังไงในอีกชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างกับภพชาติอื่นๆ เท่าไหร่นัก ยิ่งหนังพูดถึงเรื่องผลของการกระทำด้วยแล้ว มีแต่จะเป็นวงจรที่ยากจะหลุดพ้น คนเป็นยังไงก็มักจะเป็นอย่างนั้น (นำไปสู่คำถามน่าสนใจที่ว่าเรามีเจตจำนงเสรีหรือไม่?)

นี่คือบทเพลงเกี่ยวกับโอกาสแก้ตัวและการถูกลงทัณฑ์ที่เป็นผลจากปฏิกิริยาห่วงโซ่ (chain reaction) ของการกระทำจากมนุษย์ และการเกิดขึ้นแบบสุ่มของชีวิตในจักรวาล

การดูหนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนการพลิกหน้ากระดาษในหนังสือที่เรียงตามช่วงเวลาปกติ (linear) กลับไปกลับมา ในจังหวะและช่วงตอนที่ทำให้อารมณ์ไหลลื่นไปด้วยกันได้ โดยที่การที่รู้ชะตากรรมของตัวละครบางตัวในอีกไทม์ไลน์ไม่ได้เป็นการสปอยล์แต่อย่างใด แต่การรู้ปลายทางของตัวละครนั้นยังทำให้อินกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวละครนั้นมากขึ้นด้วย

แม้ว่าจะตัดวิธีการเล่าเรื่องตรงนี้ออกไปแล้วนำมาเรียงใหม่เป็นเรื่องนึงจบอีกเรื่องต่อก็ตาม สิ่งที่ทำให้ Cloud Atlas ยังคงน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเดิมคือ ‘เนื้อหาของเรื่องราว’ เพราะนี่คือเรื่องราวแห่งการต่อสู้ เรื่องราวที่เรียกได้ว่าครบรสเหมือนซื้อหนังสือเรื่องสั้น 6 in 1 ในจักรวาลเดียวกัน คุมโทนในธีมหรือเมสเสจเดียวกัน และเรื่องราวการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชนะด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ ‘ยิ่งใหญ่’ และ ‘ควรค่าแก่การเล่าขาน’ เสมอ 

เรื่องราวทั้ง 6 มีคุณค่ากับความสำคัญในการนำมาถ่ายทอดและเผยแพร่ และหนังหนึ่งเรื่องชื่อ Cloud Atlas ที่บรรจุเรื่องราวเหล่านี้เองก็ควรค่าแก่การหยิบมาดูแล้วดูอีกเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าหยิบมาดูกี่ครั้ง ก็ไม่เคยประทับใจน้อยลง

AUTHOR