รู้จักดรีสให้ดีขึ้น ก่อนไปชม Dries สารคดีล้วงชีวิตและโต๊ะออกแบบของแฟชั่นดีไซเนอร์อิสระที่ทุกคนรัก

รู้จักดรีสให้ดีขึ้น ก่อนไปชม Dries สารคดีล้วงชีวิตและโต๊ะออกแบบของแฟชั่นดีไซเนอร์อิสระที่ทุกคนรัก

“แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้เก็บตัวที่สุด ถ่อมตัวที่สุด ไม่รู้จักคำว่าการตลาด ไม่สนใจคำว่าเซเลบริตี้ ไม่คุ้นเคยคำว่าการโปรโมทตัวเอง และไม่ใส่ใจคำว่าเทรนด์” อาจฟังดูเป็นนิยามแปลกประหลาดเกินกว่าจะเชื่อได้ว่าเป็นจริงสำหรับแฟชั่นดีไซเนอร์คนใด แต่นี่แหละคือนิยามของ ดรีส แวน โนเทน (Dries Van Noten) ผู้ได้รับการยอมรับจากคนรักแฟชั่นทั่วโลกในฐานะ ‘ดีไซเนอร์อิสระที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งยุค’

เพราะนิยามนี้ Dries จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ดีไซเนอร์เจ้าของผลงานแสนละเมียดละไมผู้นี้ยินยอมให้มีคนทำหนังถือกล้องเดินตามเข้าไปสำรวจเรื่องราวของเขา ตั้งแต่กระบวนการทำงานในห้องออกแบบ ไปจนถึงชีวิตส่วนตัวในบ้านแบบที่ไม่เคยมีใครได้รับอนุญาตมาก่อน ผู้กำกับ ไรเนอร์ โฮลซ์เมอร์ ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มกับการติดตาม ดรีส แวน โนเทน ตั้งแต่วันเริ่มต้นคิดผลงาน 4 คอลเลกชั่นใหม่ ขั้นตอนการเฟ้นหาผ้า การปัก และการพิมพ์ลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จนถึงวันที่งานเหล่านั้นปรากฏต่อสายตาชาวโลกผ่านแคตวอล์กใน Paris Fashion Week โดยระหว่างทางเราจะได้รับรู้ทั้งชีวิต ความคิด และจิตใจอันเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ชั้นมาสเตอร์ผู้นี้ที่ยังรักษาสถานะ ‘นักออกแบบอิสระ’ มาได้ตลอดการทำงานยาวนานถึง 25 ปี ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลของโลกแฟชั่น

“ผมไม่ชอบคำว่าแฟชั่น เพราะแฟชั่นคืออะไรที่พร้อมจะตายไปในเวลา 6 เดือน” ดรีส แวน โนเทนกล่าวไว้ “ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ ต้องการคำอะไรสักคำที่ไร้กาลเวลากว่านั้น”

Dries จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เครือ SF Cinema 23 พฤศจิกายนนี้ ก่อนไปรับชมกัน มารู้จักดรีสให้ดีและอ่านเรื่องราวความเป็นมาสุดสนุกของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้กันก่อนนะ

รู้จักดรีส แวน โนเทน

  • ดรีสเกิดในแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม เมื่อปี 1958 เขาเป็นผู้สืบเชื้อสายรุ่นที่ 3 ของตระกูลช่างตัดเสื้อ เริ่มจากปู่ของดรีสสร้างชื่อเสียงในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 จากการนำเสื้อผ้ามือสองมาปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้ กลายเป็นการเริ่มกระแสความนิยมเสื้อผ้าสำเร็จรูปในแอนต์เวิร์ป ต่อมาในปี 1970 พ่อของดรีสเปิดแฟชั่นบูติกขนาดใหญ่ขึ้นในชานเมืองแอนต์เวิร์ป ตามด้วยสาขาที่ 2 ในตัวเมือง จำหน่ายคอลเลกชั่นของ Ungaro, Ferragamo, Zegna และในเวลาเดียวกัน แม่ของเขาก็เปิดร้านแฟรนไชส์ของ Cassandre พร้อมเก็บสะสมผ้าลูกไม้และผ้าลินินไปด้วย
  • การเกิดในครอบครัวที่แทบจะมีอาชีพตายตัวรอคอยอยู่อาจถูกคนรุ่นใหม่มองเป็นได้ทั้งภาระและโอกาส โชคดีของดรีสที่เป็นอย่างหลัง เขารับโอกาสทางครอบครัวไว้และดื่มด่ำกับมันตั้งแต่ยังเยาว์ ในวัยเด็กเขากับพ่อได้เข้าชมโชว์และคอลเลกชั่นมากมายทั้งในมิลาน ดุสเซลดอร์ฟ ปารีส ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งการค้าขายและด้านเทคนิคของอาชีพนี้ ต่อมา ดรีสตัดสินใจได้ว่าเขาสนใจงานแฟชั่นดีไซน์มากกว่าการขายเสื้อผ้า ในปี 1976 ขณะอายุ 18 ปี เขาจึงเข้าเรียนสาขาแฟชั่นดีไซน์ที่ Royal Academy of Fine Arts ในแอนต์เวิร์ป พร้อมกับเริ่มรับงานฟรีแลนซ์ออกแบบให้กับผู้ผลิตเสื้อผ้าในเบลเยียมไปด้วย ประสบการณ์จากการทำงานจริงนี้กลายเป็นสิ่งมีค่ามหาศาลเมื่อเขาเริ่มผลิตและขายผลงานของตัวเองในเวลาต่อมา
  • หลังเรียนจบ ดรีสยังคงทำงานฟรีแลนซ์ต่อ ก่อนจะเริ่มผลิตคอลเลกชั่นเบลเซอร์ เชิ้ต และกางเกงเป็นของตนเองและประสบความสำเร็จทันทีที่เปิดตัวในปี 1986 ด้วยการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าหรูหราอย่าง Barneys New York, Pauw ในอัมสเตอร์ดัม และ Whistles ในลอนดอน เดือนกันยายนปีนั้น ดรีสเปิดร้านเล็กๆ ในชื่อตัวเองที่แอนต์เวิร์ปและขายเสื้อผ้าทั้งของชายและหญิง

  • ปี 1989 เขาโยกย้ายจากร้านเล็กๆ ไปสู่อาคาร 5 ชั้นซึ่งเคยเป็นห้างสรรพสินค้ามาก่อน ในย่าน Nationalestraat ที่กำลังตกอยู่ในสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ดรีสเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงสถานที่โดยคงส่วนประกอบเก่าแก่ทั้งหลายเอาไว้ และในที่สุดเขาก็ช่วยให้พื้นที่แห่งนี้กลายมาเป็นย่านบูติกหรูหราในปัจจุบัน กิจการของดรีสเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เขาเปิดโชว์รูมใหม่ในปารีสและสำนักงานในอาร์ตแกลเลอรีเก่าที่เลอ มาเรส์ ตามด้วยโชว์รูมที่สองในมิลานและบูติกในปารีส, โตเกียว, สิงคโปร์, ดูไบ, ฮ่องกง รวมถึงเป็นพาร์ตเนอร์กับบูติกอีกกว่า 400 แห่งทั่วโลกในนิวยอร์ก, ลอนดอน, มิลาน, เบอร์ลิน, คูเวต, กาตาร์ และมอสโก
  • เดือนมิถุนายนปี 2000 ดรีสย้ายเข้าสู่โกดังพื้นที่ 60,000 ตารางฟุตใน Godefriduskaai ของแอนต์เวิร์ปซึ่งเคยเป็นที่พักของกองทัพเยอรมันและฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงคราม อาคาร 6 ชั้นหลังนี้ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโชว์รูม แผนกออกแบบ แผนกการตลาด แผนกผลิต ฝ่ายบัญชี และฝ่ายจัดจำหน่ายของดรีส รวมทั้งเป็นที่เก็บผลงานทั้งหมดที่ผ่านมาของเขาด้วย
  • การเติบโตโดยวางจังหวะก้าวอย่างไม่เร่งรีบและเต็มไปด้วยความมั่นใจ สะท้อนถึงวิธีคิดของดรีสได้อย่างชัดเจน แม้การทำงานยาวนานถึง 25 ปีจะทำให้เขาก้าวขึ้นสู่สถานะแฟชั่นดีไซเนอร์แถวหน้า แต่เขาก็ยังเลือกจะเป็นนักออกแบบอิสระไม่สังกัดค่ายใดๆ เขายังคงลงทุนในทุกคอลเลกชั่นด้วยตัวเอง และยังคงมุ่งมั่นค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่จะทำให้ผลงานของตนทั้งพัฒนาและยืนยง

4 จุดเด่นที่ทำให้ ‘ดรีส’ แตกต่าง

ไอริส แอพเฟล คุณทวดแฟชั่นไอคอนผู้โด่งดังแห่งนิวยอร์ก บอกเราไว้ในหนังเรื่อง Dries ว่า “ดรีสไม่เหมือนแฟชั่นดีไซเนอร์คนไหนๆ ในโลก ซึ่งความแตกต่างนั้นคือสิ่งที่ฉันชอบมาก”

อะไรคือความแตกต่างของดรีสที่ไอริสและใครต่อใครในแวดวงแฟชั่นกล่าวถึง? ต่อไปนี้คือ 4 ลักษณะเฉพาะในการทำงานของเขา

1. กระบวนการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร ดรีสไม่ดรออิ้ง เขาจะออกแบบโดยทำงานกับนายแบบหรือนางแบบของเขาโดยตรง คล้ายประติมากรผู้ขึ้นโครงผลงานโดยใช้ผ้าและสิ่งประดับต่างๆ แล้วปรับแต่งมันสดๆ ตรงหน้าจนกว่าจะได้งานสุดท้ายที่เขาพอใจ

2.แหล่งแรงบันดาลใจและวิธีบิดไอเดียตั้งต้นจนได้รูปลักษณ์ใหม่ เขามักค้นหาแรงบันดาลใจจากผลงานหลากหลายของศิลปินแขนงอื่นๆ เช่น ภาพจิตรกรรมนามธรรมของ แกร์ฮาร์ด ริกเตอร์, การแสดงบัลเลต์ของ พีนา เบาช์, งานเขียนของ มาร์แซล พรุสต์, งานอินสตอลเลชันดอกไม้ของ อาซุมะ มาโกโตะ

3. มุมมองเรื่องธุรกิจและลูกค้า ดรีสต้องการออกแบบเสื้อผ้าให้ขับเน้นบุคลิกเฉพาะตัวของผู้สวมใส่แต่ละคน เขาอยากให้ลูกค้าเห็นเสื้อผ้าของเขาเป็นเหมือนเครื่องใช้ที่อยู่ร่วมกันไปได้ยาวนานและสามารถปรับประยุกต์สวมปนเปกับแบรนด์อื่นๆ หรืองานของดีไซเนอร์คนอื่นได้ เขาจึงมักเรียกเสื้อผ้าของเขาว่า ‘แฟชั่นที่มีจิตวิญญาณ’ และไม่ต้องการให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแบบอุตสาหกรรมใหญ่ยักษ์

4. ดรีสคือเทพแห่งการรื้อสร้าง (master of deconstruction) เพราะงานของเขามักเป็นการผสมผสานขององค์ประกอบต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่น่าจะมาอยู่รวมกันได้ บ่อยครั้งที่เขาหยิบสิ่งที่เป็นต้นทางของแรงบันดาลใจมาบิด เปลี่ยน แล้วประสานเข้าด้วยกันจนอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน หรืออาจกล่าวได้ว่า “ดรีสเปลี่ยนความอัปลักษณ์และความไม่สมบูรณ์แบบให้กลายเป็นความงามและความสมบูรณ์แบบ” นั่นเอง

ความในใจของผู้กำกับ ไรเนอร์ โฮลซ์เมอร์

“ผมสนใจอยากทำสารคดีเกี่ยวกับโลกแฟชั่นมาตั้งแต่ปี 2011 ตอนนั้นผมอ่านบทความเกี่ยวกับ จอห์น กัลลิอาโน ที่ถูกบีบให้ต้องลาออกจากดิออร์หลังแสดงทัศนคติเหยียดยิวในที่สาธารณะ บทความนั้นพูดถึงแรงกดดันที่บรรดาแฟชั่นดีไซเนอร์ทั้งหลายต้องเผชิญ ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กัลลิอาโนมีสภาพจิตใจไม่ปกติ เงินทองเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อแฟชั่นแบรนด์ใหญ่ๆ ทั้งดิออร์, แม็กควีน, จิลแซนเดอร์ และทำให้นักออกแบบจำเป็นต้องผลิตคอลเลกชั่นแต่ละปีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า สิ่งที่เพิ่มตามมาจึงคือปริมาณงานและความกดดันถึงระดับที่ยากจะทนได้”

“โดยบังเอิญ ผมได้เจอดรีส แวน โนเทน ในช่วงนั้น ทีมนิตยสาร Vogue ในอเมริกากับช่างภาพ เจอร์เกน เทลเลอร์ กำลังจะถ่ายคอลเลกชั่นล่าสุดของเขา และผมเองก็กำลังทำสารคดีเกี่ยวกับเทลเลอร์ ผมจึงพลอยได้ตามเข้าไปยังบ้านและสวนของดรีสซึ่งผมประทับใจมาก เพราะให้ความรู้สึกราวกับหลุดไปยังอีกโลก เป็นอาณาจักรส่วนตัวที่ไม่ถูกอิทธิพลอันไม่น่าพึงใจใดๆ จากภายนอกแตะต้อง และผมก็ทั้งทึ่งทั้งหลงใหลเขา โดยเฉพาะสัมผัสอันเฉียบขาดของเขาในการขัดเกลางานให้สมบูรณ์แบบ และระดับสมาธิที่เฉียบคมอย่างที่สุด”

“สัญชาตญาณบอกผมว่าดรีส แวน โนเทน นี่แหละคือบุคคลที่น่าบอกเล่าเป็นหนังสารคดี และผมยิ่งมั่นใจขึ้นอีกเมื่อลงมือหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเขาและงานของเขา ผมพบว่าบทบาทของเขาในโลกแฟชั่นโดดเด่นมาก เขาไม่ได้โฆษณาแต่กระนั้นกลับได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อมวลชนทุกสื่อ เขาไม่ได้มีชีวิตแบบคนวงการนี้ที่หวือหวาดราม่าหรืออื้อฉาว แต่เรียกได้ว่าตรงข้ามเลยทีเดียว นอกจากนั้นเขายังไม่เคยตามเทรนด์ตลาด แม้การเกาะเทรนด์อาจช่วยสร้างยอดขายและกำไรมากขึ้น แต่บ่อยครั้งก็ต้องแลกด้วยคุณภาพและพลังสร้างสรรค์ที่ลดน้อยลง ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ดรีสต้องการ เขารักงานฝีมือนี้จริงจังและรู้สึกเสมอว่าเขายังต้องทุ่มตัวเองให้แก่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ ตั้งแต่การเลือกเนื้อผ้า การคิดรูปทรงและวิธีการพิมพ์ มากกว่าจะทำหน้าที่เป็นเพียงอาร์ตไดเรกเตอร์ของบริษัทเท่านั้น”

“ผมสงสัยว่าทำไมถึงไม่เคยมีใครทำหนังเกี่ยวกับคนคนนี้มาก่อน และแล้วไม่นานนักผมก็พบคำตอบ เขาต่างหากเป็นฝ่ายบอกปัดโครงการหนังทุกเรื่องก่อนหน้านี้เอง ถ้าให้เดา ผมคิดว่ามีสองเหตุผลหลัก ข้อแรก ดรีสเป็นนักนิยมความสมบูรณ์แบบที่ต้องการให้โลกเห็นแต่ผลสุดท้ายของงานที่สมบูรณ์พร้อมแล้วเท่านั้น แต่คนทำหนังจะต้องการติดตามกระบวนการคิดสร้างสรรค์และต้องผ่านขั้นต่างๆ ที่แน่นอนว่าย่อมไม่มีอะไรดูสมบูรณ์แบบเลย ซึ่งนี่อาจเสี่ยงที่จะเป็นการทำลายมนตร์มายาของผลงานในสายตาของสาธารณชนได้ อีกข้อหนึ่ง ดรีสเป็นคนที่ระมัดระวังตัวที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา การต้องถูกกล้องคอยตามจึงเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับจุดยืนของเขา ดังนั้นการจะทำหนังเกี่ยวกับเขาภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้จึงต้องอาศัยหลักการสำคัญข้อเดียว นั่นคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ดรีสต้องมีความไว้ใจให้ผมในฐานะคนทำหนังเสียก่อน หาไม่แล้วหนังก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้”

“ผมใช้เวลา 3 ปีเต็ม เขาจึงยอมตกลงด้วย เขาคิดแล้วอย่างรอบคอบ เรานัดคุยกันสองสามครั้งถึงวิธีทำงานของผม ความคาดหวังตั้งใจที่ผมมีต่อหนัง ผมอธิบายว่าผมสนใจเรื่องราวที่เรียบง่ายกว่าหนังเกี่ยวกับเพื่อนๆ ร่วมอาชีพคนอื่นๆ ของเขาซึ่งมักซับซ้อนกว่า ผมสัญญาว่าผมจะเป็นคนเดียวที่ถือกล้องตามถ่ายเขา เว้นแค่บางครั้งที่อาจมีคนบันทึกเสียงอีกหนึ่งคนตามไปด้วย และผมก็ตกลงว่าเราจะทดลองถ่ายบางส่วนกันก่อนเพื่อดูว่ามันออกมาเป็นอย่างไร โดยเริ่มจากการเข้าไปถ่ายเบื้องหลังการเดินแฟชั่นโชว์งานหนึ่งและการฟิตติ้งอีกครั้งหนึ่งในสตูดิโอของเขาที่แอนต์เวิร์ป ที่ซึ่งดรีสลืมไปเลยว่ามีกล้องถ่ายอยู่และก็เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่”

“ในที่สุด งานชิ้นนี้ก็ลงเอยด้วยการที่ผมได้ตามติดเขาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม บางครั้งผมก็รู้สึกว่าเขายินดีต้อนรับ บางครั้งก็ไม่ แต่ผมรู้ว่าผมได้เข้าใกล้ชิดเขาและโลกของเขามากที่สุดแล้วเท่าที่จะเป็นไปได้ และผมก็หวังว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นมุมมองที่มีความเป็นส่วนตัวมากๆ ต่อชีวิตและผลงานของแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้แสนโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัยของเราคนนี้”

ภาพ Documentary Club

AUTHOR