เบื้องหลังองค์ประกอบศิลป์ ‘วิมานหนาม’ ผ่านความเรียล แฟชั่น และสีสันจากแม่ฮ่องสอน

วิมานหนาม คือหนังที่ฉูดฉาดทางด้านอารมณ์และวิชวล ถ้าเปรียบเป็นทุเรียน ก็คงเป็นทุเรียนกลิ่นแรง สีสันจัดจ้าน มีหนามแหลมคม หวานขมแต่นัวจนอยากจะหยิบกินอีกหลายพู 

ในแง่เนื้อหาของหนังว่าด้วยเรื่องราวของความรัก ความฝัน การดิ้นรนต่อสู้ และการฟาดฟันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ มีการหยิบประเด็นปัญหาของความไม่เท่าเทียมมาเล่าในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ กฎหมาย คนชายขอบ ไปจนถึงเศรษฐกิจในสังคม

แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคืองานอาร์ต ที่ยกระดับหนังขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งองค์ประกอบศิลป์เหล่านี้เป็นฝีมือการออกแบบงานสร้างของ ‘แป้ง–สองศักดิ์ กมุติรา’ Production Designer ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผลงานผ่านตากันไปบ้างแล้วในหนังเรื่อง ‘ร่างทรง’ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ และ ‘วิมานหนาม’ ผลงานเรื่องล่าสุดจากค่าย GDH 

แน่นอนว่าเมื่อเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดกับประเทศพม่า ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ส่วนมากคือชาวไทใหญ่ จึงทำให้โจทย์ใหม่ครั้งนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น โลเคชันที่ต้องอยู่บนภูเขา อุปสรรคทางภาษา ความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ยากที่สุดในโปรเจกต์ครั้งนี้คือการเซ็ตอัปทุกอย่างเพื่อความสมจริงมากที่สุด ตามสไตล์การทำงานที่ชัดมากของแป้ง

คอลัมน์ Draft Till Done ครั้งนี้จึงชวนแป้ง นักออกแบบงานสร้างมือดีมาเล่าถึงเบื้องหลังการปั้นองค์ประกอบศิลป์ของแต่ละเฟรมที่เป็นส่วนสำคัญทำให้หนังออกมาสมบูรณ์มากที่สุด บอกเลยว่าทีมงานคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก! 

คู่สีและลวดลายที่แฝงความหมาย

สีอันฉูดฉาดและลวดลายในเรื่องเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนเตะตาที่สุดตั้งแต่ดูตัวอย่างหนัง มีการวางพาเลตสีที่ซ่อนนัยยะและความหมายของความเหลื่อมล้ำบางอย่าง รวมไปถึงการจับคู่สีตรงข้ามให้ออกมากลมกล่อมมากที่สุด

“ความเป็นไทใหญ่มันจะมีความเป็นสีสันประมาณหนึ่ง จะเห็นว่าแต่ละประเพณี วัด หรือบ้านของเขา สีมันจะมีความสดกึ่งๆ สะท้อนแสง แต่จะไม่ตุ่น ไม่พาสเทล มันเป็นเฉดที่เราไม่ค่อยเห็นกันเท่าไหร่ ข้อดีของเรื่องนี้คือสีสันมันสด แต่มันก็ยากตรงที่ทุกอย่างดูสดไปหมดเลย แล้วเราจะจับคู่สียังไงให้ไม่ให้เสื้อผ้าเด่นเกินไป พร็อบเด่นเกินไป หรืองานอาร์ตเด่นเกินไป เราพยายามไม่ให้ภาพรวมหลุดออกจากกัน 

“วิธีการทำงานคือทุกคนจะช่วยกันตั้งแต่ Pre-Production แต่ละฝั่งก็เอามูดโทนมาแมตช์ด้วยกัน อย่างเช่น ห้องนอนของเสก (รับบทโดยเต้ย–พงศกร เมตตาริกานนท์) และทองคำ (รับบทโดยเจฟ ซาเตอร์) คู่รักที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน เราวางคาแรกเตอร์ให้มีสีสัน ดีเทลลายดอก เพื่อบ่งบอกว่าสองคนนี้เป็นคู่รักกัน LGBTQ+ เราหยอดสีเกือบจะแฟชั่น แต่ไม่อยากให้มันแรงมาก เราต้องทำทุกอย่างให้มันบาลานซ์กันให้ได้”

ความแฟชั่นที่เรียลลิสติก

เอกลักษณ์การออกแบบงานสร้างของแป้งจะเน้นความสมจริง แต่ก็ยังมีการประดิษฐ์ตกแต่งในแต่ละเฟรม ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้กำกับ ‘บอส–นฤเบศ กูโน’ ที่จะมีความเป็นแฟชั่นมากๆ เมื่อทั้งความต่างของทั้งสองคนมาเจอกัน ทำให้ภาพรวมออกมาดูแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ไม่ว่าจะเป็น มูดแอนด์โทน เสื้อผ้าคอสตูม และพร็อบต่างๆ 

“เราคุยกับบอสว่าถ้าเอาเรียลลิสติกผสมกับแฟชั่นเข้าด้วยกัน หยอดสีนั่นนี่เข้าไปให้มีความ exotic พอภาพรวมทั้งหมดมาอยู่ด้วยกันก็น่าจะออกมาดีนะ ซึ่งการเลือกเสื้อผ้าหรือพร็อบต่างๆ ก็จะมาจากตัวละครว่ามีสไตล์เป็นยังไง ของใช้แต่ละชิ้นควรบอกถึงคาแรกเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น ทองคำ ควรแต่งตัวสีจัดไปเลยวันที่ไม่ใช่วันธรรมดา แต่ถ้าเป็นวันที่อยู่ในสวนก็จะเป็นชุดชาวสวน โดยจะใช้วิธีการผสมสีแต่ยังมีความเรียลอยู่ 

“อย่างกระเป๋าแกลลอน เราก็บอกบอสว่านี่มันเรียลมากเลยนะ เราลองเอาแกลลอนมาแล้วเลือกสีที่เข้าคู่กับชุดให้มันแมตช์กันดีไหม หรือกระเป๋าสีส้มของทองคำ เราก็เอากระสอบปุ๋ยมาเย็บกันเอง หรือแม้กระทั่งเสื้อแขนยาวที่แถมมาเวลาซื้อปุ๋ย เราก็เอาไปใช้ในการดีไซน์ด้วย เราพยายามจะใส่เข้าไปเพื่อให้มันดูจริงที่สุด”

เนรมิตโลเคชันใหม่ทั้งหมด

เมื่อพูดถึงทุเรียนผลไม้ที่มีราคาแพงที่สุด คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาคตะวันออก แต่หนังเรื่องนี้กลับเลือกโลเคชันที่แม่ฮ่องสอน จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดในไทย ทำให้มีความต่าง (Contrast) ขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันก็ยิ่งเพิ่มความยากของการเซ็ตอัพเช่นกัน ซึ่งเป็นพาร์ตที่ยากที่สุดของกระบวนการทำงานทั้งหมด

“ด้วยความที่เรื่องนี้เกิดที่แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียนจะต้องอยู่บนเขา ทีมโลเคชันไป scout มาหลายที่มาก ตอนแรกเจอที่อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน แต่การทำงานและการย้ายเซ็ตถ่ายก็จะยากมาก สุดท้ายก่อนจะกลับก็ไปเจอโลเคชันที่ตราด รู้สึกว่าคาแรคเตอร์สวนทุเรียนมันได้ก็เลยเลือกตรงนี้แทน

“พื้นที่ตรงนี้เป็นเขาตัด ไม่มีหญ้าหรืออะไรขึ้นมาเลย เราก็เลยดีไซน์ว่ามันควรจะมีสวนดอกไม้ ต้นกล้วย พริก เราก็เลยสร้างบรรยากาศรอบๆ พร้อมกับโครงสร้างบ้าน เพื่อให้คนเชื่อว่ามันเป็นบ้านที่อยู่ตรงนี้จริงๆ 5-10 ปีแล้ว ส่วนการเซ็ตอัพบ้าน เราอยากได้เทกเจอร์ของวัสดุที่จริงที่สุดก็เลยไปซื้อบ้านไม้ ไปรื้อเขามา 1 หลัง ทั้งเสา พื้น ผนัง คือไม้จริงทั้งหมด 

“ที่นี่มีทั้งหมด 400 ไร่ มีหลายโซน ความยากคือช่วงที่ไปบล็อกกิ้ง เพราะดีเทลมันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นจุดเทปุ๋ย จุดปั๊มน้ำท้ายสวน บล็อกกิ้งเสร็จเราก็จะเขียนกำกับไว้ว่า ตรงนี้ต้นดอกตูม ตรงนี้ต้นดอกบาน ตรงนี้ช่วงไคลแมกซ์นะ เราก็จะเห็นฟิวเจอร์บอร์ดชมพูเต็มไปหมดทั้งสวนเลย”

ซื้อของใหม่ไปแลกของเก่า

สิ่งหนึ่งที่เห็นตั้งแต่ดูตัวอย่างหนังคือความใส่ใจในทุกดีเทล นอกจากจะต้องสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ทั้งหลังแล้ว ยังต้องหาพร็อบที่สมจริงมากที่สุด โดยใช้วิธีการซื้อและเช่าจากคนในหมู่บ้านประมาณสิบกว่าหลัง ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบสองเดือนในการเซ็ตอัพบ้านรวมหาพร็อบ

“โลเคชันที่ยากที่สุดคือบ้านแม่แสง ซึ่งเป็นแม่ของเสก (รับทโดยสีดา พัวพิมล) เราหาเยอะมาก สุดท้ายก็เจอบ้านสวนข้าวโพดที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ซึ่งเราจะต้องแบกของขึ้นลงทุกเช้าเย็น แต่ยากกว่านั้นคือเราจะต้องสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ ทำให้คนดูเชื่อที่สุดว่าบ้านอยู่ตรงนี้มานานแล้ว และต้องหาพร็อบที่เป็นไทใหญ่มากที่สุดด้วย 

เรารู้สึกว่าการซื้อของใหม่แล้วม็อกอัปให้เก่า คนก็อาจจะไม่เชื่อว่าผ่านการใช้งานมาจริงๆ ซึ่งเราใช้วิธีการโดยซื้อของใหม่ไปแลกกับคนในหมู่บ้านไทใหญ่จริงๆ ถ้าไม่ซื้อของใหม่ไปแลกก็ต้องขอเช่า หรือไม่ก็ซื้อขาดมาเลย ทั้งผ้าถุง หม้อ เขียง ของใช้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งหลังคาเป็นตองตึงก็สั่งทำใหม่ ตัวไผ่ฟากก็ซื้อจากของที่มีอยู่แล้วและจ้างทุบใหม่เอามาผสมกันเพื่อให้ดูสมจริง ในเรื่องมีกิจกรรมการโยงกิ่ง การปัดดอกทุเรียน เราก็จะดีไซน์ด้ามไม้กวาดดอกหญ้า เติมสีด้วยการผูกเชือกฟางให้มันมีดีเทลแล้วสวยในทางภาพ”

ทำหนังเหมือนทำอีเวนต์

อีกหนึ่งจุดเด่นของหนังคือกลิ่นอายบรรยากาศของแม่ฮ่องสอนที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การทักทายของชาวไทใหญ่ ประเพณีปอยส่างลองหรือบวชลูกแก้ว งานศพแต่กลับเต็มไปด้วยสีสันละลานตา หรือแม้กระทั่งงานบุญบั้งไฟที่เราคุ้นชินในภาคอีสาน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าภาคเหนือก็มีด้วย 

“หลังจากเอาบทมารีเซิร์ชข้อมูลของแต่ละโลเคชัน เราก็ลงพื้นที่ไปหมู่บ้านไทใหญ่ผสมมูเซอดำของแม่ฮ่องสอนจริงๆ ชื่อว่าบ้านลุกข้าวหลาม เป็นหมู่บ้านในหุบเขา มีเขาล้อมรอบ ขนบธรรมเนียมเขาก็ไม่เหมือนเรา บางอย่างเราเข้าไปจะจับไม่ได้ เหยียบไม่ได้ เราต้องมีผู้ใหญ่บ้านมาเป็นล่ามให้ เพราะเราสื่อสารกันไม่รู้เรื่องเลย แต่การลงพื้นที่ก็ทำให้เราเจอดีเทลอะไรแปลกๆ ที่น่าสนใจเยอะมาก

“อย่างงานศพแต่มีสีสันเต็มไปหมดทั้งชมพู ฟ้า เหลือง ซึ่งเรื่องสีเราก็เอามาปรับกันอีกทีให้ดูเป็นไปได้กับเรื่องแต่ไม่หลุดความจริง หรือแม้กระทั่งพร็อบอย่างตุงขอนงวงช้าง หรือโลงศพของพม่าที่เอามา adapt กับไทใหญ่ กลายเป็นว่ามันมีสิ่งใหม่ๆ เต็มไปหมดเลย

“การทำหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนทำอีเวนต์เลย เพราะมีทั้งงานแต่ง งานศพ งานบวช งานบั้งไฟ แต่ละอย่างก็เป็นขนบธรรมเนียมที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งมันคือความตั้งใจของเราอยากนำเสนอ อยากให้คนดูได้เห็นวัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียมต่างๆ ของพวกเขาในหนังเรื่องนี้” 

นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ของ GDH การให้คุณค่ากับงานดีไซน์ทุกองค์ประกอบศิลป์ ทั้งเรื่องของมูดแอนด์โทน การจัดวางองค์ประกอบมุมกล้อง การถ่ายทอดทั้งบรรยากาศและวัฒนธรรมท้องถิ่นออกมาได้อย่างลื่นไหล รวมไปถึงเพลงประกอบหนังที่ช่วยเพิ่มอรรถรส ทำให้เราอินไปกับบรรยากาศของแม่ฮ่องสอน นี่เป็นสิ่งที่ GDH ทำได้ดีมาตลอดและหวังว่าจะทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยไปได้ไกลมากขึ้นไปอีก


PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่