ผ่านตาคุณอย่างแน่นอน–พาดหัวข่าวน่าสะพรึงถึงบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ยักษ์ สิ่งที่อยู่รอบกายคล้ายอากาศ ทั้งเฟซบุ๊ก แอมะซอน กูเกิล และแอปเปิล นับวันกลับยิ่งดูน่าหวาดหวั่นเข้าไปทุกที
เฟซบุ๊กทำข้อมูลคุณรั่วไหล และอาจมีส่วนช่วยให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มันยังแบ่งพวกเราออกเป็นฝักฝ่ายให้ห้ำหั่นกันหนักข้อ แอมะซอนเป็นอวตารของระบอบทุนนิยม ที่ถึงแม้จะทำให้ทุกการบริโภคง่ายดายแต่ก็ทำให้มันไร้ความหมายมากยิ่งขึ้น กูเกิลมีส่วนร่วมกับกองกำลังสหรัฐฯ และรู้ทุกย่างก้าวว่าคุณไปไหนอย่างไรบ้าง ส่วนแอปเปิลนั้น…แพง
พาดหัวข่าวเหล่านี้สร้างความหวาดหวั่น จริงบ้างไม่จริงบ้าง มีมูลบ้างและเต้าข่าวเอาเองบ้าง แต่ทั้งหมดก็ประกอบกันเป็นกระแสต่อต้านเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า techlash มันเป็นอารมณ์ร่วมของยุคสมัย หากเมื่อก่อนเรากลัวการผูกขาดทางการค้า สมัยนี้เราก็ต้องรวมการผูกขาดทางข้อมูลเข้าไปด้วย
บริษัทใดบริษัทหนึ่งมีอำนาจเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น ยิ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราในทุกระดับ ตั้งแต่งาน การเดินทาง การพักผ่อน ไปจนถึงครอบครัว บางขณะคุณอาจนึกอยากทดลองดูว่า แล้วจะเป็นไปได้ไหม หากเราจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ของสี่ห้าบริษัทใหญ่ยักษ์นี้เลย
แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะตัดขาดจากอินเทอร์เน็ตหรอก คุณรู้ว่าบนอินเทอร์เน็ตมีทรัพยากรที่มีค่ามากกว่านั้น คุณแค่อยากตัดขาดจากบริษัทใหญ่ๆ ที่กุมอำนาจไว้อยู่หมัดเท่านั้นเอง แทนที่จะใช้กูเกิล คุณอาจลองเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือองค์กรที่ดู ‘เป็นมิตร’ กว่า และแทนที่จะใช้เฟซบุ๊ก คุณก็อาจลองเปลี่ยนไปใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเล็กๆ แทน
เพียงเท่านี้จะเป็นไปได้ไหม
ไม่ต้องทดลองเอง มีคนทดลองให้ ในสกู๊ปของเว็บไซต์ Gizmodo ชื่อ Goodbye Big Five ลาก่อนยักษ์ใหญ่ทั้งห้า (อันหมายถึงแอมะซอน เฟซบุ๊ก กูเกิล ไมโครซอฟต์ และแอปเปิล)
แคชเมียร์ ฮิลล์ นักข่าวสาวเดินออกจากบริการทั้งหลายของห้าบริษัทนี้ เพื่อศึกษาดูว่าชีวิตที่ไร้ยักษ์จะเป็นอย่างไร
สัปดาห์แรกเธอทดลองตัดแอมะซอนออกจากชีวิต สำหรับคนไทย แอมะซอนอาจเป็นบริการที่เราไม่นึกถึงนัก (อย่างตัวผมเอง ผมก็ใช้แอมะซอนคินเดิลเพื่อซื้อหนังสืออีบุ๊กและสั่งหนังสือออนไลน์บ้าง แต่โดยมากแล้วก็แทบไม่ได้สั่งอะไร) แต่สำหรับแคชเมียร์ การตัดแอมะซอนเป็นเรื่องยากลำบาก เธอเป็นลูกค้าของแอมะซอนเหนียวแน่น มีลำโพงอัจฉริยะอย่างเอคโค่ มีคินเดิล และเป็นสมาชิกแอมะซอนไพรม์
แคชเมียร์พยายามตัดสิ่งเหล่านี้ออกจากชีวิตทั้งหมด เธอทำได้ในที่สุด แต่ก็พบว่ารากของแอมะซอนนั้นหยั่งลึกลงในอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่เธอคิด แอมะซอนมีบริการ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นโครงข่ายเซิร์ฟเวอร์ ทำหน้าที่คล้ายกระดูกสันหลังของอินเทอร์เน็ต มีเว็บไซต์และบริการมากมายอยู่บนนั้น (โดยที่ผู้ใช้อาจไม่รู้ตัว) ตั้งแต่เว็บสตรีมเกมอย่าง Twitch เว็บไซต์ของ Whole Foods, Netflix และ HBO Go กระทั่งเว็บของทางการสหรัฐฯ จำนวนมากก็อยู่บนนั้น เมื่อเธอขอให้เพื่อนโปรแกรมเมอร์ช่วยเหลือ บล็อกไอพีทั้งหมดของแอมะซอนออกไป เธอก็พบว่าเธอใช้เว็บเหล่านี้แทบไม่ได้เลย หรือใช้ได้ด้วยความจำกัดจำเขี่ย
ในสัปดาห์ที่สอง ถึงคราวของเฟซบุ๊ก คราวนี้แคชเมียร์ยอมรับว่าการตัดเฟซบุ๊กไม่ยากเท่ากับแอมะซอน เพราะเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นเจ้าของ ‘โครงสร้าง’ ของอินเทอร์เน็ตเทียบเท่า การตัดเฟซบุ๊กคือการตัดตัวเว็บเฟซบุ๊กเอง รวมถึงอินสตาแกรม WhatsApp และ Messenger เท่านั้น แต่ในเชิงอารมณ์แล้วเธอพบว่า เธอคิดถึงบริการเหล่านี้มากกว่าที่คิด
เธอพยายามสมัครโซเชียลเน็ตเวิร์กทางเลือกอย่าง Mastodon แต่ก็พบว่า ถ้าในโซเชียลเน็ตเวิร์กใดไม่มีเพื่อน–โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นก็ไม่มีค่าอะไร คล้ายกับการมีโทรศัพท์ที่คุณไม่สามารถโทรหาใครได้จริง เมื่อเป็นเช่นนั้น โทรศัพท์ก็ไม่มีความหมาย
ยิ่งตอนที่แคชเมียร์บล็อกเฟซบุ๊กเป็นช่วงเทศกาลฮัลโลวีน เธออยากโพสต์รูปลูกแต่งตัวแฟนซีให้เพื่อนๆ ดู ก็ทำไม่ได้ หรือตอนเข้าสู่เทศกาลเลือกตั้ง สามีของเธอเตรียมโหวตให้เลิกนโยบาย Daylight Saving ในแคลิฟอร์เนียแล้วบอกให้เธอไปอ่านเหตุผลสนับสนุนในเฟซบุ๊ก เธอก็ทำไม่ได้อีก
แคชเมียร์จึงระลึกว่า ถึงแม้เฟซบุ๊กจะมีปัญหาทั้งหมดทั้งปวงอย่างที่เราได้อ่านในข่าวมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เราอาจไม่ค่อยรู้สึกก็คือ มันก็ทำหน้าที่เป็นทรัพยากรความคิดเห็นที่ช่วยให้เราตัดสินใจทางใดทางหนึ่งได้อย่างมั่นใจมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ผมรู้จักเพื่อนมากมายที่พยายามหักดิบโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยเหตุผลที่ว่ามันเต็มไปด้วยขยะและพิษ แต่สำหรับตัวผมแล้ว การหักดิบอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เราอาจแค่ต้องลองวางระยะระหว่างเรากับโซเชียลเน็ตเวิร์กใหม่ สำหรับผม ระยะที่ดีคือระยะที่เราจะใช้เมื่อมีเหตุให้ต้องใช้ สำหรับบางคนอาจเป็นการใช้แทนหนังสือพิมพ์ตอนเช้า สำหรับบางคนอาจเป็นการใช้เพื่ออัพเดตข่าวคราวและเชื่อมต่อกับเพื่อนๆ และไม่ใช้แบบเอานิ้วไถไปเรื่อยๆ ด้วยความเผลอเรอ ซึ่งระยะของแต่ละคนก็คงแตกต่างกันออกไป
สำหรับแคชเมียร์ เธอยังเหลือยักษ์อีกสามตัวให้ฟันฝ่า คุณที่สนใจว่าเธอจะก้าวข้ามยักษ์ตัวไหนไปได้บ้าง เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ลองไปติดตามได้ที่ gizmodo.com/tag/blocking-the-tech-giants